ผู้เขียน ร่มฉัตร จันทรานุกูล, มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ (UIBE), หน่วยการศึกษาระหว่างประเทศ
อีกไม่กี่เดือนก็จะสิ้นปีแล้ว สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกไม่มีใครคาดคิดว่าจะรุนแรงมากขนาดนี้ ทุกคนได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า หากแต่มากน้อยต่างกันเท่านั้น การเดินทางของประชาชนทั่วโลกทั้งในและต่างประเทศหยุดชะงักลง โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องมีความเกี่ยวข้องกับภาคการต่างประเทศ ได้รับผลกระทบโดยตรงและต้องหาวิธีการปรับตัวกันให้เร็วที่สุด เพื่อให้รอดพ้นช่วงยากลำบากนี้ไปได้ ผลกระทบจากโควิด-19 ในด้านต่างๆแบ่งออกได้สองภาคส่วนใหญ่คือผลกระทบของภาคธุรกิจและภาคประชาชน
วันนี้ผู้เขียนจะมาบอกเล่าสู่กันฟังในมุมมองภาคประชาชนของจีน ในครึ่งปีแรกของปีนี้ประชาชนชาวจีนได้รับผลโดยตรงกันถ้วนหน้า สิ่งสำคัญเลยคือเรื่องปากท้อง การทำงาน ไม่มีงานก็ไม่มีเงินในการดำรงชีพ หากท่านผู้อ่านได้ติดตามข่าวคราวของทางจีนอยู่เรื่อยๆจะเห็นว่า รัฐบาลท้องถิ่นจีนทั่วประเทศมีมาตรการมากมายในการพยุงธุรกิจ หลักๆคือเรื่องการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การช่วยเหลือด้านการประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านแพลตฟอร์มต่างๆทั้งในและต่างประเทศ มาตรการด้านภาษีที่เก็บลดลง เป็นต้น
ด้านของประชาชนก็เร่งยื่นขอคืนภาษีรายได้ส่วนบุคคลที่อาจจะมีการเก็บเกินในปีที่แล้ว การผ่อนคลายนโยบายการขายของข้างถนนแก่พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย จากการจับและปรับมาเป็นการจัดระเบียบแทน เป็นต้น ในการแก้ไขปัญหาของจีนต่อกลุ่มคนมีหลายมิติและหลายด้าน นโยบายที่นำมาใช้อยู่ภายใต้พื้นฐานของหลักการที่เหมือนกัน แต่วิธีการอาจจะมีแตกต่างกันบ้างในแต่ละเมือง
เนื่องจากจีนเป็นประเทศใหญ่ ประชากรมาก การพัฒนาที่รวดเร็วมาพร้อมกับชนชั้นกลางที่มีมากขึ้น นักธุรกิจจากทั่วโลกรวมทั้งนักธุรกิจไทยก็อยากจะมาแสวงหาโอกาสโกยเงินกันที่นี่ หลายคนมองว่าสินค้าหรือบริการที่เอาเข้ามาขายไม่จำเป็นต้องขายดีทั้งประเทศ แค่ประสบความสำเร็จในเมืองๆหนึ่งก็รวยเละแล้ว จากความเชื่อเหล่านี้ทำให้เราเห็นว่ากำลังการใช้จ่ายของคนจีนมีอยู่มหาศาล รัฐบาลจีนเองก็เห็นโอกาสนี้เช่นกัน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจแบบ “กระตุ้นจากภายใน”หรือในภาษาจีน “拉动内需”อ่านว่า ลาต้งเน่ยซู ขยายความได้ว่า เพิ่มการพึ่งพาอุปสงค์ภายในประเทศให้มากขึ้น เพราะจีนมองว่าหลายปีที่ผ่านมาปัจจัยภายนอกมีความไม่แน่นอนสูง ครั้นแต่จะพึ่งพาต่างประเทศคงไม่ได้ ดังนั้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจีนเริ่มการโฟกัสตลาดในประเทศมากขึ้นและสนับสนุนให้ประชาชนใช้จ่ายเงินในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันก็ได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างดี
สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ทำให้ชีวิตและแนวทางการดำรงชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป หลังจากจีนควบคุมการแพร่ระบาดฯ ได้แล้วก็ต้องทำให้ชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจฟื้นฟูให้เร็วที่สุด ในธุรกิจภาคการผลิตกลับมาฟื้นฟูได้ค่อนข้างเร็ว โรงงานขนาดใหญ่หลายแห่งกำลังการผลิตกลับมาเกือบ 100% ตั้งแต่เดือนเม.ย. ส่วนภาคธุรกิจด้านบริการ การท่องเที่ยว ร้านอาหาร ได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยเฉพาะในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.ยอดการขายเทียบกับปีที่แล้วโดยเฉลี่ยตกไป 40-50% เลยทีเดียว แล้วการกลับเข้ามาทำงานของพนักงาน การเปิดให้บริการก็ช้ากว่าภาคการผลิต ทำให้สายการบริการผลกระทบจะยาวกว่าภาคการผลิต
เมื่อสถาณการณ์ระบาดผ่อนเพลาลง วิธีที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็วและง่ายที่สุดคือการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ จีนเป็นประเทศใหญ่ประชาชนทำงานอยู่ในหลายภาคส่วน บางภาคส่วนก็มีประชาชนที่โควิด-19ไม่ได้ส่งผลกระทบทางด้านการเงินก็ยังคงใช้จ่ายเงินได้ปกติ ดังนั้นรัฐบาลต้องหาวิธีกระตุ้นให้คนกลุ่มนี้ใช้เงินเพื่อพยุงเศรษฐกิจ เหมือนอย่างที่ไทยเราสนับสนุนให้คนไทยเที่ยวในประเทศ แจกบัตรกำนัลเพื่อเอาไปใช้จ่าย เป็นต้น ต่อมาคือเรื่องของ“ความมั่นใจของผู้บริโภค”ว่าจะดึงกลับมาได้อย่างไร?ทำอย่างไรให้ประชาชนยอมใช้จ่ายและควักเงินในประเป๋า?
นักเศรษฐศาสตร์จีนชื่อดังหลายท่านให้ความเห็นว่า “คนจีนชอบเก็บเงินเป็นชีวิตจิตใจ การให้เงินสดโดยตรงเพื่อให้เอาไปใช้จ่ายเชื่อว่าคนจำนวนมากเลือกที่จะเก็บเงินส่วนนี้ไว้ ดังนั้นการให้บัตรกำนัลเงินสดเพื่อให้ประชาชนเอาไปใช้จ่าย จะมีประสิทธิภาพมากกว่า”
หลังจากที่เริ่มควบคุมโควิด-19 ได้แล้ว รัฐบาลท้องถิ่นต่างออกบัตรกำนัลเงินสดออนไลน์ออกมาตามแพลตฟอร์มต่างๆเพื่อให้ประชาชนเอาไปใช้จ่ายซื้อของตามร้านค้าได้โดยตรง อย่างเช่นในปักกิ่งรัฐบาลออกบัตรกำนัลในแพลตฟอร์มจิงตง(JD.com)และอาลีเพย์(Alipay.com) ใช้ซื้อสินค้าในร้านสะดวกในราคาส่วนลด เช่น ซื้อสินค้าครบครบ 50 หยวน ลด 10 หยวน เป็นต้น นอกจากนี้มีส่วนลดเอาไปใช้ในร้านอาหารได้ เช่น ครบ 100 หยวน ลด 30 หยวน และมีบัตรส่วนลดเพื่อซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในแพลตฟอร์มออนไลน์เช่น ซื้อสินค้าครบ 2,000 หยวนขึ้นไป ลด 10% เป็นต้น แค่ในปักกิ่งเมืองเดียวช่วงต้นปีที่ผ่านมารัฐบาลท้องถิ่นปล่อยบัตรกำนัลส่วนลดแทนเงินสดไปแล้วทั้งหมด 1.2 หมื่นล้านหยวน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบัตรแทนเงินสดทุกใบที่รัฐบาลแจกถูกใช้ไป แน่นอนว่ามีคนอยู่จำนวนหนึ่งที่ถึงแม้จะมีบัตรส่วนลดแต่ก็ไม่ได้เอาไปใช้จ่าย โดยบัตรกำนัลเงินสดเหล่านี้จะมีระยะเวลาในการใช้อีกด้วย เช่น หากว่าเลยเวลาไปบัตรกำนัลก็จะหมดอายุ อย่างบัตรส่วนลดเงินสดออนไลน์ในอาลีเพย์ที่ใช้ซื้อของในร้านสะดวกซื้อมีอายุเพียงหนึ่งอาทิตย์เท่านั้น บางบัตรส่วนลดมีอายุเพียง 1-2 วันเท่านั้น ทำให้เห็นว่าการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนก็ต้องการความเร่งด่วนจริงๆ เป็นการกระตุ้นให้ประชาชนต้องรีบเอาบัตรแทนเงินสดไปใช้จ่าย
ในเรื่องของการออกบัตรกำนัลเงินสด ทางการจีนก็ได้ทำการออกโพลสำรวจทัศนะคติของประชาชนอยู่เหมือนกัน โดย 53% ของประชาชนจีนเห็นดีด้วยกับการมีบัตรกำนัลเงินสดเพื่อเอาไปใช้เป็นส่วนลดในการซื้อสินค้า และ 32% ของประชาชนมีความเห็นกลางๆไม่ดีไม่ร้าย ที่เหลือ 15% ไม่เห็นด้วยกับบัตรกำนัลเงินสด ทั้งนี้กระแสการกระตุ้นให้ประชาชนออกมาใช้จ่ายในช่วงนี้มีค่อนข้างมาก ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ในทุกช่องทาง อย่างเช่นมีกิจกรรม “全民消费节”อ่านว่า เฉวียนหมินเซียวเฟ่ยเจี๋ย ที่แปลว่าเทศกาลซื้อสินค้าแห่งชาติ โดยสินค้าทุกประเภททั้งออนไลน์และออฟไลน์ที่วางขายอยู่ในห้างสรรพสินค้าถูกนำออกมาจัดโปรโมชั่น แลกแหลก แจก แถม กันเยอะเลยทีเดียว สรุปคือการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศของจีนผ่านการออกบัตรกำนัลเงินสดออนไลน์มหาศาลนี้ เป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลนำมาใช้พยุงเศรษฐกิจการใช้จ่ายภายในประเทศเมื่อการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 ดีขึ้นแล้วนั่นเอง