ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - พิษไวรัส โควิด -19 กระหน่ำเศรษฐกิจพังถ้วนหน้า ลามไปถึงการเก็บภาษีของปีนี้ที่หลุดเป้ามโหฬาร เพราะธุรกิจพินาศสิ้น คนตกงานกันเป็นเบือ ไม่มีกำลังซื้อจับจ่ายใช้สอย ประชาชนคนไทยยังต้องกัดฟันอดทนกันอีกอย่างน้อยปลายปี 2564 เศรษฐกิจถึงจะเริ่มฟื้นตัวแบบช้าๆ คล้ายแบรนด์ “ไนกี้” ที่เป็นเครื่องหมายถูกหางลากยาว
ในวันที่นายรวิไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปพูดในงานสัมมนาวิชาการของ ธปท. ประจำปี 2563 “ชวนคิดชวนคุย ปรับวิถีธุรกิจท้องถิ่นในโลกใหม่อย่างยั่งยืน" เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้น แม้จะโปรยยาหอมปลุกปลอบใจคนไทยทั้งชาติว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นช่วงล็อกดาวน์กิจกรรมทางเศรษฐกิจมาแล้ว
นับจากนี้ไป เศรษฐกิจจะค่อยๆ เริ่มฟื้นและกลับคืนสู่โหมดก่อนช่วงโควิด-19 จะระบาด โดยคาดว่าปลายปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในลักษณะเครื่องหมายถูกแต่หางยาว หรือแบบ “Nike Shaped” หรือเรียกอีกอย่างว่า "Swoosh-shaped" คือเป็น V-shaped ในช่วงแรก และค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในช่วงท้าย นั่นหมายความว่าเศรษฐกิจจะเติบโตช้าในระยะยาว
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าเศรษฐกิจไทยพึ่งพาภายนอกหรือต่างประเทศสูง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังไทยมากถึงประมาณ 40 ล้านคน เหมือนก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ขณะที่ภาคส่งออก ก็คาดว่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่ากันกว่าจะกลับคืนมาอยู่ในระดับเดียวกันก่อนจะเกิดโควิด-19
แต่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เชื่อมั่นว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีดีอย่างตรงที่รากฐานเศรษฐกิจมหภาคมีความเข้มแข็งกว่าตอนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 สถาบันการเงินมีเงินทุนหมุนเวียน มีสภาพคล่องสูง แต่ก็ยอมรับว่าตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้แต่จะไม่สูงแบบก้าวกระโดด เนื่องจากมีการใช้มาตรการพักชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้และส่งเสริมการออมมารองรับ ถึงแม้ผ่านวิกฤตโควิด-19 แล้ว จะยังต้องเผชิญความเสี่ยงและความผันผวนอีกมากในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ไทยมีหนี้ต่างประเทศต่ำ ทำให้ธนาคารกลางสามารถใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อพยุงเศรษฐกิจไทยได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงเงินกู้ไอเอ็มเอฟเหมือนปี 2540 ดังนั้น ข่าวที่ชอบปล่อยกันว่าประเทศไทยจะต้องกู้เงินไอเอ็มเอฟอีกครั้งไหม มั่นใจได้ ไม่กู้แน่นอน
อีกเรื่องที่น่าห่วงแม้โควิด-19 จะคลี่คลายคือแรงงานจำนวนมากจะไม่สามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานในยุคหลังโควิด-19 ได้ เนื่องจากเวลานี้ทั่วโลกรวมทั้งไทยมีกำลังการผลิตส่วนเกินสูง และการผลิตจะเน้นคุณภาพ มีการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้แทนคนมากขึ้น แรงงานอายุมากขึ้นและนักศึกษาจบใหม่หากยังหางานทำไม่ได้ในช่วง 1-2 ปีนี้ จะมีเด็กจบใหม่เข้ามาแทนที่
ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ยังเตือนระวังความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนของโลกหลังโควิด-19 ที่เกิดสภาพคล่องสูงหลังจากหลายประเทศอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 โดยแนะนำให้ผู้ส่งออก ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อป้องกันความเสี่ยงในอนาคต
บนความเสี่ยงด้านความผันผวนของค่าเงิน ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังเกิดขึ้นทั่วโลก บวกความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำ ล่าสุด ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) คาดการณ์ว่า มูลค่าส่งออกของไทยทั้งปี 2563 จะหดตัว 8-10%
“วิกฤตโควิด-19 เป็นสัญญาณเตือนภัยครั้งสำคัญว่า ถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจไทยต้องพัฒนาและยกระดับห่วงโซ่อุปทานการผลิตครั้งใหญ่ให้สอดรับกับบริบทใหม่ที่จะเกิดขึ้น ทั้งกระแสการใส่ใจความปลอดภัย สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมที่จะมีมากขึ้น ตลอดจนความจำเป็นที่จะต้องเร่งนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า พัฒนาช่องทางการตลาดออนไลน์เพื่อตอบสนองกระแส Social Distancing และพฤติกรรม New Normal ที่เกิดขึ้นทั่วโลก.... ” นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ให้มุมมอง
ส่วนเรื่องที่ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ยังเชื่อมั่นว่า สถาบันการเงินของไทยยังแข็งแกร่งนั้น รายงานผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ 9 แห่ง ที่เพิ่งออกมา ปรากฏว่า รายได้และกำไรของแบงก์ใหญ่หดตัวอย่างรุนแรง และยังต้องตั้งสำรองหนี้เสียอีกบานตะไท
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ 9 แห่ง ได้แจ้งผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกของปี 63 มีกำไรสุทธิ 66,458.65 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 20,797.60 ล้านบาท จากงวด 6 เดือนแรกของปี 62 มีกำไรสุทธิ 87,256.25 ล้านบาท ขณะที่ผลประกอบการงวดไตรมาส 2 ปี 63 มีกำไรสุทธิรวมกัน 27,291.48 ล้านบาท ลดลง 14,940.61 ล้านบาท จากไตรมาส 2 ปี 62 มีกำไรสุทธิ 42,232.09 ล้านบาท เป็นผลจากธนาคารพาณิชย์นำเงินไปกันสำรองหนี้เสียเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับผลกระทบจากโควิด-19
หากส่องดูแต่ละแบงก์ จะมีผลประกอบการ ดังนี้ ธนาคารกรุงไทย มีกำไรสุทธิ 10,295.74 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 5,175.01 ล้านบาท, ธนาคารกสิกรไทย กำไรสุทธิ 9,550.22 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 10,423 ล้านบาท, ธนาคารไทยพาณิชย์ กำไรสุทธิ 17,610.77 ล้านบาท ลดลง 2,521.34 ล้านบาท, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กำไรสุทธิ 13,540.31 ล้านบาท ลดลง 6,206.62 ล้านบาท,
ธนาคารทหารไทย กำไรสุทธิ 7,258.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,762.24 ล้านบาท, ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กำไรสุทธิ 1,385.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 743.02 ล้านบาท, บริษัททิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป กำไรสุทธิ 2,819.44 ล้านบาท ลดลง 708.31 ล้านบาท, ธนาคารเกียรตินาคิน กำไรสุทธิ 2,668.25 ล้านบาท ลดลง 30.47 ล้านบาท และบริษัทแอล เอฟ ไฟแนนซ์เชียลกรุ๊ป กำไรสุทธิ 1,329.66 ล้านบาท ลดลง 238.11 ล้านบาท
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 63 มีกำไรสุทธิ 8,359.77 ล้านบาท ลดลง 23.8% จากช่วงเดียวกันปี 62 ที่มีกำไร 10,975.60 ล้านบาท โดยกำไรที่ลดลงส่วนใหญ่มาจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นจำนวน 9,734 ล้านบาท เผื่อหนี้สูญ ซึ่งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มกระทบต่อรายได้และกำไรของแบงก์ในไตรมาสนี้ แต่ยังเชื่อมั่นว่าสถานะกองทุนที่แข็งแกร่งและการตั้งสำรองหนี้สูญในระดับสูง จะช่วยให้สามารถรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยได้
ไม่เพียงรายได้และกำไรของแบงก์พาณิชย์เท่านั้นที่หล่นวูบ รายได้ของแผ่นดินก็จัดเก็บได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายกว่า 2 แสนล้าน โดยรายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 2562 – พ.ค. 2563) กรมภาษี 3 กรม เก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการไปถึง 2.18 แสนล้านบาท หรือต่ำเป้า 12.6%
โดยกรมสรรพากร เก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าไป 1.39 แสนล้านบาท หรือต่ำเป้า 11.4%, กรมสรรพสามิต เก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าถึง 16.4% หรือหายไปราว 7 หมื่นล้านบาท ส่วนกรมศุลกากร เก็บต่ำกว่าเป้า 11.7% หรือต่ำเป้าไป 8,516 ล้านบาท คาดว่าภาพรวมทั้งปีนี้ น่าจะเก็บรายได้ต่ำเป้าหลายแสนล้าน หากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังลากยาว เศรษฐกิจไม่ฟื้น ปีงบประมาณหน้าจะกระทบหนักกว่านี้ เพราะบริษัทต่างๆ รวมถึงรัฐวิสาหกิจ กำไรลดลง
หากดูตัวเลขจัดเก็บภาษีเฉพาะในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการไปแล้ว 1 แสนล้านบาท หรือต่ำเป้า 33.7% โดยกรมสรรพากร เก็บต่ำเป้า 6.6 หมื่นล้านบาท, กรมสรรพสามิต เก็บต่ำเป้า 2.8 หมื่นล้านบาท และรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ต่ำเป้า 1.5 หมื่นล้านบาท เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มูลค่าการนำเข้าที่ลดลง ราคาน้ำมันดิบดูไบที่ลดลง และการขยายเวลายื่นแบบและชำระภาษีต่างๆ รวมถึงรัฐวิสาหกิจบางแห่งนำส่งรายได้ล่วงหน้าไปแล้วในเดือนก่อนหน้า
ข่าวดีๆ ยังไม่มา คงต้องกัดฟันอดทนรอคอยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกันต่อไปอย่างน้อยๆ ก็สิ้นปีหน้า วัดใจใครอึดกว่ามีโอกาสรอด