xs
xsm
sm
md
lg

โควิดฯ ถล่มกำไรแบงก์ร่วง แห่กันสำรอง-ครึ่งปีหลังยังมืดมน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผลประกอบการแบงก์พาณิชย์ไตรมาส 2 และครึ่งแรกของปี 2563 โดนกระทบหนักจากสถานการณ์โควิด-19 คาดทั้งในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยอันเป็นรายได้หลักของธนาคารที่ลดลงจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงเพื่อให้สอดคล้องกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งช่วง 5 เดือนแรกของปีธนาคารพาณิชย์ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงถึง 4 ครั้ง

นับแต่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ครั้งต่อมาหลังการประชุม กนง.นัดพิเศษเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ครั้งที่ 3 หลัง ธปท.การประกาศลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ให้แก่แบงก์ 0.23% เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน และล่าสุดครั้งที่ 4 ตามการประชุม กนง.เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% เพื่อเป็นการลดผลกระทบจากการล็อกดาวน์

ขณะเดียวกัน ธนาคารก็ยังต้องกันสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง เพี่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต โดยเฉพาะหลังจากหมดมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ธนาคารให้พักชำระเงินต้น หรือดอกเบี้ย หรือพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแล้วก็ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าลูกหนี้จะมีความสามารถในการกลับมาชำระหนี้ได้หรือไม่ ซึ่งในจุดนี้ ธปท.เองก็มองเห็นถึงความเสี่ยงดังกล่าว

ดังนั้น ธปท.จึงได้ทำหนังสือแจ้งถึงธนาคารพาณิชย์ในการ ให้งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานในปี 2563 รวมถึงงดทำโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อเก็บสภาพคล่องไว้รองรับสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนในอนาคต ทำให้นอกจากจะงดจ่ายปันผลและงดทำโครงการซื้อหุ้นคืนดังกล่าวแล้ว ธนาคารพาณิชย์ยังต้องเร่งกันสำรองเพื่อรองรับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคตอีกด้วย

กำไรร่วง 41%-แบงก์ใหญ่หนักสุด

ภาพรวมกำไรสุทธิธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง สำหรับไตรมาส 2 ปี 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 30,384 ล้านบาท ลดลง 21,191 ล้านบาท หรือคิดเป็น 41.09% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีสัดส่วนการปรับลดลงมากสุด นำโดยธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มีกำไรสุทธิ 2,175 ล้านบาท ลดลง 78.09% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารกรุงเทพ (BBL) มีกำไรสุทธิ 3,095 ล้านบาท ลดลง 66.89% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารกรุงไทย (KTB) มีกำไรสุทธิ 3,829 ล้านบาท ลดลง 53.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มีกำไรสุทธิ 8,360 ล้านบาท ลดลง 23.83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีกำไรสุทธิ 6,508 ล้านบาท ลดลง 7.16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับงวด 6 เดือนหรือครึ่งแรกของปี 2563 ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งมีกำไรสุทธิรวม 77,219 ล้านบาท ลดลง 28,408 ล้านบาท หรือคิดเป็น 26.89% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับผลประกอบการไตรมาส 3 นำโดยธนาคารกสิกรไทยมีกำไรสุทธิ 9,550 ล้านบาท ลดลง 52.19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารกรุงเทพมีกำไรสุทธิ 10,765 ล้านบาท ลดลง 41.41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารกรุงไทยมีกำไรสุทธิ 10,295 ล้านบาท ลดลง 33.45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารกรุงศรีอยุธยมีกำไรสุทธิ 13,540 ล้านบาท ลดลง 31.43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และธนาคารไทยพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 17,610 ล้านบาท ลดลง 12.53% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ กำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 2 มีอัตราการหดตัวมากกว่ากำไรสุทธิงวด 6 เดือนแรกของปีนั้นมีสาเหตุหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสแรกยังไม่ได้รับผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 มากนัก ขณะที่ไตรมาส 2 มีการล็อกดาวน์อย่างเต็มที่ถึง 2 เดือน ทำให้ได้รับผลกระทบมากกว่า ขณะที่สถานการณ์ในครึ่งปีหลังก็ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

ลุยเสริมแกร่งรับสถานการณ์ยังเสี่ยง


นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)
กล่าวว่า ผลการดำเนินงานสำหรับงวดครึ่งปีแรกปี 2563 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดครึ่งปีแรกปี 2562 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้จำนวน 45,950 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 2,805 ล้านบาท หรือ 6.50% แต่ด้วยการคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบจากความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลง

จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ประกอบกับมาตรการของทางการที่ให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ยังคงต้องมีการติดตามดูแลคุณภาพหนี้อย่างใกล้ชิด ธนาคารและบริษัทย่อยจึงใช้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องในการพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss) เพิ่มจากงวดเดียวกันของปีก่อน จำนวน 16,937 ล้านบาท หรือ 111.97% ทำให้กำไรสุทธิสำหรับงวดครึ่งปีแรกปี 2563 ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 10,423 ล้านบาท หรือ 52.18%

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารด้านรายได้ถือว่าทำได้ดีในไตรมาส 1 อย่างไรก็ดี เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 2 ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 เริ่มส่งผลกระทบมากขึ้น สิ่งที่ทีเอ็มบีและธนาคารธนชาตให้ความสำคัญจึงเป็นเรื่องของการเร่งให้ความช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ควบคู่ไปกับการเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงิน เพราะประเมินว่า สถานการณ์โควิด-19 จะยังคงสร้างแรงกดดันต่อการดำเนินงานและคุณภาพสินทรัพย์ในช่วงที่เหลือของปี โดย 3 เรื่องหลักที่ธนาคารได้เตรียมความพร้อมไว้ ได้แก่ การคงสภาพคล่องในระดับสูงด้วยการเติบโตฐานเงินฝาก การเพิ่มคุณภาพด้านงบดุลด้วยการลดยอดหนี้เสีย และการคงเงินกองทุนในระดับสูง ซึ่งก็ทำได้ตามแผน เป็นการเพิ่มความสามารถของธนาคารในการรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในช่วงถัดไป

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า แม้ว่าเศรษฐกิจกำลังเริ่มฟื้นตัว แต่ผลกระทบในระยะยาวจากการระบาดของโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง ในช่วงเวลาที่ท้าทายเช่นนี้ ธนาคารยังคงให้การสนับสนุนลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกค้าและทุกภาคส่วนของสังคมสามารถก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน

โดยตั้งแต่การเริ่มระบาดครั้งใหญ่นี้ ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าบุคคลไปแล้วกว่า 1.1 ล้านราย และลูกค้าธุรกิจกว่า 13,000 ราย รวมธุรกิจขนาดย่อมและบริษัทต่างๆ คิดเป็นยอดสินเชื่อภายใต้โครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 รวมประมาณ 840,000 ล้านบาท หรือ 39% ของยอดสินเชื่อรวมของธนาคาร และอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าในการขอความช่วยเหลือผ่านช่องทางดิจิทัลบน SCB EASY แอปพลิเคชัน

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า ธนาคารได้พิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ ในการประมาณการถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างรุนแรงและความไม่แน่นอนที่อาจส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อ จึงได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จำนวน 23,235 ล้านบาท ซึ่งรวมการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตเต็มจำนวนสำหรับลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่รายหนึ่งในธุรกิจสาธารณูปโภคและบริการที่เกี่ยวกับการขนส่ง และได้ตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตเพิ่มเติมในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับโรงสีข้าว ขณะที่ปีที่ผ่านมาธนาคารได้ตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 12,891 ล้านบาท โดยธนาคารมี Coverage Ratio เท่ากับ126.5% และ NPLs Ratio-Gross เท่ากับ 4.35% เทียบกับ 4.33% ณ 31 ธันวาคม 2562

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจในปี 2563 แม้ว่ารัฐบาลไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้เปิดระบบเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไปด้วยความระมัดระวัง แต่ความเปราะบางและความไม่แน่นอนยังคงเป็นปัจจัยท้าทาย ดังจะเห็นได้จากคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2563 ถูกปรับลดเป็นหดตัว 10.3% เทียบกับที่คาดว่าจะหดตัว 5.1% ในช่วงก่อนหน้านี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อการบริโภคภายในประเทศและการลงทุน และยังกระทบต่อการส่งสินค้าและบริการไปต่างประเทศด้วย

"เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ ธนาคารจะดูแลและบริหารจัดการในเรื่องคุณภาพของสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง เพื่อให้มั่นใจทั้งในด้านความปลอดภัยและความแข็งแกร่ง ขณะที่กรุงศรีจะยังคงให้การสนับสนุนลูกค้าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมอย่างต่อเนื่อง"

ขณะที่ คำอธิบายงบการเงินจากธนาคารกรุงเทพ (BBL) ระบุว่ากำไรสุทธิของธนาคารที่ลดลงจากครึ่งแรกของปี 2562 เนื่องจากธนาคารมีการตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อกันเงินสำรองสำหรับความไม่แน่นอนที่อาจเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งการคาดการณ์วิกฤตในครั้งนี้ยังยากที่จะคาดคะเน เพราะเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบกว้างไกลต่อระบบเศรษฐกิจโลกไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจโดยตรงเหมือนที่ผ่านมาในอดีต


กำลังโหลดความคิดเห็น