xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“เราเที่ยวด้วยกัน” เที่ยวไปโขกไป ระวังเจอแบล็กลิสต์ เจ๊งปิดถาวร

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - มาตรการเราไม่ทิ้งกัน เราเที่ยวด้วยกัน สร้างสรรค์บรรยากาศจับจ่ายใช้สอย กระตุ้นเศรษฐกิจ อุ้มโรงแรม ท่องเที่ยว ร้านอาหาร และธุรกิจเกี่ยวเนื่องให้คึกคัก ฟื้นจากพิษโควิด-19 แต่ไปๆ มาๆ ยังไม่ทันไร กลับมีกระแสข่าวว่ามีรายการ “ทุบหม้อข้าว” ตัวเอง โรงแรม ที่พัก บางแห่งฉวยโอกาสโก่งราคา กลายสภาพเป็นเสือหิวเสือโหย จ้องฟันขาเลาะกระเป๋าฉีก ทำเอา “นายกฯ ลุงตู่” ขุ่นและฉุนขู่ขึ้นบัญชีดำ เล่นแบบนี้บอยคอตเอาให้เจ๊งถาวรไปเลยดีกว่าไหม

18 กรกฎาคมที่ผ่านมา วันแรกของการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิท่องเที่ยวผ่านเว็บไซต์ "เราเที่ยวด้วยกัน" ออกสตาร์ทได้อย่างสวยงาม ขาเที่ยวจับจองที่พักอยู่ที่ 3.6 ล้านคน ส่วนผลตอบรับจากผู้ประกอบการธุรกิจที่พัก เข้าร่วมแล้วกว่า 6 พันราย ก่อให้เกิดบรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศที่มีสัญญาณบวกมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามที่นายลวรรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลง

แต่ที่ต้องส่งเสียงปรามกันไว้ก็คือ ผู้ประกอบธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการบางราย ฉวยโอกาสปรับราคาสูงขึ้น จึงต้องขอความร่วมมือและขอให้ละเว้นอย่ากระทำเช่นนี้ เพราะจะได้ผลประโยชน์แค่สั้น ได้ไม่คุ้มเสีย ทั้งชื่อเสียงและโอกาสธุรกิจในอนาคต ต้องไม่ลืมว่าโลกเทคโนโลยีที่ไปไกลมากแล้ว ผู้บริโภคมีทางเลือกมีข้อมูล มีการเปรียบเทียบราคาและบริการจากหลายๆ แหล่ง เลือกได้ว่าคุ้มค่าสมราคาหรือไม่

ไม่แต่กระทรวงการคลังเท่านั้น ที่จะติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และจะงัดมาตรการมาจัดการกับนักฉวยโอกาส พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ส่งเสียงขู่ให้ระวังเจอขึ้นบัญชีดำ โดยได้สั่งการให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไปตรวจสอบว่าใครที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วขึ้นราคาจะถูกแบล็กลิสต์ ขอให้ผู้ประกอบการทุกคนช่วยกัน ซึ่งหากภาคธุรกิจเอกชนทำไม่ดีจะส่งผลกระทบกับเจ้าของโรงแรมเอง

“.... ผู้ประกอบการโรงแรมไม่ควรฉวยโอกาสเมื่อมีคนไปท่องเที่ยวและไปพักจำนวนมาก แต่ควรจะซื่อสัตย์ สุจริตซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ ได้อนุมัติให้เพิ่มเงินจาก 600 บาท เป็น 900 บาทให้กับโรงแรมขนาดเล็กที่ให้บริการห้องพักด้วย” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ขาเที่ยวเฮกันไปไหนบ้าง ดูจากยอดจองยังคงเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักของประเทศที่กวาดลูกค้า โดยแหล่งท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ มียอดจองสูงสุดในภาคตะวันออกและตะวันตก โรงแรมติดทะเลยังคงครองใจนักเที่ยว ส่วนใหญ่จองกันเพียงคืนเดียว ส่วนแหล่งท่องเที่ยวไกลๆ ที่ได้รับความนิยมคือภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จังหวัดกระบี่ ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมจองที่พักจำนวน 2 คืน

ทั้งนี้ ในส่วนสิทธิพิเศษตามโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” นั้น รัฐได้สนับสนุนค่าใช้จ่าย 40% ของราคาที่พักต่อห้องต่อคืน สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน จองได้ไม่เกิน 5 คืน ซึ่งมีด้วยกัน 5 ล้านสิทธิ รวมถึงการสนับสนุนค่าอาหารและค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยว 600 บาทต่อห้องต่อคืน สนับสนุนค่าบัตรโดยสารสายการบินในสัดส่วนร้อยละ 40 ของค่าบัตรโดยสาร สูงสุด 1,000 บาทต่อที่นั่ง เป็นต้น

หากมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน เฟสแรก ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ คาดว่าช่วงเดือนสิงหาคมนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเฟส 2 ด้วยการสนับสนุนท่องเที่ยวเมืองรองและวันธรรมดาเพิ่มเติม โดยให้รัฐช่วยจ่ายสนับสนุนค่าที่พักในอัตราที่มากกว่า 40% เพราะคาดว่าจะมีเงินเหลือจากวงเงิน 18,000 ล้านบาท โดยเบื้องต้นนายกรัฐมนตรี ไม่ขัดข้อง

“ต้องการส่งเสริมให้การท่องเที่ยวเมืองรองมากขึ้น โดยท่องเที่ยวในวันธรรมดา ....” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมหนุนข้อเสนอของกระทรวงท่องเที่ยวฯ

ที่ผ่านมา ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณ 22,400 ล้านบาท ให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ดำเนินมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีระยะเวลาโครงการ 4 เดือน ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม -31 ตุลาคม 2563 ส่วนหนึ่งเพื่อตอบแทนและเป็นกำลังใจแก่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ด่านหน้าในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่อีกส่วนเปิดให้บุคคลทั่วไปที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เดินทางระหว่าง 18 กรกฎาคม -31 ตุลาคม 2563 ภายใต้ชื่อ "เราไปเที่ยวกัน" และ "เที่ยวปันสุข" ต่อมากระทรวงท่องเที่ยวฯ ได้รวม 2 แพกเกจนี้ไว้ภายใต้ชื่อโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”

กระทรวงการคลัง ประเมินว่ามาตรการ "เราเที่ยวด้วยกัน" จะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท โดยประมาณการว่า จะมี โรงแรม/โฮมสเตย์ ที่ได้ประโยชน์ 24,700 แห่ง และร้านอาหารที่ได้ประโยชน์ 38,755 แห่ง และส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวโดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี มีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.2-0.3% ขณะที่ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย และหลายสำนักพยากรณ์ทางเศรษฐกิจ คาดการณ์ไว้ว่าจีดีพีปีนี้มีโอกาสติดลบตั้งแต่ 5-10% นับว่าเป็นการติดลบมากสุดเป็นประวัติการณ์ เลวร้ายกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540

ทางด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธนาคารกรุงไทย ออกรายงานว่า รายได้จากการท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หลักของเศรษฐกิจไทย โดยในปี 2562 มีสัดส่วนถึง 16% ของ GDP เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในสัดส่วน 10% ของ GDP ซึ่งคิดเป็น 61% จากรายได้ท่องเที่ยวทั้งหมด ขณะที่ปี 2563 นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถมาเที่ยวไทย เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้ศูนย์วิจัยฯ ประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหดตัวถึง 80% หรือมีจำนวน 8.1 ล้านคน ลดลงจากปี 2562 ที่มีจำนวน 39.8 ล้านคน

ทั้งนี้ มาตรการของภาครัฐที่กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อชดเชยการหดตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยงบฯ กว่า 22,400 ล้านบาท โดยโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” มีมูลค่าเป็นสัดส่วนกว่า 89% ของแพกเกจกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งหมด คาดว่าจะสามารถกระตุ้นรายได้ท่องเที่ยวไทยได้ 3.6-6.2 หมื่นล้านบาท แม้ภาพรวมจะกระตุ้นการท่องเที่ยวไม่ได้มาก แต่ก็ทำให้การท่องเที่ยวบางจังหวัดฟื้นตัวได้

แต่ถ้าหากเทียบกับรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะหายไปกว่า 9.5 แสนล้านบาทในช่วงครึ่งปีหลัง จะเห็นว่ามาตรการของรัฐสามารถชดเชยรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปได้เพียง 3.7-6.4% เท่านั้น โดยเฉพาะรายได้หลักของจังหวัดท่องเที่ยวหลัก เช่น ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ มาจากต่างชาติ ดังนั้น แม้คนไทยจะไปเที่ยวเพิ่มก็ไม่สามารถทดแทนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปได้มากนัก

สถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยตลอดทั้งปีนี้ยังคงอยู่ในอาการลูกผีลูกคน โดยข้อมูลจากสมาคมโรงแรมไทย ระบุว่า โรงแรม 90% ได้ประกาศปิดชั่วคราวในช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ส่งผลกระทบต่อแรงงานในระบบที่มีอยู่ 1.6-1.8 ล้านคน กระทั่งเดือนกรกฎาคมนี้ จึงทยอยกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง แต่ผู้ประกอบการราว 30-40% ยังคงปิดให้บริการ และคาดการณ์ว่าโรงแรมไม่ต่ำกว่า 20% ต้องปิดถาวรเพราะไม่อาจแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการต้องปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่และการแข่งขันสูงเพื่อช่วงชิงลูกค้า ขณะที่มีอีกส่วนหนึ่งทั้งโรงแรม กลาง และเล็ก ต่างเร่ขายกิจการ จนวงการหวั่นกันว่าจะเกิดการเปลี่ยนมือจากเจ้าของที่เป็นคนไทยไปเป็นนักลงทุนต่างชาติ ที่ถือโอกาสเข้ามาช้อปของถูก

เมื่อเร็วๆ นี้ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ประเมินตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยใหม่อีกครั้ง หลังไทยเริ่มผ่อนคลายอนุญาตให้ชาวต่างประเทศสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยปี 2563 กระทรวงท่องเที่ยวฯ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทย ประมาณ 8.2 ล้านคน ลดลง 80% และสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3.96 แสนล้านบาท หรือลดลง 40%

จากข้อมูลเบื้องต้นจากกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไตรมาสแรกปี 63 (มกราคม – มีนาคม) มีจำนวนทั้งสิ้น 6.7 ล้านคน ลดลง 38% สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 3.32 แสนล้านบาท ลดลง 40% จากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ขณะที่ข้อมูลเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2563 ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าประเทศไทย เพราะรัฐบาลได้ประกาศห้ามทำการบินเข้าสู่ประเทศ

ได้แต่ลุ้นกันเหงื่อตกว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย จะใช้เวลาอีกยาวนานแค่ไหนถึงจะฟื้นคืนชีพได้ สถานการณ์เยี่ยงนี้บรรดาโรงแรม ที่พัก ที่เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ก็ไม่ควรด่วนทุบหม้อข้าวตัวเองด้วยการโก่งราคาซึ่งเท่ากับเร่งวันตายเร็วขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น