ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ท่องเที่ยวไทยที่กำลังค่อยๆ ฟื้น ตกอยู่ในสถานะ “ย่ำแย่” อีกครั้ง เมื่อ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้อภิสิทธิ์ “แขก VIP” คือลูกอุปทูตซูดาน และทหารสัญชาติอียิปต์ เข้าประเทศตามมาตรการยกเว้น (เงื่อนไขพิเศษ) แต่ภายหลังตรวจพบติดโควิด-19 เพราะนอกจากไม่มีการกักตัวแล้ว ยังมีพฤติกรรมเป็นพาหะนำเชื้อแพร่สู่แหล่งชุมชุนอีกต่างหาก
โดยเฉพาะในจังหวัดระยองที่ยอดจองโรงแรมถูกยกเลิกทันที 90 % แถมจังหวัดท่องเที่ยวใกล้เคียงชลบุรี - ตราด โดนหางเลขไปด้วย เฉกเช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ ที่หยุดชะงักไปพร้อมๆ กัน
ทั้งนี้ นับแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกอยู่ในสถานะที่เสี่ยงต่อการล้มละลายเป็นลูกโซ่ ขณะที่ในประเทศไทยอ่างอิงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 2/2563 โดยสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง สะท้อนสถานการณ์ท่องเที่ยวปัจจุบันและคาดการณ์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เศรษฐกิจภายในประเทศที่เข้าสู่ภาวะถดถอยจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด รายได้ภาคการท่องเที่ยวในทุกเซ็กเตอร์ลดลง ทั้งโรงแรม, บริษัทนำเที่ยว, สถานบันเทิง ร้านอาหาร และธุรกิจบริการต่างทยอยปิดตัวชั่วคราวเนื่องจากมีปัญหาด้านสภาพคล่อง
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการท่องเที่ยวอยู่ที่ 12 ต่ำกว่าที่ สทท. คาดการณ์ไว้เมื่อไตรมาส 1/2563 ที่คาดการณ์ไว้ที่ 62 สะท้อนว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ถือว่าต่ำกว่าระดับปกติมากที่สุดตั้งแต่เริ่มจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวมาตั้งปี 2553 ทั้งนี้ สทท. คาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นของไตรมาส 3/2563 จะอยู่ที่ 37 นับว่าลดลงต่ำที่สุดในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา
การสำรวจพบว่า ในช่วงไตรมาส 2/2563 ธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะ “ปิดกิจการชั่วคราว” คิดเป็นสัดส่วน 65% ของธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมด และมีแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวส่วนใหญ่ตกงาน “ชั่วคราว” ในสัดส่วน 65% เช่นกัน
สำหรับธุรกิจที่ปิดกิจการชั่วคราวทั้งหมดคือ ธุรกิจสถานบันเทิง ธุรกิจนวด/สปา (98%), ตามด้วยธุรกิจนำเที่ยว (91%), สวนสนุก/ธีมปาร์ก (77%), โรงแรม ที่พัก (72%), คมนาคมขนส่ง (42%), ร้านอาหาร (39%) และสินค้าที่ระลึก (10%) ตามลำดับ
นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่าในไตรมาส 3/2563 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 4 แสนคนลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 96% และคาดว่าจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 20,622 ล้านบาท ลดลง 96% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และในไตรมาส 4/2563 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 5.2 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 49.7% และคาดว่าจะมีรายได้ราว 253,768.1 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 50%
คาดการณ์ว่าตลอดทั้งปี 2563 ประเทศไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมประมาณ 12.29 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 69% และสร้างรายได้รวมประมาณ 6 แสนล้านบาท หรือลดลงจากปีก่อนราว 69% และหากเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ 2 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดเหลือเพียงแค่ราว 8 ล้านคน หรือสร้างรายได้รวมราวๆ 4 แสนล้านบาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของรัฐ ถือเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดทิศทางภาคการท่องเที่ยว หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในสภาวการณ์เช่นนี้รัฐใช้ยาแรงกระตุ้นจูงใจให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวมากกว่าเดิม
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณจำนวน 22,400 ล้านบาท ให้กับการท่องเที่ยว เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมท่องเที่ยวจำนวน 2 โครงการ คือ 1.โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และ 2.โครงการกำลังใจ
สำหรับโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จะเป็นการรวมกันระหว่าง “เที่ยวปันสุข” กับ “เราไปเที่ยวกัน” มาเป็นโครงการเดียว คือ เราเที่ยวด้วยกัน เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว ในช่วง 4 เดือน(กรกฎาคม ถึง ตุลาคม 2563) โดยเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์ผ่านเว็บไซต์ www.เราเที่ยวด้วยกัน.com เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา
โดยผู้ลงทะเบียนจะได้รับ 3 สิทธิคือ สิทธิที่ 1 ส่วนลดค่าที่พัก โรงแรม 40% สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้องหรือคืน(สูงสุด 5 ห้องหรือคืน ต่อคน)
สิทธิที่ 2 รับคูปองมูลค่า 600 บาทต่อห้องต่อคืนใช้เป็นส่วนลดค่าอาหารและค่าเข้าสถานที่ท่องเที่ยวที่ร่วมโครงการ โดยชำระเพียง 60% อีก 40% ตัดจากคูปอง เมื่อ Check-in เข้าพัก จึงจะได้รับคูปองเป็นรายวัน (หลัง 17:00 น.)
สิทธิที่ 3 คืนเงินค่าตั๋วเครื่องบิน 40% แต่ไม่เกิน 1,000 บาท ต่อที่นั่ง จำกัดห้องพักละ 2 ที่นั่ง ตามจำนวนห้องพักที่เข้าพักจริง แต่รวมไม่เกิน 10 ที่นั่ง หลังท่องเที่ยวและ check-out โรงแรมแล้ว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่ามาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศช่วงเดือน ก.ค.-ต.ค. 2563 ของภาครัฐ กลุ่มตัวอย่าง 47.7% มองว่ามาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว
และกลุ่มตัวอย่างกว่า 60.1% วางแผนจะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในช่วง 1-3 เดือน (หลังการคลายล็อก) เนื่องจากอยากเปลี่ยนบรรยากาศหลังกักตัวมานาน และสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลายแห่งกลับมาสวยงาม จึงอยากเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงการจัดโปรโมชั่นด้านราคาของผู้ประกอบการ มีส่วนกระตุ้นความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยว
แต่ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างยังไม่ได้วางแผนช่วงเวลาที่แน่นอนของการเดินทางท่องเที่ยว เพราะยังรอติดตามนโยบายวันหยุดและมาตรการของภาครัฐ รวมถึงสถานการณ์โควิด-19
สำหรับจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวอันดับ 1 คือ แหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ในจังหวัดยอดนิยม อาทิ ชลบุรี ประจวบฯ ภูเก็ต กระบี่ และเพชรบุรี รองลงมา คือ แหล่งท่องเที่ยวทางภูเขา/น้ำตก เช่น เชียงใหม่ เชียงราย น่าน นครราชสีมา และการไปไหว้พระทำบุญ เช่น อยุธยา อุทัยธานี ฯลฯ
โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เลือกที่จะเดินทางโดยการขับรถส่วนตัว เนื่องจากสะดวก ปลอดภัย และมีการเดินทางเป็นครอบครัว มากกว่าการเดินทางโดยเครื่องบิน รถทัวร์/รถตู้ รถไฟ และการเช่ารถ
สรุปได้ว่าคนไทยเริ่มวางแผนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย กอปรกับรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศในช่วงเดือน ก.ค. - ต.ค. 2563 บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศน่าจะค่อยๆ กลับมาฟื้นตัว และเกิดการแข่งขันในธุรกิจที่รุนแรงตามที่ได้เห็นกันว่าที่พัก โรงแรม รีสอร์ท และทัวร์ ในประเทศเริ่มทำโปรโมชั่นคึกคัก ลดราคากว่า 50% นับเป็นสัญญาณที่ดีต่อตลาดการท่องเที่ยวในประเทศในช่วงครึ่งหลัง ซึ่งจะมีเม็ดเงินรายได้เพิ่มขึ้นราว 41,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีมาตรการฯ
แต่การคาดการณ์อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ไทยต้องสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ไม่ให้กลับมาระบาดในประเทศเป็นรอบที่ 2 ซึ่งดูทรงจากอารมณ์คนไทยในเวลานี้จากกรณี “ทหารอียิปต์” และ “อุปทูตซูดาน” แล้วน่าเป็นห่วงยิ่งนักว่าจะ “ไม่เข้าเป้า”