xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.มั่นใจแบงก์รับมือ NPL ไหว หาช่องหนุนปล่อยซอฟต์โลนเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ Exclusive Live!! The Symbol of Your Vision : The Vision for the NEXT Normal เปิดวิสัยทัศน์สู่บรรทัดฐานใหม่ของเศรษฐกิจและการลงทุน ที่จัดโดย The wisdom ว่า นับจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหดตัวอย่างรุนแรง ขณะที่ประเทศไทยคาดการณ์ความรุนแรงต่อเศรษฐกิจมากกว่าวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 และเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังและในอีก 1-2 ปีข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง

ซึ่งในส่วนของสถาบันการเงินไทยได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการช่วยเหลือลูกค้า ทั้งการพักชำระเงินต้น-ดอกเบี้ย การปรับโครงสร้างหนี้ และการปล่อยกู้เสริมสภาพคล่อง โดยมียอดลูกกค้าได้รับการช่วยเหลือแล้ว 16.4 ล้านราย บนความคาดหวังว่าจะผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่าย เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ยังเชื่อมั่นธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของไทยในการรับมือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่มีแนวโน้มสูงในปีนี้ได้ดี ด้วยเงินกองทุนของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันที่มีความแข็งแกร่งมากถึง 18-19% ขณะที่หนี้เอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำที่ 3% ซึ่งถือว่าเป็นระดับต่ำ

สำหรับโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 500,000 ล้านบาทนั้น ยังมียอดน้อยอยู่ โดยขณะนี้มียอดกว่า 1 แสนล้านบาทเท่านั้น แต่เงินดังกล่าวก็กระจายลงสู่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ได้มากถึง 70% เพียงแต่เงินสินเชื่อยังเติบโตน้อย

อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังให้ความสำคัญในการสนับสนุนสินเชื่อดังกล่าว โดยต้องมาดูเงื่อนไขเพิ่มเติมเพื่อให้เงินสินเชื่อเพิ่มขึ้น ขณะที่ทางธนาคารพาณิชย์เองก็อยากให้เพิ่มการลดความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อนี้ด้วย จึงมีแนวคิดให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยลดความเสี่ยงหลังครบกำหนดโครงการในปี 2564 ขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อยเองก็ควรที่จะดูแลควบคุมต้นทุนให้ดี

"สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถประเมินได้ ดังนั้น ไทยควรเตรียมการเพื่อรับมืออย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าหากประเทศไทยเกิดการระบาดโควิด-19 รอบสอง ซึ่งไม่ได้หมายถึงคนติดเชื้อแต่หมายถึงการปิดเมืองอีกครั้ง จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น และมองว่ามีโอกาสฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจมากในช่วงไตรมาส 2 นี้ ส่วนในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ ดังนั้น ประเทศไทยต้องเตรียมตัวให้ดีอยู่ตลอดเวลา แต่ที่ผ่านมาก็ถือว่าประเทศไทยยังมีความสามารถในการควบคุมการระบาดได้ดีมาก หากเป็นไปได้อยากให้ภาครัฐลงทุนเพิ่มในการตรวจหาเชื้อ การกักตัว และการรักษามากขึ้น รวมถึงการจ้างคนมาทดสอบวัคซีนถือเป็นการลดการว่างงานไปในตัว"


กำลังโหลดความคิดเห็น