ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - คำตัดสินชี้ขาดของศาลปกครองสูงสุด ไม่รับคำร้องรื้อคดีค่าโง่โฮปเวลล์ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และกระทรวงคมนาคม ยื่นขอไป โดยยืนคำสั่งเดิมให้รัฐจ่ายชดเชย 2.4 หมื่นล้าน แก่โฮปเวลล์ โดยยกเหตุไม่มีหลักฐานใหม่ เท่ากับเป็นการปิดฉากคดีมหากาพย์ที่ยืดเยื้อเรื้อรังมายาวนาน
แต่ทว่านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังเดินหน้าหาช่องทางสู้ต่อในประเด็น “สัญญาโมฆะ” เพื่อที่จะไม่ต้องจ่ายค่าโง่คล้ายกับคดีโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน แต่ผลจะเป็นเช่นไรก็รอดูกันไป
นับเป็นข่าวใหญ่ที่หลายฝ่ายเฝ้าลุ้นเพราะเป็นเรื่องที่ทำให้รัฐเสียหายและประชาชนคนไทยต้องร่วมจ่าย “ค่าโง่” และแล้วในที่สุด ศาลปกครองสูงสุด ก็มีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับคำฟ้องของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่ยื่นขอให้รื้อคดีที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้กระทรวงคมนาคม และร.ฟ.ท.ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ทั้งสองหน่วยงานต้องคืนเงินค่าตอบแทนที่บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ชำระและใช้เงินในการก่อสร้างโครงการพร้อมดอกเบี้ยราว 2.4 หมื่นล้านบาท
ผลของคำสั่งดังกล่าวของศาลปกครองสูงสุด ทำให้รัฐต้องจ่าย “ค่าโง่” ให้แก่โฮปเวลล์ จากการที่รัฐบอกยกเลิกสัญญา ถือเป็นการปิดฉากคดีที่ยืดเยื้อมากว่า 30 ปี
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาไปแล้วเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 หมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 กันยายน 2551 ที่ให้กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. คืนเงินค่าตอบแทนที่บริษัทโฮปเวลล์ ชำระและใช้เงินในการก่อสร้างโครงการ พร้อมดอกเบี้ยให้แก่บริษัทโฮปเวลล์
หลังจากนั้น กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่า ศาลปกครองสูงสุด รับฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดและมีพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป
มาดูคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ที่ได้ชี้ขาดในประเด็นสำคัญที่กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. ร้องต่อศาลกัน
ประเด็นคมนาคมและร.ฟ.ท.อ้างว่า ศาลปกครองสูงสุด ฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดคลาดเคลื่อนในประเด็นเกี่ยวกับระยะเวลาในการเสนอข้อพิพาทและการกำหนดประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีนั้น ศาลท่านว่า เป็นการใช้ดุลยพินิจของศาลที่จะกำหนดประเด็นและวินิจฉัยปัญหาตามข้อเท็จจริงแห่งคดี ข้ออ้างจึงมีลักษณะโต้แย้งดุลยพินิจของศาลในการพิจารณาพิพากษาของศาล และไม่ใช่เป็นกรณีที่ศาลฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด หรือทำให้กระบวนการพิจารณาคดีมีข้อบกพร่องสำคัญที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม
ประเด็นที่อ้างว่า ศาลปกครองสูงสุด ไม่ย้อนสำนวนให้ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาในเนื้อหาแห่งคดี ถือเป็นข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนการพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรมนั้น ศาลเห็นว่า “... เป็นดุลพินิจของศาลปกครองสูงสุดตามที่เห็นว่ามีเหตุสมควรเท่านั้น จึงจะให้ส่งสำนวนคืนไปที่ศาลปกครองชั้นต้นเพื่อให้พิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่”
สำหรับประเด็นที่สำคัญที่สุดในการยกขึ้นมาในการต่อสู้คดีครั้งนี้ อยู่ตรงที่กระทรวงคมนาคม และร.ฟ.ท. อ้างว่า พบพยานหลักฐานใหม่ว่าบริษัทโฮปเวลล์ ในขณะเข้าทำสัญญาเป็นการดำเนินการของบุคคลต่างด้าวที่ฝ่าฝืนประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พ.ย.2515 นั้น
ศาลเห็นว่า ไม่ว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสามารถของบริษัทโฮปเวลล์ ตามหนังสือรับรองจดทะเบียนนิติบุคคลหรือการเข้าประกอบกิจการก่อนที่จะได้รับหนังสือรับรองจากอธิบดีกรมทะเบียนการค้าในขณะนั้น จะเป็นจริงดังที่อ้างหรือไม่ก็ตาม แต่โดยข้อเท็จจริงความสามารถของบริษัทโฮปเวลล์ฯ เป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่ตั้งแต่ขณะเข้าทำสัญญา ซึ่งหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล เป็นเอกสารที่ทุกคนสามารถเข้าขอตรวจสอบจากราชการได้ และหนังสือดังกล่าวก็ต้องยื่นประกอบการลงนามในสัญญา
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมฯ ได้บรรยายฟ้องว่า คณะกรรมการร.ฟ.ท.มีมติให้ร.ฟ.ท.มีอำนาจลงนามในสัญญาร่วมกับกระทรวงคมนาคมและให้บริษัทโอปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) มีอำนาจเข้าดำเนินการก่อสร้าง พัฒนาที่ดินของร.ฟ.ท. ซึ่งบริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ได้จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นตามกฎหมายไทย กรณีดังกล่าวบ่งชี้ว่ากระทรวงคมนาคมฯทราบดีว่าบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) มีบริษัทแม่เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในต่างประเทศ
“ข้อโต้แย้งเรื่องความสามารถของบริษัทโฮปเวลล์ขณะเข้าสัญญาซึ่งเป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะปฏิวัติฯรมว.คมนาคมซึ่งเป็นผู้ลงนามในสัญญา เป็นบุคคลที่อยู่ร่วมในครม. ย่อมต้องรู้ว่าบริษัทโฮปเวลล์ฯได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากครม. อีกทั้งกระทรวงคมนาคมฯยอมรับในคำขอพิจารณาคดีใหม่ว่าบริษัทโฮปเวลล์ ได้รับการส่งเสริมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนให้ประกอบธุรกิจประเภทที่กำหนดไว้ในบัญชี ค.ท้ายประกาศคณะปฏิวัติฯ และกรณีนิติบุคคลต่างด้าวจะประกอบกิจการตามที่ลงนามในสัญญาจะต้องขออนุญาตจากอธิบดีกรมทะเบียนการค้าก่อน จึงเป็นข้อบัญญัติกฎหมายที่กระทรวงคมนาคมฯ จะปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่ได้ แต่ควรต้องตรวจสอบเรื่องความสามารถของคู่สัญญาก่อนลงนาม
“อีกทั้งร่างสัญญาจะต้องผ่านการตรวจจากกรมอัยการขณะนั้นก่อนลงนาม การที่กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท.ไม่ตรวจสอบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวและไม่เคยยกข้อเท็จจริงนี้ขึ้นต่อสู้มาก่อน ทั้งในชั้นเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการและในชั้นศาลปกครองเลย จึงเป็นความบกพร่องของกระทรวงคมนาคมและร.ฟ.ท.เอง จึงไม่อาจถือได้ว่าทั้งสองไม่ทราบถึงความมีอยู่ของพยานหลักฐานนั้นในการพิจารณาคดีครั้งที่แล้วมาโดยมิใช่ความผิดของกระทรวงคมนาคมและร.ฟ.ท. ดังนั้นเอกสารที่ทั้งสองกล่าวอ้างจึงไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ ที่จะทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นที่ยุติแล้วเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ”
สรุปสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือ “ไม่มีหลักฐานใหม่” ศาลปกครองสูงสุด จึงไม่รับคำร้องรื้อคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด จะตีตกในประเด็นที่กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท.ยกขึ้นมาในคำร้อง แต่ล่าสุด ท่าทีจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กลับขอพลิกตำราสู้อีกสักตั้ง โดยให้ฝ่ายกฎหมายของกระทรวงฯ และ ร.ฟ.ท. ตรวจสอบรายละเอียดเพื่อหาทางดำเนินการต่อไป
ตามแนวทางพลิกคดีที่กระทรวงคมนาคม กับ ร.ฟ.ท. วางไว้ คงเป็นเรื่องการเพิกถอนทะเบียนบริษัทโฮปเวลล์ กล่าวคือ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563 นายนิติธร ลํ้าเหลือ ทนายความ ผู้ได้รับมอบอำนาจจาก ร.ฟ.ท. และกระทรวงคมนาคม ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ตรวจสอบการจดทะเบียนของบริษัทโฮปเวลล์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยยื่นฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทะเบียน คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนย้อนหลังของโฮปเวลล์ ซึ่งตรวจสอบพบว่า บริษัทโฮปเวลล์ ขาดคุณสมบัติตามกฎหมาย โดยการจดทะเบียนมีนิติบุคคลต่างชาติเป็นเจ้าของกิจการ ขัดต่อกฎหมายของไทยขณะนั้น ตามกระบวนการศาลคาดว่าจะมีการนัดวันไต่สวนภายใน 30 วัน หรือภายในเดือนกรกฎาคม 2563 นี้ ว่าจะรับหรือไม่รับคำร้อง
หากศาลมีคำสั่งให้กระทรวงพาณิชย์ เพิกถอนการจดทะเบียน ทำให้บริษัทโฮปเวลล์ไม่มีตัวตน และสัญญาระหว่างกระทรวงคมนาคม ร.ฟ.ท. และโฮปเวลล์ เป็นโมฆะ และการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจะไม่เป็นผล
ที่ผ่านมา นายศักดิ์สยาม ยืนยันจะนำทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาและสู้ในทุกช่องทางที่ทำได้ โดยแนวทางหนึ่ง คือ แนวทางต่อสู้คดีโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่มีการทุจริตทำให้การลงนามสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีผลผูกพันทำให้ไม่ต้องเสียค่าโง่
แต่ต้องไม่ลืมว่า คดีคลองด่าน กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการคลัง มีการดำเนินคดีทุจริตเอาผิดกับนักการเมือง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มบริษัทเอกชนผู้รับเหมาก่อสร้าง ในหลายคดีกระทั่งศาลฎีกาพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิด ทำให้ฝ่ายรัฐกล่าวอ้างสัญญาเป็นโมฆะไม่ต้องจ่าย “ค่าโง่” ให้กับบริษัทเอกชนคู่สัญญาที่ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ขณะที่ คมนาคมและ ร.ฟ.ท. เพิ่งนำประเด็นการทุจริตมาตรวจสอบ หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้จ่ายชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัทโฮปเวลล์แล้ว
ที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.ได้ต่อสู้ในประเด็นเรื่องการนับอายุความ ซึ่งศาลปกครองชั้นต้น เห็นว่าหมดอายุความจริง แต่ศาลปกครองสูงสุด กลับเห็นต่างจากศาลปกครองกลางทำให้ต้องยืนตามอนุญาโตตุลาการ
แนวทางสู้คดีก็ว่าไป แต่อีกด้านหนึ่ง กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. ก็เจรจากับโฮปเวลล์คู่ขนานไปด้วยนับตั้งแต่ศาลปกครองสูงสุด มีคำตัดสินเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ให้กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. ชำระค่าเสียหายให้โฮปเวลล์ วงเงินประมาณ 24,798 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 11,888 ล้านบาท ดอกเบี้ย 12,910 ล้านบาท ตามกระบวนการทางกฎหมาย โดยตั้งคณะทำงานชุดที่มี นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน เพื่อเจรจาเงื่อนไขการชำระค่าเสียหาย
เช่น ทยอยผ่อนชำระ ลดดอกเบี้ย ซึ่งโฮปเวลล์ได้ยื่นข้อเสนอให้กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท.ชำระเงินรวมดอกเบี้ยที่ประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท พร้อมเงื่อนไขที่ต้องอำนวยความสะดวกในการนำเงินออกนอกประเทศ และถอนเรื่องการฟ้องร้อง อุทธรณ์คดีความต่างๆ ให้ยุติทั้งหมด โดยกระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. ได้นำเรื่องหารือทางอัยการสูงสุด ซึ่งเห็นว่า เป็นเงื่อนไขที่รัฐเสียเปรียบ ไม่สามารถยอมรับได้ ทำให้ยังไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติม
ถึงใครๆ จะมองว่าคดีสิ้นสุดแต่คมนาคมยังไม่สิ้นสงสัย ก็ต้องพลิกตำราสู้กันต่อไป