"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"
ในที่สุดความพยายามของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่จะซื้อเวลา “ยื้อ” การจ่ายค่าเสียหาย 24,000 ล้านบาท กับบริษัท โฮปเวลล์ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 21 มีนาคมปีที่แล้ว ก็จบลงตามคาด เมื่อศาลปกครองสูงสุด ยกคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ เพราะมีหลักฐานใหม่
ที่ว่าตามคาดก็เนื่องจากการต่อสู้คดีในศาลนั้น ไม่ว่าจะเป็นศาลอะไร ทั้งโจทก์และจำเลย จะต้องนำพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง ทั้งหมดมาต่อสู้หักล้างกันให้จบในศาลชั้นต้น การอุทธรณ์ ฎีกา จะไม่สามารถยื่นหลักฐานเพิ่มเติมได้ การพิจารณาของศาลสูง จะใช้พยานหลักฐานเดิมเท่านั้น
การร้องขอให้ศาลรื้อฟื้นคดีใหม่ โดยอ้างว่า มีหลักฐานใหม่ ก็เหมือนนักเรียนขอสอบใหม่ หลังจากทำข้อสอบไปแล้ว รู้ผลสอบแล้วว่า สอบตก
ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลข้อหนึ่งในการยกคำร้องครั้งนี้ว่า ที่กระทรวงคมนาคม และรฟท. อ้างว่า โฮปเวลล์มีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างด้าว ซึ่งเป็นการผิดเงื่อนไขในสัญญาสัมปทาน และเป็นหลักฐานใหม่ที่กล่าวอ้างนั้น ไม่ใช่หลักฐานใหม่ เพราะตอนทำสัญญา ก็น่าจะรู้อยู่แล้ว และทำไมจึงไม่อ้างเป็นข้อต่อสู้เสียแต่แรก ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว จึงค่อยยกมาอ้าง
สรุปว่า หนึ่งปีที่ผ่านมา ที่กระทรวงคมนาคม และ รฟท.พยายามซื้อเวลาไม่สำเร็จ และทุกวันที่ผ่านไป ดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายให้โฮปเวลล์ก็งอกขึ้นเรื่อยๆ จากนี้ไป คงขึ้นอยู่กับโฮปเวลล์ว่า จะมีวิธีการบังคับคดีกับ รฟท.อย่างไร หาก รฟท.ยังไม่ยอมจ่าย
ขอยกเอาเรื่องเก่าที่เคยเขียนไว้แล้วมาเล่าใหม่ว่า คดีค่าโง่โฮปเวลล์นี้ มีความเป็นมาอย่างไร ใครที่ได้ผลประโยชน์ก้อนโตจากโครงการนี้ และทิ้งมรดกบาปให้คนรุ่นหลังต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย
ถ้ารัฐบาลชวน หลีกภัย 2 ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ไม่บอกเลิกสัญญาก่อสร้างโครงการโฮปเวลล์เมื่อต้นปี 2541 สัมปทานของโฮปเวลล์ซึ่งมีอายุ 30 ปี จะหมดอายุลงในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ภายใต้สัมปทาน โฮปเวลล์มีสิทธิใช้พื้นที่แนวเส้นทางรถไฟในกรุงเทพมหานคร ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร ที่ดินสองข้างทาง และที่ดินการรถไฟฯ ที่มักกะสัน บางซื่อ และหัวลำโพงอีก ราวๆ 200 ไร่ ตามสัญญา ซึ่งหมายความว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่กำลังก่อสร้างใกล้จะเสร็จอยู่แล้ว สถานีกลางบางซื่อ รวมทั้ง รถไฟแอร์พอร์ตลิงค์ ก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะเป็นการละเมิดสิทธิของโฮปเวลล์ถูกฟ้องร้องแน่
การยกเลิกสัญญาสัมปทานโฮปเวลล์ จึงเป็นความจำเป็น เพราะหากไม่เลิก การลงทุนในระบบรางของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่เห็นกันอยู่ในตอนนี้ จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เนื่องจากมีโฮปเวลล์ เป็นหมาหวงก้างอยู่ กล่าวคือ แม้กอร์ดอน วู จะไม่ทำโครงการต่อแล้ว แต่สัญญาสัมปทานยังคุ้มครองสิทธิ การใช้พื้นที่เหนือรางรถไฟ และพื้นที่สองข้างทางอยู่
รัฐบาลชวน 2 โดยนายสุเทพ บอกเลิกสัญญา เพราะโฮปเวลล์หยุดก่อสร้างไปนานแล้ว และตอนนั้น ประเทศไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ ตอนปลายปี 2541 กระทรวงคมนาคมต้องการสร้างถนนโลคัลโรด จากหัวหมากมาถึงยมราชเพื่ออรองรับการจราจร ซึ่งโลคัลโรดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ แต่โฮปเวลล์ไม่ได้สร้าง เมื่อรัฐบาลเข้าไปสร้าง ก็ถูกโฮปเวลล์ฟ้องว่า ละเมิดสิทธิ
การถามหาผู้รับผิดชอบในการบอกเลิกสัญญาสัมปทานโฮปเวลล์ ซึ่งเป็นเหตุให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย ต้องจ่ายเงินที่โฮปเวลล์ลงทุนไปแล้วรวม 11,800 ล้านบาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน และต่อไป จนกว่าจะชำระเงินครบ ตามคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด จึงไม่ถูกผู้ที่ต้องรับผิดชอบกับค่าโง่จำนวนมหาศาลนี้ คือ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญ ในการทำให้โครงการโฮปเวลล์เกิดขึ้นมาเมื่อ 30 ปีก่อน คือ รัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่มีนายมนตรี พงษ์พานิช ส.ส.อยุธยา พรรคกิจสังคม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
นายกอร์ดอน วู นักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจก่อสร้างชาวฮ่องกง เป็นเจ้าของไอเดีย สร้างทางยกระดับ 3 ชั้นเหนือรางรถไฟในกรุงเทพฯ เพื่อแก้ปัญหาจุดตัดของทางรถไฟกับถนนจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาการจราจร
ชั้นที่ 1 เป็นทางรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย ชั้นที่ 2 เป็นรถไฟชุมชนของโฮปเวลล์ ซึ่งเหมือนกับรถไฟฟ้าในปัจจุบัน ชั้น 3 เป็นทางด่วนสำหรับรถยนต์ ทั้งหมดนี้ การรถไฟฯ ไม่ต้องลงทุนสักบาท กอร์ดอน วู ลงทุนเองทั้งหมด แถมยังจ่ายค่าตอบแทนให้การรถไฟฯ เป็นเงินก้อนใหญ่ แบ่งชำระเป็นงวด แลกกับการนำที่ดินการรถไฟฯ ประมาณ 200ไร่ไปพัฒนาหารายได้
ตอนนั้น ประเทศไทยเพิ่งเปลี่ยนจากระบอบอมาตยาธิปไตย ประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่มีพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีนานถึง 8 ปี มาเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เศรษฐกิจกำลังทะยานขึ้น จากรากฐานอันมั่นคงที่ระบอบอมาตยาธิปไตยสร้างไว้ และนโยบายเปลี่ยนการค้าเป็นสนามรบของพล.อ.ชาติชาย
ควบคู่กับการเบ่งบานของประชาธิปไตย ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ คือ การทุจริต คอร์รัปชันของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง จนรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ได้ฉายาว่า “บุฟเฟ่ต์คาบิเนต” ซึ่งมีความหมายว่า ใครใคร่โกง โกง ใครใคร่กิน กิน
โครงการโฮปเวลล์ ก็เป็นหนึ่งในเมนูในไลน์ บุฟเฟต์ของรัฐบาลชาติชาย ที่มีแต่ความฝัน ไม่มีรายละเอียดโครงการ การออกแบบการก่อสร้าง สร้างไปออกแบบไป จึงทำให้มีปัญหาในเรื่องการก่อสร้างอยู่ตลอดเวลา และไม่มีแผนการเงินที่ชัดเจน สร้างไปหาเงินไป จึงทำให้เมื่อ แนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อันเป็นหัวใจสำคัญของโครงการในช่วงหลังจากปี 2535 เริ่มเข้าสู่ขาลง โครงการโฮปเวลล์ในสายตาสถาบันการเงิน และนักลงทุนต่างชาติ เป็นโครงการที่มีความเสี่ยงสูง
กอร์ดอน วู สามารถทำให้พล.อ.ชาติชาย และนายมนตรี อนุมัติโครงการได้ แม้ว่า จะไม่มีรายละเอียดใดๆ เลย โดยมีการเซ็นสัญญากันในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2533 หลังจากนั้นอีกเพียง 3 เดือน รัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ก็ถูกรัฐประหาร โดยคณะ รสช.ของกลุ่มนายทหาร จปร.รุ่น 5 และมีการตั้งรัฐบาลที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี นายนุกุล ประจวบเหมาะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
โครงการโฮปเวลล์ เป็นโครงการหนึ่งที่รัฐบาลอานันท์ ตรวจสอบ และถูกยกเลิก การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากร และสิทธิอื่นที่รัฐบาลชาติชายรับปากไว้ รวมทั้งการสั่งให้เลิกโครงการ เพราะมีที่มาไม่โปร่งใส แต่ก็ไม่มีมติ ครม.อย่างชัดเจน ทำให้โครงการโฮปเวลล์ยังคงเดินหน้าต่อไปแบบลูกผีลูกคนมาอีกหลายปี ก่อนจะยุติการก่อสร้าง และถูกยกเลิกสัญญาเมื่อต้นปี 2541
การบอกเลิกสัญญาของรัฐบาลชวน 2 เป็นการดำเนินการต่อจากมติ ครม.รัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งมีมติ ครม.วันที่ 30 กันยายน 2540 แต่หลังจากนั้นเพียง 5 สัปดาห์ พล.อ.ชวลิต ก็ลาออก เพราะทนต่อแรงกดดันจากวิกฤตต้มยำกุ้งไม่ไหว พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งรัฐบาล และนายชวน หลีกภัย กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2
เสาตอม่อโครงสร้างขนาดใหญ่ 100 กว่าต้นของโครงการโฮปเวลล์ บนเส้นทางรถไฟจากดอนเมืองมาจนถึงแถวๆ บางเขน คือ อนุสรณ์การโกงกินอย่างมโหฬาร ในรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ เวลาพูดถึงโฮปเวลล์ คนที่ทันยุคนั้นนะนึกถึงชื่อ มนตรี พงษ์พานิช แต่ถ้าพล.อ.ชาติชายไม่สั่ง หรือไม่พยักหน้า นายมนตรีจะทำได้หรือ
เสาตอม่อเหล่านี้ถูกรื้อถอนไปเมื่อไม่นานมานี้ เพราะมีการก่อสร้างรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต
บัดนี้ เรามีอนุสรณ์ใหม่ คือ ค่าโง่โฮปเวลล์ 12,000 ล้านบาท ที่เป็นมรดกตกทอดมาจากยุคประชาธิปไตยเต็มใบ