เจ้าของแบรนด์ศิริวัฒน์แซนด์วิช แจงแนวคิด “เงินเดือนออกแล้ว เก็บเงินสดให้มากที่สุด” ยืนยันไม่ได้ให้หยุดใช้จ่าย แต่ให้แบ่งกิน-แบ่งเก็บ มีเงินฝากตอนนี้ดีกว่าไม่มี ชี้เป็นโอกาสทำในสิ่งที่ไม่คิดจะทำเพื่อความอยู่รอด แนะการเงินมีปัญหาคุยกับเจ้าหนี้ อย่าหนี ไม่ต้องไปคิดถึงอดีต ทำวันนี้ให้ดีที่สุด อนาคตจะมาเอง
จากกรณีที่ในโซเชียลมีเดียแชร์ข้อความของนายศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ เจ้าของแบรนด์ศิริวัฒน์แซนด์วิช ที่เคยเป็นอดีตนักธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 ระบุว่า “เงินเดือนออกแล้ว ให้เก็บเป็นเงินสดให้มากที่สุด อะไรที่ว่าราคาถูกแล้ว ยังจะมีถูกกว่าอีกครับ” ทำให้ชาวเน็ตต่างตระหนัก และแสดงความคิดเห็นกันไปต่างๆ นานา
เมื่อวันที่ 6 ก.ค. นายศิริวัฒน์ให้สัมภาษณ์ในรายการตอบโจทย์ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ระบุว่า ที่มาที่ไปของคำนี้ก็คือ ตนเคยเจ๊งมาแล้วเมื่อปี 2540 มีหนี้สินเกือบ 1,000 ล้านบาท ตอนอายุ 48 ปี รู้ถึงความรู้สึกของคนเป็นหนี้ คนไทยอย่างน้อย 20-30 ล้านคน เป็นหนี้ภาคครัวเรือนมากถึง 12 ล้านล้านบาท ประมาณ 79% ของจีดีพี เศรษฐกิจก่อนโควิด-19 ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว อยู่ในภาวะขาลง พอโควิด-19 มาถึง ถือเป็นสึนามิลูกใหญ่ที่กำลังซัดเข้าหาฝั่งประเทศไทย
“ในฐานะที่ผมเป็นคนเคยรวยคนหนึ่ง และเจอวิกฤตแบบหนักหนาสาหัส จำเป็นต้องออกมาพูด แต่ก็ไม่ได้คิดว่าคำพูดของผมจะทำให้สื่อให้ความสนใจและมีน้ำหนัก วันนี้เรากำลังออกจากยุคเศรษฐกิจรุ่งเรือง กำลังจะเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง”
นายศิริวัฒน์อธิบายว่า ย้อนกลับไปเศรษฐกิจประเทศไทยเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ 30-40 ปีที่แล้ว สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ช่วงที่เป็นนายกรัฐมนตรี 8 ปี ระบุว่า ประเทศไทยอยู่ในยุคเศรษฐกิจโชติช่วงชัชวาล หลังจากนั้น พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจ เศรษฐกิจไทยขาขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งมาถึงปี 2540 การลงทุนประเทศไทยขยายตัวมาก ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน ต้องระดมเงินฝากเพื่อปล่อยสินเชื่อ
ยุคนั้นดอกเบี้ยเงินฝาก 12 เดือน สูงถึง 16% ตนในฐานะลูกหนี้ต้องกู้ 17-19% คนอื่นกู้ 21% และมีบริษัทใหญ่กู้เงินจากต่างประเทศ เพราะดอกเบี้ยถูกเพียงแค่ 5-7% แต่โชคไม่ดีที่นายจอร์จ โซรอส โจมตีค่าเงินบาท และธนาคารแห่งประเทศไทยขายเงินดอลลาร์ออกไป จนต้องหากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) นำไปสู่การลดค่าเงินบาทและปิดสถาบันการเงิน เศรษฐกิจของไทยทรุดเพราะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารสูงถึง 50% จึงต้องเพิ่มทุนจากต่างชาติ
เมื่อค่าเงินบาทอ่อน รายได้จากการท่องเที่ยว 1.9 ล้านล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจไทยอยู่ได้มาถึง 20 ปี แม้การส่งออกจะลุ่มๆ ดอนๆ ก็ตาม เมื่อโควิด-19 มาถึง เดือน มี.ค.ที่ผ่านมาท่าอากาศยานปิด ตัวเลขนักท่องเที่ยวลดลงเป็นศูนย์ หลายประเทศเจอโควิด-19 รอบสอง ตนมองว่าจีดีพีของประเทศไทยจะติดลบไม่ต่ำกว่า 10-20% เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวหายไป การส่งออกติดลบ ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ฟื้นตัวเร็วเพราะสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นซื้อของและท่องเที่ยว
แต่คราวนี้เหมือนเป็นสึนามิลูกใหญ่ หลัง 30 มิ.ย.จะมีหลายบริษัท หลายโรงงานปิดกิจการ เพราะอยู่ในช่วงปิดงบครึ่งปีพอดี และเป็นโอกาสของเจ้าของกิจการ และเจ้าของธุรกิจที่ดูแลพนักงานมาตั้งแต่เดือน มี.ค. ไม่มีใครอยากจะปลดพนักงาน อยากจะลดเงินเดือนและปิดธุรกิจ แต่ยื้อมาแล้วหลายเดือน จึงไม่รู้จะทำอย่างไร อีกอย่างหนึ่ง ธนาคารพาณิชย์ประกาศดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน เหลือครึ่งเปอร์เซ็นต์ ถ้านำเงินฝากไปปล่อยสินเชื่อจะเกิดหนี้เอ็นพีแอลสูงขึ้น มีความเสี่ยงกว่า
“การที่ตลาดมีเงินเหลือเยอะ เราต้องเข้าใจว่าเงินมันไม่ได้ทำประโยชน์อะไร มันแช่เฉยๆ เงินมันต้องหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ตามหลักเศรษฐศาสตร์ทุกๆ 100 บาท มันจะหมุนไป 5 รอบ ถ้าผมบอกว่าสึนามิมาแน่ รายได้จากการท่องเที่ยว 2 ล้านล้านบาท ที่หมุนได้ถึง 10 ล้านล้านบาทหายไป วันนี้ไปดูภูเก็ต สมุย เชียงใหม่ เงียบหมด ผมก็เห็นว่าถ้าเป็นแบบนี้ เงินเหลือเยอะก็ไม่ดี แต่หลายท่านก็ถามผมว่า ถ้าอย่างนี้ฝากแบงก์ดีไหม ผมก็บอกว่าดี มีเงินฝากตอนนี้ดี ดีกว่าไม่มีเงินสดเลย”
นายศิริวัฒน์ปฏิเสธแนวคิดที่ว่าการเก็บเงินสดเยอะๆ คนไม่ใช้จ่าย เศรษฐกิจก็ไม่เดิน ยืนยันว่าไม่ได้พูดอย่างนั้น แต่ให้เปรียบเทียบคนที่มีเงินเดือน 15,000 บาท ใช้ไป 7,500 บาท เก็บไว้ 7,500 บาท กับคนที่มีเงินเดือน 15,000 บาท แต่ใช้ไปทั้งหมด อีก 6 เดือนข้างหน้า คนแรกจะมีเงินเหลือ และสภาพจิตใจก็จะดี ส่วนอีกคนหนึ่งไม่มีเงินเหลือ การที่เป็นหนี้ภาคครัวเรือนเพราะธนาคารพาณิชย์ให้บัตรเครดิตอิงจากเงินเดือนแล้วติดกับดักเพราะมีดอกเบี้ยมาด้วย แม้จะมีมาตรการช่วยเหลือแต่จะรอดหรือไม่ ธนาคารแห่งประเทศไทยควรใช้วิธีจัดชั้นลูกหนี้ (Across-the-board) ถ้าไม่ช่วยทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้จะเหมือนกับปี 2540
ทั้งนี้ ตนเห็นว่าอย่าเพิ่งไปทำนายเศรษฐกิจไทยปีหน้า แต่ให้ดูก่อนว่านักท่องเที่ยวเข้าเมื่อไหร่ โรงแรมจะเปิดกิจการได้หรือไม่ อะไรก็แล้วแต่ยังไม่แน่นอน ถ้าไม่ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้เพื่อเตรียมตัว แต่ละคนสถานภาพ สิ่งแวดล้อมไม่เหมือนกัน ต้องไปประเมินว่าถ้าเหตุการณ์เลวร้ายที่สุด แล้วเรามีรายได้อย่างนี้ควรทำอย่างไร จึงสรุปออกมาง่ายๆ ว่า เก็บเงินสดให้มากที่สุด และไม่อยากให้คนไปคิดสั้นเพราะไม่มีประโยชน์ ทุกอย่างแค่ชั่วคราว อะไรในอดีตที่แก้ไขไม่ได้แล้ว ช่างมัน แต่วันนี้เราสามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตเราได้ ทุกอย่างอยู่ที่เรา ถ้าตั้งใจจะหาเงินมันได้ทั้งนั้น
“เก็บเงินสดในความหมาย คือ ไม่ได้เก็บอยู่ในกระเป๋า เอาไปฝากธนาคาร หรือบางคนถามว่าอยากจะซื้อทองคำ แต่ผมบอกว่าราคาทองคำวันนี้ค่อนข้างสูง โอกาสเสี่ยงที่จะขาดทุนเยอะ ปลอดภัยที่สุดคือฝากธนาคาร ฝากสลากออมสินเผื่อมีจับรางวัล วันนี้ระบบธนาคารแข็งแรงมาก เพราะปี 2540 ธนาคารได้รับบทเรียนที่เจ็บปวดมาก หลายธนาคารกลายเป็นของต่างชาติ ขาดทุนถึง 7 ปี ไม่ได้จ่ายเงินปันผล วันนี้ธนาคารส่วนใหญ่แข็งแรงมาก มีตั้งสำรองกระทั่งเขาพร้อมที่จะไม่จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสั่งมา
ปกติธนาคารจะจ่ายปันผล 2 ครั้ง ระหว่างกาลกับงวดสุดท้าย ผมก็บอกว่าไม่เป็นไร ปันผลระหว่างกาลมันแค่ 10-30% ของเงินปันผลทั้งหมดเท่านั้น และธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตามธนาคารแห่งประเทศไทย อีกข้อหนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยรู้ว่าธนาคารพาณิชย์มีเงินเหลือเยอะ บางธนาคารอาจจะเอาเงินที่เหลือไปซื้อหุ้นคืน ทำให้หุ้นเหลือน้อยลง ราคาหุ้นก็เพิ่มขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยรู้จุดตรงนี้จึงกันไว้ก่อน ซึ่งผมถือว่าทำได้ดี ธนาคารพาณิชย์ก็พร้อมเพราะไม่จำเป็นเลย”
ในตอนหนึ่ง เมื่อถามย้อนกลับไปในช่วงที่มีหนี้สินนับพันล้านบาท ผ่านมาได้อย่างไร นายศิริวัฒน์กล่าวว่า วันนั้นตนไม่เคยคิดว่าชีวิตจะตกต่ำขนาดนั้น แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ทำคือคิดสั้นฆ่าตัวตาย เพราะวันนั้นคิดอยู่อย่างเดียวว่าลูกยังเล็ก ภรรยาไปเซ็นรับหนี้ 500 ล้านบาท ถ้าตายไปภรรยาก็ยังโดนอยู่ ลูกเล็กๆ จะทำอย่างไร ชีวิตนี้ทำไมเราไม่ทำประโยชน์ อีกอย่างหนึ่งก็คือ ตนทิ้งลูกน้องไม่ได้ เพราะพ่อแม่สอนมาตลอด วันหนึ่งเป็นเจ้าคนนายคน ทุกข์ด้วยกัน สุขด้วยกัน อย่าทิ้งลูกน้อง เพราะถ้าไม่มีเขา เราก็ทำอะไรไม่ได้ เป็นที่มาของการทำแซนด์วิชขาย
“ผมว่าวิธีคิดวันนี้เป็นจังหวะและโอกาส ที่ต้องทำอะไรที่เราไม่เคยคิดที่จะทำ แต่เอาตัวให้รอด ผมก็เห็นเจ้าของธุรกิจหลายท่านออกมาทำอาหารขายเพราะไม่ทิ้งลูกน้อง ก็คือตัวผมในวันนั้น วันนี้ผมก็เลยบอกว่า ในเมื่อคนเรามันหลังพิงฝาแล้ว ถ้าเราได้สติ แล้วก็ยอมรับกับสภาพความเป็นจริงว่า ที่เราต้องมาพิงฝาเพราะอะไร แต่เราไม่ถอย เราก็ไปเรื่อยๆ วันนั้นผมเหมือนกับคลานอยู่ในห้องมืด ผมก็ไม่รู้ว่าแสงสว่างอยู่ตรงไหน ไม่รู้ว่าไปตรงหรือไปขวาไปซ้าย เราไม่รู้ กระทั่งเห็นแสงสว่างเราก็ไปแล้ว
วันนี้ก็เลยอยากฝากทุกท่านว่า ไม่ต้องไปคิดถึงอดีต เราแก้ไขไม่ได้ เราจะไปเป็นหนี้สินเยอะ ไปเก็งผิด อะไรก็แล้วแต่เราผ่านไปแล้ว ทำวันนี้ให้ดีที่สุด แล้วอนาคตมันก็มาเอง วันนั้นผมอายุ 48 มีหนี้เกือบพันล้าน ไม่คิดว่าจะฟื้นขึ้นมาทำธุรกิจ แล้ววันนี้ผมบอกลูกหนี้ทั้งหลายแหล่ เป็นโอกาสของท่านที่จะเข้าไปคุยกับเจ้าหนี้ อย่าหนี เพราะเจ้าหนี้รู้ว่าทุกคนแย่หมด ไปคุยกับเขาว่าเราหาเงินก็ได้แค่นี้ ลดดอกเบี้ยได้ไหม ยืดหนี้ได้ไหม อันนี้เป็นเคสบายเคส ผมขอให้ท่านไปหาเจ้าหนี้ อย่าหนีเจ้าหนี้”