xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นแบงก์ยังน่าสนแม้งดปันผล ราคาต่ำน่าลงทุน รับอนาคตฟื้นตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประเมินศักยภาพหุ้นกลุ่มธนาคารหลังโดนแบงก์ชาติคุมเข้มเพื่อเสริมความแข็งแกร่งรับมือผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ด้วยการงดปันผลระหว่างกาลและซื้อหุ้นคืน ภาพรวมระยะสั้นกดดันราคาหุ้นดิ่ง แถมฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนไทยและต่างชาติ แต่ระยะยาวสะท้อนเศรษฐกิจไทยปี 63 อาจแย่กว่าที่คาด ส่วนปันผลทั้งปียังมีโอกาสได้รับจากการฟื้นตัวหลังคลายล็อกดาวน์ กูรูชี้แม้ปีนี้อดปันผล แต่ราคาหุ้นที่ต่ำน่าสะสมเพื่อทำกำไรในอนาคต

ที่ผ่านมาราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์หลายธนาคารยังอยู่ในทิศทางขาลง และล่าสุดยังได้รับผลกระทบจากประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ให้ทุกธนาคารงดจ่ายปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานในปี 2563 และงดซื้อหุ้นคืน โดย สะท้อนมุมของ ธปท.ที่ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังอาจแย่กว่าที่คาดไว้ บวกกับมีความกังวลต่อผลของมาตรการต่างๆ ที่มีออกมาเพื่อช่วยเหลือเยียวยาลูกหนี้ช่วงก่อนหน้านี้ อาจส่งผลกระทบต่อสถานะเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ ถือเป็นมุมมองที่เปลี่ยนไปในเชิงลบต่อธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับภาวะเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน การเข้าแทรกแซงของผู้กำหนดนโยบายในครั้งนี้ ถือเป็นปัจจัยลบที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะการสั่งให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายปันผลระหว่างกาล

ที่ผ่านมาปกติธนาคารพาณิชย์ที่มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล ได้แก่ BAY BBL KBANK KKP SCB นั่นทำให้คาดว่าเงินปันผลระหว่างกาลที่จะหายไปรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 1.43 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลในปี 2563 สำหรับ SET Banking ลดลงประมาณ 1.15% ขณะที่ SET ลดลง 0.1% ดังนั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เม็ดเงินบางส่วนโยกย้ายออกจากกลุ่มธนาคาร ไปสู่หุ้นขนาดใหญ่ หรือหุ้นปันผลสูงกลุ่มอื่นแทน

ขณะเดียวกัน กองทุนรวมในประเทศโดยปกติจำเป็นต้องปรับพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับนโยบายการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นปันผลเป็นกลุ่มที่มีโอกาสสูงที่จะสลับเข้าซื้อหุ้น High Yield อื่นทดแทนเงินปันผลกลุ่มธนาคารที่หายไป โดยเงื่อนไขที่น่าจะถูกเข้าซื้อคือมีอัตราการจ่ายปันผลระหว่างกาลสูงเทียบเคียงกับระดับ 1.15% ของกลุ่มธนาคารฯ และแนวโน้มกำไรครึ่งหลังปี 2563 ฟื้นตัวหรือดีต่อเนื่อง

ทำให้ในเชิงกลยุทธ์คือ แนะนำเลือกลงทุนสลับกลุ่ม ได้แก่ หุ้นขนาดใหญ่ที่มีปันผลระหว่างกาลสูง แนวโน้มกำไรครึ่งปีหลังดีขึ้นหรือฟื้นตัว โดยเป้าหมายการสลับกลุ่มเข้าซื้อของนักลงทุนสถาบันฯ เลือกคือ INTUCH, SCC, PTTGC, CPF ส่วนกลุ่มธนาคาร ให้เลี่ยงการลงทุน จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในเชิงลบ บวกกับการเข้าแทรกแซงของ ธปท.ที่จะลดทอนความน่าสนใจในมุมมองนักลงทุนต่างชาติเมื่อเทียบกับภูมิภาค

ขณะที่ สำนักวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ได้จัดทำรายงานวิจัยในเรื่องดังกล่าว โดยสรุปได้ว่า ธปท.ได้ขอให้ธนาคารพาณิชย์ทบทวนแผนการบริหารจัดการเงินกองทุนในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า โดยคำนึงถึงสถานการณที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 และขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล (ปกติจ่ายช่วงเดือนสิงหาคม) จนกว่ารายงานจะเสร็จนั้น

ในมุมมองสามารถเป็นไปได้ แต่มีความเป็นไปได้น้อยมากที่ธนาคารจะทำรายงานเสร็จก่อนสิงหาคม เพราะโดยปกติธนาคารพาณิชย์ต้องส่งรายงานการบริหารจัดการเงินทุนเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ในเวลานี้ ธปท.ขอให้ธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังมากขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของการระบาดโควิด-19 และขอให้มีการแก้ไขรายงานหากไม่เหมาะสม ถือว่าขั้นตอนนี้ใช้เวลาค่อนข้างนาน


จึงเห็นว่า วิธีของ ธปท.ผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์รักษาต้นทุน ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากโรคระบาด โดยเฉพาะ NPL นั้น เพราะ ธปท.ต้องการภาพที่ชัดเจนจากธนาคารพาณิชย์ในแง่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง และจำนวน NPL ที่เพิ่มขึ้นหลังหมดมาตรการบรรเทาของธนาคารกลาง ส่วนการงดจ่ายปันผลทั้งปีของกลุ่มธนาคารพาณิชย์นั้นพิจารณาว่าไม่น่าเป็นไปได้ เนื่องจาก

1) ถึงแม้ในสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ คาดว่าธนาคารพาณิชย์ยังคงสามารถสร้างกำไรที่น่าพอใจ ในความเป็นจริงเราพิจารณาว่าเป็นไปได้ยากที่จะขาดทุน (หากเกิดขึ้นจะสร้างความเสียหายต่อต้นทุนของธนาคารพาณิชย์)

2) ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยมีต้นทุนทางการเงินที่แข็งแกร่ง (โดยเฉลี่ย CAR = 18%, ขั้นต่ำ = 11%)

3) ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่มีแผนการจัดการเพื่อลดผลกระทบในกรณีที่ Credit Cost เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด

โดยสถานการณ์เดียวที่นำไปสู่การงดจ่ายเงินปันผลคือ การเพิ่มขึ้นของ NPL ที่ทำให้ต้นทุนด้านสินเชื่อเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบเชิงลบต่อต้นทุน โดยเชื่อว่าถ้า NPL เพิ่มขึ้นจนเทียบเท่ากับผลประกอบการ ธนาคารพาณิชย์จะงดจ่ายปันผล ดังนั้นในสถานการณ์นี้ NPL ต้องเพิ่มจาก 3.98% ในไตรมาสที่ 1/63 เป็น 7.50% (สันนิษฐานว่ามูลค่าหลักประกัน 50% ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยในอดีต)

ส่วนความเสี่ยงของการเกิด NPL สูง ณ จุดนี้ยังคงพิจารณาว่ามีความเสี่ยงต่ำ เพราะผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศเป็น 0 มาตลอดหลายสัปดาห์ และมีการปลดล็อกดาวน์อย่างเป็นทางการในเกือบทุกพื้นที่ ทำให้เศรษฐกิจค่อยๆ กลับสู่ภาวะปกติ และทำให้กระแสเงินสดภาคธุรกิจและครัวเรือนดีขึ้น ในขณะเดียวกัน มีการออกมาตรการป้องกันไม่ให้ผู้กู้เปลี่ยนเป็น NPL และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว รายได้ของผู้กู้จะเพียงพอสำหรับการจ่ายชำระหนี้คืน

แต่แน่นอนว่าผู้กู้บางรายมีแนวโน้มที่จะกลายเป็น NPL หลังมาตรการช่วยเหลือหมดอายุ แต่ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันเราคาดว่า NPL จะไม่เกิน 10% นอกจากนี้ ภาครัฐมีมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการผ่อนคลายทางด้านการเงินจาก ธปท.เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจและครัวเรือน ดังนั้นในกรณีนี้คาดว่า NPL จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปีนี้ แต่ยังคงสามารถจัดการได้ หมายความว่าการเพิ่มขึ้นของ NPL ไม่น่าทำให้ผลการดำเนินงานในปีนี้ขาดทุนได้

และหาก NPL อยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ ธนาคารพาณิชย์จะรวมเงินปันผลระหว่างกาลในเงินปันผลทั้งปีหรือไม่? ในมุมมองของ บล.ทิสโก้มองว่าอาจจะเป็นไปได้ เพราะการจ่ายเงินปันผลขึ้นอยู่กับผลประกอบการรวมทั้งปี ซึ่งหากธนาคารพาณิชย์สามารถสร้างกำไรได้ ก็ไม่มีความจำเป็นที่กันเงินปันผลระหว่างกาลออกจากเงินปันผลรายปี

ดังนั้น การลดลงของราคาหุ้นถือว่าเป็นโอกาสในการซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารที่ปรับตัวลดลงจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยการเคลื่อนไหวของ ธปท.ชี้วัดว่าวิกฤตเศรษฐกิจมีความรุนแรง ทำให้มีการงดจ่ายเงินปันผล เพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวก็มากพอที่จะทำให้ NPL เพิ่มขึ้นเกิน 10%

อย่างไรก็ตาม ชื่นชอบ BBL เพราะมีงบการเงินที่แข็งแกร่ง เพื่อลดความเสี่ยงจาก NPL สินเชื่อธุรกิจดูปลอดภัย มีผู้ขอสินเชื่อธุรกิจเพียง 15% ที่ใช้นโยบายปรับโครงสร้างของรัฐบาล เทียบกับสัดส่วนผู้กู้รายย่อย / SME ที่ 79% / 51% ดังนั้น ความเสี่ยงในการจ่ายเงินปันผลของ BBL ต่ำสุดเมื่อเทียบกับในอุตสาหกรรมแน่นอน โดยรวมไม่มีใครชอบสถานการณ์แบบนี้เพราะมีแนวโน้มสูงที่มูลค่าพื้นฐานของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะถูกปรับลดลง โดยเฉพาะการประเมินมูลค่าที่ใช้เงินปันผลเป็นพื้นฐาน

แต่ในทางกลับกัน สำหรับนักลงทุนที่เน้นการลงทุนระยะยาว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจกลายเป็นอีกหนึ่งโอกาสในวิกฤต เพราะปัจจุบันราคาหุ้นธนาคารหลายแห่งปรับตัวลดลงมา ถือเป็นโอกาสในการเข้าลงทุน แม้ปี 2563 ทั้งปีอาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนในรูปแบบเงินปันผลจากความเข้มงวดของ ธปท. แต่ในระยะยาวธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ยังมีโอกาสฟื้นตัวและกลับมาจ่ายปันผลได้อีกครั้ง เรียกได้ว่า “หากอดเปรี้ยวไว้กินหวานในวันหน้า บางทีอาจชื่นใจกว่าปัจจุบัน ที่ผลดำเนินงานอย่างไรเสียก็ต้องได้รับผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ดี”












กำลังโหลดความคิดเห็น