ถ้ามาตรการตั้งกองทุนรับซื้อหุ้นกู้เอกชน หรือบีเอสเอฟของธนาคารแห่งประเทศไทย คือ “หลังพิง” ที่คอยประคองบริษัทเอกชนที่อาจมีปัญหาในการขายหุ้นกู้ใหม่ เพื่อนำเงินมาไถ่ถอนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดขายไม่หมด ได้เงินไม่พอ ประกาศแบงก์ชาติเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ให้ธนาคารพาณิชย์งดการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล และงดซื้อหุ้นคืน คือ การส่งสัญญาณให้แบงก์พาณิชย์เตรียมพร้อมรับมือปัญหาเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ที่เป็นผลจากไวรัสโควิด-19
เงินปันผลระหว่างกาล คือ เงินปันผลที่จ่ายนอกรอบระยะเวลาบัญชี โดยไม่รอดูผลประกอบการตอนสิ้นปีก่อน หากผู้บริหารและกรรมการธนาคารบางแห่งเห็นว่า ผลประกอบการช่วงครึ่งปีแรกของปีได้ และเชื่อว่า ครึ่งปีหลังก็น่าจะดีด้วย ก็อาจสั่งจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้ผู้ถือหุ้นก่อน
ถือเป็น “โบนัส” สำหรับผู้ถือหุ้นนักลงทุนที่เน้นผลตอบแทนจากเงินปันผล เพิ่มขึ้นมาจากเงินปันผลปกติ จากผลดำเนินงานเมื่อสิ้นปี
ปีที่แล้ว ธนาคารพาณิชย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ 7 แห่งจากจำนวน 10 แห่ง จ่ายเงินเงินปันผลระหว่างกาลรวมทั้งสิ้น 9,200 ล้านบาท ถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับเงินกองทุนระบบธนาคารทั้งระบบประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท
ส่วนการซื้อหุ้นคืน เมื่อบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีเงินสดจำนวนมาก และยังไม่มีแผนลงทุนเพิ่ม การซื้อหุ้นคืนเป็นวิธีบริหารเงินวิธีหนึ่ง ทำให้ปริมาณหุ้นในตลาดลดลง ซึ่งอาจมีผลต่อราคาหุ้น และทำให้กำไรต่อหุ้นสูงขึ้น เงินปันผลต่อหุ้นก็จะเพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งการงดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล และการซื้อหุ้นคืน จึงมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ถือหุ้นธนาคารที่จะได้รับเงินปันผลในปีนี้น้อยลงกว่าที่ผ่านมา
การห้ามธนาคารจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล และซื้อหุ้นคืน ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกที่แบงก์ชาติมีคำสั่งเช่นนี้ เป็นสัญญาณเตือนภัยว่า ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 กำลังเคลื่อนจากภาคเศรษฐกิจจริง เข้าไปยังระบบการเงินแล้ว เมื่อผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางต้องลดขนาดหรือปิดกิจการ ไม่มีรายได้มาส่งดอกเบี้ยเงินต้น ธนาคาร ประชาชนตกงาน ไม่มีเงินส่งค่างวดบ้าน บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งหมดนี้คือ ปัญหาหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอลที่ธนาคารต้องเตรียมรับมือ
วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.หรือแบงก์ชาติ) ชี้แจงเพิ่มเติมกรณีที่ขอให้ธนาคารไทยพาณิชย์งดจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” และ “งดซื้อหุ้นคืน” ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก ส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจไทย ยังไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ และจะจบอย่างไร การรักษาภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินเป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อย กว่าการรักษาภูมิคุ้มกันให้กับสุขภาพของคนไทยแต่ละคน
โดยภูมิคุ้มกันที่สำคัญมากอันหนึ่งของธนาคารพาณิชย์คือระดับเงินกองทุนที่เป็นกันชนรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น และความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ เงินกองทุนจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง
ทั้งนี้ การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์และแนวทางบริหารความเสี่ยงอย่างระมัดระวังที่ผ่านมา ส่งผลให้ระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ไทยเข้มแข็ง ธนาคารพาณิชย์จึงสามารถออกมาตรการช่วยดูแลและเยียวยาลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้หลากหลายมาตรการ
ในระยะข้างหน้ายังต้องเผชิญความไม่แน่นอนสูง การขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” และ “งดซื้อหุ้นคืน” เป็นมาตรการเพื่อไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ “การ์ดตก” ให้รักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็งต่อเนื่องจนกว่าจะจัดทำแผนบริหารจัดการเงินกองทุนใหม่ได้ชัดเจนขึ้น
การขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” และ “งดซื้อหุ้นคืน” จะกระทบต่อผู้ถือหุ้นธนาคารพาณิชย์ช่วงสั้นๆ แต่จะเป็นผลดีสำหรับผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ในระยะยาว เป็นผลดีต่อผู้ฝากเงิน เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม เพราะจะช่วยให้ระบบสถาบันการเงินไทยเข้มแข็ง รักษาระดับเงินกองทุนให้อยู่ในระดับสูงได้ต่อเนื่อง มีกันชนที่จะรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้อีก โดยเฉพาะถ้าเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ในระยะใหม่ๆ
ในช่วงที่ผ่านมา ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์หลายแห่งแจ้งความกังวลให้แบงก์ชาติทราบว่าผู้ถือหุ้นและผู้ฝากเงินอาจจะเข้าใจผิดได้ ถ้าธนาคารพาณิชย์บางแห่งเคยจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลประกาศงดจ่ายในปีนี้ หรือยกเลิกแผนการซื้อหุ้นคืนด้วยตนเอง อาจจะถูกเข้าใจผิดว่าธนาคารพาณิชย์ต้องการรอบคอบระมัดระวังเป็นพิเศษหรืออยากตั้งการ์ดสูง เป็นธนาคารพาณิชย์กำลังมีปัญหาเรื่องฐานะการเงินหรือได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงกว่าธนาคารพาณิชย์อื่น
ถ้าแบงก์ชาติไม่ออกนโยบายกลางให้ชัดเจน ธนาคารพาณิชย์ที่เคยจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” คงต้องจ่ายตามปกติ ทั้งที่อยากจะสร้างกันชน และใช้เวลาประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง
ธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินหลายประเทศทั่วโลก ออกนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ก่อนหน้านี้หลายเดือน เช่น อังกฤษ ขอให้งดซื้อหุ้นคืน งดจ่ายเงินปันผลประจำปีจากผลประกอบการของปีที่แล้ว สหภาพยุโรป และนิวซีแลนด์ขอให้งดซื้อหุ้นคืนและงดจ่ายเงินปันผลระยะหนึ่ง เพื่อรอความชัดเจนของสถานการณ์โควิด-19 ออสเตรเลียขอให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำ Stress Test (การทดสอบภาวะวิกฤต) ใหม่ภายใต้ความไม่แน่นอนเพื่อพิจารณาจ่ายเงินปันผล