xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.พร้อมใช้มาตรการการเงินดูแลเพิ่มเติม หากเศรษฐกิจชะลอลงมากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธปท.พร้อมใช้มาตรการการเงินเพิ่มเติม หากผลกระทบจากไวรัสโคโรนา งบประมาณปี 63 สะดุด ภัยแล้งกระทบเศรษฐกิจชะลอหนักขึ้น ระบุหวังแบงก์ลดดอกเบี้ยตาม กนง. เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและครัวเรือน

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แม้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วานนี้ (5 ก.พ.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อย 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 1.00 ต่อปี โดยให้มีผลทันที แต่ กนง.ก็พร้อมใช้ Policy Space เพิ่มเติม ทั้งนโยบายดอกเบี้ยและมาตรการต่างๆ หากเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่านี้ เพราะแม้ว่าการลดดอกเบี้ยจะมีผลต่อเศรษฐกิจไม่มากเท่าไหร่ เพราะดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ แต่ในภาวะปัจจุบันที่มาตรการการคลังมีจำกัด เพราะยังติดขัดเรื่องงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ที่ยังเบิกจ่ายไม่ได้ ดังนั้น ต้องผสมผสานมาตรการทั้งหมด ทั้งมาตรการการคลัง มาตรการการเงินและสถาบันการเงิน เพราะถ้าเศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรงกว่านี้จนเกิดปัญหาหนี้เสีย คนตกงาน อาจสร้างปัญหาต่อเนื่องระยะยาว ดังนั้น จึงต้อง TAKE ACTION โดยเร็ว

นายวิรไท กล่าวว่า เมื่อวานนี้ได้มีการหารือกับสมาคมธนาคารไทยและผู้บริหารสถาบันการเงิน เน้นย้ำให้มีการดูแลลูกหนี้เอสเอ็มอีโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของไวรัสโคโรนา โดยให้ดูแลเรื่องของสภาพคล่อง การปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงรุก ซึ่งให้ธนาคารพาณิชย์ตั้งทีมพิเศษดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งคาดหวังว่าธนาคารพาณิชย์จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยตาม กนง.โดยเร็ว เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและครัวเรือน

“ธปท.เป็นธนาคารกลางแห่งแรกที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 หลังจากเกิดการระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งยังคงต้องติดตามสถานการณ์ว่าจะยืดเยื้อและรุนแรงแค่ไหน ขณะเดียวกัน ยังมีความกังวลเรื่องงบประมาณรายจ่ายปี 2563 จะเริ่มเบิกใช้เมื่อใด โดยเฉพาะงบลงทุน เพราะหากหมดช่วงเวลาเบิกจ่ายอาจจะกลายเป็นตัวถ่วงแทนที่จะเป็นตัวกระตุ้น นอกจากนี้ ยังมีปัญหาภัยแล้งที่กระทบเกษตรกร และกระทบถึงการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ซึ่งเห็นได้ว่ากันชนที่มีอยู่บางลง หลังเจอความเสี่ยงหลายลูก ดังนั้น กนง.จึงมีมติเอกฉันท์ลดดอกเบี้ย และส่งสัญญาณให้ชัดเจน” นายวิรไท กล่าว

ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท แม้ว่าตั้งแต่ต้นปี 2563 เงินบาทจะอ่อนค่าลง แต่ ธปท.ยังไม่สบายใจ เพราะค่าเงินที่อ่อนค่ายังไม่สอดคล้องต่ิปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจที่มีความอ่อนไหวอยู่มาก ทั้งจากไวรัสโคโรนา งบประมาณปี 2563 และภัยแล้ง ซึ่ง ธปท.พร้อมใช้มาตรการดูแลหากพบว่าค่าเงินบาทมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

“ยอมรับว่าปีที่ผ่านมามีการเก็งกำไรบางช่วง เพราะประเทศไทยมีเสถียรภาพค่อนข้างดี ดังนั้น จึงมีเงินมาพักบ้าง ธปท.จึงออกมาตรการดูแล และผ่อนคลายให้ไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น แต่ทั้งปี 2562 เงินทุนต่างชาติไหลออกสุทธิ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ” นายวิรไท กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น