นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์วานนี้ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1 ต่ำสุดเป็นประวัติศาสตร์ ว่า เหตุที่ต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพราะตอนนี้มี 3 เหตุการณ์สำคัญที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาที่ทำให้เกิดผลกระทบค่อนข้างรุนแรงกับภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ต้องติตตามการระบาดอย่างใกล้ชิด ความล่าช้าของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ที่ส่งผลต่อการเบิกจ่ายของภาครัฐจนกระทบไปถึงเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อการจับจ่ายของประชาชน เพราะประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม เมื่อจำหน่ายสินค้าเกษตรไม่ได้ก็ไม่มีรายได้ไปซื้อของ ทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงกันชนของระบบเศรษฐกิจไทยที่บางลง และหากไม่มีนโยบายใดออกมาอาจทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างได้ แต่การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงอย่างเดียวคงไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก ต้องอาศัยมาตรการทางการเงิน การคลัง และสถาบันการเงินเข้ามาช่วยด้วย ธปท.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมออกนโยบายอื่นหากสถานการณ์ภาพรวมไม่ดีขึ้น เช่นเดียวกับค่าเงินบาทที่พร้อมออกมาตรการมาแก้ไขหากพบการเก็งกำไรค่าเงินจนส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย โดยค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาถือว่าอ่อนค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค แต่ยังไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน เพราะไทยยังเจอกับปัจจัยเสี่ยงอีกหลายอย่าง
ส่วนการหารือกับสมาคมธนาคารไทยและผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ในเรื่องการดูแลลูกหนี้ ได้เน้นย้ำให้ดูแลกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นพิเศษ โดยต้องปรับโครงสร้างหนี้ในเชิงรุกและช่วยเหลือสภาพคล่องในช่วงที่รายได้ของผู้ประกอบการลดลงจากการระบาดของไวรัสโคโรนา