xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

งดจ่ายปันผลฯ หุ้นแบงก์กระอัก มหาวิกฤตเศรษฐกิจดิ่งลึก -8% หนี้เสียท่วม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ข่าวร้ายจากพิษโควิด-19 ยังมาไม่ขาดสาย ที่กระแทกกระทั้นแรงสุดเห็นจะเป็นประกาศิตของแบงก์ชาติสั่งธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลและงดซื้อหุ้นคืน ซึ่งเป็นภาพสะท้อนปรากฏการณ์ “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” เศรษฐกิจทรุดหนักกว่าที่คาด ยืนยันจากที่ประชุม กนง. ล่าสุดมีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี พร้อมคาดการณ์เศรษฐกิจหดตัว 8.1% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เลวร้ายกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง ขณะที่หนี้เสียมีแนวโน้มท่วมท้น

มติเอกฉันท์ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวกว่าประมาณการเดิมจากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และรัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทยออกมาตรการควบคุมการระบาดส่งผลกระทบทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก และมีความไม่แน่นอนสูงต่อโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ รูปแบบการทำธุรกิจ การประกอบอาชีพ

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า การประชุม กนง. รอบนี้ ธปท. ได้ปรับประมาณการการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ใหม่ โดยประเมินว่าปี 2563 จีดีพีจะหดตัว -8.1% จากเดิมคาดจะหดตัว -5.3% ส่วนปี 2564 คาดจีดีพีพลิกกลับมาขยายตัวได้ 5% จากเดิมคาดขยายตัว 3%

“....ถือเป็นการเติบโตที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ เมื่อเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ที่จีดีพีหดตัวที่ -7.6%” นายทิตนันทิ์ กล่าว

ส่วนปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แรกสุดคือการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ทำให้การท่องเที่ยวและส่งออกปรับลดลงมากกว่าที่คาดไว้ โดย กนง. ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยจะหดตัวที่ -10.3% จากเดิมหดตัวที่ -8.8% ส่วนนักท่องเที่ยวปรับลงจาก 15 ล้านคน เหลือ 8 ล้านคน ส่วนปีหน้าต้องรอหลังมีวัคซีนสถานการณ์จะค่อยๆ ดีขึ้น อีกเรื่องคือ อุปสงค์ในประเทศที่หดตัวโดยการบริโภคลดลงตามการจ้างงานและรายได้ รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวที่ -13% จากคาดการณ์เดิมที่ -4.3% และการบริโภคภาคเอกชนหดตัวที่ -3.6% จากคาดการณ์เดิมที่ -1.5%

ช่วงครึ่งปีหลัง กนง. คาดว่ากิจกรรมเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวในประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มติดลบกว่าที่ประเมินไว้ โดยอยู่ที่ -1.7% จากประมาณการเดิมที่ -1.0% ตามราคาพลังงานที่ลดลงแรงตามอุปสงค์ที่ลดลงจากการชะลอของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก แต่มีแนวโน้มกลับสู่กรอบเป้าหมายในปีหน้า ส่วนเสถียรภาพการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 ปี 2020 และจะกลับมาขยายตัวได้ในปี 2564 โดยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวที่ 5.0% จากประมาณการเดิมที่ 3.0% ซึ่ง ธปท. ประเมินว่าปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจะมาจากมูลค่าการส่งออกสินค้า การลงทุน และการบริโภคภาคเอกชนที่จะกลับมาขยายตัวได้ในปีหน้า อีกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเริ่มฟื้นตัวแต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนมีการระบาดของโควิด19 และการลงทุนของภาครัฐจะขยายตัวสูง

อย่างไรก็ตาม แม้ กนง. จะมองว่าธนาคารพาณิชย์ มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ระยะข้างหน้าต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง ซึ่งแบงก์ชาติได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบและเร่งให้ธนาคารพาณิชย์ปรับปรุงโครงสร้างหนี้แก่ธุรกิจและเร่งรัดการปล่อยสินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ

สอดรับกับคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและคาดการณ์เศรษฐกิจหดตัวของ กนง. ก่อนหน้านั้น แบงก์ชาติขอให้แบงก์พาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลและงดซื้อหุ้นคืน เพื่อรักษาระดับเงินกองทุนและเงินสำรองแบงก์พาณิชย์ รับมือผลกระทบเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 จนสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดหุ้นโดยเฉพาะหุ้นแบงก์ที่ร่วงหนัก

ต่อมา นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาไขข้อข้องใจว่าทำไมถึงขอให้แบงก์พาณิชย์ดำเนินการเช่นนั้น

ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ย้ำถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีสูงมาก และส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจไทย โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่และจบอย่างไร การรักษาภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยกว่าการรักษาภูมิคุ้มกันให้กับสุขภาพของคนไทย ซึ่งภูมิคุ้มกันที่สำคัญมากอันดับหนึ่งของแบงก์พาณิชย์ คือ ระดับเงินกองทุน เพื่อเป็นกันชนรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น และยังช่วยให้แบงก์ปล่อยกู้ได้เพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลง และเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเต็มที่

“.... เราไม่ควรการ์ดตก ควรจะรักษาระดับเงินกองทุน หรือกันชน ของธนาคารพาณิชย์ให้อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ....” นายวิรไท ให้เหตุผลถึงความจำเป็น และยังให้แบงก์พาณิชย์ เร่งทบทวนแผนบริหารจัดการเงินกองทุนในช่วง 1-3 ปีนี้โดยคำนึงถึงสถานการณ์โดยรวมที่เปลี่ยนแปลงไปมากเป็นปัจจัยสำคัญ

แบงก์พาณิชย์บางธนาคาร จะจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” ให้แก่ผู้ถือหุ้นในช่วงเดือนสิงหาคมของปี ส่วนการซื้อหุ้นคืนนั้น ที่ผ่านมา แบงก์พาณิชย์บางแห่งที่มีเงินกองทุนในระดับสูงเกินจำเป็นหรือเห็นว่าราคาหุ้นลดต่ำเกินควร จะมีแผน “ซื้อหุ้นคืน” จากผู้ถือหุ้นทั่วไป เพื่อนำไปลดทุนในอนาคตซึ่งจะส่งผลให้ระดับเงินกองทุนของแบงก์พาณิชย์ลดลง

แบงก์ชาติ เชื่อมั่นว่า การขอให้แบงก์พาณิชย์ งดจ่ายเงินปันผลฯ และงดซื้อหุ้นคืนจะกระทบต่อผู้ถือหุ้นในช่วงสั้น แต่จะเป็นผลดีต่อผู้ถือหุ้นแบงก์ในระยะยาว เป็นผลดีต่อผู้ฝากเงินและต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม

การประกาศเรื่องนี้เป็นนโยบายกลางของแบงก์ชาติ ยังจะช่วยลดความกังวลให้แบงก์พาณิชย์ที่หลายแห่งได้แจ้งให้แบงก์ชาติทราบว่าผู้ถือหุ้นและผู้ฝากเงินอาจเข้าใจผิดได้ถ้าแบงก์ที่เคยจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลประกาศงดจ่ายในปีนี้ หรือยกเลิกแผนการซื้อหุ้นคืนด้วยตนเอง อาจมีการเข้าใจผิดว่าแบงก์พาณิชย์บางแห่งที่ต้องการ “ตั้งการ์ดสูง” มีปัญหาเรื่องฐานะการเงินหรือได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรงกว่าธนาคารอื่น

มาตรการดังกล่าว ไม่แต่แบงก์ชาติของไทยเท่านั้นที่ออกนโยบายเรื่องนี้ ธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลในหลายประเทศทั่วโลก ได้ออกนโยบายเช่นนี้ไปล่วงหน้าก่อนแล้วหลายเดือน เช่น ไอเอ็มเอฟ ออกแถลงการณ์สนับสนุนการงดจ่ายเงินปันผลและซื้อหุ้นคืนในช่วงนี้, ยุโรป แนะไม่ให้จ่ายเงินปันผลและไม่ให้ซื้อหุ้นคืนจนถึงเดือนตุลาคม 2563, อังกฤษ ห้ามจ่ายเงินปันผลและไม่ให้ซื้อหุ้นคืน, ออสเตรเลีย ขอให้ดูผล stress test ก่อนสถาบันการเงินพิจารณาจ่ายเงินปันผล, แคนาดา ห้ามเพิ่มจำนวนเงินที่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ และนิวซีแลนด์ งดซื้อหุ้นคืนและงดการจ่ายเงินปันผลในช่วงนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้แบงก์ชาติ จะชี้ให้เห็นถึงผลดีจากการห้ามแบงก์พาณิชย์ “การ์ดตก” แต่ประกาศที่ออกมา ได้สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่น่าห่วงกังวลอย่างยิ่ง บรรดาผู้เชี่ยวชาญและนักการเมืองที่เคยดูแลนโยบายเศรษฐกิจ ต่างสะท้อนความกังวล เช่น นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 20มิถุนายนที่ผ่านมาว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นสัญญาณว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประเมินสถานการณ์หนี้เสียว่าเลวร้ายกว่าที่ปรากฏ

“ถามว่าทำไมต้องออกคำสั่งแทนที่จะให้ธนาคารพาณิชย์ประเมินเองตามความเหมาะสม อาจจะเป็นเพราะนายแบงก์พาณิชย์ต้องการคำสั่งเป็นเกราะกำบังจากความไม่พอใจของนักลงทุนที่รอรับเงินปันผล ช่วงหลังหลายคนเข้าไปซื้อหุ้นเพราะราคาลดลงมาก ด้วยหวังผลตอบแทนจากเงินปันผลที่คาดว่าจะได้รับ” อดีตขุนคลัง ระบุ และประเมินว่าหุ้นแบงก์มีโอกาสสูงที่จะปรับลงแรง และส่งผลกระทบต่อความมั่นใจทางเศรษฐกิจ

“ที่สำคัญที่สุดคือการช่วยเหลือสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการอยู่รอด วันนี้ SME ทุกระดับยังเข้าไม่ถึงมาตรการของรัฐบาล ดังนั้นการใช้เงินกู้ของรัฐบาลต้องมีการออกแบบให้ถึงมือผู้ประกอบการโดยตรง รวดเร็ว ไม่รั่วไหล และต้องมีการใช้จ่ายในการจัดซื้อสินค้านำเข้าให้น้อยที่สุด รอบหมุนของเงินต้องมากที่สุด” หัวหน้าพรรคกล้า ให้ความเห็น

ด้าน นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ในวันเดียวกันว่า วิกฤตโควิดจะหนักพอกับมหาวิกฤตปี 1930 ตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป จะเกิดปัญหาสภาพคล่องติดขัด ดึงกันไปมา จากบริษัทหนึ่งไปอีกบริษัทหนึ่ง เป็นเหมือนแชร์ลูกโซ่ และสุดท้ายจะวนไปที่แบงก์ในรูปของ NPL ซึ่งขณะนี้ปัญหานี้ถูกแช่แข็งอยู่ กว่าจะรู้ตัวเลข NPL จริง ก็เมื่อพ้นเดือนตุลาคมไปแล้ว ดังนั้นการออกมาตรการดังกล่าวของแบงก์ชาติจึงเป็นการยอมรับความจริงและเตรียมการรับมือแต่เนิ่นๆ ซึ่งความจริงควรทำให้เร็วกว่านี้อย่างที่หลายประเทศตะวันตกประกาศไปแล้วหลายเดือน

“..... ทำไมไม่ประกาศไปพร้อมกับการออกพระราชกำหนด เป็น package ใหญ่ กลับไปเลือกเลียนแบบเฉพาะแต่การทำ QE โดยรับซื้อตราสารหนี้เอกชน การประกาศมาตรการเมื่อจวนตัว ย่อมทำให้นักลงทุนสงสัยว่า ธปท. เริ่มเห็นอาการปัญหาหนักขึ้น ในขณะที่ท่านรองนายกฯ ดร.สมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) ประกาศว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเป็นมังกรบินได้ ก็ยิ่งทำให้คนสงสัยหนักขึ้นว่า ธปท. พบปัญหาอะไรเป็นพิเศษ...”


ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หนุนมาตรการของแบงก์ชาติ เพื่อให้แบงก์พาณิชย์รักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็งต่อเนื่องจนกว่าจะจัดทำแผนบริหารจัดการเงินกองทุนใหม่ได้ชัดเจนขึ้น เป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้ถือหุ้นระยะยาวของธนาคารพาณิชย์ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันแก่ระบบธนาคารให้มีความพร้อมรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินของประเทศ ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้ตลาดทุนไทยและเศรษฐกิจโดยรวม

ในมุมมองของ นายสุนันท์ ศรีจันทรา นักวิเคราะห์หุ้น เห็นว่า ประกาศของแบงก์ชาติให้งดจ่ายปันผลฯ น่าจะเป็นผลดีต่อแบงก์พาณิชย์ เพราะแทบทุกธนาคารปีนี้กำไรทรุดฮวบอาจจ่ายปันผลฯเหมือนที่ผ่านมาไม่ได้ แต่คงไม่ช่วยให้นักลงทุนคลายกังวลเรื่องหนี้เสียของแบงก์ ซ้ำยังอาจหวั่นไหวมากขึ้นเมื่อแบงก์ชาติ ออกมาย้ำเป็นห่วงการดำเนินงานของแบงก์พาณิชย์

ปัญหาหนี้เสียทำให้ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ทรุดลงมาหลายปีต่อต่อกัน การตั้งสำรองเพิ่มฉุดกำไรลดลง นำไปสู่การเทขายหุ้นโดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ระบาด ซึ่งนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ของโบรกเกอร์หลายสำนัก แนะให้หลีกเลี่ยงการลงทุนหลังแบงก์ชาติสั่งงดจ่ายปันผลฯ รวมทั้งผลประกอบการที่อาจชะลอตัวต่อไปเนื่องจากปัญหาหนี้เสียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หุ้นแบงก์จากเดิมต้องมีไว้ติดพอร์ตเพื่อการลงทุนระยะยาว แต่ปัจจุบันถูกจัดเป็นหุ้นมีความเสี่ยงสูง อยู่ในช่วงขาลงเต็มตัวตลอดหลายปีที่ผ่านมาทำให้นักลงทุนบาดเจ็บกันถ้วนหน้า

หลังการออกมาตรการของแบงก์ชาติ ทำให้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ปรับตัวลดลงเฉลี่ยประมาณ 5-7%


อย่างไรก็ตาม น.ส.ธิดาศิริ ศรีสมิต Chief Investment Officer บลจ.กสิกรไทย จำกัด มองว่า ปัจจัยดังกล่าวกดดันตลาดหุ้นระยะสั้นโดยเฉพาะกลุ่มหุ้นธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน แต่ระยะยาวจะเป็นผลดีต่อแบงก์พาณิชย์ในการรับมือกับความผันผวนและแรงกระแทกทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในช่วงถัดไป และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวแบงก์ก็สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น โดยทางบริษัทยังคงคาดการณ์เป้าหมายดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในปีนี้ที่ระดับ 1,350 จุด และมีโอกาสที่จะปรับขึ้นแตะระดับ 1,400 จุด หากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า คำสั่งของแบงก์ชาติที่ให้แบงก์พาณิชย์ทุกแห่งทำแผนบริหารจัดการเงินกองทุนในระยะเวลา 1-3 ปี และงดจ่ายปันผลระหว่างกาล รวมทั้งห้ามซื้อหุ้นคืน จะส่งผลกระทบต่อแบงก์พาณิชย์ และกดดันตลาดหุ้นไทยในภาพรวม เพราะการส่งสัญญาณของแบงก์ชาติสะท้อนมุมมองเชิงลบต่อธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจโดยตรง และการเข้าแทรกแซงของผู้กำหนดนโยบายยังเป็นปัจจัยลบกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ

โดยปกติแล้วมีธนาคารพาณิชย์ที่จ่ายเงินปันผลระหว่างกาล ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารเกียรตินาคิน, ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น โดยคาดว่าปันผลระหว่างกาลโดยรวมจะหายไปรวมทั้งหมด 1.43 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลปี 2563 สำหรับ SET Banking ลดลง 1.15% และ SET ลดลงประมาณ 0.1%

การส่งสัญญาณและการเข้าแทรกแซงของแบงก์ชาติ อาจสะท้อนความห่วงกังวลถึงปัญหาหนี้เสียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังมาตรการพักหนี้และขยายเวลาผ่อนชำระของลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เฟสแรก จะสิ้นสุดลงในสิ้นเดือนมิถุนายนและสิงหาคมนี้ โดยข้อมูลล่าสุด มีลูกหนี้เข้าโครงการพักหนี้ถึง 15.11 ล้านราย ยอดหนี้รวม 6.68 ล้านล้านบาท

เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แบงก์ชาติ จึงได้เรียกประชุมแบงก์พาณิชย์และนอนแบงก์ถึงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เฟสใหม่ ให้ปรับลดดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป ร้อยละ 2-4 ต่อปี มีผลตั้งแต่เดือนสิงหาคมจนถึงสิ้นปี 2563 เช่น บัตรเครดิต เดิม 18% ลดเหลือ 16% สินเชื่อบุคคล/บัตรกดเงิน เดิม 28% ลดเหลือ25% ,จำนำทะเบียน เดิม28% เหลือ24% เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังเพิ่มทางเลือกให้ลูกหนี้ที่ไม่เป็นหนี้เสีย เช่น บัตรเครดิต ขยายเวลาผ่อนชำระได้ 48 งวด ดอกเบี้ยไม่เกิน 12% สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ เลื่อนชำระค่างวดทั้งต้นทั้งดอกได้ 3 เดือน หรือลดค่างวด สินเชื่อบ้าน พักชำระหนี้ ลดค่างวด ลดดอกเบี้ย หรือขยายเวลาชำระหนี้ เป็นต้น

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร ประเมินว่าปีนี้แนวโน้มหนี้ครัวเรือนจะพุ่งทะลุระดับ 85% ของจีดีพี หากจีดีพีหดตัว -9 ตามที่ภัทรคาดการณ์ไว้ จากตอนนี้อยู่ที่ระดับ 79.9% แต่หากจีดีพี -5 ตามที่แบงก์ชาติประเมินก่อนหน้านี้สัดส่วนหนี้จะเป็น 84% และหากจีดีพีติดลบ 8-9% หนี้ครัวเรือนจะพุ่งขึ้นสูงกว่านั้น แต่ที่น่าห่วงยิ่งกว่าหนี้ครัวเรือนคือ หลังพ้นมาตรการพักชำระหนี้แล้ว หนี้ด้อยคุณภาพจะเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ขาดรายได้ ไม่มีความสามารถชำระคืน

สถานการณ์ดังกล่าว นายพิพัฒน์ เสนอตั้งกลไก bad bank หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) ที่สามารถรองรับหนี้ได้ระดับล้านล้านบาท เหมือนสมัยวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งรอบนี้อาจบริหารยากกว่าเพราะส่วนใหญ่เป็นรายย่อย ไม่ใช่ธุรกิจรายใหญ่

มหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายเสียยิ่งกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองกลับอยู่ในโหมด “แย่งชามข้าว” แทนที่จะเอาใจใส่ในทุกข์ร้อนของประชาชน แล้วอย่างนี้จะเป็น new mormal นำพาประเทศชาติและประชาชนก้าวพ้นวิกฤตได้อย่างไร?


กำลังโหลดความคิดเห็น