xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถอดรหัส “โจรกรรมหนังสือบุด” ลักลอบค้าโบราณวัตถุ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หนังสือบุดสมุดข่อยโบราณเมืองนครศรีธรรมราช บางส่วนถูกส่งคืนผ่านศูนย์รับบิณฑบาตคืนหนังสือบุดสมุดข่อยจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเปิดโอกาสให้นักสะสมที่มีเอกสารโบราณจากโจรกรรมครั้งนี้ นำส่งกลับคืนให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เกิดการโจรกรรมมรดกสำคัญของบ้านเมืองครั้งใหญ่ กรณีเอกสารโบราณประเภทสมุดไทย (สมุดข่อย) หรือที่เรียกกันในภาษาถิ่นภาคใต้ว่า “หนังสือบุด” เอกสารโบราณจากบรรพชนคนนครศรีธรรมราชนับพันเล่มสูญหายไปจากศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ก่อนถูกพบขายว่อนในตลาดมืด

สำหรับคุณค่าของ “หนังสือบุด” เป็นแหล่งรวบรวมสรรพวิทยาการหลากหลายสาขา อาทิ ศาสนา วรรณกรรม ปรัชญา กฎหมาย ตำรา คาถา และเลขยันต์ เป็นทรัพย์สมบัติทางปัญญาที่ประเมินค่ามิได้ของชาวนครศรีธรรมราช โดยศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เป็นสถานที่เก็บหนังสือบุดจำนวนหลายพันเล่ม นับว่าเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย

ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการได้รับการเปิดเผยจาก อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ได้โพสต์ไว้ว่า เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาฝึกงานที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ประจำการห้องหนังสือบุดภาคใต้ ดูแลงานเอกสารทั่วไป ระบุว่ามีหนังสือบุดมากกว่า 5,000 เล่ม และได้คัดเลือกหนังสือบุดที่มีความสมบูรณ์ไว้ถึง 2,275 เล่ม

ขณะที่ข้อมูลอย่างเป็นทางการเปิดเผยว่า มีหนังสือบุดโบราณขึ้นทะเบียนสูญหายจากการโจรกรรมไปทั้งหมด 309 เล่ม คงเหลือ 1,200 เล่ม และกลุ่มที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเหลือ 1,300 เล่ม โดยในกลุ่มนี้ไม่ทราบจำนวนที่สูญหายอย่างแท้จริง แต่คาดว่าอาจสูญหายรวมกว่า 1,000 เล่ม

ผู้ริเริ่มศูนย์ศิลปวัฒนธรรมในการเก็บรักษาหนังสือบุดสมุดข่อยโบราณ นายฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า หนังสือบุดข่อยโบราณแต่ละเล่มล้วนเป็นชิ้นงานระดับมาสเตอร์พีช มีชิ้นเดียวในโลกเนื่องจากทำด้วยมือ และนำมาบูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ จ.นครศรีธรรมราช ที่เชื่อว่ามีพระพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

อนึ่ง ระหว่างปี 2513 - 2528 ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้ขอรับบริจาคหนังสือบุด หรือ สมุดข่อยโบราณของนครศรีธรรมราชจากหลายแหล่งเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ตั้งแต่วัดวาอารามต่างๆ ตลอดจนผู้ที่ครอบครองเป็นมรดกตกทอดจากสายตระกูลเก่าแก่ของเมืองนครศรีธรรมราช

นายสุรเชษฐ์ แก้วสกุล นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปะ ซึ่งเป็นผู้แจ้งเบาะแสการโจรกรรมเอกสารโบราณในครั้งใหญ่นี้ ระบุว่ามีหนังสือบุดหลุดไปในตลาดหนังสือมืดหลายร้อยเล่มโดยไม่ทราบที่มา พิจารณาจากลักษณะแล้วคิดว่าเป็นหนังสือจากงานช่างภาคใต้ ต่อมี มีการโพสต์ขายสำเนาของตำราเล่มเดียวกับที่สถาบันของราชภัฎฯ ที่ตนเคยถ่ายสำเนาไว้ จึงแจ้งข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม และพบว่าหนังสือบุดหายไปหลายร้อยเล่ม

นพ. บัญชา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ระบุว่าจากการติดตามการประกาศขายหนังสือบุดในออนไลน์ และได้ติดตามผู้ที่ประกาศขาย ซึ่งหนังสือบุดมีการซื้อขายในออนไลน์ หากมีความสมบูรณ์มีมูลค่ามากถึงหลักแสนบาท

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์โจรกรรมหนังสือบุดล่วงเวลากว่า 3 เดือน ลักลอบนำไปขายในตลาดมืดแพร่กระจายสู่มือนักสะสมในวงกว้าง เป็นการยากที่จะสืบตามกลับคืน ด้วยเหตุนี้พระเถรานุเถระเมืองนครศรีธรรมราช และคณะนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ได้ร่วมกันจัดตั้ง “ศูนย์รับบิณฑบาตคืนหนังสือบุดสมุดข่อยจังหวัดนครศรีธรรมราช” เปิดโอกาสให้นักสะสมที่มีเอกสารโบราณจากเหตุการณ์ดังกล่าว อยู่ในความครอบครองโดยไม่เจตนานำส่งเอกสารดังกล่าวกลับคืน เปิดโอกาสให้ผู้ครอบครองหนังสือบุดโดยมิชอบ นำกลับมาคืนให้เป็นสมบัติของแผ่นดินโดยไม่มีความผิด

หลังจากข่าวการโจรกรรมหนังสือบุดเมืองนครฯ แพร่สะพัดออกไป ได้มีการติดต่อขอส่งคืนหนังสือบุดอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นมีสีมากถาสมบัติชิ้นเอกของภาคใต้ที่มีความสมบูรณ์และสวยงามมากที่สุดกลับคืนมาด้วย

เบื้องหลังการโจรกรรมหนังสือบุดสมุดข่อยโบราณ ที่เก็บรักษาไว้ในศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ลอบทำเป็นขบวนการมีคนในรู้เห็นเป็นใจ ซึ่งทางพนักงานสอบสวน สภ.เมือง นครศรีธรรมราช ได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อติดตามจับกุมคนร้าย พบว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นข้าราชการที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องในศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช สืบสวนสอบสวนขยายผลอย่างต่อเนื่อง จับกุมตัวบุคคลที่โพสขายหนังสือบุดโบราณทางช่องทางออนไลน์



พระเถรานุเถระในเมืองนครศรีธรรมราช ร่วมกับคณะนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ประชุมจัดตั้งศูนย์รับบิณฑบาตคืนหนังสือบุดฯ เปิดโอกาสให้นักสะสมและผู้ครอบครองเอกสารโบราณจากเหตุโจรกรรมครั้งใหญ่ ส่งมอบกลับคืนให้เป็นสมบัติของแผ่นดินตามเดิม
การโจรกรรมหนังสือบุดสมุดข่อยโบราณเมืองนครครั้งนี้ พบว่าเป็นปัญหาเรื้อรังเกิดขึ้นมานานนับ 10 ปี โดยทำกันเป็นขบวนการใหญ่ ตามข้อมูลระบุว่าการสอบสวนขยายผลของเจ้าหน้าที่ตำรวจพบหลักฐานเกี่ยวโยงไปถึงผู้หลักผู้ใหญ่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ รวมทั้ง อดีตผู้รับผิดชอบศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมดังกล่าว ส่วนข้อเท็จจริงเป็นเช่นไรยังต้องรอการพิสูจน์ต่อไป

โดย ผศ.ดร.ฆนัท ธาตุทอง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช ได้ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับดำเนินการสอบสวนเอาผิดกับขบวนการโจรกรรมหนังสือบุดสมุดข่อยเมืองนครฯ เพื่อเปิดโปงข้อเท็จจริงการโจรกรรมเอกสรโบราณมรดกชาติในครั้งนี้ ใครบ้างที่เกี่ยวข้องอยู่เบื้องหลังเป็นผู้ร่วมขบวนการ

สำหรับเอกสารโบราณ “หนังสือบุด” เก่าแก่ ทรงคุณค่า เป็นที่ต้องการเฉพาะกลุ่มนิยมในหมู่นักสะสมของเก่า ทำให้คนร้ายสบโอกาสแสวงหาผลประโยชน์ลักลอบขโมยไปขาย อย่างไรก็ดี ตลาดการค้าโบราณวัตถุในไทยเป็นที่รู้กันในกลุ่มนักสะสมของเก่าว่าเป็นศูนย์กลางทั้งในการจัดหน่ายและพักสินค้าเพื่อส่งออก

หลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่า การสะสมโบราณวัตถุในเมืองไทยเริ่มนิยมในหมู่ชนชั้นสูงมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เนื่องจากได้รับค่านิยมจากตะวันตก โดยเชื่อกันว่าการสะสมโบราณวัตถุตลอดจนของหายาก เป็นเครื่องสะท้อนความมั่งคั่งเป็นผู้ดีมีอารยธรรม

การลักลอบค้าโบราณวัตถุไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย ฉายภาพปัญหาใหญ่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการตั้งกรมศิลปากร ออกจัดการกับปัญหาการลักลอบค้าโบราณวัตถุ มีการกำหนดบทลงโทษชัดเจนตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ ฉบับ พ.ศ. 2504 เพื่อคุ้มครองและป้องกันไม่ให้แหล่งโบราณคดีถูกทำลาย ไม่ให้มีการจำหน่าย หรือซื้อขายโบราณวัตถุต่างๆ โดยถือว่าทั้งหมดเป็นทรัพย์สมบัติของชาติ

สำหรับการโจรกรรมหนังสือบุดสมุดข่อยเอกสารโบราณอันเป็นมรดกของชาติในครั้งนี้ กระทำกันเป็นขบวนการมีผู้รู้เห็นเป็นใจ ฉะนั้น ต้องลากตัวผู้ร่วมขบวนการมาลงโทษให้จงได้




กำลังโหลดความคิดเห็น