กรมศิลป์จับมือกรมแพทย์แผนไทยฯ ร่วมสำรวจและถอดองค์ความรู้ ตำรับตำรายาโบราณ ป้องกันตำรายาผิดเพี้ยนและเป็นขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติชาติ หวังแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์
วันนี้ (23 ก.ค.) กรมศิลปากร ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการคุ้มครอง อนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยของชาติ ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดย นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากร มีหอสมุดแห่งชาติ และแหล่งเรียนรู้ที่ในสังกัดทั่วประเทศ ทำให้มีเอกสารและตำรับตำราโบราณเก็บรักษาอยู่เป็นจำนวนมาก จึงยินดีให้การสนับสนุนด้านการสำรวจรวบรวม ตรวจสอบ บันทึกและจัดเก็บตำรับยาและตำราการแพทย์แผนไทย เช่น คัมภีร์ใบลาน หนังสือสมุดไทย พับสา ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในระบบสุขภาพ นอกจากนี้ กรมศิลป์จะให้การสนับสนุนบุคลากรด้านนักภาษาโบราณ และประสานงานกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย นักวิชาการ และพระสงฆ์ในพื้นที่ต่างๆ ร่วมถอดองค์ความรู้ และแปลภาษา ที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เนื่องจากการถอดความมีข้อจำกัด ทั้งเรื่องของลายมือและใช้ภาษาในแต่ยุคแตกต่างกัน อย่าางไรก็ตาม เมื่อถอดความได้แล้ว ก็ยังต้องศึกษาว่า ความหมายที่แปลนั้นถูกต้องหรือไม่ เพื่อไม่ให้การจัดทำตำรายาโบราณผิดเพี้ยน
นายประทีป กล่าวว่า จากการที่ได้จัดทำโครงการสำรวจ จัดเก็บข้อมูลจากตำรา และเอกสารโบราณเก็บรักษาเป็นมรดกชาติ จากปัญหาที่ยังไม่มีกฎหมายกำกับที่ชัดเจน ทำให้เอกสารโบราณซึ่งถือว่าที่เป็นโบราณวัตถุอย่างหนึ่งคนทั่วไปสามารถครอบครองเป็นเจ้าของได้ จึงเกิดปัญหาการถูกโจรกรรม และสูญหายได้ง่ายจากการนำไปขายต่อให้ต่างประเทศ และนักสะสมของเก่า และยังมีคนที่มีความเชื่อแปลกๆ เช่น การนำตำราโบราณไปป่นผสมเป็นยารักษาโรค เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย หากเอกสารเหล่านี้ถูกลักขโมยไป หรือถูกทำลาย รวมไปถึงตำรายาโบราณที่พบว่า ต่างชาติได้นำสูตรยาของไทยไปจดสิทธิบัตร จึงเร่งผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนเอกสารโบราณ โดยจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ และคุณลักษณะ ของเอกสารโบราณสามารถขึ้นทะเบียน นำมาเก็บรักษาภายในหอสมุดแห่งชาติ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในพื้นที่นั้นๆ เป็นประโยชน์ต่อการเก็บรักษาสมบัติภูมิปัญญาของชาติ
ด้าน นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การทำงานร่วมกับกรมศิลปากร โดยร่วมกันจัดระบบความรู้มรดกภูมิปัญญาของไทยที่มีอยู่ทุกภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาได้มีการจัดเก็บและประกาศคุ้มครองตำรับยาและตำราการแพทย์แผนไทยไปแล้วเพียงร้อยละ 40 รวมจำนวน 28 ฉบับ 481 ตำรา 536 แผ่นจารึก 37,697 ตำรับโดยจัดทำเป็นระบบคลังความรู้เป็นห้องสมุดดิจิทัล โดยการถอดข้อมูลจะมีการจัดทำเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้ง่ายต่อการขึ้นทะเบียนป้องกันไม่ให้มีผู้แอบลักลอบไปจดลิขสิทธิ์เป็นของตนเอง ซึ่งกรมการแพทย์แผนไทยฯ มีบุคลากรที่สามารถอ่านและเข้าใจตำราภาษาโบราณจำนวนน้อยมาก จำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาจากกรมศิลปากรมาร่วมดำเนินการ ซึ่งกรมการแพทย์แผนไทยฯ เคยทำงานร่วมกับหอสมุดแห่งชาตินครราชสีมา จนสามารถถอดองค์ความรู้เกี่ยวกับตำรับยาเป็นสมบัติของชาติ