xs
xsm
sm
md
lg

กรมศิลป์ ขุดโบราณสถาน “โคกแจง” พบ “แผ่นฤกษ์” อายุพันปี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมศิลป์ ขุดโบราณสถาน “โคกแจง” พบ “แผ่นฤกษ์” เป็นแผ่นดินเผาทรงกลม จารึกอักษรหลังปัลลวะอายุกว่า 1,000 ปี

นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากรได้จัดสรรงบประมาณ ฉุกเฉินเร่งด่วนประจำปี 2563 ให้แก่ สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ดำเนินการขุดแต่งโบราณสถานโคกแจง ต.ทุ่งน้อย อ.เมือง จ.นครปฐม ซึ่งได้รับรายงาน ผลจากการขุดศึกษา พบว่า โบราณสถานโคกแจงเป็นศาสนสถานสมัยทวารวดี ก่อด้วยอิฐ ขนาดความกว้างด้านละประมาณ 7.20 เมตร ทำบันไดกึ่งกลางด้านทั้ง 4 ด้าน และเมื่อวันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา ในระหว่างการขุดศึกษา ได้พบหลักฐานใหม่ เป็นแผ่นดินเผาทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 26.2 เซนติเมตร หนาประมาณ 1.2 เซนติเมตร วางอยู่ในตำแหน่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือภายในพื้นที่กรอบอิฐ ซึ่งแผ่นดินเผาทรงกลมนี้พบการขีดช่องตารางคล้ายกับดวงฤกษ์ โดยมีลักษณะการขีดออกเป็นแฉกจากแกนกลาง แบ่งเป็น 12 ช่อง และขีดเส้นวงกลมซ้อนชั้นจากแกนกลางออกมาเป็นระยะ เกิดเส้นซ้อนทับกันเป็นช่องตารางย่อย และในแต่ละช่องตารางย่อยพบตัวอักษรจารโบราณกำกับอยู่เกือบทุกช่อง รวมถึงที่ริมขอบแผ่นดินเผาอีกด้วย

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า จึงได้มอบหมายให้ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ นักภาษาโบราณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ประกอบด้วย นางสาวพิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ นักอักษรศาสตร์ทรงคุณวุฒิ นายเทิม มีเต็ม ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาตะวันออก และ นางศิวพร เฉลิมศรี นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ พิจารณาเบื้องต้นจากรูปอักษรบางตัวที่ปรากฏ มีความเห็นว่า รูปอักษรดังกล่าว เป็นอักษรหลังปัลลวะ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14 หรือ กว่า 1,000 ปีมาแล้ว ในการพบโบราณวัตถุครั้งนี้ นับเป็นเรื่องที่น่าทึ่ง เพราะเป็นครั้งแรก ที่พบแผ่นฤกษ์ทรงกลมที่มีการจารึกตัวอักษรในวัฒนธรรมทวารวดีในประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้เคยพบหลักฐานแผ่นอิฐมีการทำลวดลายพิเศษ สันนิษฐานว่าเป็นอิฐฤกษ์ที่เจดีย์จุลประโทน จ.นครปฐม และที่เจดีย์หมายเลข 1 เมืองโบราณอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ดังนั้น แผ่นฤกษ์มีตัวอักษรที่ใจกลางโบราณสถานโคกแจง จึงเป็นหลักฐานใหม่ที่จะช่วยให้การศึกษาทางโบราณคดีในส่วนของพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับโบราณสถานในวัฒนธรรมทวารวดีก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง และล่าสุด สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ดำเนินการอนุรักษ์ตามกระบวนการ จากนั้นจะนำไปศึกษาวิเคราะห์รูปแบบอักษรที่จารึก และการศึกษาด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไปอีกด้วย










กำลังโหลดความคิดเห็น