xs
xsm
sm
md
lg

กรมศิลป์ เผย “เตาทุเรียง” ผลิตสังคโลก อายุ 600 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมศิลป์ เผยผลศึกษาประวัติศาสตร์ต้นกำเนิดแหล่ง “สังคโลก” เตาทุเรียง อายุ 600 ปี สร้างอาคารไม้ไผ่ป้องกันการเสื่อมสภาพเตา และเป็นแหล่งเรียนรู้

นายประทีป เพ็งตโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งเตาทุเรียงเมืองเก่าสุโขทัย ของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ว่า โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินงานในแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผา หรือ สังคโลก ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องที่เริ่มมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 โดยเริ่มสำรวจ ขุดค้น ขุดแต่งทางโบราณคดีและบูรณะเตาเผาโบราณทั้งหมดที่พบบนพื้นดินเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ทราบว่า มีเตาทุเรียงตั้งเรียงรายอยู่ทางด้านทิศเหนือนอกเมืองสุโขทัย โดยกระจายตัวอยู่บริเวณด้านทิศเหนือและใต้ของวัดพระพายหลวง จำนวน 64 เตา แบ่งเป็นเตาตะกรับ หรือเตาระบายความร้อนแนวตั้ง ใช้สำหรับเผาเครื่องปั้นดินเผาที่อุณหภูมิไม่เกิน 800˚C จำนวน 52 เตา เตาประทุนหรือเตาระบายความร้อนแนวนอน ใช้สำหรับเผาเครื่องปั้นดินเผาที่อุณหภูมิ 900-1,200˚C จำนวน 12 เตา นอกจากนี้ ยังมีบ่อหมักดินรูปสีเหลี่ยมอีก 2 บ่อ พร้อมกันนี้ ได้มีการสันนิษฐานว่า น่าจะมีการขนส่งผลิตภัณฑ์ผ่านทางคลองแม่ลำพันที่อยู่ใกล้กับกลุ่มเตาและเชื่อมต่อไปยังแม่น้ำยมที่อยู่ห่างจากเมืองสุโขทัยไปทางตะวันออกประมาณ 12 กิโลเมตร อีกทั้งยังสามารถขนส่งสินค้าทางเกวียนผ่านถนนพระร่วงซึ่งอยู่ติดกันกับกลุ่มเตาได้อีกทางหนึ่งด้วย

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวต่อว่า โบราณวัตถุที่ขุดพบมีความน่าสนใจ โดยมีลักษณะบิดเบี้ยวแสดงถึงของเสียจากการผลิต ส่วนใหญ่เป็นภาชนะดินเผา เช่น จาน ชาม กระปุก แจกัน ที่มีการตกแต่งด้วยการทาน้ำดินรองพื้นสีขาวและเขียนลายสีดำใต้เคลือบใส วาดเป็นลวดลายต่างๆ เช่น ปลา พบทั้งแบบปลาตัวเดียวไปจนถึง 4 ตัวในใบเดียว นอกจากนี้ ยังสัตว์น้ำอื่นๆ ลายพันธุ์พฤกษา และลายเรขาคณิต อีกทั้งได้พบชิ้นส่วนเครื่องประดับสถาปัตยกรรม เช่น มกร สิงห์ บราลี กระเบื้องหลังคา ตุ๊กตาดินเผา รวมทั้งกี๋ หรือตัวรองคั่นผลิตภัณฑ์ตอนเข้าเตาเผา รูปแบบต่างๆ ที่บางส่วนมีการเขียนลวดลายหรือตัวอักษร

อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์โบราณวัตถุพบว่า ลวดลายต่างๆ ที่ปรากฏบนภาชนะในระยะแรกของการผลิตนั้น มีความวิจิตรบรรจงมากกว่าภาชนะที่ผลิตขึ้นในยุคหลัง น่าจะเกิดจากอุตสาหกรรมที่ผลิตที่จำเป็นต้องเร่งผลิตในจำนวนมาก เพื่อการส่งออก ความประณีตของลวดายจึงลดลง

“กรมศิลปากรได้ส่งตัวอย่างถ่านไปหาค่าอายุด้วยเรดิโอคาร์บอนแบบ ที่มหาวิทยาลัยไวกาโต้ ประเทศนิวซีแลนด์ ทำให้นักโบราณคดีกำหนดช่วงเวลาได้ชัดเจนขึ้น ว่า ระยะแรกของการเริ่มผลิตสังคโลก ที่แหล่งเตาทุเรียงเมืองสุโขทัย เริ่มขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ. 1953-2123 หรือเมื่อราว 600 ปีมาแล้ว ตรงกับสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) ต่อมาระยะหลังมีการก่อสร้างเตาเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งมีการส่งออกเครื่องสังคโลกอย่างแพร่หลาย กำหนดอายุราว 550 ปีมาแล้ว ซึ่งตรงกับช่วงปลายของสุโขทัย จนถึงช่วงเวลาที่อยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยา” นายประทีป กล่าว

ขณะนี้กำลังดำเนินการปรับภูมิทัศน์พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และยังได้สร้างอาคารเพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพของเตาเผาโบราณ ซึ่งโครงสร้างทำจากไม้ไผ่ จำนวน 9 หลัง นับว่าเป็นครั้งแรก โดยไม้ไผ่จะอาบน้ำยา ดังนั้น จะสามารถอยู่ได้นับ 10 ปี และเป็นการปรับภูมิทัศน์ให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ เชื่อว่า จะเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยว และเป็นแหล่งเรียนรู้ “แหล่งผลิตสังคโลกเมืองสุโขทัย” ให้คนรุ่นหลังได้เข้ามาศึกษาด้วย










กำลังโหลดความคิดเห็น