กรมศิลป์เตรียมจัดระบบตรวจเข้มเปิดพิพิธภัณฑ์-หอสมุด รองรับการผ่อนปรนระยะ 2 ปลื้มยอดคลิกแหล่งเรียนรู้ออนไลน์พุ่ง ช่วงโควิด-19
นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ขณะนี้กรมศิลปากรได้เตรียมความพร้อมหากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) จะผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 2 ภายในสัปดาห์นี้ โดยจะมีกลุ่มของพิพิธภัณฑ์ อุทยานประวัติศาสตร์ และหอสมุดแห่งชาติซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร จึงสั่งการให้สำนักศิลปากรทั่วประเทศเตรียมทำความสะอาดพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และหอสมุดแห่งชาติซึ่งถือเป็นพื้นที่ปิดให้ปราศจากเชื้อโรค พร้อมทั้งให้ปฏิบัติตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเคร่งครัด โดยให้ ผอ.สำนักศิลปากรประสานงานกับจังหวัด เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการย่อยของแต่ละจังหวัดที่จะต้องประเมินความเสี่ยงของสถานที่ต่างๆ อีกครั้ง ส่วนมาตรการหลักที่แจ้งให้ถือปฏิบัติ ได้แก่ จัดระบบการคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ ติดตั้งเจลแอลกอฮอล์จุดต่างๆ สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา จัดระบบการเข้าชมให้มีระยะห่างไม่ให้มีความหนาแน่นภายในพื้นที่จัดแสดง สำหรับกรณีการเข้าชมแบบหมู่คณะ จำกัดเข้าชมได้ไม่เกิน 10 คนและให้ประสานงานล่วงหน้า เพื่อความสะดวกในการจัดระบบดูแล หากเป็นคณะใหญ่ให้แบ่งเป็นคณะย่อย
ขณะที่การจัดระบบดูแลหอสมุดแห่งชาติ กำหนดให้ผู้เข้าใช้บริการสวมหน้ากากอนามัย มีระบบคัดกรอง จัดพื้นที่นั่งสำหรับการใช้บริการแบบมีระยะห่าง 1.5 - 2 เมตร โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการไม่ให้มีความแออัด การสืบค้นข้อมูลหรือหาหนังสือต่างๆ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลในการจัดหาหนังสือได้ง่ายขึ้น
สำหรับมาตรการสำหรับพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ ถือเป็นพื้นที่เปิดโล่ง แต่ได้ย้ำให้มีการจัดระบบคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิก่อนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชมภายในพื้นที่
ถ้าหากพื้นที่พิพิธภัณฑ์ อุทยานประวัติศาตร์และหอสมุดแห่งชาติต่างๆ เปิดให้บริการได้จริงจะมีการปรับระบบการทำงานของเจ้าหน้าที่อีกครั้งซึ่งจะต้องสอดคล้องกับนโยบายทำงานที่บ้านของรัฐบาล
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวด้วยว่า ในช่วงที่มีการปิดบริการแหล่งเรียนรู้ต่างๆ กรมศิลป์ได้ปรับระบบการให้บริการเป็นการแบ่งปันความรู้แบบออนไลน์เป็นหลัก พบว่าประชาชนให้การตอบรับเข้าใช้บริการหลายแสนคน ถือเป็นที่น่าพอใจ และยังเป็นการเปิดมิติใหม่ให้ประชาชนได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้มรดกชาติอย่างง่ายดาย และอยู่ที่ไหนก็คลิกเข้าไปเรียนรู้ได้
ส่วนการทำงานของเจ้าหน้าที่ในช่วงที่ผ่านมาเน้นให้ทำงานที่บ้านกว่า 50% โดยเฉพาะบุคลากรที่ต้องเดินทางด้วยระบบสาธารณะให้ทำงานที่บ้าน อีกทั้งยังให้บุคลากรได้พัฒนาตนเองด้วยการเข้าไปพัฒนาศักยภาพข้าราชการของสำนักงาน ก.พ.ที่มีมากกว่า 100 หลักสูตร ถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานที่บ้าน ส่วนการทำงานด้านบูรณะโบราณสถานทั่วประเทศถือว่าไม่ได้รับผลกระทบมากนัก สามารถบริหารจัดการสัญญาของภาคเอกชนที่มีการจ้างงานต่างๆ ได้เข้าไปทำงาน แต่จะมีปัญหาด้านแรงงานช่างฝืมือที่ออกไปทำงานต่างพื้นที่อาจจะมีการกักตัวเฝ้าระวังโรคตามมาตรการป้องกันโรคบ้าง