xs
xsm
sm
md
lg

ความปรารถนาและพันธะในการสร้างการเมืองที่เท่าเทียมของคนรุ่นใหม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"


เคลื่อนตัวออกจากการเมืองในโลกออนไลน์ สู่โลกท้องถนนของเยาวชน นักเรียน นิสิตและนักศึกษาได้เริ่มขึ้นอีกครั้งในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพมหานคร จากนั้นขยายตัวไปยังเมืองมหาวิทยาลัยในทุกภูมิภาคทั้ง เชียงใหม่ อุบลราชธานี ชลบุรี มหาสารคาม สงขลาและที่อื่น ๆ อีกหลายแห่ง ภายใต้คำขวัญและจุดร่วม “ไม่ทนอีกต่อไป” และ “ให้มันจบที่รุ่นเรา” สองประโยคนี้เป็นการแสดงออกถึงความปรารถนาและพันธะในการสร้างการเมืองวิถีใหม่ของคนรุ่นใหม่อย่างชัดเจน

ความเป็นจริงทางการเมืองแบบใดในสังคมไทยที่คนรุ่นใหม่รับรู้และคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่พึงปรารถนา ความเป็นจริงการเมืองแบบใดที่ทำให้คนรุ่นใหม่มีความอึดอัดคับข้องใจแต่ต้องจำทนอยู่กับมันอย่างยาวนาน จนกระทั่งเกิดความรู้สึกท่วมท้นขึ้นมาว่าจะ “ไม่ทนอีกต่อไป” และทำให้ต้องต่อสู้เพื่อปรับสภาพและแก้ไขความเป็นจริงทางการเมืองให้เป็นการเมืองที่พึงปรารถนาขึ้นมา

เมื่อมองถึงร่องรอยจากถ้อยแถลงและคำประกาศต่าง ๆ ที่คนรุ่นใหม่แสดงออกมาสู่สาธารณะ สิ่งที่พวกเขาคิดว่าไม่อาจทนอีกต่อไปมีอย่างน้อยสามเรื่องที่เด่นชัดคือ ความไม่เท่าเทียมทางการเมือง ความไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย และการปิดกั้นและคุกคามการใช้เสรีภาพในการพูดและการแสดงออกทางการเมือง

บางคนอาจสงสัยว่าความไม่เท่าเทียมทางการเมืองในสังคมไทยเป็นความจริงหรือจินตนาการ และเป็นสิ่งที่เราควรยอมรับหรือปฏิเสธ หากเราไม่ปิดหู ปิดตา และปิดใจมากจนทำให้ประสาทสัมผัสแห่งการรับรู้ของเราบิดเบี้ยว เราก็จะเห็นหลักฐานมากมายอันเป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ในเรื่องความไม่เท่าเทียมทางการเมือง และหากเราไม่ปิดกั้นความสามารถในการคิดเชิงเหตุผลอันเป็นคุณสมบัติของความเป็นมนุษย์ เราก็สามารถคิดและสรุปได้ว่า“ความไม่เท่าเทียมทางการเมืองในสังคมไทยดำรงอยู่จริง”

นอกเหนือจากกลุ่มที่มีปัญหาการรับรู้และการคิดเชิงเหตุผล ซึ่งอาจทำให้มองความจริงบิดเบือน จนทำให้สรุปว่าความไม่เท่าเทียมทางการเมืองเป็นจินตนาการแล้ว ก็มีบรรดาเหล่าผู้ทรงภูมิปัญญาบางคน แม้ว่ามองเห็นความเป็นจริงของความไม่เท่าเทียมทางการเมืองปรากฎอยู่ตรงหน้า กลุ่มคนเหล่านี้กลับมีความคิดว่า เราควรยอมรับความเป็นจริงนี้และไม่ควรไปเปลี่ยนแปลงมัน เหตุผลที่พวกเขาให้ก็คือ ความไม่เท่าเทียมทางการเมืองเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนานและทำให้สังคมไทยสงบสุข หรือบางคนก็ให้เหตุผลในทำนองว่า หากไปเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงนี้จะทำให้เกิดความขัดแย้งทางสังคม เพราะผู้ที่ได้รับประโยชน์จากความไม่เท่าเทียมทางการเมืองคือผู้มีอำนาจรัฐที่มีศักยภาพในการใช้ความรุนแรง กลุ่มคนเหล่านี้ย่อมกระทำทุกวิธีการเพื่อรักษาความไม่เท่าเทียมทางการเมืองเอาไว้ รวมทั้งความรุนแรงด้วย และนั่นย่อมนำไปสู่ความสูญเสียอย่างมิอาจประมาณได้

ทว่าคนรุ่นใหม่คิดแตกต่างออกไป พวกเขาเห็นอย่างชัดเจนถึงความไม่เท่าเทียมทางการเมือง ซึ่งกติกาทางการเมืองมีความลำเอียงและทำให้คนส่วนน้อยบางกลุ่มสามารถเข้าถึงอำนาจรัฐได้อย่างง่ายดาย ขณะที่กลุ่มคนส่วนใหญ่ถูกกีดกันออกไปอย่างเป็นระบบ คนรุ่นใหม่ปฏิเสธความไม่เท่าเทียมทางการเมือง และมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง “การเมืองที่ไม่เท่าเทียม” ไปสู่ “การเมืองที่เท่าเทียม” ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มในสังคมสามารถเข้าถึงอำนาจรัฐภายใต้กติกาที่เป็นธรรม โดยปราศจากการให้สิทธิพิเศษแก่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเหนือกว่ากลุ่มอื่น ๆ

ยิ่งกว่านั้นพวกเขายังปรารถนาให้มีการบังคับใช้กติกาทางการเมืองอย่างเป็นธรรมและเที่ยงธรรมที่ทุกฝ่ายในสังคมต้องได้รับการปฏิบัติด้วยมาตรฐานเดียวกัน มิใช่ใช้กติกาแบบไร้มาตรฐาน ลำเอียง และขาดความเป็นธรรมดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งบางกลุ่มบางคนที่มีอำนาจรัฐและกระทำผิดโดยมีหลักฐานอย่างชัดเจน แต่องค์กรที่บังคับใช้กติกากลับผ่อนปรนและปล่อยให้พ้นผิดอย่างง่ายดาย ขณะที่ผู้ที่ไร้อำนาจรัฐ แม้ความผิดยังคลุมเครือก็ถูกตีความและตัดสินให้มีความผิด

สิ่งที่พวกเขาจะไม่ทนอีกประการหนึ่งคือ การจำกัดเสรีภาพและการคุกคามผู้ที่แสดงความคิดเห็นแตกต่างจากอุดมการณ์หลักของชนชั้นนำทางการเมือง ที่ผ่านมาพวกเขามีประสบการณ์ว่า เมื่อใดก็ตามที่แสดงความคิดเห็นหรือพูดความจริงที่ไปกระทบสถานภาพและอภิสิทธิ์ของชนชั้นนำ สิ่งที่ได้รับคือการถูกคุกคามในหลายรูปแบบทั้งการใช้กฎหมายและกฏเถื่อน หลายคนถูกทำร้าย ถูกจับกุม และถูกลดค่าความเป็นมนุษย์ การทำร้ายผู้ที่มีความเชื่อและความเห็นแตกต่างนั้นเป็นสิ่งที่ผู้คนในอารยสังคมไม่ควรยอมรับ เพราะการยอมรับหมายถึงสังคมนั้นยังมีพัฒนาการทางขันติธรรมอันเป็นหลักศีลธรรมสำคัญแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติต่ำมาก และบ่งบอกว่าจิตรวมหมู่ของคนในสังคมยังไม่อาจข้ามพ้นการถูกครอบงำและชักนำด้วยสัญชาติญาณดั้งเดิมที่มนุษย์มีร่วมกับสัตว์อื่น ๆ ได้

คนรุ่นใหม่ปรารถนาให้สังคมมีเสรีภาพทางการเมือง อันเป็นการเมืองที่ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยเฉพาะการแสดงออกถึงความเชื่อและอุดมการณ์ที่แตกต่างจากอุดมการณ์ของกลุ่มชนชั้นนำ และสามารถวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะและผู้ครอบครองอำนาจรัฐได้โดยไม่ถูกคุกคาม ทำร้าย และกักขัง

สำหรับประโยค “ให้มันจบที่รุ่นเรา” เป็นประโยคที่แสดงความปรารถนาอย่างแรงกล้าและบ่งบอกถึงพันธะสัญญาทางการเมืองร่วมกันของคนรุ่นใหม่ ทำไม “ต้องจบที่รุ่นเรา” นั่นเป็นเพราะพวกเขาได้เรียนรู้ว่าการต่อสู้เพื่อสร้างสังคมการเมืองที่เท่าเทียมและเป็นธรรมในสังคมไทยนั้นเคยเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว นักศึกษารุ่นพี่ของพวกเขาเคยแสดงบทบาทขับเคลื่อนสังคมไทยให้มีการเมืองที่เท่าเทียมและเป็นธรรมมาแล้วเมื่อปี ๒๕๑๖ และ ๒๕๓๕ แม้ว่าได้รับชัยชนะในการต่อสู้และเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองได้ ทว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ยั่งยืน ผ่านไปเพียงไม่กี่ปี กลุ่มชนชั้นนำเดิมก็สามารถรื้อฟืนคืนชีวิตแก่การเมืองเก่าที่มีแก่นแท้ของไม่เท่าเทียมขึ้นมาใหม่ทุกคราไป

การสร้างการเมืองที่เท่าเทียมอย่างยั่งยืนในสังคมไทยนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก เพราะว่าพลังทางอุดมการณ์ อำนาจ และอาวุธของชนชั้นนำเดิมหยั่งรากลึกในสังคมไทย ชัยชนะทางการเมืองในระดับผิวเผินมิได้ทำให้พลังเหล่านั้นสูญสิ้นไปแต่อย่างใด ดั้งนั้นการจะให้มัน “จบที่รุ่นเรา” ที่คนรุ่นใหม่ปรารถนานั้น เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่จะต้องถกเถียงและอภิปรายกันอย่างรอบด้านและลุ่มลึก และต้องใช้เวลาไม่น้อยเพื่อแสวงหายุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ทรงพลังและมีความแหลมคมที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงการเมืองที่ไม่เท่าเทียม ไปสู่การเมืองที่เท่าเทียมขึ้นมาได้และสามารถรักษามันเอาไว้อย่างยั่งยืนยาวนานกว่าอดีต

การมีเจตนาที่แรงกล้า แต่ปราศจากยุทธวิธีที่แหลมคมในระยะสั้น และยุทธศาสตร์ที่ทรงพลังในระยะยาวนั้น แม้ว่าจะได้รับชัยชนะทางการเมืองมาได้ แต่ก็เป็นชัยชนะชั่วคราวเท่านั้น ในท้ายที่สุดก็ซ้ำรอยประวัติศาสตร์ที่นักศึกษารุ่นเก่าประสบมา อย่างไรก็ตามการมีเจตนาที่แรงกล้า “ให้จบที่รุ่นเรานั้น” เป็นสำนึกพันธกิจที่มีความสำคัญยิ่ง ถือได้ว่าเป็นพันธะสัญญาร่วมทางการเมืองที่ทรงพลังของคนรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ ๒๑ ในการขับเคลื่อนให้เกิดการเมืองที่เท่าเทียมและเป็นธรรมในสังคมไทยขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ในฐานะที่เป็นคนรุ่นค่อนข้างเก่า ที่สังเกตความไม่แน่นอนของการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยมาระยะหนึ่ง ได้แต่ให้กำลังใจและข้อคิดบางอย่างแก่คนรุ่นใหม่ และอยากส่งสารถึงคนรุ่นเก่าที่ครอบครองอำนาจรัฐว่า อำนาจนั้นไม่ยั่งยืน การเหนี่ยวรั้งอำนาจให้จำกัดอยู่ภายในกลุ่มตนเองและพวกพ้องนั้น ยิ่งนานวันก็รังแต่ยิ่งสร้างความเสียหายแก่สังคมและกลุ่มผู้เหนี่ยวรั้งเอง หากปรับกรอบความคิดมองให้ไกลและกว้างขึ้นก็จะเห็นว่าพัฒนาการของสังคมมนุษย์นั้นมีแนวโน้มที่จะทำให้ประชาชนมีข้อมูลข่าวสารและมีการใช้หลักเหตุผลเชิงจริยธรรมในปริมณฑลการเมืองมากขึ้น ดังนั้นความศักสิทธิ์ของอำนาจการเมืองที่อยู่บนพื้นฐานของความเชื่อและความศรัทธา นับวันก็จะถูกท้าทายด้วยเหตุผลเชิงจริยธรรมมากขึ้นตามไปด้วย


มีความเป็นไปได้สองทางของความขัดแย้งที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องร่วมสองทศวรรษในสังคมไทย ทางแรกคือการได้ข้อสรุปที่เป็นฉันทามติร่วมอย่างสันติของกลุ่มคนทุกฝ่ายทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าที่ครองอำนาจรัฐ หากเป็นเช่นนั้นได้สังคมก็สามารถหลีกเลี่ยงวิกฤติทางการเมืองที่คืบคลานเข้ามาได้ และทางที่สองคือการแตกหัก ซึ่งเกิดจากแต่ละฝ่ายยึดติดกับความเชื่อและยึดกุมเป้าหมายของตนเองโดยมิได้พิจารณาบริบทการเปลี่ยนแปลงสังคมร่วมกัน เช่นนั้นแล้ว วิกฤติทางการเมืองก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้

กำลังโหลดความคิดเห็น