xs
xsm
sm
md
lg

สภาฯถกปมม็อบนศ. ก้าวไกลอ้างไม่แก้รธน.นำสู่ความตายปชช. พท.จี้เปิดเวทีรับฟัง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประชุมสภาฯถกปมม๊อบเยาวชน ฝ่ายค้านแนะนายกฯเปิดเวทีรับฟังเอง ค้านรบ.ตั้งกมธ.ศีกษาหาข้อสรุป "สาทิตย์" ติงส.ส.ทำตัวเป็นกองหนุน-ค้าน ชี้สภาฯต้องหาสาเหตุ ก้าวไกล อ้างไม่แก้รธน.นำสู่ความตายปชช. ลั่นองค์กรอิสระพึ่งไม่ได้ก็ต้องพึ่งนศ.

วันนี้ (22ก.ค.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏร ได้มีการพิจารณาญัตติเกี่ยวกับการชุมนุมของเยาวชน โดยแบ่งออกเป็น2 ฝ่าย โดยฝ่ายค้านเสนอให้สภามีมติให้รัฐบาลรับฟังความเห็นของนิสิต นักศึกษา และเยาวชน ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯขึ้นมาพิจารณาเพื่อหาข้อสรุป

นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส. กทม. พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่าปัจจุบันเยาวชนเริ่มมีการตื่นตัวในทางการเมือง แต่ขณะเดียวกันตนก็มีความกังวลว่าการเคลื่อนไหวที่เป็นไปโดยพลังบริสุทธิ์ถูกคนที่ไม่ประสงค์ดีอยู่เบื้องหลังบิดเบือนเจตนาที่ดี จึงอยากให้สภาซึ่งมีทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล เป็นสะพานเชื่อมตรงกลางให้เยาวชนเข้ามาแสดงความคิดเห็น ซึ่งจากการเรียกร้องในปัจจุบัน มีข้อเรียกร้อง ให้ยุบสภา ควบคุมการใช้อำนาจของรัฐบาล และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ว่าสองข้อแรกจะเกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหาร แต่ข้อสุดท้ายเกี่ยวข้องกับฝ่ายนิติบัญญัติ

“การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ก็จะสามารถเปิดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นของนักศึกษาและเยาวชนได้ ซึ่งตนย้ำว่าเป็นพลังบริสุทธิ์ที่มีความคิดที่ดีในการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง แต่จะเป็นในรูปแบบวิธีการใด ตนต้องการให้สมาชิกแสดงความคิดเห็น “

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส. นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าเนื่องจากตั้งแต่ต้นปี คนกลุ่มนี้ได้รวมตัวชุมนุมกันเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองตลอดมา เว้นช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด ซึ่งตอนนี้เริ่มกลับมาชุมนุมอีกครั้ง และอนาคตก็จะมีการชุมนุมลักษณะนี้อีก ตนเห็นว่าการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกทั้งการพูดการพิมพ์และการเขียนทำไม่ได้ วันนี้มีการสื่อความหมายหลายแบบในโลกโซเชียล หลายเรื่องที่กลุ่มนักศึกษาเรียกร้องก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญ พวกเขาเคยมาแสดงความคิดเห็นใน กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่น เรื่องการเลือกตั้งและการให้อำนาจ ส.ว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งมองว่ากฎหมายตอนนี้ยังไม่เป็นธรรม ส่วนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเป็นเหมือนการยื้อการสืบทอดอำนาจ แต่ยังไม่มีการปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม และพายเรือในอ่าง เช่นการปฏิรูปตำรวจ หรือการปฏิรูปท้องถิ่น เป็นต้น แต่กลุ่มนิสิตนักศึกษายังขาดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หลายคนถูกดำเนินคดี ถูกติดตาม เช่น คดีจ่านิว และไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล นายกรัฐมนตรีเดินทางไปรับฟังความคิดเห็นจากสื่อมวลชน แต่ตนอยากให้นายกรัฐมนตรีเดินทางไปรับฟังความคิดเห็นจากนักศึกษาด้วย

“ผมคิดว่านักศึกษาไม่ได้อยากลงถนน ถ้ามีการรับฟังความเห็นบรรยากาศจะดีขึ้น แต่ถ้านายกรัฐมนตรีไม่รีบทำทุกอย่างอาจจะสายเกินแก้ และขอให้อย่าบ่ายเบี่ยง ไม่โดยเรื่องไปที่กรรมาธิการ แต่ควรรับฟังเองโดยตรง เพราะนิสิตนักศึกษาคือพลังบริสุทธิ์ และเป็นความหวังของประเทศชาติ”

ด้านนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หนึ่งในสมาชิกที่เสนอเสนอญัตติด่วนกล่าวว่า จากการที่ตนไปพูดคุยกับคนที่มาร่วมชุมนุม เรื่องรัฐบาลเข้ามาโดยไม่ชอบธรรม ไม่มีเสถียรภาพในการบริหารงาน และการ์ดตกกับการบริหารงาน แต่ไม่เคยการ์ดตกกับการริดรอนเสรีภาพของประชาชน ตั้งแต่ คสช. จนถึงปัจจุบัน หลายคนถูกติดตามตัวและถูกคุกคาม นิสิตนักศึกษาเหล่านี้ให้คุณค่ากับความเท่าเทียมของมนุษย์ และที่สำคัญคือต้องการเข้ามาเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขความผิดปกติของประเทศที่ผู้ใหญ่รุ่นเราสร้างเอาไว้ ถ้ารัฐบาลต้องการต่ออายุตัวเองต้องปรับทัศนคติอย่างเข้มข้น ได้แก่ เรื่องนักศึกษาไม่ได้ออกมาชุมนุมเอง แต่มีเบื้องหลัง ทั้งที่คนที่มีเบื้องหลังคือรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจ, การมองการชุมนุมว่าเป็นความไม่สงบ ซึ่งประเทศประชาธิปไตยเขาทำกันรายวันเพื่อบอกเล่าปัญหาให้รัฐบาลแก้ให้ตรงจุด, และทัศนคติที่ติดลบต่อการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ตอนนี้โลกไร้พรมแดน ไม่มีรั้วอีกต่อไป

“เมื่อก่อนประเทศไทยเคยได้รับการยกย่องว่ามีเสรีภาพสื่อและการแสดงความคิดเห็น แต่ตอนนี้กลับย่ำแย่ ตอนนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ตอนนี้คือนักศึกษาต้องการการคุ้มครองในการแสดงความเห็นด้วย ไม่ใช่การจับกุมหรือยัดคดีให้กับพวกเขา หมดยุคของสังคมห้ามคิด ชีวิตห้ามสงสัย ถึงเวลาที่สนับสนุนให้คนหนุ่มสาวตั้งข้อสงสัย และหยุดสองมาตรฐานกับประชาชนทั้งที่ผู้มีอำนาจทำได้ ทำไมคนที่ผูกโบว์เรียกร้องการอุ้มหายถึงถูกจับ ทำไมหมวดอาร์มที่ออกมาเปิดเผยการทุจริตในกองทัพ ถึงถูกปลดออกจากกองทัพ ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างความกลัวให้กับประชาชน ตนจึงขอให้รัฐบาลคุ้มครองคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นแทนยัดเยียดคดีความ และเรีกยร้องให้ยกเลิกมาตรา 279 เพื่อเอาคนรัฐประหารเข้าคุก และมาตรา 272 เอา ส.ว. ออกจากการเมืองไทย และให้คณธกรรมาธิการการเมืองฯ ศึกษาเรื่องนี้

นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่ารัฐบาลมีส่วนสำคัญในการรักษาแผลที่เกิดขึ้นในสังคมตอนนี้ ความรู้สึกของนิสิตนักศึกษาเขาอึดอัดคับข้องใจที่ปัญหาของเขาไม่มีคนฟัง หรือฟังแล้วแต่ทำเป็นไม่ได้ยิน จำนวนประชากรของเยาวชนคือ 1 ใน 3 ของประชากรในประเทศ แต่พวกเขากลับเป็นสัดส่วนที่น้อยมากในการแสดงความเห็นหรือกำหนดแนวทางของบ้านเมือง มาตรา 95 กำหนดสิทธิในการเลือกตั้งในคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป แต่มาตรา 97 กำหนดให้คนที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไปถึงจะลงสมัครรับเลือกตั้งได้ แสดงให้เห็นถึงความลักลั่นของกฎหมาย

“ยกตัวอย่างเรื่องทรงผมนักเรียนที่ร้องเรียนว่าถูกตัดผมสั้นประจานกว่า 300 โรงเรียน ทั้งที่ระเบียบกระทรวงระบุว่านักเรียนไว้ผมยาวหรือสั้นก็ได้ นักเรียนที่ไม่ทำผิด ก็ไม่ควรถูกลงโทษ หรือถ้าทำผิดแล้วต้องมีการลงโทษก็ต้องลงโทษตามระเบียบกระทรวงที่ต้องการทำให้นักเรียนที่ทำผิดเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ใช่ประจานเพื่อให้อับอาย นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับเยาวชนอีกมากทั้งปัญหาเชิงระบบ ไปจนถึงนโยบายของรัฐ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องเปิดโอกาสให้กับเด็กมาแสดงความคิดเห็น เหตุการณ์ม็อบปลดแอกเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเป็นข้อสะท้อนที่สภาจำเป็นต้องเปิดเวทีรับฟังความเห็นด้วยหลักการ 4ย คือ ยืดหยันไม่ให้เข้าข้างใด ยืนยันว่าตอนนี้ถือหมวกสองใบคือเยาวชนและนักศึกษา ยืดหยุ่นเปิดพื้นที่ทางใจและลดอุณหภูมิทางความคิด และยั่งยืนโดยใช้ระบบการบริหารการประชุมที่ลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโควิด”

ขณะที่นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส. อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่าตนขอแสดงความชื่นชมและให้กำลังใจกับการชุมนุมที่ผ่านมา นี่เป็นวิถีทางประชาธิปไตย ตราบใดที่ไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของผู้อื่นและไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมีสิทธิที่จะทำได้ ตนเรียกร้องไปยังผู้ถืออำนาจรัฐ ว่าสิทธิที่ประชาชนแสดงออกเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ควรเปิดโอกาสให้คนที่มีความคิดเห็นในทุกรูปแบบแสดงความเห็นของตัวเองอย่างอิสระ นอกจากนี้ยังต้องสร้างบรรยากาศให้ผู้ที่ออกมาเรียกร้องมีความปลอดภัยภายใต้กฎหมายเดียวกัน และรัฐบาลต้องรับฟังขอ้เรียกร้องอย่างเป็นเหตุผล ไม่มีอคติ ไม่ควรผลักไสให้คนที่มีความคิดเห็นตรงข้ามรัฐบาลไปอยู่อยู่คนละมุม เพราะจะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งรุนแรงของสังคม

“ต้องเอาเหตุการณ์ความขัดแย้งและรุนแรงทางการเมืองในอดีตมาเป็นบทเรียน และเมื่อรัฐบาลชุดไหนเริ่มตัดสินใจใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม วินาทีนั้นเป็นวินาทีสุดท้ายและเป็นจุดจบของทุกรัฐบาล ผู้นำรัฐบาลจะแปลงร่างจากวีรบุรุษเป็นทรราช การแลกมาด้วยคราบน้ำตาและรอยเลือดจะเรียกได้หรือว่าตนคือผู้เสียสละ คนที่อยู่บนเวทีและเป็นแกนนำไม่เคยเป็นผู้เสียสละ เพราะคนที่สูญเสียคือคนที่ชุมนุม ผมวิงวอนไปยังรัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุม ว่าทางแก้ปัญหาคือสันติวิธี เราอยากเชิญชวนทุกฝ่ายรับฟังทุกฝ่าย และใช้เวทีสภาในการแก้ปัญหา เราพร้อมที่จะเดินหน้าร่วมกันในประเด็นที่จะเดินหน้าต่อไปได้ “

นายภราดรกล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยพร้อมที่จะยืนอยู่ข้างคนที่ถูกใช้ความรุนแรง พวกเราเรียกร้องไม่ให้ใช้ความรุนแรงกับประชาชน การยุบสภาเป็นเรื่องปกติที่นายกรัฐมนตรีที่สามารถจะทำได้ พรรคไม่กลัวการยุบสภา เราพร้อม แต่ถ้ายุบสภาวันนี้ สิ่งที่ได้คืออะไร จะได้การเปลี่ยนแปลงประเทศหรือไม่ ตนคิดว่าไม่ใช่ เพราะรัฐธรรมนูญและองค์ประกอบอื่นๆ ตอนนี้ไม่ใช่ จึงมาที่ข้อเรียกร้องที่สาม คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตอนนี้สภามีคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่ กมธ. ทำอยู่ตอนนี้ตนไม่เห็นช่องทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคพร้อมที่จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน เพราะเชื่อว่าประชาธิปไตยที่ทุกปรารถนา เป็นประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน แต่กติตาต้องเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชนก่อน คือการให้คนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขกติกาของประเทศ รัฐธรรมนูญปี 2540 เท่านั้นที่เป็นแบบนั้น แต่รัฐธรรมนูญฉบับอื่นถูกร่างมาโดยกลุ่มคน ดังนั้นนอกจากรับฟังความเห็นของน้องๆ นักศึกษาแล้ว ยังต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะมาตรา 256 ตนจึงอยากให้ตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อรับฟังความคิดเห็นเช่นเดียวกับนายอิสระ และควรจะให้มีกรรมาธิการคนนอกเข้ามารับฟังความเห็นด้วย

ทั้งนี้ส.ส.หลายคนได้แสดงความเห็น กว้างขวาง โดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่ส.ส.ทำเป็นกองเชียร์หรือทำตัวเป็นฝ่ายค้านในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองของนิสิตินักศึกษา คิดว่าไม่ถูกต้อง แต่เราต้องเปิดใจให้กว้างหาสาเหตุว่าอะไรที่ทำให้เป็นแบบนี้ และต้องทำความเข้าใจว่าการชุมนุมตั้งแต่ปี 57 เป็นต้นมา แตกต่างไปจากแต่ก่อน กล่าวคือ ไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน ไม่มีแกนนำที่ชัดเจนเหมือนแต่ก่อน แต่เป็นชุมนุมกลุ่มเล็กๆกระจายหลายกลุ่ม เป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ มีอาวุธสำคัญคือโซเชียลมีเดีย

นายสาทิตย์ กล่าวอีกว่า ถ้าแยกแยะประเด็นเนื้อหาในการชุมนุม จะเห็นหลากหลายประเด็น ตนยอมรับว่ามีหลายประเด็นที่ถูกบิดผันให้ร้ายนิสิตนักศึกษาได้ หรือเป็นประเด็นที่ไม่ควรเคลื่อนไหว เนื่องจากเป็นประเด็นอ่อนไหวที่อาจสร้างความขัดแย้งใหญ่ในสังคม แต่ก็มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การบังคับใช้กฏหมายให้เป็นธรรม การแก้ไขปัญหาปากท้อง เหล่านี้มีน้ำหนักในการเคลื่อนไหว และคิดว่าสภาฯสามารถมีส่วนร่วมกับจุดนี้ได้ ตนจึงสนับสนุนให้มีกมธ.วิสามัญเพื่อรับฟังเรื่องนี้โดยเฉพาะ และการตั้งกมธ.ดังกล่าวไม่ได้แปลว่าเป็นการตัดตอน หรือไม่ให้มีความเคลื่อนไหว ยังคงเคลื่อนไหวได้แต่ต้องเป็นไปสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สถานการณ์แบบนี้ทุกคนห่วงใย เพราะบ้านเมืองผ่านแบบนี้และมีบทเรียนมาแล้วหลายครั้ง ดังนั้น เราต้องมีวิธีคิดแบบใหม่ ซึ่งไม่พ้นหลักเมตตา วันนี้หากเห็นเขาเป็นเด็ก เราเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องเมตตา เยาวชนไทยกล้าคิดแบบนี้ เมตตาแรกคือรับฟังเขา ถูกผิดให้แนะนำ แต่สุดท้ายอย่าใช้ความรุนแรง การรับฟังคือการเมตตาเบื้องต้น หากบอกว่าไม่รับฟังถือว่าไม่เมตตา แต่ที่เป็นห่วงคือให้ใครฟัง ฟังแบบใด ญัตติหนึ่งบอกตั้งกมธ.วิสามัญฯ หมายถึงให้สภาฯฟัง แต่พวกตนบอกให้รัฐบาลฟัง อย่าหลงประเด็น อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องของนักศึกษา 3 ข้อ นายกรัฐมนตรีต้องมารับฟังเอง ไม่ใช่ตั้งกมธ.วิสามัญฯ เพราะข้อเรียกร้องดังกล่าวผู้ที่ตอบได้ คือ นายกรัฐมนตรีเท่านั้น หากให้กมธ.วิสามัญเป็นผู้รับ นอกจากไม่แก้ตรงจุด ถามผิดคนแล้ว นิสิตนักศึกษาจะองว่าเป็นเพียงพิธีกรรม ถ้าเมตตาจริงก็ต้องมีความจริงใจ และถูกที่ ถูกเวลาด้วย ทั้งนี้ เชื่อว่าถ้าตั้งกมธ.วิสามัญฯ นักศึกษาจะไม่มา รวมทั้งจะมองแบบกลับตาลปัตรว่าไม่จริงใจและ เบี่ยงเบน

นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมนอกจากความวิปริต คือการไม่พอใจต่อการบังคับใช้กฏหมาย และตัดสินคดีแบบสองมาตรฐาน ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นหมายความรวมถึงการตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัดสิทธิ์ส.ส. ดังนั้น อารมณ์ของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่เกิดขึ้น คือเกิดจากความรู้สึกจากสิ่งเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุกคามสิทธิมนุษยชน จากกรณีจับนิสิตนักศึกษาที่จังหวัดระยอง

นายจิรวัฒน์ กล่าวอีกว่า ข้อเรียกร้องของนักศึกษาก็ไม่ใช่ข้อเรียกร้องเกินความรับได้ของพวกเรา หรือไกลเกินความเห็นพ้องต้องการ การยุบสภาเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ความจริงปลายทางท้ายที่สุดในการแก้ไขปัญหา คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเนื้อหาของบทบัญญัติแก้ยาก แต่หากส.ว.เห็นด้วย เอาประชาชนเป็นหลังพิงฝา ตนจะชื่นชมและขอบคุณส.ว.ผ่านสภาฯแห่งนี้

“ส่วนข้อเรียกร้องว่าอย่าคุมคามประชาชน ก็ไม่ยาก เพียงแค่รัฐบาลเปิดตำราธรรมาภิบาล เสรีประชาธิปไตย ดังนั้น รัฐธรรมนูญปี 60 ถ้าไม่แก้จะนำไปสู่ความตายของประชาชน เพราะเนื้อหาขัดต่อหลักการประชาธิปไตย นี่คือรัฐธรรมนูญที่แย่ที่สุดเท่าที่มีมา องค์กรอิสระวันนี้ก็ไม่ได้อิสระ พวกผมก็ไม่รู้จะพึ่งใคร สงสัยต้องพึ่งนิสิตนักศึกษา องค์กรอิสระวันนี้อยู่ภายใต้รัฐบาลหรือไม่ ไม่รู้ รู้เพียงว่าองค์กรอิสระมาจากของสภานิติบัญญัติที่คสช.แต่งตั้ง ดังนั้น ผมจึงต้องให้กำลังใจนิสิตนักศึกษา เพราะเป็นอนาคตของประเทศ และมีถ้อยคำอยากบอกกับนิสิตนักศึกษา ซึ่งเป็นบันทึกจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่ระบุว่าถ้านักเรียนนักศึกษาเอาแต่ก้มหน้าอ่านตำรา แสงสว่างแห่งความธรรมจะไม่ปรากฏ” ส.ส.กทม. กล่าว

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายตอนหนึ่งว่า สถานการณ์และบรรยากาศทางการเมืองของประเทศในขณะนี้ไม่สู้ดีนัก รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาที่เกิด โดยการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขปลดล็อคทางการเมือง สำหรับข้อเรียกร้องของสหภาพนักเรียน นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) 3 ข้อนั้น เห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง2ข้อครึ่ง คือ 1.การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง และตรงกับจุดยืนของพรรคประชาธิปตย์ ในการแก้ไขมาตรา256 เพื่อนำไปสู่การแก้ไขมาตราอื่นๆ และการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)ได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการสืบทอดอำนาจอย่างแท้จริง ประธาน คสช.แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา250คน เลือกประธาน คสช.เป็นนายกรัฐมนตรี

นายเทพไท กล่าวอีกว่า 2.หยุดคุกคามประชาชน ซึ่งสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจะใช้อำนาจมาคุกคามประชาชนไม่ได้ ถ้ามีการกระทำผิดก็ต้องใช้กฎหมายเข้าแก้ไขปัญหา ต้องไม่มีอำนาจมืด อำนาจนอกระบบมาคุกคามประชาชนโดยเด็ดขาด และ3.เรียกร้องให้ยุบสภา ส่วนตัวไม่ขัดข้อง เพราะเห็นว่าการยุบสภาเป็นกลไกทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่การยุบสภาภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดิม ผลการเลือกตั้งก็ไม่ต่างจากเดิม ทุกฝ่ายต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ จึงยุบสภาคืนอำนาจให้กับประชาชน ทั้งนี้ ขอเตือนรัฐบาลและผู้มีอำนาจว่า อย่าประมาทพลังนักศึกษาในยุคนี้ ยิ่งตอนนี้ได้มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ในเกือบทุกจังหวัด จะเกิดปัญหาลุกลามไปจนไม่สามารถรับมือได้ สุดท้าย ตนในฐานะผู้นำนักศึกษารุ่นพี่ ขอให้กำลังใจกับนักศึกษา เยาวชนคนหนุ่มสาว ด้วยบทกลอนของนายเสถียร จันทิมาธร ว่า “ตื่นเถิดเสรีชน อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน ดาบหอกกระบอกปืน หรือทนคลื่นกระแสเรา”






กำลังโหลดความคิดเห็น