xs
xsm
sm
md
lg

สภาฯ ตั้ง กมธ.รับฟังม็อบ นศ. ฝ่ายค้านไม่ร่วมสังฆกรรม ขู่นายกฯ ทำแบบเดิมหนาวแน่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประชุมสภาฯ เคาะตั้ง กมธ.รับฟังความเห็นม็อบ นศ. ฝ่ายค้านไม่ขอร่วมสังฆกรรม ก้าวไกลซัด รธน.มีปัญหา คนรุ่นใหม่ไร้ส่วนร่วม ขู่นายกฯ ทำตัวแบบเดิมเตรียมหนาว จี้ลาออก เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ร่าง รธน.ใหม่ ย้ำต้องลงถนนฟังปัญหา

วันนี้ (23 ก.ค.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุมพิจารณาญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณามีมติให้มีการรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต และนักศึกษา ต่อจากเมื่อวาน (22 ก.ค.) โดยนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อภิปรายว่าอยากให้มองการชุมนุมด้วยแว่นมนุษยธรรม ข้อเรียกร้องของนักศึกษามี 3 ข้อ หนึ่งในนั้นคือเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น และเข้มแข็งมาก แต่เราต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญนี้เป็นระบบที่ถูกสร้างมาโดยไม้ใกล้ฝั่ง สภาที่ร่างรัฐธรรมนูญอายุรวมกันเกินพันปี นิสิตนักศึกษาคนรุ่นใหม่ไม่มีส่วนร่วมเลย เราจึงต้องกลับมาทบทวนว่าถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ปลดปล่อยโซ่ตรวจเผด็จการ ให้คนรุ่นใหม่ได้สูดอากาศหายใจในแบบที่เขาต้องการ รัฐธรรรมนูญฉบับนี้เป็นเครื่องสนองความกระหายอำนาจตั้งแต่ปี 2557 ส่วนข้อเสนอประเภทที่ให้ตั้งคณะ กมธ.รับฟังความเห็นนั้น เป็นข้อเสนอที่ไม่ตรงตามสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เหมือนเป็นการประวิงเวลา เอาความรู้สึกของคนที่กำลังโกรธแค้นไปขังเอาไว้ ขอฝากไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ว่าบาปกรรมทั้งหลายที่ท่านได้ก่อขึ้นวันนี้ประชาชนกำลังทวงถาม นายกฯ จะต้องไม่โยนบาปให้สภา ท่านต้องอธิบายกับนิสิต นักศึกษา และหากนายกฯ ยังปฏิบัติเช่นเดิม ไม่อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่คุกเข่าอ้อนวอน ยังพูดจาไม่ดี ประพฤติชั่วเหมือนแต่ก่อน ตนขอเรียนนายกฯ ว่า winter is coming

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า รัฐบาลต้องรับฟังข้อเรียกร้องของนักเรียน นิสิต นักศึกษาอย่างจริงใจ ต้องไม่มองเป็นศัตรู ไม่มองเป็นภัยคุกคาม และไม่ดูถูก ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเพียงใบอนุญาตให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้อยู่ในอำนาจต่อไป เป็นเหตุผลที่ทำไมเราต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พรรคก้าวไกลจึงเสนอ 5 ข้อ ได้เแก่ 1. ยกเลิกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเปิดพื้นที่ทางการเมือง และหยุดกดทับสิทธิเสรีภาพของประชาชน 2. ทบทวนการดำเนินคดีทางการเมืองที่ผ่านมาทั้งหมด 3. หยุดการใช้ปฏิบัติการข่าวสารยุยงปลุกปั่นให้สังคมเกิดความขัดแย้งหรือปฏิบัติการไอโอ 3. วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม พิสูจน์แล้วว่าเป็นตัวขัดขวางอนาคตของประเทศเพียงใด จึงควรต้องหลีกทางและออกไป และ 5. ต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากประชาชนที่แท้จริงโดยประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งพรรคก้าวไกลเสนอใหมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยไม่ต้องกำหนดวุฒิการศึกษา แต่กำหนดอายุ 18 ปีขึ้นไป

“ทั้งหมดคือบันไดขั้นแรกที่จะเป็นทางออกของประเทศในตอนนี้ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องยอมรับความจริงว่านอกเหนือจากข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ยังมีการแสดงออกในประเด็นอื่นๆ อีกซึ่งเป็นความจริงอันน่ากระอักกระอ่วนใจในสังคม ซึ่งเป็นความรู้สึกของยุคสมัย ถ้าพวกเราพร้อมและรับฟังเสียงคนรุ่นใหม่จริงๆ ขอเชิญให้พวกเราตั้งสติใหม่เปิดใจปรับมุมมอง เพราะถ้าเราไม่พร้อมรับฟัง มองเยาวชนที่ออกมาแสดงความเห็นว่าเป็นภัยคุกคามต่อสถาบันฯ เช่นนั้นประเทศจะไม่มีทางออก ไม่มีอนาคตต เพราะพวกเราช่วยกันฆ่าอนาคตตของประเทศเองแล้ว”

‪น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การอภิปรายในสภาตั้งแต่เมื่‬อวานสรุปได้ 2 แนวทาง คือต้องการให้สภาฯ ตั้งคณะ กมธ.วิสามัญฯ รับฟัง และสอง ต้องการให้สภาฯมีการอภิปรายและรวบรวมส่งต่อยังรัฐบาล โดยนิสิตนักศึกษาเรียกร้อง 3 ข้อ ข้อแรก แก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งฝ่ายค้านก็เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ติดปัญหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นอนกอดรัฐธรรมนูญ ดังนั้นผู้ที่ตอบสนองข้อเรียกร้องได้ คือ นายกฯ ซึ่งถ้ามีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องส่งสัญญาณไปยังพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. ดังนั้น อุปสรรคสำคัญที่สุด คือ นายกฯ

น.ส.จิราพรกล่าวอีกว่า ข้อสองเรียกร้องให้หยุดคุกคามประชาชน ผู้มีอำนาจคือรัฐบาล เพราะฉะนั้นคนที่จะตอบคำถามได้ดีที่สุดคือนายกฯ ไม่ใช่สภาแห่งนี้ และสาม เรียกร้องให้ยุบสภา ซึ่งผู้กุมอำนาจยุบสภาคือนายกฯ คนเดียวเท่านั้น หากจำเป็นต้องยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ฝ่ายค้านพร้อมพิสูจน์ศรัทธาประชาชนอีกครั้งหนึ่ง แต่มีข้อสังเกตว่าถ้าเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ การเลือกตั้งจะเป็นเพียงเครื่องมือให้นายกฯ และคณะใช้ชุบตัว ดังนั้น ก่อนจะยุบสภาต้องแก้รัฐธรรมนูญเสียก่อน

“เห็นด้วยที่สภาฯ ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ แต่คู่กรณีโดยตรงในข้อเรียกร้องนี้ คือ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ผ่านมานายกรับฟังคนอื่นได้ แต่ทำไมลูกหลานอยากให้รับฟังถึงไม่รับฟัง อีกทั้งยังต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก อยากถามว่าเป็นการป้องกันไวรัสหรือวัยรุ่นกันแน่ วันนี้สภาอย่าบิดเบือนเจตนาของนิสิตนักศึกษา เขาต้องการให้นายกรับฟังไม่ใช่สภา คนที่จะแก้ปัญหานี้ได้คือลุงตู่ ไม่ใช่ลุงชวน ฉะนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะใช้เวทีสภาเพื่อยื้อเวลาต่อไปอีกไม่ได้” ส.ส.ร้อยเอ็ดกล่าว

หลังจากสมาชิกแสดงความเห็นแล้ว ที่ประชุมได้มีมติ 260 เสียงต่อ 178 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความเห็นทางการเมืองนักเรียน นิสิต นักศึกษา จำนวน 39 คน จากสัดส่วนคณะรัฐมนตรี 9 คน และพรรคการเมือง 30 คน แต่พรรคฝ่ายค้านมีมติไม่ส่งชื่อเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการ

โดยนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานวิปฝ่ายค้าน ชี้แจงว่า พรรคเพื่อไทยเห็นว่ารัฐบาลควรจัดเวทีรับฟังความเห็นโดยตรง และการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาทำให้การทำงานช้า ซ้ำซ้อนคณะกรรมาธิการที่มีหน้าที่รับฟังความเห็นอยู่แล้ว

ส่วนนายพิธากล่าวว่า พรรคก้าวไกลไม่ขอส่งสมาชิกเข้าร่วมคณะ กมธ. เพราะข้อเรียกร้องของนักศึกษาส่งสัญญาณชัดเจนไปยังนายกฯ ไม่ใช่สภา และคิดว่าการตั้ง กมธ.เป็นการประวิงเวลา จึงขอเรียกร้องนายกฯ ไปฟังข้อเรียกร้อง อีกทั้งสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ไม่ควรจำกัดอยู่แค่ในสภา และในวงจำกัด 90 วัน ดังนั้น ขอให้นายกฯ ไปรับฟังความคิดเห็นบนท้องถนน ขอให้โชคดี

อย่างไรก็ตาม สภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 39 คน ขณะที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ์ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล พยายามโน้มน้าวให้ฝ่ายค้านกลับใจเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญ ด้วย แต่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลก็ยืนยันว่าไม่ขอร่วมสังฆกรรมกับคณะกรรมาธิการชุดนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้จะมีการลงมติและตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเสร็จแล้ว แต่ก็ยังมีการถกเถียงกันไปมาจากทั้งสองฝ่ายยืดเยื้อร่วมชั่วโมง








กำลังโหลดความคิดเห็น