xs
xsm
sm
md
lg

“กอล์ฟ ธัญญ์วาริน” ซัดอย่ามักน้อย! ไม่เอา พ.ร.บ.คู่ชีวิต เดินหน้าผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสภา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กอล์ฟ ธัญญ์วาริน” เผยตอนนี้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม มีผู้ที่เห็นด้วยไปแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บของสภา มากกว่าครึ่งแสนคอมเมนต์ ดูกันเป็นล้าน ขอคัดค้าน พ.ร.บ.คู่ชีวิต อย่ามักน้อย เพราะยังไม่เท่าเทียมกันในสังคม ยิ่งกดให้แตกต่างและสร้างอคติทางเพศ ดีใจที่ประเทศไทยหันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศมากขึ้น ชี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ยันเรียกร้องเพื่อต้องการความเป็นมนุษย์ธรรมดาที่เหมือนคนธรรมดาทั่วไปเท่านั้น ไม่ได้ต้องการเหนือมนุษย์

ตอนนี้เรื่องของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตกำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่ม LGBT บางส่วนก็เฮที่กฎหมายฉบับนี้ผ่านร่าง แต่บางส่วนก็ออกมาต่อต้าน เพราะถือว่ายังไม่ได้ความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริงในสังคม งานนี้ “กอล์ฟ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์” อดีตนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคก้าวไกล ก็ออกมาคัดค้านอย่างเต็มตัว ซึ่งเจ้าตัวเผยถึงเรื่องนี้ในงานสัมมนาเชิงวิชาการในประเด็น “ศาสนากับศิลปะร่วมสมัย” จัดโดยคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ณ ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม ชั้น 8 กระทรวงวัฒนธรรม เขตห้วยขวาง โดยบอกว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิตนี้ก็ไม่สามารถลดความไม่เท่าเทียมออกไปจากสังคมได้

“จริงๆ ตอนนี้เราทำหน้าที่ ส.ส. ก็ต้องดูแลเรื่องกฎหมาย ออกกฎหมายด้วย ดูแลเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน อย่างกอล์ฟเองเป็นตัวแทนทางด้านความหลากหลายทางเพศ ซึ่งตอนนี้ก็กำลังผลักดันร่างกฎหมาย แก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 1448 ที่ว่าด้วยเรื่องการสมรส ที่ตอนนี้มีแฮชแท็กดังๆ ก็คือ #สมรสเท่าเทียม ทางพรรคก้าวไกลของเราก็เพิ่งจะส่งเข้าสภา และตอนนี้สภาก็เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเว็บ ซึ่งตอนนี้ก็สร้างปรากฏการณ์ให้เว็บรัฐสภานะคะ เพราะก่อนหน้านี้ กฎหมายต่างๆ ที่ให้แสดงความคิดเห็นจะมีคอมเมนต์มาหลักสิบ หลักร้อย แต่ตอนนี้ร่างสมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกลไปถึง 50,000 กว่าคอมเมนต์แล้ว และคนเข้ามาดูในเว็บรัฐสภาเป็นล้านแล้วค่ะ”

“ตอนนี้ก็ถือเป็นหน้าที่หลักเลยที่จะผลักดันให้ประชาชนเริ่มเข้าใจการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 1448 สมรสเท่าเทียมให้ได้มากที่สุด เพราะว่าตอนนี้ทาง ครม.ก็เพิ่งเคาะ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งจะเข้าสภาเหมือนกัน และต้องผ่านความคิดเห็นของประชาชนเหมือนกัน และตอนนี้ผู้คนก็กำลังสับสนกันมากพอสมควรเรื่อง พ.ร.บ.คู่ชีวิต กับสมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกล อันนี้ก็ต้องทำความเข้าใจค่ะว่ามันเป็นคนละตัว ไม่เหมือนกัน เพราะว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิต เนี่ย ถ้าออกมาเป็นกฎหมายจริงๆ จะสร้างความไม่เท่าเทียมให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยแน่นอน เพราะว่ามันก็จะมีการตั้งคำถามว่าโดยหลักการแล้ว ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นคนไทยทุกคนก็มีศักดิ์และสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญในการที่เราจะพึงมีพึงได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ในฐานะที่เป็นคนไทย”

“แต่ถ้ามี พ.ร.บ.คู่ชีวิตออกมา มันทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศจดทะเบียนสมรสในฐานะคู่รัก คนรักเพศเดียวกัน แล้วเราก็ตั้งคำถามว่าถ้าเราไม่ได้อยากเป็นเพศเดียวกันล่ะ ทำไมเราถึงจะต้องถูกผลักไปเป็นเพศเดียวกัน อย่างกอล์ฟคิดว่าตัวเองเป็นผู้หญิง กอล์ฟจะจดทะเบียนสมรสกับผู้ชายสักคนนึง กอล์ฟก็อยากเป็นผู้หญิงกับผู้ชาย ไม่ได้อยากเป็นผู้ชายกับผู้ชาย เพราะกอล์ฟรู้สึกว่ากอล์ฟไม่ได้เป็นผู้ชาย และเราก็เป็นมนุษย์คนนึงถ้าจะจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และได้สิทธิตามกฎหมายทุกอย่าง แล้วทำไมจะต้องใช้กฎหมายคนละตัวกับคนอื่นล่ะ ทำไมไม่ใช้ตัวเดียวกันล่ะ แปลว่า ถ้า พ.ร.บ.คู่ชีวิต ออกมายิ่งทำให้เราเป็นตัวแปลกประหลาด และต้องใช้กฎหมายคนละตัว แปลว่าเราไม่เหมือนคนอื่น ตรงนี้เราก็เลยไม่ยอมรับ ไม่เอา พ.ร.บ.คู่ชีวิต เราถึงผลักดันให้เกิดการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 1448”

“เราจะเปลี่ยนจากการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายที่เป็นเพศชาย เพศหญิงเนี่ย คือ เอาเพศมากำหนดความเป็นมนุษย์น่ะ เราไม่เห็นด้วย เราจะทำให้เพศชาย เพศหญิง เป็นบุคคลกับบุคคล และใช้คำว่าคู่สมรส ก็ไม่ต้องแบ่งแยกแล้วว่าใครเป็นเพศอะไร ฉะนั้น เราจะได้สิทธิทุกอย่างหมดเลย เพราะคำว่าคู่สมรสมีอยู่ในทุกๆ กฎหมายอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีกฎหมายไหนมีคำว่าคู่ชีวิต เพราะฉะนั้นถ้าประกาศใช้ พ.ร.บ.คู่ชีวิต กับกฎหมายอื่นๆ มันก็ใช้ไม่ได้สิคะ เพราะมันไม่มีคำว่าคู่ชีวิต แต่กฎหมายอื่นๆ มีคำว่าคู่สมรสอยู่แล้ว เพียงแต่เราเปลี่ยนให้มันเท่าเทียมกันเท่านั้นเอง นี้ก็เป็นหลักการที่เรากำลังทำความเข้าใจกับสังคมและกำลังผลักดันอยู่”

ยืนยันไม่เอา พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพราะยิ่งจะสร้างความแตกแยก
“กอล์ฟขอยืนยันว่า ขอคัดค้าน พ.ร.บ.คู่ชีวิต นะคะ เพราะตั้งแต่เข้ามาเป็นผู้สมัคร ส.ส.ตั้งแต่ปีที่แล้ว นโยบายหลักของเรา คือ ไม่เอา พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่เอากฎหมายที่สร้างความแตกแยก แตกต่างและสร้างอคติทางเพศ ยิ่งตอกย้ำสังคมไทยเข้าไปอีก และสร้างความไม่เท่าเทียม เราไม่เอาแน่ๆ อยู่แล้วค่ะ ซึ่งจริงๆ แล้วกอล์ฟก็อยู่ในขั้นตอนที่ทำ พ.ร.บ.คู่ชีวิตนะ ไม่ใช่ว่าเราไม่ได้อยู่ตั้งแต่แรก เราอยู่ค่ะ เพียงแต่เราเห็นแล้วว่าความตั้งใจในการทำ พ.ร.บ.คู่ชีวิต มันถูกบิดเบือนไปเรื่อยๆ มันถูกเปลี่ยน ถูกเอาสิทธิที่ควรจะได้ออกบ้างอะไรบ้าง ทำให้มันบิดๆ เบี้ยวๆ ถามว่าคำว่าต่อสู้กันมาเพื่อ พ.ร.บ.คู่ชีวิตมานาน แล้วมันแปลว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดหรือเปล่าล่ะ มันมีสิทธิที่เท่ากันหรือยัง เรากำลังต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม ในเมื่อเรามีช่องให้เห็นความเท่าเทียมแล้ว ก็เพราะเราอยู่กับ พ.ร.บ.คู่ชีวิตมาถึงเห็นว่ามันมีข้อบกพร่อง ถึงหันมาแก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 1448 ไง ถ้าทุกคนอ่านกฎหมายที่เราเสนอจะเห็นได้ชัดเจนนะคะ”

“แน่นอนว่า ที่บอกมีคนกลุ่มนึง และก็เป็นกลุ่มไม่ใหญ่ที่สับสน พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพราะเมื่อพรรคก้าวไกลส่งเข้าสภา และสภารับฟังความคิดเห็นคนในวงกว้างมากก็เริ่มเข้าใจ และเริ่มเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนสมรสเท่าเทียม และพอ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ออกมา คนก็แฮชแท็กขึ้นว่าไม่เอา พ.ร.บ.คู่ชีวิต ตอนนี้สังคมกำลังเปิดกว้าง และสังคมเข้าใจค่ะว่าสิ่งที่เราเรียกร้องคือความเท่าเทียม ไม่ใช่กฎหมายเฉพาะที่ทำออกมาแล้วเราต้องใช้เฉพาะกลุ่ม LGBT แล้วทำไมคนทั่วไปไม่ใช้กับเราล่ะ แล้วทำไมเราไม่ใช้กฎหมายตัวเดียวกันกับทุกคน แปลว่า เราไม่เท่าคนอื่นเหรอ ฉะนั้น เราก็คงต้องตั้งคำถามกลับกับคนที่สนับสนุน พ.ร.บ.คู่ชีวิตนะคะว่าอ่านกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 1448 ฉบับแก้ไขสมรสเท่าเทียมของเราหรือยัง เห็นเจตนาในการที่เราต้องการทำให้คุณเท่ากับทุกคนหรือเปล่า คุณจะยอมเป็นบุคคลชั้นสองโดยตามกฎหมายเหรอ คุณจะยอมให้คุณไม่เท่ากับคนอื่นโดยการยอมรับว่าฉันเป็นกะเทย เป็น LGBT ฉันรับไว้แค่นี้ก็พอ ฉันมักน้อยแล้วค่อยต่อสู้กันไปเหรอ คุณต้องถามตัวเองนะคะว่าคุณอยากเท่าคนอื่นหรือเปล่า หรือคุณถูกกดทับจนไม่รู้แล้วว่าเรามีสิทธิเท่าทุกคนนะคะ”

มั่นใจถ้า พ.ร.บ.คู่ชีวิตจะเข้ารัฐสภา ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมของพรรคตนก็คงจะเข้าได้ก่อน หรือได้เข้าพร้อมๆ กัน
“ตัว พ.ร.บ.คู่ชีวิตจะไม่ได้เข้าเป็นกฎหมายไปก่อนของเราแน่ๆ ค่ะ เพราะกระบวนการของ พ.ร.บ.คู่ชีวิตหลังจากนี้จะต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เหมือนกับ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกลทำอยู่ ฉะนั้น ตอนนี้เรานำอยู่หนึ่งขั้น คือ เราอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอยู่ ซึ่ง พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่ผ่าน ครม.ไม่ได้แปลว่าจะเข้าได้เลยนะคะ ก็ต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเหมือนกัน เพราะฉะนั้นไม่มีทางที่จะเข้าก่อน อย่างมากก็น่าจะเข้าไปพร้อมๆ กัน อาจจะถูกประกบพิจารณาด้วยกันด้วยซ้ำ เพราะมันคือกฎหมายที่ใกล้เคียงกัน เพราะฉะนั้นมันก็เป็นหน้าที่ของเราต่อไปค่ะ”

“นอกจากจะทำแคมเปญให้ประชาชนเข้าใจเรื่องนี้อย่างถ่องแท้ เรื่องสิทธิความเท่าเทียมกันของการที่เราเป็นคู่สมรสเท่าเทียมกันในสังคมแล้วเนี่ย ก็ต้องเอาไปอภิปรายกันในสภาอย่างกว้างขวางแน่นอน ซึ่งนี่คือเป้าหมายของเราค่ะ เป้าหมายที่ให้กฎหมายนี้เข้าไปในสภา เนื่องจากการประชุมสภา มีถ่ายทอดสดใช่ไหมคะ ประชาชนก็จะเห็นค่ะว่า ส.ส.พรรคไหนที่จะส่งเสริมสนับสนุนความเท่าเทียมของประชาชนคนไทย ซึ่งแน่นอนพรรคก้าวไกลเราเตรียมส่งเสริมเรื่องนี้มาตลอดนะคะ เพราะฉะนั้นเราก็อยากที่จะไปอภิปรายกันในสภาแหละค่ะว่าวิสัยทัศน์ นโยบายของแต่ละพรรคการเมืองให้ความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมกันของผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยมากน้อยแค่ไหน และเมื่อผ่านกระบวนการเข้าในรัฐสภาแล้ว วาระที่หนึ่งคือ รับหลักการ ตั้งกรรมาธิการ วาระที่สองแปลญัตติ วาระที่สามก็จะโหวตกันว่ารับหรือไม่รับ ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นข้อพิสูจน์ของรัฐสภาไทยเหมือนกันว่า ส.ส.ทั้ง 500 คนของเราเนี่ย จะมีความคิดเห็นว่าควรจะใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 1448 แก้เป็นสมรสเท่าเทียมกันหรือเปล่า”

บอกยังตอบไม่ได้ว่า พ.ร.บ.นี้จะได้ใช้แล้วเสร็จเมื่อไหร่ แต่ก็หวังว่าต่อไปประเทศไทยจะยอมรับและให้สิทธิเท่าเทียมกันได้
“ถามว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ ตอบไม่ได้เลยค่ะ เพราะตอนนี้กอล์ฟไม่รู้ว่ามันมีกฎหมายอยู่กี่ตัวที่เข้าคิวรอที่จะเข้าสภาอยู่ ก็เลยยังไม่สามารถที่จะให้คำตอบได้ค่ะว่าเมื่อไหร่ ถ้าถามความคิดเห็นของกอล์ฟที่มันสามารถมี พ.ร.บ.ตรงจุดนี้เข้ามาได้แล้วเนี่ย กอล์ฟว่าปีนี้เป็นเวลาที่เหมาะสม ถึงเวลาแล้วที่มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะกระแสโลกเองก็ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศกันเยอะมากขึ้น และประเทศไทยเราเองก็ตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรพึงมีพึงได้ของผู้มีความหลากหลายทางเพศทุกคนอยู่แล้ว และแน่นอนถ้ากฎหมายตัวนี้สำเร็จเสร็จได้ใช้ สิ่งที่เราคาดหวังเลยคือมันจะลดความรุนแรงในสังคมนะคะ อย่าลืมว่าตอนนี้เรามีเด็กและเยาวชน และผู้มีความหลากหลายทางเพศอยู่ในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นครูหรือนักเรียนต่างถูกอัคติทางเพศกดทับและทำร้าย หรือที่เรียกว่าบูลลี่ ทำร้ายทั้งทางกายและจิตใจในโรงเรียนเราก็เห็นกันอยู่แล้วว่าคนที่โดนบูลลี่ในโรงเรียนส่วนมากก็จะเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ”

“ซึ่งอีกหนึ่งในสังคมไทย ข้าราชการที่ไม่สามารถแต่งตัวได้ตามเพศสภาพของตัวเองด้วยซ้ำ สิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของเราในการเข้าทำงาน เราวัดกันที่ความรู้ความสามารถหรือวัดกันที่เพศ เพราะฉะนั้นตอนนี้ประเทศไทยของเรากำลังตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอันพึงมีพึงได้ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี จังหวัดปทุมธานีที่ออกประกาศแห่งความเท่าเทียมทางเพศที่อนุญาตให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นข้าราชการ หรือผู้ที่อยู่ในหน่วยงานภายใต้สังกัดสามารถแต่งกายตามเพศสภาพได้ และห้ามคนอื่นดูถูกเหยียบหยาม และที่สำคัญคือไม่จำกัดความก้าวหน้า ในเอกสารก็บอกชัดเจนว่าจะไม่เลือกปฎิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ในความก้าวหน้าไม่ว่าคุณจะเป็นเพศอะไรมันก็ไม่เกี่ยว จะดูที่ความรู้ความสามารถเป็นหลัก ซึ่งตรงนี้กอล์ฟมองว่ามันอาจจะยังปฎิบัติไม่ได้ 100% แน่นอน เพราะมันเพิ่งเป็นครั้งแรกในการประกาศเหล่านี้ ซึ่งมันก็เป็นความหวังค่ะว่าจะประกาศใช้กันทั้งประเทศ ทั้ง 77 จังหวัด”

“หรือในมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ประกาศออกมาเช่นเดียวกันในการแต่งกาย ในการที่ไม่ให้ดูถูกเหยียดหยามหรือว่ากลั่นแกล้งรังแกในความหลากหลายทางเพศ เพราะฉะนั้นตรงนี้กอล์ฟมองว่ากฎหมายนี้มาถูกที่ถูกเวลา กอล์ฟมองว่าตอนนี้คนกำลังตระหนักเรื่องนี้และไม่ใช่คนที่ออกมาเรียกร้องหรือคนที่ออกมาพูดถึงสิทธินี้ ไม่ใช่แค่ LGBT หรือผู้มีความหลากลายทางเพศอย่างเดียวแล้ว อย่างในทวิตเตอร์ก็มีทั้งผู้หญิงผู้ชายที่ออกมาส่งเสียง และคนที่ไปแสดงความคิดเห็นในเว็บไซต์ของรัฐสภา กอล์ฟมองว่าตรงนี้เป็นโอกาสที่สำคัญที่จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประเทศไทย จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งที่สำคัญที่จะเป็นจุดกำเนิดของคำว่าคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง กอล์ฟหวังนะว่ามันจะเกิดขึ้นในตอนที่เราเป็น ส.ส.อยู่นี่แหละ”

บอกที่ออกมาเรียกร้องแบบนี้ แค่อยากได้ความเท่าเทียมที่มนุษย์ธรรมดาพึงมีเหมือนบุคคลธรรมดาทั่วไป
“คือจริงๆ แล้วก็อยากทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนด้วยนะคะ กอล์ฟเห็นแล้วล่ะว่ามีหลายเสียงที่ไม่เห็นด้วย และมีหลายเสียงมากมายที่เห็นด้วย ก็อยากจะบอกว่าการที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิในการจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายเหมือนกับทุกคน ผู้ชายผู้หญิงทั่วไปไม่ได้เสียอะไรนะคะ คุณยังเป็นสามีภรรยาอย่างที่คุณอยากเป็น คุณยังสามารถเป็นครอบครัวในแบบที่คุณอยากเป็น คุณยังได้สิ่งที่คุณพึงได้พึงมีปกติเลย เพียงแต่สิ่งที่ได้เพิ่มเติมขึ้นมาคือพวกเราค่ะ (ยิ้ม) สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิที่จะมีความรัก สิทธิที่จะมีครอบครัวอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่ากับพวกคุณ”

“อยากบอกว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้อยากได้กฎหมายที่เป็นส่วนตัว ไม่ได้อยากเป็นคนที่พิเศษ ไม่ได้อยากเป็นคนที่เหนือกว่าคนอื่น ไม่ได้อยากเป็นคนที่แตกต่างจากคนอื่น สิ่งที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศอยากได้คือความเป็นมนุษย์ธรรมดาที่ต้องการความธรรมดา คือสิ่งที่ผู้หญิงผู้ชายได้ปกติ นั่นคือความธรรมดา เราอยากเรียกร้องแค่เท่านั้นเอง เท่ากับที่ทุกคนได้และทุกคนมีเท่านั้นเองจริงๆ เราไม่ได้อยากได้อะไรมากไปกว่านั้นเลย เพราะฉะนั้นสิทธินี้ไม่ได้กระทบกฎหมายนี้ถ้าประกาศใช้ออกมาไม่ได้กระทบทุกคน แต่จะทำให้ทุกคนเท่ากันค่ะ”




กำลังโหลดความคิดเห็น