xs
xsm
sm
md
lg

อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะให้ประวัติศาสตร์จดจำอย่างไร

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

ข้อเรียกร้องหนึ่งของกลุ่มเยาวชนที่ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อสัปดาห์ก่อนคือ การเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลอาจมองว่า รัฐธรรมนูญไม่ใช่ปัญหาแล้วจะต้องแก้รัฐธรรมนูญไปทำไม

ความเห็นต่างทางการเมืองเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เพราะเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย

แต่หากถามผมว่า รัฐธรรมนูญเป็นต้นเหตุสำคัญของวิกฤตในประเทศขณะนี้ไหม ผมตอบดังๆชัดๆเลยว่าเป็น

ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นต้องมีองค์ประกอบสำคัญก็คือ ความเสมอภาค ความเที่ยงธรรม และความเท่าเทียม แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการเหล่านั้น แต่เป็นกติกาที่ถูกบังคับให้เขียนขึ้นเพื่อให้มีการสืบทอดอำนาจซึ่งเท่ากับเป็นกติกาที่ไม่เป็นธรรม เพราะเขียนขึ้นมาเพื่อให้คนกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว

จะมาอ้างว่า บทบัญญัติที่เขียนขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการเห็นชอบของประชาชนเสียงข้างมาก เพราะผ่านการทำประชามติมาแล้วก็ไม่อาจจะกล่าวได้เช่นนั้น เพราะการทำประชามติไม่ได้เปิดให้ทุกฝ่ายมีเสรีภาพที่แสดงความเห็นอย่างเท่าเทียมกัน

นอกจากนั้นคำถามที่ใช้ในการลงประชามตินั้น ยังเป็นคำถามที่ซ่อนเงื่อนไม่แจ่มชัด ง่ายต่อการทำให้เกิดความสับสน ดังนี้

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

ตามเนื้อหารัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมานั้นการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว คำถามร่วมควรจะถามให้เจาะจงลงไปว่า “ควรให้วุฒิสภาที่คสช.แต่งตั้งพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่”

แต่คำถามที่ออกแบบไว้ใช้คำว่า “ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”คนเขาก็เข้าใจว่าก็เขาเลือกนายกรัฐมนตรีกันในที่ประชุมรัฐสภาอยู่แล้ว ในความหมายถึงสถานที่ดังนั้นจึงมีมติเห็นชอบกับคำถามพ่วงนี้ ไม่ได้เฉลียวใจในภาษาทางการเมืองว่า รัฐสภาหมายถึงการประชุมร่วมกันของส.ส.และส.ว.

อาจารย์รัฐศาสตร์ท่านหนึ่งเล่าว่า เอาคำถามพ่วงนี้ไปถามนักศึกษารัฐศาสตร์ในระดับปริญญาตรีก็ยังสับสนกับคำถามนี้

แต่จริงๆไม่ต้องยกคำถามพ่วงมาอธิบายก็ได้ เพราะเรารู้กันโดยเปิดเผยอยู่แล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกร่างขึ้นมาเพื่อเอาใจคณะรัฐประหารที่ปกครองประเทศอยู่ เพราะคณะกรรมการยกร่างนั้นเป็นคณะกรรมการชุดที่สองที่ถูกตั้งขึ้นมาร่างใหม่ หลังจากคณะกรรมการร่างชุดแรกร่างออกมาไม่ถูกใจจึงกดปุ่มให้สภาที่ตั้งขึ้นมายกมือคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกเสีย

แต่อย่างที่ผมบอกไว้ตอนต้นว่า หลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญต้องมีความเที่ยงธรรม และเป็นกติกาที่มีความเท่าเทียมกัน เมื่อให้ส.ว.250คนที่ตั้งขึ้นมาโดยคณะคสช.ไปยกมือโหวตนายกรัฐมนตรีได้ด้วยแล้วก็ไม่เป็นธรรมกับพรรคการเมืองอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหัวหน้าคสช.ลงสมัครในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเสียเองก็ยิ่งไม่เป็นธรรมชัดแจ้งขึ้น เพราะเท่ากับเขียนกฎหมายเปิดทางให้คนในคนหนึ่งเข้ามาและปิดกั้นผู้สมัครคนอื่นทั้งหมด

ที่สำคัญมันยังเท่ากับว่า คนหนึ่งคนมีสิทธิ์มีเสียงไม่เท่าเทียมกัน กฎหมายเลือกตั้งกำหนดเขตเลือกตั้งว่า ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2560 รวม 66.18 ล้านคน หรือคิดเป็นจำนวนราษฎรเฉลี่ย 1.89 แสนคน ต่อ ส.ส. 1 คน ทั้งนี้จังหวัดใดมีจำนวน ส.ส. ไม่เกิน 1 คนให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และจังหวัดใดมีจำนวน ส.ส. เกินหนึ่งคนให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งมีจำนวนเท่ากับจำนวน ส.ส. ที่จะพึงมี

แสดงว่าประชาชน 1.8แสนคนเลือกส.ส.ได้คนเดียวเพื่อมาโหวตนายกรัฐมนตรี แต่มีคนคณะหนึ่งคือคสช.สามารถเลือกคนมาโหวตนายกรัฐมนตรีได้มากถึง 250 คน แล้วคนในคณะนั้นก็ลงสมัครนายกรัฐมนตรีเสียเองเพื่อให้ส.ว.เลือกตัวเองกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี

ปัญหาต่อมาก็คือรัฐธรรมนูญชุดนี้มีการลงคะแนนด้วยบัตรใบเดียว ทำให้เห็นปัญหาเมื่อเกิดการเลือกตั้งว่า ประชาชนเกิดความขัดแย้งในใจว่า จะเลือกส.ส.ในเขตการเลือกตั้งของตัวเองหรือจะเลือกนายกรัฐมนตรีกันแน่ เราไม่สามารถพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครจากความดีความชั่วหรือผลงานได้ เพราะถ้าเราเห็นคนหนึ่งมีความเหมาะสม แต่เราอาจได้ผู้เสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรคนั้นที่เป็นคนไม่ดี หรือเราเห็นว่าผู้เสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรคนั้นดี เราอาจจำใจต้องเลือกผู้สมัครของพรรคที่เป็นคนไม่ดี

แต่จากระบบบัตรสองใบของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาที่มีบัตรเลือกส.ส.ใบหนึ่งและบัตรเลือกตั้งใบหนึ่ง ที่เราสามารถเลือกคนที่ดีได้ทั้งส.ส.ที่ดี และคนที่เราคิดว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีได้

เข้าใจว่าผู้ร่างที่เข้ามาร่างรัฐธรรมนูญตอบสนองคณะรัฐประหารเพื่อประดับเกียรติยศของตัวเองนั้น คงคิดแล้วว่า ถ้าให้มีอีกใบเป็นใบเลือกพรรคเท่ากับเลือกผู้เสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ เกิดพรรคใดพรรคหนึ่งได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากกว่าผู้ที่ต้องการสืบทอดอำนาจและเตรียมมือส.ว.250ไว้โหวต อาจจะเกิดความไม่ชอบธรรมทางการเมืองขึ้นได้

นอกจากนั้นการนับคะแนนเพื่อกำหนดจำนวนส.ส.ตามสัดส่วนของพรรคเป็นการนับคะแนนที่สับสนที่สุด เพราะเราต่างเข้าใจกันก่อนเลือกตั้งว่า การเลือกระบบนี้ผู้จะได้หนึ่งที่นั่งต้องมีเสียงเท่ากับค่าคะแนนพึงมีตามที่คำนวณออกมา แต่เมื่อคะแนนพึงมีประมาณ 70,000 คะแนน กลับมีส.ส.จากพรรค1เสียงเกิดขึ้นจำนวนมากถึง10กว่าพรรค แต่มีคะแนนรวมกันทั้งประเทศเพียงพรรคละ30,000-50,000คะแนนเท่านั้นเอง

ผลการนับคะแนนแบบนั้นทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น เพราะแต่ละพรรคถูกหารเก้าอี้ส.ส.ด้วยค่าเฉลี่ยที่ไม่เท่ากัน เหมือนกับการแข่งขันชกมวยที่แบกน้ำหนักต่างกันแต่ต้องชกในรุ่นเดียวกัน ซึ่งกลายเป็นกติกาที่ไม่เป็นธรรม

ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครออกมาอธิบายเลยว่า สูตรการนับคะแนนแบบพิสดารนั้น เป็นการนับคะแนนที่ถูกหรือผิด คล้ายกับบอกว่า มีการตัดสินไปแล้วต้องยอมรับผลการตัดสินนั้น ทั้งๆที่มีคำถามเรื่องความเท่าเทียมและความเป็นธรรมอยู่ในกติกาที่กำหนดขึ้นมานั้นมันชัดเจนและชัดแจ้งอย่างที่สุด

นอกจากนั้นแม้ระบบการเลือกตั้งแบบผสมกันระหว่างการเลือกฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารจะได้เกิดขึ้นมาเนิ่นนานแล้ว และหลังการเลือกตั้งจะทำให้เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค สุดท้ายแล้วนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นฝ่ายนิติบัญญัติจะแย่งชิงเก้าอี้ฝ่ายบริหารกัน ผมมองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างของอำนาจอธิปไตยสามฝ่ายที่มีนัยสำคัญ

ปัญหาเชิงโครงสร้างนี้เกิดขึ้นเพราะเราไม่ได้แยกแยะอำนาจนิติบัญญัติออกจากฝ่ายบริหาร นักการเมืองจำนวนมากเมื่อได้เป็นส.ส.หลายสมัยหรือแค่สมัยเดียวแต่เป็นนายทุนพรรคก็กระสันอยากจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีโดยไม่รู้ความสามารถของตัวเอง ซึ่งเราเห็นได้ชัดจากปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคที่ถือความได้เปรียบจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้

คำถามว่า เป็นไปได้ไหมว่า เราจะแยกอำนาจนิติบัญญัติออกจากอำนาจบริหารโดยเด็ดขาด ผมนึกไม่ออกชัดเจนนะว่าเราควรทำอย่างไร แต่เรามีตัวอย่างของประเทศประชาธิปไตยจำนวนมากที่มีการแยก2อำนาจออกจากกัน เราอาจจะประยุกต์เอาข้อดีข้อเสียของประเทศเหล่านั้นมาดัดแปลง เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งชิงกัน และได้ตัวรัฐมนตรีที่มีความรู้ความสามารถเหมาะกับกระทรวงที่เข้ามาบริหาร

เพราะเก้าอี้รัฐมนตรีมีความสำคัญต่อประเทศ ไม่ใช่เก้าอี้ฝึกหัดของใคร หรือไม่ใช่เก้าอี้เพื่อบรรณาการตอบแทนประโยชน์ทางการเมืองอย่างที่เกิดขึ้นแล้วเป็นอยู่ ส่วนจะทำอย่างไรเขียนกติกาแบบไหนให้ทุกฝ่ายยอมรับผมคิดว่า เราควรจะคิดและถกเถียงกันเพื่อให้เกิดแนวทางที่ดีที่สุด

ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากรัฐธรรมนูญเหล่านี้นี่แหละที่เราต้องหันหน้ามาแก้ไข เพื่อให้ทุกคนเห็นความเที่ยงธรรมและความเท่าเทียมบนกติกาเดียวกัน เพื่อจะไม่ให้ใครใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการเข้าสู่อำนาจแต่ผู้เดียว ต้องทำให้เกิดการแข่งขันที่ยุติธรรม และจะส่งผลให้ทุกคนต้องยอมรับผลการเลือกตั้งไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะชนะ ไม่เกิดความขัดแย้งดังที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้

การเลือกตั้งครั้งนี้ผ่านไปแล้วบนกติกาที่ถูกตั้งคำถาม ชัดเจนว่า การเลือกตั้งไม่สามารถหยุดวิกฤตความขัดแย้งในประเทศได้ เพราะผู้มีอำนาจกลับสร้างเงื่อนไขที่ไม่ชอบธรรมให้เพิ่มขึ้น ผมเชื่อว่าทุกคนมองเห็นปัญหาอยู่เบื้องหน้า ก็มีแต่ว่าจะช่วยกันแก้ไขปัญหานั้น หรือปล่อยให้มันบานปลายจนเกิดเป็นวิกฤตทางการเมืองเกิดการห้ำหั่นกันจนกลายเป็นอีกบาดแผลหนึ่งของประเทศ แล้วกลายเป็นร่องรอยความปวดร้าวฝากไว้เป็นประวัติศาสตร์ให้กับคนรุ่นหลังหรือไม่

คำถามต่อมาก็คือว่า ผู้บริหารบ้านเมืองผู้มีอำนาจในตอนนี้ เห็นปัญหาแล้วจะแก้ไขหรือไม่ หรือคิดว่าอำนาจและกำปั้นเหล็กนั้นสามารถสยบความเคลื่อนไหวต่างๆลงได้ ซึ่งตอบเลยว่าไม่มีทาง ดังนั้นแทนที่จะปล่อยปัญหาให้บานปลายออกไป ทำไมเราไม่คิดว่า จะยุติปัญหาความขัดแย้งลงให้ได้ยุคของเรา เพื่อจะทำให้คนรุ่นต่อไป มองเราด้วยความยกย่องว่าเป็นผู้สร้างบรรทัดฐานที่ดีให้เกิดขึ้นแก่ประเทศชาติ

เราเห็นเลยนะครับว่า เงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมที่ฝ่ายตรงข้ามหยิบมาเคลื่อนไหวจากเหตุของรัฐธรรมนูญนั้น กำลังถูกขยายไปกระทบต่อสถาบันที่สำคัญของชาติ ถูกนำมาใช้เป็นเงื่อนไขในการปลุกระดมนับวันจะหมิ่นเหม่และล้ำเส้นกันทุกที แม้ส่วนตัวผมพูดเสมอว่า การเชื่อในระบอบใดของใครก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ถ้าความเชื่อของใครทำลายศรัทธาของอีกฝ่าย สิ่งที่ตามมาก็คือความรุนแรงอย่างที่เรามีบทเรียนมาแล้วในอดีต

ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องช่วยดับวิกฤตในช่วงที่เรายังมีโอกาส เพื่อไม่ให้เกิดความเสียใจเมื่อวิกฤตเกิดขึ้นแล้วผ่านไป

คำถามนี้คนที่ต้องตอบก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งจะกำหนดเองว่าจะให้ประวัติศาสตร์จารึกนามของตัวเองและมีสมญานามว่าอย่างไร


ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan

กำลังโหลดความคิดเห็น