xs
xsm
sm
md
lg

เผาจริงเศรษฐกิจไทยไตรมาสสาม จะลุกลามไปอีก 2-3 ปีหรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


แฟ้มภาพ MGR Online
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


วันก่อนผมได้เขียนถึงวิกฤติเศรษฐกิจไทยโควิด-19 และทำนายว่าเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ (The great depression) ทั่วโลก จะหนักมาก ทำให้ประเทศไทยลำบากมาก ได้กล่าวถึงทฤษฎีวัฏจักรธุรกิจ ในบทความ บุญของสี่ยอดกุมาร ไม่ต้องรับผิดชอบนำฝ่าด่านเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ทั่วโลก

หลายคนถามมาว่าอาการวิกฤติดังกล่าวจะเป็นอย่างไร จะเริ่มต้นหนักมากเมื่อไหร่ และจะจบลงเมื่อไหร่ อย่างไร

ผมสังเกตมาสักพักและได้พิจารณาวิเคราะห์ไตร่ตรองสถิติเศรษฐกิจหลาย ๆ ตัวเลขของไทยและของโลกแล้วคิดว่า ไตรมาสสาม ปีนี้ จะเผาจริงหนักมาก

หนึ่ง การเลิกจ้างและการว่างงาน

อัตราการว่างงานจะพุ่งเป็นจรวด จะมีการเลิกจ้างงานท่วมทะลักทลาย จะมีการลดขนาด ทำให้องค์การลีนที่สุด เพื่อให้อยู่รอดในภาวะ Great depression ทั่วโลก นอกจากนี้ digital disruption จะมาแทนที่คน จะมีอุตสาหกรรมต่างๆ ใช้โอกาสช่วงนี้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตเพื่อลดคนให้น้อยที่สุด คนไทยจะตกงานหลายล้านคน โดยเฉพาะภาคบริการและการท่องเที่ยว จะหายไปมาก แรงงานนอกระบบได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะภาคการท่องเที่ยวใช้แรงงานนอกระบบค่อนข้างมาก เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ธุรกิจก็ไม่มี กิจการไม่มีทางเลือกก็ต้องเลิกจ้าง (Lay-off)

การเลิกจ้างอาจจะมีสัญญาณล่วงหน้ามาก่อน เช่น งดการทำOT ลดกำลังการผลิต ปิดสายพานการผลิต กิจการค้างจ่ายค่าน้ำค่าไฟ กิจการค้างนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม กิจการมียอดขายลดลง ให้พนักงานผลัดกันมาทำงาน หรือแม้กระทั่งมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งใช้วิธีปิดตึกเรียนเป็นบางวันเพื่อประหยัดค่าน้ำค่าไฟฟ้าแล้วสุดท้ายก็เลิกจ้างอาจารย์มากมาย

สอง จะมีกิจการที่ปิดกิจการ ล้มละลายอีกมาก

กิจการที่จะอยู่รอดต้องเป็นกิจการที่แข็งแกร่งจริงๆ มีจุดขายเฉพาะตัวที่คนอื่นยากจะลอกเลียนแบบเท่านั้นถึงจะอยู่ได้ กิจการที่เริ่มต้นใหม่ ๆ จะยากมาก กิจการที่ฐานไม่แข็งแรงพอจะล้มหายตายจากเป็นเบือ อันที่จริงเราก็เริ่มเห็นกิจการที่ต้องปิดตัวลงไปมากมายในช่วงนี้แล้ว เช่น โรงภาพยนตร์สกาลา ที่สยามสแควร์ ร้านอาหาร ภัตตาคารจำนวนมาก แม้กระทั่งร้านส้มตำเล็กๆ ริมทางก็ยังปิดกิจการ

ผมลองสำรวจร้านอาหารแถวบ้านตัวเองพบว่าหายไปเป็นจำนวนมากและไม่มีการมาเปิดร้านใหม่ เช่นในอดีต จริงอยู่ร้านอาหารเปิดเร็ว ล้มเร็ว เลิกเร็ว และเริ่มเร็ว แต่ ณ ขณะนี้กลับไม่ค่อยจะมีการตั้งร้านใหม่อย่างที่เคยเป็น มีคนไปเดินถนนนิมมานเหมินท์ ที่เชียงใหม่ ที่มีร้านอาหารเยอะมาก ปิดไปเยอะแล้วก็ไม่ได้เปิดใหม่ ประกาศให้เช่าที่ ขายตึกเต็มไปหมด ร้านที่มีอยู่เดิมก็ใช่ว่าจะขายดี ส่วนหนึ่งมาจากการสั่งซื้อทางออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น ร้านค้าก็ต้องปรับตัวไปด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นก็อยู่ไม่รอด

สาม หนี้เสียจะเริ่มท่วมทะลัก

เพราะคนตกงาน กิจการก็ค้าขายไม่ได้ ไม่มีรายได้เข้า หลายคนไม่มีเงินเก็บพอ ที่เคยผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนคอนโดมิเนียมก็จะผ่อนไม่ไหว ต้องยอดขาดส่ง หรือยอมขายทิ้งขาดทุน หรือยอมให้ถูกยึดไป หนี้เสียที่เป็นหนี้ส่วนบุคคลจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก

หนี้เสียภาคเอกชน เพราะจะมีบริษัทต่างที่จะไปต่อไม่ไหว ล้มละลาย จะเป็นปัญหาอันหนักหน่วงของธนาคารพาณิชย์ ที่จะกำไรหดตัวลง และดีไม่ดีอาจจะถึงกับซวนเซถึงขั้นล้มละลายได้ หรือจวนล้มละลาย แต่จะไม่หนักเท่าปี 2540 ที่ตอนนั้นยังไม่ได้ระวังเรื่องหนี้เสียและการตั้งสำรองเท่าปัจจุบัน ซึ่งรัดกุมกว่ามาก

ตลาดตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ (Bond or debenture) จะมีหุ้นกู้เอกชนที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยตามกำหนด แต่ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้เพราะขาดสภาพคล่อง ในขณะที่หุ้นกู้ของเอกชนจำนวนหนึ่งที่ครบกำหนดไถ่ถอน (Maturity date) ต้องจ่ายเงินกู้คืนผู้ถือหุ้นกู้ทั้งหมดจะมีจำนวนมากที่ไม่มีสภาพคล่องพอที่จะจ่ายเงินคืน ทำให้เกิดหุ้นกู้เน่า (Junk bond) เพิ่มมากขึ้น ต้องมีการจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ลดเกรดลงมากันมากมาย นี่เป็นสิ่งที่จะได้เห็นและเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

สี่ เงินเยียวยาจากรัฐบาล จะหมดลง เงินออมหรือเงินเก็บของประชาชนจะหมดไป แต่เราต้องเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ระดับทั้งโลกไปอีกอย่างน้อย สองถึงสามปี

รัฐบาลเองจ่ายเงินเยียวยาไปสามเดือนหนึ่งหมื่นห้าพันบาท ใช้เงินไปมากมายเหลือเกิน มีคนลงทะเบียน คนไทยไม่ทิ้งกัน เกือบสามสิบล้านคนที่ได้รับผลกระทบ รัฐบาลจะไปเอาเงินมาจากไหนอีก นอกจากจะต้องกู้เงินเพิ่มหนี้สาธารณะไปอีก

อย่างไรก็ตามวิกฤติเศรษฐกิจคราวนี้ จะไม่ใช่ปีเดียวอย่างเช่นวิกฤติเศรษฐกิจในอดีต ใครอดทนดำน้ำนานได้มากกว่าจึงจะอยู่รอด ใครสายป่านไม่ยาวพอก็ต้องเลิกไป รัฐบาลไม่รู้จะไปหาเงินจากไหนมาเยียวยาได้อีก ใครไม่มีเงินเก็บเลยจะลำบากมาก นาทีนี้ใครมีเงินสดๆ ในมือ จะซื้ออะไรก็จะได้ของถูก สมบัติผลัดกันชมจริงๆ ครับ

ห้า ภาคส่งออก จะแย่ไปอีก 2 ปี เพราะเกิดวิกฤติทั่วโลก ไม่มีใครจะช่วยซื้ออะไรของใครได้ ต่างคนต่างไม่มีเงิน ส่งออกไทยไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้อีกง่ายๆ คงย่ำและแย่ไปอีกยาวนาน ทุกคนบนโลกจนลงหมดเป็นส่วนใหญ่ ภาคส่งออกของไทยในขณะนี้ก็ติดลบไปจนเกือบ 20 % เสียแล้ว และน่าจะหนักกว่านี้อีกมากในท้ายไตรมาสสาม

ในมุมกลับกันการนำเข้าก็ลดลงไปมาก เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ที่เคยจอดเต็มไปหมดแถบเกาะสีชังรอเข้าแหลมฉบังก็หายไปจนหมด ว่ากันว่าเรือเล็กๆ บรรทุกผู้หญิงอาชีพแรกบนโลกที่เคยไปบริการบนเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ที่มีลูกเรือชายล้วนลอยเรือกลางทะเลเปลี่ยวเหงามาเป็นแรมเดือน ก็ว่างงาน เรือไม่เข้า ลูกเรือเปลี่ยวเหงาเช่นเก่าก่อนแทบจะไม่มี

ลองค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ตมีแผนที่แสดงเรือบรรทุกน้ำมันปิโตรเลียม ลอยล่องกันเป็นมหาสมุทรไปทั่วโลก ไม่มีคนซื้อ เพราะทุกประเทศทั่วโลกเศรษฐกิจถดถอยหมด ความต้องการใช้พลังงานก็ลดลงไปฮวบฮาบ เรือบรรทุกน้ำมันขนาดยักษ์เหล่านี้ใส่น้ำมันมาเร่ขายก็ไม่มีใครซื้อ https://www.marinevesseltraffic.com/2013/02/tanker-track.html


หก ภาคการท่องเที่ยว จะสลบหนักไปอีก 2-3 ปี จนกว่าวัคซีนโควิดจะสำเร็จจริงๆ และนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเก็บสะสมเงินพอจะเริ่มท่องเที่ยวได้อีกครั้ง

โควิด-19 ทำให้การเดินทางลดลง เพราะต้องการควบคุมการระบาดของโรค ดูสถิติเที่ยวบินจาก flightradar24.com แล้วจะพบว่าจำนวนเที่ยวบินลดลงมากสุดประมาณเดือนมีนาคม และดิ่งสุดที่เดือนเมษายน และแม้จะกระเตื้องขึ้นบ้างก็ไม่มากนัก และเมื่อเห็น pattern จะพอทราบได้ทันทีว่า เมื่อถึงฤดูกาลเดินทางสูงหรือ high season จำนวนเที่ยวบินรวมและจำนวนเที่ยวบินพาณิชย์ก็ยังไม่น่าจะกระเตื้องได้เหมือนปีก่อนๆ การท่องเที่ยวน่าจะซึมไปอีกยาวๆ จนกว่าคนจะเลิกตกงานและเก็บเงินสะสมพอที่จะท่องเที่ยวได้อีกครั้ง ในมุมกลับกันความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer confidence index) กว่าจะฟื้นกระเตื้องกลับมาและทำให้คนกลับมาใช้จ่ายเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้งย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งกลัวโรคระบาด ทั้งกลัววิกฤติเศรษฐกิจทับถมเพิ่มเติมเข้าไป และเนื่องจาก GDP ของไทยอิงอาศัยภาคการท่องเที่ยวสูงมาก ทำให้เราได้รับผลกระทบไปเต็มๆ และยาวๆ อย่างแน่นอน

https://www.flightradar24.com/data/statistics
คำถามที่ตอบไปแล้วคือ เราจะเกิดวิกฤติกันยาวๆ ไม่ใช่แค่หนึ่งปีเช่นครั้งก่อน เพราะครั้งนี้กระเทือนซึมลงถึง real sector economy หรือภาคเศรษฐกิจแท้จริง ลงกระทบไปถึงประชาชนและรากหญ้า ไม่น่าจะฟื้นกลับมาง่ายๆ

คำถามถัดไปคือ จะฟื้นตัวในรูปแบบไหน เช่น มีการถกเถียงกันว่าจะออกมาเป็นกราฟรูปตัว V ตัว U หรือ ตัว L ถ้าเป็นตัว V ก็ฟื้นเร็วหน่อยแต่ฟื้นแบบช้าๆ เดิมเศรษฐกิจไทยเมื่อเจอวิกฤติมักจะฟื้นแบบนี้เป็นรูปตัว V ถ้าเป็นตัว U ก็จะซึมยาวหน่อยกว่าจะฟื้นแต่จะฟื้นเร็ว ถ้าเป็นตัว L ก็ไม่ฟื้นเลย คงแล้วแต่ sector โปรดอ่านได้จากสองบทความด้านล่างนี้

What Is The Shape Of Economic Recovery? V, U, Or L
The ABCs of the post-COVID economic recovery

มีคำถามว่าแล้วประชาชนควรทำตัวอย่างไรจึงจะผ่านภาวะวิกฤติเศรษฐกิจดิ่งเหวทั่วโลกแบบนี้ไปได้ ผมคิดว่าคำตอบมีอยู่แล้วที่คนบนฟ้า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ มีภูมิคุ้มกัน ประมาณตน มีเหตุมีผล บนฐานความรู้และฐานคุณธรรม น้อมนำพระราชดำริมาใช้จริงได้แล้วครับ เราอาจจะไม่อู้ฟู่หรูหราเหมือนก่อน แต่เราจะอยู่รอดและผ่านวิกฤติไปด้วยกันได้ครับ

ขอพลังจงสถิตย์อยู่แก่ทุกๆ ท่าน May the force be with you!


กำลังโหลดความคิดเห็น