xs
xsm
sm
md
lg

ยุคน้ำมันถูก‘สี่ถังร้อย’น่าจะยาวถึงปีหน้า ชาติเอเชียจะใช้โอกาสนี้ดันเศรษฐกิจอู้ฟู้ได้ไหม

เผยแพร่:   โดย: สำนักข่าวเอเอฟพี, ไนล์ โบวี่ส์


ซูเปอร์แทงก์เกอร์และเรือขนาดอื่นๆ ทอดสมอรออยู่ในน่านน้ำของสิงคโปร์ – ภาพจากเฟซบุ๊ก
(รวบรวมเก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Oil-hungry Asian nations pounce on low prices
by AT Contributor
03/05/23020

ประเทศในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ซึ่งต้องนำเข้าน้ำมันเพื่อขับเคลื่อนชีพจรเศรษฐกิจ ไม่น่าจะสามารถคว้าโอกาสที่ราคาน้ำมันดิบร่วงสู่ประมาณ 25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาขับดันประเทศให้พุ่งทะยานได้อย่างทันที เพราะนอกจากที่เศรษฐกิจของพวกเขาเสียหายรุนแรงจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคลังน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์ก็ไม่ใช่ถูกๆ ทว่า โอกาสยังพอมีอยู่ เพราะวิกฤติราคาน้ำมัน ‘สี่ถังร้อย’ จะยื้อยาวถึงปีหน้าโดยที่เหล่ายักษ์ในอุตสาหกรรมนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาสาหัสคือบรรดาคลังเก็บน้ำมันรอระบายในจุดต่างๆ ทั่วโลกจวนเจียนจะล้นแล้ว แต่เรื่องที่จะให้หยุดปั๊มน้ำมันขึ้นมาท่วมตลาดนั้น ทำมิได้จริงๆ

ภายในวิกฤติการณ์ที่ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั่วโลกตกอยู่ในภาวะหดตัวรุนแรง เฉียบพลัน และไร้ความแน่นอนว่าวันวารอันโหดร้ายนี้จะอึมครึมไปอีกกี่ไตรมาส กว่าที่มนุษยชาติจะค้นพบวัคซีนมาแก้ปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดได้สำเร็จนั้น ราคาน้ำมันดิบพากันค้างเติ่งอยู่ในระนาบต่ำต่อเนื่องหลายเดือน และในช่วงมีนาคม-พฤษภาคม 2020 ราคาน้ำมันดิบซื้อขายล่วงหน้า West Texas Intermediate (WTI) อ่อนยวบลงมาเคลื่อนไหวในช่วงประมาณ 25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (บวกเล็กน้อย-ลบมากมาย) โดยที่ว่า ณ วันที่ 20 เมษายน 2020 นั้น WTI ส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2020 ร่วงดิ่งเหวลงแตะจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ (-)40.32 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก่อนจะสามารถดีดกลับพ้นออกจากแดนลบได้เล็กน้อยในวันเดียวกัน

ที่ผ่านมาในปีนี้ ดีมานด์น้ำมันโลกหดหายไปมหาศาลประมาณ 30% หรือเทียบเท่ากับปริมาณที่ลดลงจากเมื่อช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังจากที่สารพัดประเทศในทวีปต่างๆ ทยอยกันใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมและระงับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 และส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมากต้องยุติลง ซึ่งรวมถึงการคมนาคมระดับมวลชนและส่วนบุคคลที่หดตัวลงอย่างฮวบฮาบ

ขณะที่ดีมานด์วูบหายไป ซัปพลายส์น้ำมันโลกกลับลดลงในอัตราที่น้อยเกินไป-ช้าเกินการณ์ และสร้างผลกระทบร้ายแรงคือสถานที่เก็บรักษาน้ำมันรอการขายมีไม่เพียงพอแก่ปริมาณน้ำมันที่ยังถูกผลิตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีความพยายามแก้ปัญหาด้วยกลยุทธ์การเช่าเรือบรรทุกน้ำมันเพื่อใช้เป็นคลังสินค้าลอยน้ำไปพลางก่อน ตลอดจนการหั่นลดปริมาณการผลิตน้ำมันในอัตราสูงลิ่วเป็นประวัติการณ์

คำแนะนำปรากฏขึ้นอย่างกระหึ่มว่าให้ฉวยโอกาส“เร่งตุนของถูก” เพื่อช่วยให้ต้นทุนธุรกิจและอุตสาหกรรมลดต่ำลงมากๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อันจะส่งผลพวงให้เศรษฐกิจของประเทศทะยานร้อนแรง

ในการนี้คลังน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์ของทางการประเทศใหญ่ๆ ในทวีปเอเชียซึ่งเป็นซูเปอร์ลูกค้าของอุตสาหกรรมน้ำมัน คือความหวังว่าจะเป็นตัวช่วยตัวโตๆ ที่จะแก้ไขวิกฤติซัปพลายล้นเกินดีมานด์ ในขณะเดียวกัน ประเทศเหล่านี้ก็จะมีโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจด้วยต้นทุนที่ถูกแสนถูก

เมื่อเข้าไปตรวจสภาพการณ์ของคลังน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์ในหลายประเทศของเอเชียแล้ว จึงพบว่าเหตุการณ์จะเป็นเช่นนั้นได้ ก็ต้องใช้เวลาอีกหลายไตรมาสกันเลยทีเดียว

วิกฤตราคาน้ำมันตกต่ำรุนแรงจะยาวถึงปลายปี

การพยากรณ์แนวโน้มสถานการณ์ตลาดน้ำมันโลกที่ปรากฏในรายงานของสำนักงานพลังงานสากล (International Energy Agency หรือ IEA) ว่าด้วยตลาดน้ำมันประจำเดือนเมษายน 2020 และออกสู่สาธารณะเมื่อราวกลางเดือนที่แล้ว ระบุว่าสำหรับตัวเลขรวมของไตรมาส 2/2020 ความต้องการใช้น้ำมันน่าจะลดต่ำกว่าปีที่แล้ว 23.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน แล้วจะมีการฟื้นตัวในครึ่งหลังของปี 2020 โดยจะเป็นไปทีละน้อย กระนั้นก็ตาม ในเดือนธันวาคม 2020 ความต้องการใช้น้ำมันน่าจะลดต่ำกว่าช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว 2.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ด้านปีเตอร์ เคียร์นัน นายใหญ่ของทีมวิเคราะห์ด้านพลังงานแห่งหน่วยวิเคราะห์เศรษฐกิจชื่อดังก้องโลก Economist Intelligence Unit (EIU หน่วยงานในค่ายนิตยสาร The Economist) ให้ประมาณการว่าต้องล่วงเข้าครึ่งหลังของปีนี้กว่าที่จะเริ่มเห็นการปรับสมดุลระหว่างดีมานด์และซัปพลายโดยที่ต้องมีปัจจัยสำคัญคือ ทุกประเทศในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นๆ หั่นปริมาณการผลิตลงมาเท่ากับที่ได้ประกาศไว้

ขณะที่ดร.มีซาล ไมดัน ผู้อำนวยการโครงการพลังงานจีน โครงการภายใต้สังกัดสถาบันออกซ์ฟอร์ดเพื่องานพลังงานศึกษา Oxford Institute for Energy Studies ให้ประมาณการว่าความต้องการใช้พลังงานน่าจะเริ่มฟื้นตัวในราวปลายปี โดยที่ฝั่งซัปพลายก็จะพลอยปรับตัวไปได้ด้วย กระนั้นก็ตาม สถานการณ์ราคาที่ตกต่ำก็จะยังเรื้อรังต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง

เรือบรรทุกน้ำมันขนาดซูเปอร์แทงก์เกอร์ลำหนึ่ง ทอดสมออยู่ที่น่านน้ำด้านนอกของสิงคโปร์– ภาพจากเฟซบุ๊ก
เทรดเดอร์น้ำมันสาหัส ต้องเช่าเรือบรรทุกน้ำมันเป็นคลังสินค้าลอยน้ำ แม้ค่าเช่าพุ่ง 8 เท่า

การปรับตัวที่บรรดายักษ์ในอุตสาหกรรมน้ำมันดำเนินการอยู่นั้น มีหลายโมเดล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โมเดลที่ 1: การโหลดน้ำมันลงเรือบรรทุกน้ำมันและให้เรือเดินทางไปทอดสมอที่ชายฝั่งทะเลของประเทศผู้รับสินค้า โดยตลอดเวลาที่รอนำส่งนั้น พวกเทรดเดอร์ก็จ่ายค่าเช่าเรือไปเรื่อยๆ ในกลยุทธ์ซื้อเวลาไปจนกว่าจะมีความเปลี่ยนแปลง

กลยุทธ์ดังกล่าวส่งผลให้ธุรกิจปล่อยเช่าเรือบรรทุกน้ำมันขนาดยักษ์ของโลกเฟื่องฟูอย่างจัด ในการนี้ เมื่อความต้องการเช่าเรือให้ช่วยบรรทุกน้ำมันไปพลางก่อน พุ่งสูงขึ้นอย่างอื้ออึง จึงมีเรือซูเปอร์แทงก์เกอร์จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่คิดค่าบริการรับฝากน้ำมัน ณ ราคาพรีเมียม แหล่งข่าวในวงการให้ข้อมูลว่า อัตราค่าเช่าดังกล่าวทะยานขึ้นเป็นประมาณ 8 เท่าของต้นทุนการดำเนินงานเฉลี่ยต่อวันกันเลยทีเดียว

ทั้งนี้ อโศก ชาร์มา กรรมการผู้จัดการบริษัทบีอาร์เอส บาซี บริษัทนายหน้าเพื่อการเช่าเรือบรรทุกน้ำมันที่สิงคโปร์ให้ข้อมูลแก่เอเชียไทมส์ว่า ขณะที่ต้นทุนการดำเนินงานเฉลี่ยต่อวันของเรือบรรทุกน้ำมันขนาดยักษ์ระดับซูเปอร์แทงก์เกอร์ อยู่ที่ประมาณ 25,000 ดอลลาร์ต่อวันนั้น บริษัทซูเปอร์แทงก์เกอร์เรียกเก็บอัตราค่าบริการบรรทุกน้ำมันเฉลี่ยต่อวันในช่วงระหว่าง 160,000-170,000 ดอลลาร์ต่อวัน สูงขึ้นจากอัตราค่าเช่าในเดือนเมษายน ปี 2019 ที่ตกเฉลี่ยต่อวันแค่ 10,000 ดอลลาร์

แหล่งข่าวในวงการชิปปิ้งให้ตัวเลขไว้เมื่อราวปลายเดือนเมษายนว่า ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ประมาณ 10% ของกองเรือซูเปอร์แทงก์เกอร์ 815 ลำทั่วโลก ถูกบุ๊คให้เก็บน้ำมันดิบในปริมาณมหาศาลเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ ศักยภาพการบรรทุกน้ำมันของซูเปอร์แทงก์เกอร์แต่ละลำอยู่ที่ 2 ล้านบาร์เรล และตัวเลขที่คนในวงการให้ประมาณการไว้นั้นบอกกันว่าปริมาณน้ำมันที่อยู่ในคลังสินค้าลอยน้ำมีจำนวนประมาณ 160-200 ล้านบาร์เรล

ณ ช่วงปลายเดือนเมษายนเช่นกัน วงการอุตสาหกรรมน้ำมันโลกประมาณการกันว่ามีซูเปอร์แทงก์เกอร์ราว 80-100 ลำที่บรรทุกน้ำมันและทอดสมออยู่ในบริเวณชายฝั่งทะเลของ Gulf Coast สหรัฐอเมริกา และบริเวณน่านน้ำของช่องแคบสิงคโปร์ ซึ่งบริเวณเหล่านี้อยู่ใกล้โรงงานกลั่นน้ำมันขนาดยักษ์นั่นเอง พร้อมนี้ ยังมีการทำนายกันว่าในเมื่อปัญหาน้ำมันล้นตลาดโลกและปัญหาสถานที่เก็บรักษาน้ำมันนับวันแต่จะเต็มล้น จะมีซูเปอร์แทงก์เกอร์ 200 ลำ ถูกนำมาให้เช่าทำคลังน้ำมันลอยน้ำ

ยักษ์ผู้ผลิตไม่หยุดปั๊มน้ำมันขึ้นมาท่วมตลาด เพื่อ...?

สำหรับโมเดลที่ 2: การ“ทยอยลดกำลังการผลิต”เป็นแนวทางการปรับตัวที่บรรดายักษ์ผู้ผลิตน้ำมันดำเนินการอยู่ แต่ในวิกฤติการณ์ปัจจุบันซึ่งความต้องการบริโภคน้ำมันได้หดหายไปฮวบฮาบอย่างต่อเนื่องและจะดำเนินอีกหลายไตรมาสโดยที่คลังเก็บรักษาน้ำมันในสารพัดพื้นที่ทั่วโลก (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คลังสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงในเชิงยุทธศาสตร์ของทางการประเทศต่างๆ) ก็แทบจะไม่สามารถตุนน้ำมันเพิ่มได้หวาดไหว กลยุทธ์ที่แก้ปัญหาได้ตรงจุดที่สุด คือ การลดกำลังการผลิตให้เหมาะสมกับสภาพการณ์แท้จริงของตลาด

ทั้งนี้ การลดกำลังการผลิตจะต้องหมายถึงการปิดระบบการปั๊มน้ำมันของบ่อน้ำมันในพื้นที่ต่างๆ กันได้แล้ว

หลายๆ เดือนได้ล่วงผ่านไป แต่วิกฤติน้ำมันท่วมล้นตลาดโลกก็มิได้กระเตื้องขึ้น สาเหตุมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าการปิดระบบการผลิตน้ำมันไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายดั่งการกดปิดสวิตช์คลิ้กๆ เพราะต้องคำนึงถึงหลายตัวแปรอันแสนโหดร้าย อาทิ เทคโนโลยีและการบริหารค่าใช้จ่าย

การวิเคราะห์เจาะลึกเบื้องหลังการดิ้นรนของผู้ผลิตน้ำมันที่เร่งปรับตัวเพื่อความรอดโดยยอมใช้สารพัดกลยุทธ์ ยกเว้นการยุติระบบการผลิตน้ำมัน ได้ปรากฏในบทความเรื่องทำไมโลกยังคงปั๊มน้ำมันขึ้นมามากมายแม้อุปสงค์หายไปหมด (Why the World Is Still Pumping So Much Oil Even As Demand Drops Away วันที่ 22 April 2020 โดย Camila Domonoske -- https://www.npr.org/2020/04/22/839851865) บนเว็บไซต์ขององค์การ National Public Radio หรือ NPR ซึ่งเป็นองค์การอเมริกันด้านสื่อมวลชนที่ไม่แสวงกำไร และจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. Public Broadcasting Act ปี 1967 โดยมีสาระสำคัญดังนี้

ที่ผ่านมา บรรดาประเทศผู้ผลิตน้ำมันล้วนแต่ทยอยลดอัตราการผลิตลง แต่อัตราดังกล่าวยังรวดเร็วไม่เพียงพอแก่การดึงราคาน้ำมันกลับขึ้นไปได้ดั่งปรารถนา ทั้งนี้ เมื่อระบบการปั๊มน้ำมันขึ้นจากบ่อถูกปิดลง มันจะยากเข็ญทีเดียวในเวลาที่จะขับเคลื่อนระบบปั๊มน้ำมันกลับมาอีกครั้ง ซึ่งมันจะหมายถึงว่าจะต้องทุ่มงบค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อยเข้าไปในบ่อน้ำมันเพื่อจะทำให้ศักยภาพของระบบกลับสู่ระดับปกติ

ยิ่งกว่านั้น ในทางปฏิบัติแล้ว ธุรกิจการผลิตน้ำมันนั้นมีต้นทุนคงที่จำนวนหนึ่ง ซึ่งผู้ประกอบการต้องหาเม็ดเงินเข้าไปจุนเจือ ด้วยเหตุนี้ แค่ขอให้ราคาน้ำมันไม่ลดต่ำกว่า 0 ดอลลาร์ บ่อน้ำมันก็ยังพอจะสร้างรายได้เข้าไปได้บ้าง

ใช่แต่เท่านั้น ยังมีมิติของสัญญาสัมปทานการขุดเจาะเกี่ยวข้องด้วยซึ่งทำให้ผู้ดำเนินการขุดเจาะน้ำมันมีความเสี่ยงว่าอาจต้องสูญเสียสิทธิ์ให้แก่คู่แข่ง และเมื่อดีมานด์ตลาดเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้ดำเนินการขุดเจาะก็ต้องจ่ายเงินไปซื้อสิทธิ์กลับคืนมา

ดังนั้น กลยุทธ์ที่เลือกใช้กันขณะนี้จึงยังเป็นการเดินระบบการผลิตไว้ไม่ว่าราคาน้ำมันจะตกต่ำมากมายราวใด และไม่ว่าจะไม่มีกำไรขึ้นมาเลย ขอเพียงให้มีรายได้เข้าไปบ้างก็ยังดี

จวนเจียนเวลาที่ผู้ผลิตน้ำมันต้องยุติการผลิต

กลยุทธ์ดังกล่าวของยักษ์ผู้ผลิตน้ำมันไม่อาจจะยืนระยะได้ยาวนานนักหนา ในเมื่อน้ำมันดิบที่ถูกผลิตออกมาจะต้องมีสถานที่เก็บ และสถานที่เก็บก็ใกล้จะเต็มล้น

แวดวงเทรดเดอร์น้ำมันชี้ประเด็นว่าปัจจัยพื้นฐานด้านความจำกัดของสถานที่เก็บน้ำมันเป็นประเด็นหลักที่วิตกกันในตลาดทั่วโลก แม้กลุ่มโอเปกและชาติผู้ผลิตน้ำมันอื่นๆ ดำเนินการลดปริมาณการผลิตลงอย่างมโหฬารเป็นประวัติการณ์ แต่นั่นก็เป็นอะไรที่ตลาดมองว่ามาน้อยไป-มาช้าเกิน

ในการนี้ ปีเตอร์ เคียร์นัน แห่ง EIU ฟันธงว่าช่วงสองหรือสามเดือนข้างหน้าจะเป็นวิกฤติที่โหดร้ายเหลือแสน ผู้ผลิตจะถึงจุดที่ต้องยอมเผชิญความจริง พวกเขาต้องหั่นลดปริมาณผลผลิตโดยรวมลงให้ได้แม้จะต้องหืดขึ้นคอ พวกเขาไม่สามารถเดินหน้าผลิตน้ำมันไปเรื่อยๆ ตราบที่ยังไม่สามารถหาผู้รับซื้อ อีกทั้งไม่มีที่ทางให้เก็บผลผลิต

ในเวลาเดียวกันไรอัน คลาร์ก อดีตวานิชธนากรซึ่งขณะนี้เป็นนักวิชาการอาวุโสที่สถาบัน East Asian Institute อันเป็นทีมคลังสมองซึ่งปักหลักอยู่ในสิงคโปร์ทำนายว่า รูปการณ์ที่เป็นอยู่นี้จะดำเนินไปถึงขีดที่ผู้ผลิตน้ำมันต้องหยุดการผลิตกันจริงๆ และเราจะได้เห็นบริษัทน้ำมันและก๊าซจำนวนมากต้องเลือกทางเดินว่าจะออกจากอุตสาหกรรมไปเลย หรือจะลดขนาดให้เล็กลงไปเรื่อยๆ

ฐานกักเก็บน้ำมันสำรองของบรรษัท China National Petroleum Corporation ที่เมืองฮว่ายอัน มณฑลเจียงซู ทางภาคกลางของจีน
คลังน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์ของชาติเอเชีย เป็นตัวช่วยได้เพียงใด?

จีนมีคลังน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์ขนาดมโหฬารที่สุดภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก วงการน้ำมันนานาชาติเชื่อกันอย่างนั้น แม้ทางการปักกิ่งมิได้ให้ตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่าคลังน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ของจีนมีขนาดประมาณ 550 ล้านบาร์เรล พอฟัดพอเหวี่ยงกับปริมาณน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาซึ่งตุนไว้ประมาณ 630 ล้านบาร์เรล

บรรษัทปิโตรเลียมแห่งประเทศจีน (China National Petroleum Corporation) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจขนาดยักษ์ ปล่อยข้อมูลออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ว่าการสำรองน้ำมันของจีนยังไม่มากพอ กล่าวคือ การสำรองที่เป็นอยู่ยังไม่ถึงระดับปลอดภัย 90 วัน หรือ “90-day safety line” อันเป็นมาตรฐานนานาชาติ

สำนักงานพลังงานสากล (IEA) กำหนดให้สมาชิกต้องมีสต็อกน้ำมันฉุกเฉินในปริมาณที่ไม่น้อยกว่าปริมาณการนำเข้าน้ำมันสุทธิจำนวน 90 วัน ทั้งนี้ จีนเป็นเพียงสมาชิกสมทบของ IEA มิใช่สมาชิกเต็มรูปแบบ

ญี่ปุ่นมีการสำรองน้ำมันประมาณ 500 ล้านบาร์เรล ณ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2020 เทียบเท่ากับปริมาณการบริโภคน้ำมันรวมทั้งประเทศมากกว่า 7 เดือน นี่เป็นข้อมูลอย่างเป็นทางการที่ประกาศออกมาล่าสุด

เกาหลีใต้มีน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์ประมาณ 96 ล้านบาร์เรล ณ เดือนธันวาคม 2019 ซึ่งเพียงพอที่จะกระจายให้ประชาชนบริโภคได้ 89 วัน

อินเดียนั้นไม่เหมือนใคร คือมีการสำรองไว้ในคลังเพียงประมาณ 40 ล้านบาร์เรล ซึ่งหากเกิดวิกฤติ อินเดียจะมีน้ำมันสำรองกระจายให้ประชาชน 1,300 ล้านรายภายในประเทศ ใช้ได้แค่ 10 วัน

การสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์มีต้นทุนดำเนินการไม่ใช่น้อยๆ

การสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ที่ดำเนินการกันมักจะเก็บในคลังใต้แผ่นดินโดยมีการควบคุมดูแลระบบความมั่นคงปลอดภัยเป็นอย่างดี เช่น การกักเก็บไว้ในโพรงอุโมงค์ชั้นหินแข็ง คลังสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริหารจัดการโดยกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ เป็นแหล่งซัปพลายน้ำมันดิบฉุกเฉินใหญ่ที่สุดของโลก เป็นโพรงอุโมงค์ในชั้นหินแข็งขนาดมหึมาที่เรียงรายไปตามชายฝั่ง Gulf Coast

กระนั้นก็ตาม การสร้างสถานที่เก็บสำรองน้ำมันไว้ใต้แผ่นดินเป็นงานที่ท้าทาย เพราะจำเป็นจะต้องมีรูปแบบทางธรณีวิทยาที่ถูกต้อง และแต่ละประเทศยังต้องสร้างโครงสร้างการปั๊มน้ำมันเข้าและออกด้วย

ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างคลังสำรองนั้นสูงนัก และจึงกลายเป็นอุปสรรคที่เบรกหลายประเทศต้องยั้งมือที่จะพัฒนาคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ขึ้นมาในระดับที่เพียงพอจริงๆ

สำหรับประเทศย่านเอเชีย อินเดียใช้โพรงอุโมงค์ชั้นหินแข็งเป็นแหล่งเก็บกักน้ำมันสำรอง แต่ในประเทศอื่นๆ ไม่ได้ทำอย่างนั้น เช่น ญี่ปุ่นใช้รูปแบบแทงค์ที่สร้างขึ้นเหนือแผ่นดิน

ประเทศเอเชียรายใดที่ฉกฉวยโอกาสราคาน้ำมันดิ่งต่ำ ระดมซื้อเพื่อป้อนเข้าคลังน้ำมัน

ในบรรดาประเทศพัฒนาแล้วทั้งปวง ออสเตรเลียเป็นรายที่มีน้ำมันคลังสำรองต่ำที่สุดรายหนึ่งมาเนิ่นนาน แต่ในเที่ยวนี้ ออสเตรเลียประกาศว่าจะแสวงประโยชน์จากโอกาสที่ราคาน้ำมันร่วงดิ่งมากมายมาพัฒนาคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ซึ่งฝากไว้ในพื้นที่ของสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ คลังเก็บน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์ที่สะสมไว้ในแผ่นดินออสเตรเลียเข้าสู่ระดับเต็มศักยภาพแล้ว อย่างไรก็ตาม ออสเตรเลียมีข้อตกลงกับสหรัฐฯ ซึ่งเปิดให้ออสเตรเลียสามารถเช่าพื้นที่ในแหล่งสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ได้

ในประเทศจีน ตลาดซื้อขายพลังงานระหว่างประเทศเซี่ยงไฮ้ได้อนุมัติเมื่อเดือนมีนาคม ให้รัฐวิสาหกิจนามว่า บริษัทคลังสำรองปิโตรเลียมซิโนเปค (Sinopec Petroleum Reserve Co.) สามารถเพิ่มขนาดการสำรองขึ้นได้

ทั้งนี้ โรงเก็บน้ำมันแห่งหนึ่งในมณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของประเทศ มีมีศักยภาพกักเก็บได้สูงถึง 600,000 ลูกบาศก์เมตร (3.8 ล้านบาร์เรล) และอีกแห่งหนึ่งในมณฑลเหอเป่ย ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือ ก็มีศักยภาพกักเก็บได้ถึง 1,000,000 ลูกบาศก์เมตร

ในประเทศอินเดีย กระทรวงปิโตรเลียมได้ทวีตไว้เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2020 ว่าจะซื้อน้ำมันดิบไปเติมในคลังสำรองต่างๆ ที่กักเก็บไว้ในโพรงอุโมงค์ชั้นหินแข็ง โดยจะซื้อมาเติมให้เต็มทุกคลัง

กรณีของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งมีปริมาณสำรองอยู่อย่างมหาศาลแล้ว ยังไม่ได้ประกาศแผนงานการเพิ่มแหล่งสำรองอย่างเป็นรูปธรรม

แหล่งข่าวในกระทรวงพาณิชย์ญี่ปุ่นรายหนึ่งระบุว่าระดับการเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งหมดอยู่ที่ระดับเพียงพอแล้ว ส่วนทางการโซลมีแผนจะเพิ่มการกักเก็บน้ำมันอีกไม่เกิน 1%

น้ำมันสี่ถังร้อยจะช่วยเศรษฐกิจเอเชียอู้ฟู่หรือไม่ หลังหมดยุคล็อกดาวน์สกัดโควิด-19 แพร่ระบาด

คำตอบคือ น่าจะไม่เป็นอย่างนั้น อย่างน้อยก็ในระยะสั้นๆ นี้ นักสังเกตการณ์จำนวนมากเชื่อว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะไม่ตีกลับขึ้นมารวดเร็วแม้ประเทศต่างๆ ทยอยกันยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด สถานการณ์เศรษฐกิจจะฟื้นฟูคึกคักได้ต่อเมื่อโลกสามารถค้นพบวัคซีนได้สำเร็จ – ซึ่งอาจจะต้องรอต่อไประยะหนึ่งกันเลยทีเดียว

“ราคาน้ำมันตกต่ำไม่ใช่เครื่องเทอร์โบชาร์จที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจของเอเชีย” เจฟฟรีย์ ฮัลลีย์ นักวิเคราะห์ตลาดระดับอาวุโสค่าย OANDA บอกสำนักข่าวเอเอฟพีไว้อย่างนั้น

จะมีผู้ชนะที่ได้ประโยชน์ท่วมท้นจากสถานการณ์ราคาน้ำมันร่วงดิ่งหรือไม่

หากเป็นยุคยามปกติ ประดาประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ในเอเชีย อาทิ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะได้รับผลประโยชน์จากสถานการณ์ราคาน้ำมันร่วงดิ่ง แต่ในเที่ยวนี้ น่าจะไม่เป็นอย่างนั้นในทันที เพราะพวกเขาได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจหนักหนา หลังประสบกับภัยโรคระบาดทั่วโลก

ญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ดี ตลาดการเงินของญี่ปุ่นถูกถล่มสาหัสนัก ซึ่งปัจจัยนี้ฟาดฟันทำร้ายระบบเศรษฐกิจแห่งแดนปลาดิบอย่างรุนแรง นี่เป็นความเห็นของโตชิฮิโร นากาฮามิ นักเศรษฐศาสตร์แห่งสถาบันวิจัย Dai-ichi Life Research Institute

“เราไม่อาจนำกรอบการวิเคราะห์ปกติของเราไปประยุกต์ใช้กับสภาพการณ์ที่ไม่เคยประสบพบพานเช่นนี้” เขากล่าว

กระนั้นก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งคาดว่าวิกฤติราคาน้ำมันตกต่ำจะปักหลักอย่างนี้เป็นช่วงยาวๆ ซึ่งหมายถึงว่าประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ต่างๆ จะกลายเป็นผู้ชนะที่ได้รับประโยชน์มหาศาลกันหลายรายในท้ายที่สุด

“ภาวะราคาน้ำมันตกต่ำน่าจะค้างเติ่งยาวไปจนถึงยุคหลังวิกฤติโควิท-19 ทั้งนี้ ถ้าเป็นไปในสถานการณ์ดั่งที่เป็นอยู่ขณะนี้ ปัจจัยราคาน้ำมันดำดิ่งจะส่งผลเชิงบวกให้แก่ระบบเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ โดยจะหนุนช่วยการฟื้นตัวได้” กล่าวโดย จุง จุน-ฮวาน นักวิเคราะห์ของสถาบันเศรษฐกิจการพลังงานแห่งเกาหลี (Korea Energy Economics Institute)

ในเวลาเดียวกัน ภายในเอเชียย่อมจะมีชาติผู้สูญเสียอย่างแน่นอน ได้แก่ ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอย่างเช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน ฮัลลีย์แห่ง OANDA กล่าวอย่างนั้น

(รวบรวมเก็บความจากเรื่อง Oil-hungry Asian nations pounce on low prices ของสำนักข่าวเอเอฟพี และ เรื่อง Tankers thrive while oil tanks in Singapore เขียนโดย Nile Bowies เผยแพร่ทางเอเชียไทมส์ 28/04/2020 https://asiatimes.com/2020/04/tankers-thrive-while-oil-tanks-in-singapore/ โดยที่ใช้ข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งอื่นๆ ด้วย)


กำลังโหลดความคิดเห็น