xs
xsm
sm
md
lg

“พิธา” ชง 3 ท.แก้ไฟป่า ถามเรือดำน้ำ-เครื่องบินดับไฟอะไรสำคัญกว่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ว่าที่หัวหน้าก้าวไกล ถามเรือดำน้ำหรือเครื่องบินรบกับเครื่องบินดับไฟป่า อะไรสำคัญกว่ากัน ชง 3 ท.แก้ปัญหา กระจายอำนาจให้ชุมชนจัดการ เคารพภูมิปัญญาท้องถิ่น จัดงบประมาณ เพิ่มความรู้ความเชี่ยวชาญ อุปกรณ์ ให้หมู่บ้าน ลงทุนเทคโนโลยีเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ ประสานนานาชาติช่วย

วันนี้ (7 เม.ย.) เครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กแฟนเพจ Pita Limjaroenrat ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และว่าที่หัวหน้าพรรคก้าวไกล เผยแพร่ข้อเสนอแก้ปัญหาไฟป่าอย่างยั่งยืน โดยระบุตอนหนึ่งว่า ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ไฟป่าในภาคเหนือ และขอเป็นกำลังใจให้ชุมชน อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ผู้กำลังช่วยกันควบคุมทำแนวกันไฟและดับไฟป่าเพื่อไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้ รวมถึง ส.ส.และทีมงานพรรคก้าวไกลที่ติดตามและช่วยเหลือปัญหาไฟป่ากันมาโดยตลอด เหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นสถานการณ์ภัยพิบัติที่ร้ายแรงของไทยที่ซ้ำเติมเข้ามาในยามที่มีภัยโรคระบาดโควิด-19 วิกฤตไฟป่านอกจากจะพรากชีวิตยังส่งผลทั้งการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ และปัญหามลพิษฝุ่น PM 2.5 ซึ่งภาคเหนือได้สร้างสถิติมีค่าฝุ่นอันตรายเกินมาตรฐานติดอันดับโลกเกิน 3 สัปดาห์แล้ว

“ผมอยากถามว่า ระหว่างเรือดำน้ำหรือเครื่องบินรบ กับเครื่องบินดับไฟป่า อะไรสำคัญกว่ากัน เราควรจะลงทุนกับอะไรก่อนเพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนอยู่ได้” นายพิธาระบุ

นายพิธาระบุว่า ปัญหาไฟป่าในปีนี้รุนแรงมากขึ้น คงจะถึงเวลาแล้วที่จะต้องตระหนักถึงปัญหาและเปลี่ยนแปลงมุมมองวิธีคิดในการแก้ไขให้ถึงรากฐานอย่างจริงจัง ซึ่งจะแก้ปัญหาให้ได้อย่างยั่งยืนตนเสนอหลักการง่ายๆ ที่เรียกว่า 3 ท. 1. ท.ท้องถิ่น แนวคิดในการจัดการและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ คือ ให้ผู้ที่ใกล้ชิดทรัพยากรที่สุด และใช้ประโยชน์ในทรัพยากรมากที่สุด เป็นผู้ดูแลทรัพยากรให้มากที่สุด รัฐราชการที่รวมศูนย์ต้องถอยไปเป็นผู้สนับสนุนและช่วยเหลือในสิ่งที่ท้องถิ่นไม่สามารถทำได้เท่านั้น ดังนั้นท้องถิ่นจึงเป็นส่วนที่สำคัญในการแก้ปัญหาไฟป่าอย่างยั่งยืน โดยต้องกระจายอำนาจให้ชุมชนเป็นหลักในการจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันและการดับไฟ โดยเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาส่วนสนับสนุน ซึ่งการทำเช่นนี้จะลดปัญหาพื้นที่สุญญากาศที่ไม่มีหน่วยงานไหนรับผิดชอบ เช่น พื้นที่ราชพัสดุหรือพื้นที่ในการดูแลของทหารซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบโดยตรงของกรมป่าไม้ หรือกรมอุทยานฯ

ว่าที่หัวหน้าพรรคก้าวไกลระบุต่อว่า นอกจากนี้คือการเคารพภูมิปัญญาท้องถิ่นก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้ ในหลายประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพราะเขาเชื่อว่า คนโตมากับไฟย่อมรู้จักไฟมากกว่าคนที่ส่วนกลาง ในภาคเหนือมีกลุ่มชาติจำนวนมาก พวกเขาอยู่กับไฟป่ามาตลอดและมีความรู้ที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เราควรมาพูดคุยกันจริงจัง โดยรัฐต้องโอบรับองค์ความรู้เหล่านี้ มาใช้แก้ปัญหาอย่างจริงจัง ช่วยชุมชนสร้างความเข้าใจแก่สังคม

2. ท.ทรัพยากร กระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่นก็ต้องมาพร้อมกับการกระจายทรัพยากร จากข้อเท็จจริงปัจจุบัน มีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 26.97 ล้านไร่ ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้รับจัดสรรงบประมาณเพียง 10.56 ล้านไร่ มีสถานีควบคุมไฟป่า 50 สถานี มีหมู่ดับไฟ 169 ชุด มีกำลังพล 2,535 คน มีชุดปฏิบัติการดับไฟป่า 4 ชุด 60 นาย และมีเครือข่ายการแก้ไขปัญหาไฟป่า 790 หมู่บ้าน อัตรากำลังเจ้าหน้าที่มีอยู่ไม่เพียงพอ และเข้าไม่ถึงหลายพื้นที่ ดังนั้นหน้าที่ของรัฐส่วนกลางในฐานะผู้สนับสนุนท้องถิ่น จึงจำเป็นต้องให้อำนาจและงบประมาณอย่างจริงใจ เพื่อให้ท้องถิ่นแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

“มีคำถามและข้อร้องเรียนจากชาวบ้านว่า จริงหรือไม่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่มีงบประมาณพร้อมที่จะสนับสนุนการดับไฟป่าของชุมชน แต่ไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องอำนาจตามกฎหมาย ทั้งๆ ที่ในความจริงแล้วงบประมาณเหล่านี้สามารถสนับสนุนสิ่งของจำเป็นเบื้องต้นในภารกิจดับไฟป่าของชุมชน เช่น เครื่องเป่าลม ไฟฉายส่องหัว หน้ากาก น้ำมันเชื้อเพลิง ยาสนาม อาหารกระป๋อง แต่กลับมีการท้วงติงจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นว่า อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเขตอุทยานแห่งชาติ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถให้การสนับสนุนงบประมาณส่วนนี้แก่ชุมชน ซึ่งแม้ไม่ใช่งบประมาณจำนวนมหาศาลแต่เป็นจำนวนเงินที่สำคัญในการช่วยชีวิตและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติรอบชุมชนของพวกเขาได้ หากเป็นไปได้ก็ควรปลดเงื่อนไขทางกฎหมายตรงนี้ลงโดยอธิบดีผู้รับผิดชอบ รัฐมนตรีหรือแม้กระทั่งการสั่งการโดยตรงจากนายกรัฐมนตรี” นายพิธาระบุ

นายพิธาระบุอีกว่า ทั้งนี้การจัดงบประมาณที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แม้เราจะเผชิญกับภัยพิบัติไฟป่าทุกปีและมีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่ได้ลงทุนเพื่อสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการดับไฟป่าอย่างเพียงพอ ยังไม่ได้ลงทุนในอุปกรณ์พื้นฐานในการดับไฟป่าของชุมชนในเขตป่าเท่าที่ควร ซึ่งควรต้องเพิ่มความรู้ความเชี่ยวชาญ อุปกรณ์และงบประมาณในการดับไฟป่าตรงลงไปให้กับหมู่บ้าน ในเครือข่ายการแก้ไขปัญหาไฟป่า และขยายเครือข่ายชุมชนหมู่บ้านในการแก้ปัญหาไฟป่ามากกว่าเดิม เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชน สร้างระบบสร้างแรงจูงใจ และพัฒนาศักยภาพในการจัดทำแผนการจัดการของชุมชน แก้ปัญหางบประมาณมาถึงล่าช้า และงบประมาณลงไม่ถึงชุมชน

3. ท.เทคโนโลยี แม้ความรุนแรงของไฟป่าจะเพิ่มขึ้นทุกปี แต่รัฐส่วนกลางดูเหมือนจะยังไม่ให้ความสำคัญกับการผลิตหรือจัดซื้อเทคโนโลยีระดับสูงในการดับไฟป่า ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินขนาดใหญ่ที่ทำภารกิจ firebombing ซึ่งเป็น Airtanker DC-10 ขนาดใหญ่บรรทุกน้ำในการดับไฟได้ครั้งละ 44,000 ลิตร ซึ่งมากกว่า KA-32 ที่ไทยใช้อยู่ถึง 14 เท่า, รวมถึง C-130Q ที่บรรทุกน้ำได้ 15,450 ลิตร ถึงแม้กองทัพอากาศไทยจะมีเครื่องบิน BT-67 หรือกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีเฮลิคอปเตอร์ KA-32 อยู่บ้าง แต่ความหลากหลายของเครื่องมือเพื่อการใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่มีความจำเป็นมากในการแก้ปัญหา และที่สำคัญต้องมีการประสานงานกับทีมภาคพื้นดินให้ดีด้วย ที่ผ่านมาอาจมีข้ออ้างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมายในการไม่จัดซื้อหรือไม่เลือกใช้วิธีการดังกล่าว แต่ตอนนี้ชัดว่านี่คือภัยพิบัติที่ส่งผลต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชนและเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เราจำเป็นต้องลงทุนเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ ตนคิดว่าเราควรทบทวนแนวคิดเรื่องความมั่นคงใหม่ เพื่อจะได้จัดลำดับความสำคัญได้ว่าระหว่างเครื่องบินดับไฟป่ากับเครื่องบินรบ เราควรจะลงทุนกับอะไรก่อนเพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนอยู่ได้

ว่าที่หัวหน้าพรรคก้าวไกลระบุว่า ในสถานการณ์เฉพาะหน้ารัฐบาลต้องกล้ายอมรับว่าทรัพยากรกับเทคโนโลยีของเราอาจไม่เพียงที่จะจัดการภัยพิบัติขนาดใหญ่นี้ได้โดยลำพัง เราควรประสานขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ เช่น กลุ่มอาเซียน สิงคโปร์ จีน ออสเตรเลีย หรือนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ มีเทคโนโลยีการจัดการไฟป่า นี่ไม่ใช่เรื่องต้องกลัวเสียหน้าแต่เป็นเรื่องมนุษยธรรมและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนานาชาติท่ามกลางวิกฤต ดังหลายเหตุการณ์ที่เคยก่อนหน้านี้ ทั้งสิงคโปร์ก็เคยส่งเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำพร้อมอุปกรณ์ดับไฟป่ามาช่วย เมื่อปี 2558 ทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างเหตุการณ์สึนามิ ในปี 2547 หรือการช่วยเหลือ 13 หมูป่าออกจากถ้ำที่จังหวัดเชียงราย ที่นานาชาติยื่นไม้ยื่นมือเข้ามาช่วยจนภารกิจลุล่วงไปได้ด้วยดี แน่นอนภายใต้สถานการณ์วิกฤต COVID-19 ที่มีคำสั่งปิดน่านฟ้าไทยอยู่อาจจะทำให้ทางออกนี้ซับซ้อนไปอีก แต่ชีวิตประชาชนก็รอไม่ได้เช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น