xs
xsm
sm
md
lg

บุญของสี่ยอดกุมาร ไม่ต้องรับผิดชอบนำฝ่าด่านเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ทั่วโลก

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


การเมืองเก่า ๆ ก็กลับมา นักการเมืองน้ำเน่าแบบเก่า ๆ ก็ยังเต็มไปหมดทั้งรัฐสภา การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นเก้าอี้รัฐมนตรีก็เกิดอย่างต่อเนื่อง ที่มาของสี่ยอดกุมาร ว่ากันว่ามีที่มาอย่างไรก็ออกไปอย่างนั้น การเมืองไม่มีมิตรแท้ไม่มีศัตรูถาวร มีบุญคุณ มีเนรคุณ มีเกื้อหนุน มีหักหลัง เป็นปกติ สี่ยอดกุมารนั้นในสายตาผม ถือว่ามีบุญ เพราะหลังมหาโรคระบาดโควิด-19 จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ทั่วโลก (Great depression) อย่างแน่นอน ซึ่งไม่ว่าใครเก่งแค่ไหนก็ตามมาบริหารเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาวะเช่นนี้มีแต่โดนด่า อย่างเก่งก็แค่ประคองตัวให้เสมอตัวได้เท่านั้น และเป็นภาระหนักมหาศาล อย่างที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์กล่าวว่าจะไปรักษาสุขภาพก็เป็นเรื่องที่ดีและเป็นบุญไม่ใช่น้อย ไม่ต้องมาแบกภาระหนักจนหลังแอ่น ลึก ๆ ผมเสียดายนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอยู่ไม่ใช่น้อยที่พยายามรอมชอมให้ประโยชน์กับประชาชนในเรื่องพลังงานและพลังงานทางเลือกพอสมควร ไม่ให้ประโยชน์บริษัท รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานไปเสียทุกอย่าง แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา โต๊ะจีนพรรคพลังประชารัฐแตกสลายเสียแล้ว

อันที่จริง โควิด-19 เป็นแค่แพะรับบาปว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจ แพะรับบาปว่าเป็นชนวนของวิกฤติเศรษฐกิจนั้นมีมาโดยตลอด เท่าที่ผมจำความได้ ก็ได้แก่

วิกฤติพลังงานในราวปี 2523 ที่เกิดวิกฤติพลังงานน้ำมันไปทั่วโลก ไทยเราเองได้รับผลกระทบหนักมาก น้ำมันราคาแพง เศรษฐกิจมีปัญหา เงินคงคลังของประเทศแทบไม่มีพอจะนำเข้าน้ำมันมาใช้ในประเทศ เราต้องปิดสถานีโทรทัศน์ในช่วงหกโมงเย็นถึงสองทุ่ม นายกรัฐมนตรีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ต้องวิ่งหาเงินมาจ่ายเงินเดือนข้าราชการ และมีการขอให้ข้าราชการช่วยประเทศชาติด้วยการงดรับเงินเดือนกันมาแล้ว แล้วค่อยมารับเงินเดือนหลังพ้นวิกฤติในคราวนั้น

วิกฤติราชาเงินทุน ราวปี 2533 ที่เริ่มจากการเล่นแชร์อันเป็นแชร์ลูกโซ่ ได้แก่ แชร์แม่นกแก้ว แชร์แม่ชม้อย ที่เป็นพนักงานการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่ก่อตั้งหลังวิกฤติพลังงานในปี 2523 เพื่อแก้ไขปัญหาพลังงานของประเทศ แม่ชม้อยเลยตั้งวงแชร์ลูกโซ่อ้างว่าค้าน้ำมันเสียด้วย และลามไปบริษัทเงินทุนและบริษัทหลักทรัพย์ ล้มกันระนาว เกิดความเสียหาย

วิกฤติต้มยำกุ้ง เกิดในปี 2540-41 เกิดฟองสบู่แตก (Bubble economy) อันเกิดจากเศรษฐกิจเติบโตร้อนแรงเกินไป มีการเก็งกำไรภาคอสังหาริมทรัพย์และในตลาดหุ้นกันมากเหลือเกิน จนสุดท้ายก็เปิดปัญหา หลังจากนั้นผู้คนก็ตกงานฆ่าตัวตายกันระนาว ของที่เคยขายแพง ๆ สมบัติผลัดกันชมก็ราคาร่วงซื้อกันได้ถูกแสนถูก แล้วหลังจากนั้นวิกฤติเศรษฐกิจก็ลามไปหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ทำให้ไทยเราที่มีชื่อเสียงจากเมนูต้มยำกุ้ง เลยพลอยได้รับเกียรติว่าเป็นต้นเหตุแห่งวิกฤติเศรษฐกิจ

วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2550-51 เกิดจากปัญหา subprime ในสหรัฐอเมริกา ราคาบ้านตกระนาว เกิดเศรษฐกิจถดถอย และแฮมเบอร์เกอร์อันเป็นอาหารที่มีชื่อเสียงของสหรัฐ

วิกฤติโควิด เกิดในปี 2662-63 ซึ่งเกิดการระบาดของโควิด-19 นำไปสู่การ lock down ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก งดการเคลื่อนไหว การเดินทาง เกิดการเว้นระยะทางสังคม อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ และโรคโควิดก็ระบาดไปทั่วโลก ทำให้โลกหยุดเคลื่อนไหวเดินทาง กิจการหลายอย่างต้องหยุดไปมากมาย ส่งผลกระทบใหญ่

มีข้อสังเกตสำหรับวิกฤติเศรษฐกิจต่าง ๆ ดังนี้

หนึ่ง พลังงาน ราชาเงินทุน ต้มยำกุ้ง แฮมเบอร์เกอร์ และโควิด ต่างเป็นแพะรับบาป และเป็นแค่ตัวกระตุ้นหรือตัวเหนี่ยวไกให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจทั้งนั้น แต่ไม่ใช่ต้นเหตุ

สอง วิกฤติเศรษฐกิจ เกิดขึ้นเป็นปกติ เป็นวงจร ตามทฤษฎีวัฏจักรธุรกิจ (Business cycle theory) อยู่แล้ว เกิดมาตั้งอยู่และดับไป เกิดมาตั้งอยู่และดับไป เป็นธรรมะเป็นเรื่องปกติ เป็นเช่นนั้นเอง ไม่มีสิ่งใดอยู่ยั้งยืนยง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เศรษฐกิจก็เป็นเช่นหนึ่ง มีฟื้น,ฟู, เฟื่อง, และแฟบ ช่วงแรกคือฟื้นตัว (Introduction) หลังวิกฤติเศรษฐกิจแต่ละครั้งผ่านไป ช่วงสองเป็นช่วงฟู (Growth) เศรษฐกิจจะเติบโตอย่างรวดเร็ว ช่วงสามเป็นช่วงเฟื่องสุดขีด (Maturity) ซึ่งหากมีสติจะเข้าใจได้ว่าขึ้นมาใกล้สุดแล้วก็ต้องลงเป็นธรรมดา และช่วงฟุบหรือวิกฤติเศรษฐกิจ (Decline) อันเป็นช่วงเศรษฐกิจถดถอยและลำบาก

ความยาวของวัฏจักรธุรกิจ (Business Cycle Length) ที่วนครบสี่ช่วง ยาวไม่สม่ำเสมอ ของไทยเองจะอยู่ราวๆ 8-12 ปี โดยส่วนใหญ่ประมาณ 10 ปี จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่หนึ่งครั้ง

สาม วิกฤติเศรษฐกิจทุกครั้ง จะมีดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจ (Leading economic indicator) ที่มักจะส่งสัญญาณเตือนภัยเราก่อนเสมอ สำหรับของไทยและหลายๆ ประเทศทั่วโลก ภาคที่ไม่ใช่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง (Non-real sector) เช่น การเงิน การธนาคาร หลักทรัพย์ ประกันภัย และอสังหาริมทรัพย์ มักส่งสัญญาณตกต่ำก่อน ภาคเศรษฐกิจเหล่านี้ไม่ได้เกิดผลผลิตจริงมากนักในทางเศรษฐกิจแต่เป็นการเก็งกำไรเป็นส่วนมาก และมักจะเริ่มจากความต้องการขายล้น โดยเฉพาะจะเริ่มต้นก่อนจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่ปีที่แล้วไตรมาสสองหรือไตรมาสสาม ผมนั่งรถไฟฟ้าสายบางใหญ่ตอนเย็นๆ มองไปสองข้างทางมีโครงการคอนโดมิเนียมสร้างขึ้นมาเต็มไปหมดเป็นดอกเห็ด แต่ไม่มีคนอยู่อาศัยจริง ปิดไฟมืดกันหมดเป็นส่วนใหญ่ เวลาค่ำคืน ทำให้เห็นชัดว่าภาคอสังหาริมทรัพย์เกิดปัญหาความต้องการขายล้นตลาดเสียแล้ว (Over supply) และภาคการเงิน/หลักทรัพย์ของไทยก็ค่อย ๆ ร่วงลงมาตั้งแต่ต้นปีนี้ และร่วงหนักมากหลังเกิดวิกฤติโควิดลุกลามไปทั่วโลก

ในสหรัฐอเมริกาดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer confidence index: CCI) เป็นดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่ดี สามารถทำนายผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (Gross domestic product: GDP) ได้ดีล่วงหน้า 3-6 เดือนได้ค่อนข้างดีมาก และเป็นสัญญาณเตือนได้ด้วยว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจหรือไม่ เพราะ GDP ของสหรัฐอเมริกามาจากการบริโภคภายในประเทศของนักบริโภคตัวยงชาวอเมริกัน หากไม่มั่นใจเรื่องเศรษฐกิจก็จะไม่บริโภคทำให้เศรษฐกิจแย่เอาได้ง่าย ๆ

ในประเทศไทย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยสภาหอการค้าไทยก็ตกต่ำลงเมื่อเกิดวิกฤติโควิด แต่ GDP ของไทยมาจากภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวมากกว่าการบริโภคภายในประเทศมากกว่ามาก อีกทั้งขนาดเศรษฐกิจในประเทศและประชากรที่ไม่ได้มากนัก ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอาจจะไม่สามารถเป็นดัชนีชี้นำเศรษฐกิจได้ดีเท่าสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่จีน

ลักษณะเฉพาะของวิกฤติเศรษฐกิจโควิด-19 ที่เกิดขึ้นนี้จะแตกต่างจากวิกฤติเศรษฐกิจในอดีตหลายประการ

หนึ่ง วิกฤติมหาโรคระบาดโควิด-19 จะนำไปสู่เศรษฐกิจตกต่ำครั้งยิ่งใหญ่ทั่วโลก หรือ The Great Depression ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกมาแล้วหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เที่ยวนี้น่าจะหนักกว่า สงครามนั้นหยุดการผลิตทุกอย่าง เพราะมีการทิ้งระเบิด มีการรบ แต่โควิด ทำให้ทุกคนต้องอยู่บ้านกันหมด ไม่มีการทำงานมากนัก ถึงแม้จะทำงานจากที่บ้านได้ (เป็นบางงาน) ที่สำคัญคือลามไปทั่วโลก ทำให้ทุกประเทศต่างแย่ ไทยจะเศรษฐกิจดีอยู่คนเดียวเป็นไปไม่ได้ ยิ่งเศรษฐกิจไทยเราพึ่งพิงกับต่างชาติมาก ไม่ว่าจะภาคการท่องเที่ยว และภาคส่งออกพังหมด ต่างประเทศเดินทางไม่ได้ มีวิกฤติ จะนำเข้าสินค้าหรือมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นไปได้ยาก แม้ประเทศไทยจะมีอาหารภายในประเทศเหลือเฟือ พออยู่พอดี พอเพียงได้ตลอดรอดฝั่งไม่ว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจหนักหนาเพียงใดบนโลกนี้ แต่เงินในกระเป๋าของประชาชนก็ยอบแยบลำบากอย่างแน่นอน

สอง ผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ กระทบกระเทือนต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงหรือ real sector อย่างหนักมาก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และภาคบริการ ซึ่งทำให้คนตกงานมากกว่า ว่างงานมากกว่า เรียกได้ว่ากระทบถึงรากหญ้าอย่างแท้จริง ประชาชนคนยากจนลำบากเดือดร้อนจริง ในขณะที่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งก่อน ๆ กระทบภาคเศรษฐกิจที่เป็น non-real sector มากกว่า ทำให้ประชาชนที่เดือดร้อนหรือลำบากมีไม่เท่า

สิ่งที่น่ากลัวคือเมื่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงกระทบกระเทือนมาก คนตกงาน ว่างงานมาก ความหิวโหยและลำบากทางการเงิน จะผลักประชาชนลงถนน และมีกำลังเรียกร้องที่ชอบธรรมเพราะปัญหาปากท้อง ม็อบต่อต้านรัฐบาลจะจุดติดได้ง่ายมาก ให้พึงระวัง

สาม การสิ้นสุดของวิกฤติเศรษฐกิจและการฟื้นตัวจะใช้เวลานานกว่า ปกติในอดีตวิกฤติเศรษฐกิจไทยใช้เวลาฟื้นตัวสั้นมากเพียงแค่หนึ่งปีก็กระเตื้อง ดีดตัวขึ้น แล้ววิ่งต่อได้ แต่ในครั้งนี้เนื่องจากกระทบไปทั่วโลก ลำบากกันทั่วโลก และในประเทศก็ลงไปกระทบกับปากท้องชาวบ้านภาคเศรษฐกิจรากหญ้าที่แท้จริง ใช้เวลาฟื้นตัวยาวนานกว่ามาก และ น่าจะลากยาวไปสามปี เป็นอย่างน้อย ดังนั้นใครมาเป็นรัฐบาลในช่วงเวลานี้ ต้องอดทน และต้องรับผิดชอบหรือถูกด่าไปยาวๆ สองสามปี จนกว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัว

สี่ หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะชนเพดานที่ประเทศไทยได้กำหนดไว้ แต่รัฐบาลต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะวิกฤติตามวิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์สำนัก Keynesian ปัญหาคือที่รัฐบาลจ่ายไปหัวละ 5000 บาทสามเดือน เงินใช้ไปมากมายก็จะหมดแล้ว แต่เศรษฐกิจจะตกต่ำลากยาวสามปี จ่ายไปได้สามเดือน จะทำอย่างไร ที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูง เพราะในอดีตพรรคการเมืองทุกพรรคก็ก่อหนี้สาธารณะเพื่อประชานิยมและประชารัฐ อย่างต่อเนื่อง ขาดวินัยการคลัง แล้วครั้งนี้วิกฤติใหญ่และลากยาว ยิ่งต้องใช้เงินมาก ไม่เช่นนั้นประชาชนที่ยากจนจะได้รับผลกระทบมาก ต้องเยียวยาและพื้นฟูเศรษฐกิจ ยิ่งต้องใช้เงิน แต่ GDP ก็ลดลง ปีนี้เท่าที่ประกาศตัวเลขมา GDP ก็ลดลงไปแล้วร้อยละ 8.5 ในขณะที่ หนี้สาธารณะจะต้องเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของประเทศไทยมีโอกาสชนเพดานได้ง่ายมากในวิกฤติครั้งนี้ ซึ่งหากต้องมาขอขยายเพดานการก่อหนี้สาธารณะแบบสหรัฐอเมริกาก็จะกลายเป็นประเด็นทางการเมืองอันร้อนแรงเช่นกัน

ทั้งนี้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลังได้ สรุปสถานะหนี้สาธารณะ ณ วันที่ 30 เม.ย. 2562 มีจำนวน 6,960,625.47 ล้านบาท หรือคิดเป็น 42.07 %ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP โดยแบ่งเป็นหนี้รัฐบาล 5,720,353.81 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 901,865.96 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ ที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 329,004.22 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 9,411.48 ล้านบาท หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนเม.ย.2562 จำนวน 6,960,625.47 ล้านบาท โปรดอ่านได้จาก https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/647616

ดังนั้นด้วยลักษณะเฉพาะของวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ถือว่าเป็นโจทย์ที่ยากมาก ดังนั้นการที่สี่ยอดกุมารลาออกจากพลังประชารัฐและลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องดูแลเศรษฐกิจออกไปคงจะโล่งใจเป็นอันมาก ที่ไม่ต้องแบกรับภาระอันหนักอึ้ง

ในขณะเดียวกับประชาชนก็คงรอดูหน้าทีมงานเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลและหวังว่าจะมีฝีไม้ลายมือเพียงพอที่จะพาประเทศไทยผ่านวิกฤติเศรษฐกิจอันหนักหน่วงในครั้งนี้ไปได้ในท้ายที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น