xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤต ศก. ‘โควิด-19’ รุนแรงกว่า ‘ต้มยำกุ้ง’ หวั่นคนตกงานเพิ่ม ขยับสู่การเมืองนอกสภา!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิกฤตเศรษฐกิจจากการระบาดเชื้อโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ “สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์” ฟันธง รุนแรงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง ‘คนรวย-คนจน’ ได้รับผลกระทบทั่วหน้า ชี้ประเทศไทยเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจ หากล่าช้า ไม่ตรงประเด็น สร้างตัวคูณและสร้างมูลค่าเพิ่มไม่ได้ โอกาสจะฟื้นเศรษฐกิจไปสู่ภาวะปกติเป็นเรื่องยากแสนสาหัส หวั่นคนจะตกงานมากขึ้น นำไปสู่วิกฤตทางการเมือง ทั้งเกมในสภา และนอกสภาจ่อคิว!

ปรากฏการณ์ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ทั่วโลกต่างก็ยอมรับว่าประเทศไทยสามารถจัดการได้ดี มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 3,236 คน เสียชีวิต 58 คน และยังเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการระบาดรอบ 2 เหมือนที่เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ แต่เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั้งกรณีทหารชาวอียิปต์ที่ติดโควิด-19 เข้าพักที่โรงแรม จ.ระยอง และบุตรสาวอุปทูตซูดานจะนำไปสู่การระบาดรอบ 2 ได้หรือไม่? ยังเป็นเรื่องที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเฝ้าติดตาม!

ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าการระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจ กิจกรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจต้องหยุดแบบเฉียบพลัน โดยเฉพาะห่วงโซ่ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเรียกว่า ‘พังพินาศ’ โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจการบิน ขนส่ง ธุรกิจ SME เจ๊งตามๆ กัน กระทบไปถึงประชาชนคนทำงาน ต้องตกงานแบบไม่ทันตั้งตัว

ไม่เพียงเท่านั้น ธุรกิจใหญ่ๆ หรือบริษัทข้ามชาติก็มีการทยอยปลดพนักงาน และในอนาคตอันใกล้นี้สถาบันการเงินต่างๆ ก็เริ่มเห็นเค้าลางหนี้เสีย NPL ที่จะสูงขึ้นเพราะคนไม่มีกำลังซื้อ ไม่มีเงินผ่อน








วิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นครั้งนี้ ทำให้สังคมเริ่มหันไปมองและเปรียบเทียบว่าวิกฤตโควิด-19 กับวิกฤตต้มยำกุ้ง อะไรรุนแรงกว่าและประชาชนคนไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาอย่างไรต่อไป

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง ระบุว่า ตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ ล่าสุดติดลบ 8% ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตทางการเงินในเอเชียในระหว่างปี 2540-2541

“จะเห็นได้ชัดว่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ไม่รุนแรง แต่วิกฤตครั้งนี้ยังไม่จบ และยังไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่”

หากจะมองเปรียบเทียบว่าวิกฤตครั้งนี้ไม่รุนแรงเท่าวิกฤตต้มยำกุ้ง จะมองได้จาก 3 ปัจจัยคือ

1.มองจาก GDP จะเห็นว่าวิกฤตโควิด-19 ติดลบน้อยกว่า เพราะ GDP ที่เกิดในวิกฤตต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจหดตัวรวมกันมากกว่า -10% ในปี 2540-2541 ขณะที่วิกฤตโควิด-19 ตัวเลขแบงก์ชาติปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2563 จากเดิมที่ติดลบ 5.3% ขยายเป็นติดลบ 8.1%

2.วิกฤตต้มยำกุ้ง มีการปิดตัวของสถาบันการเงินถึง 56 แห่ง ส่งผลกระทบต่อเจ้าของธุรกิจที่อยู่ในสถาบันการเงินและตลาดหุ้น แต่วิกฤตโควิด-19 ไม่ได้มีเหตุการณ์ปิดสถาบันการเงินแต่อย่างใด

3.ต้มยำกุ้งเงินสำรองเกลี้ยงหมด สินทรัพย์ทางการเงิน : เงินสำรอง น้อยกว่าหนี้ คือวิกฤตต้มยำกุ้งมีเงินสำรอง 3.8 หมื่นล้านต่อหนี้ต่างประเทศ 1 แสนล้านล้านบาท จึงต้องกู้ IMF เพื่อพยุงเศรษฐกิจ เป็นเงิน 1.72 หมื่นล้านบาท

แต่ครั้งนี้เรามีเงินสำรอง 2.2 แสนล้านบาท หนี้ต่างประเทศ 1.6 แสนล้าน จึงมีเงินสำรองมากกว่าหนี้กว่า 6 หมื่นล้านบาท

ในความเป็นจริงหากจะบอกว่าวิกฤตโควิด-19 รุนแรงกว่าต้มยำกุ้งก็เพราะว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่างกัน ต้มยำกุ้ง คนที่ได้รับผลกระทบ คือ พวกตลาดหลักทรัพย์ แบงก์ แต่วันนี้ ทั้งคนรวย คนจน ได้รับผลกระทบทั่วหน้า ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน บริษัทต่างๆ เจ๊งฉับพลัน โดยเฉพาะบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม เรือ ร้านอาหาร ที่เกิดขึ้นแม้ฟื้นตัวมาแล้วก็ยังไปไม่รอด

“ครั้งนี้จึงรุนแรงมากกว่า คนรวย คนจน กระทบมาก รุนแรงถึงขึ้นไม่มีอะไรจะกิน ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่เป็นทั่วโลก”

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง
อีกทั้งวิกฤตโควิด-19 เป็นมิติด้านสุขภาพ เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของคน ถึงขั้นต้องประกาศล็อกดาวน์ประเทศ ธุรกิจต่างๆ ถูกล็อกดาวน์ไปด้วย ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ไม่เคยเกิดมาก่อนในรอบร้อยๆ ปี ขณะที่ต้มยำกุ้ง ไม่ใช่เรื่องของสุขภาพ

นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถคือมิติในด้านการบริหารการจัดการ ที่ผ่านๆ มารวมไปถึงวิกฤตต้มยำกุ้ง ก็เป็นเรื่องของเศรษฐศาสตร์ในการบริหารจัดการเพียงอย่างเดียว แต่วิกฤตโควิด-19 ในการบริหารจัดการ เกี่ยวข้องทั้งหลักเศรษฐกิจ ด้านการเงิน ด้านระบบสุขภาพ

“ต้องบริหารให้เกิดดุลยภาพ ไม่ให้โรคติดเชื้อโควิด-19 ขยายหรือลุกลามออกไป ซึ่งจะต้องมีการกระตุ้นระดับหนึ่ง แต่ต้องไม่กระทบตลาดทุน เช่น เรามีมาตรการช่วยเหลือหุ้นกู้”

รศ.ดร.สมชาย บอกว่า การบริหารจัดการให้เกิดดุลยภาพทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงิน และสุขภาพ แบบนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก และบางที่จะส่งผลกระทบต่อมิติทางการเมืองทั้งๆ ที่รัฐบาลต้องการรักษาชีวิตคน แต่ก็จะมีคนบางกลุ่มที่ไม่กลัวโควิด-19 และประกาศชัดเจนว่า ‘ยอมเสี่ยงตายมากกว่าที่จะยอมอดตายอยู่กับบ้าน”

ดังนั้น วิกฤตโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้น จึงเป็นมิติที่มีความรุนแรงมากกว่า เรื่องของ GDP เรื่องปิดสถาบันการเงิน และเรื่องเงินกู้ IMF

โดยเฉพาะในมุมของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ การเมือง นั้นในเรื่องของการบริหารการเมือง จะมีคำตอบในด้านการบริหาร 4 ขั้นตอน เพื่อให้ประเทศก้าวผ่านปัญหาไปได้

ขั้นตอนที่ 1 คือการรักษาชีวิตคน ซึ่งทุกประเทศได้ทำไปแล้ว คือการจัดสรรงบประมาณจำนวนมหาศาลไปใช้ในการดูแลรักษา ป้องกัน เพื่อช่วยชีวิตคนให้รอดพ้นจากความตายจากเชื้อโควิด-19 จนนำไปสู่เหตุการณ์ล็อกดาวน์

“สังคมอาจจะมองว่า ทำไมรัฐถึงมองว่าเศรษฐกิจไม่สำคัญ แค่ให้คนรอดตายก็พอ จึงมีคำสั่งล็อกดาวน์ แต่ขั้นตอนนี้เราก็สามารถผ่านพ้นไปแล้ว”

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่ในขั้นตอนที่ 2 คือการฟื้นฟู และบทบาทสำคัญจะอยู่ที่ด้านเศรษฐกิจ ทำอย่างไรจะมีงบประมาณบริหารเพียงพอ คือ จะต้องมีงบประมาณเพียงพอที่จะจัดการไม่ให้เชื้อโควิด-19 บานปลายหรือเข้าสู่การระบาดรอบ 2 จะยิ่งแย่ไปกว่าเดิม

ไม่เพียงเท่านั้น จะบริหารจัดการอย่างไรที่จะมีงบประมาณเพียงพอ ซึ่งจะต้องใช้มาตรการทั้งการเงินและการคลังเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาคนตกงาน ที่มีแนวโน้มมากขึ้นทั้งบัณฑิตจบใหม่ บัณฑิตเก่าจบแล้วไม่มีงานทำ และคนที่ทำงานอยู่แล้ว แต่ถูกปลดออก บริษัทปิดกิจการ

“จะช่วยคนเหล่านี้อย่างไรให้เขาอยู่รอดได้ เพื่อให้เป็นเพียงการตกงานชั่วคราว รัฐก็มีมาตรการเยียวยาให้ 5 พันบาท เป็นเวลา 3 เดือน”

รวมไปถึงการป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก จนไปกระทบต่อตลาดทุน รัฐจึงต้องมีมาตรการมาช่วยบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น มีมาตรการในส่วนของ 4 แสนล้านบาทไปซื้อหุ้นกู้ของบริษัทในตลาดฯ

“มีมาตรการช่วยเรื่องเจรจาเรื่องปลอดหนี้ ลดดอกเบี้ย ช่วยต่ออายุ ช่วยเอสเอ็มอี”

สำหรับมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากงบ 4 แสนล้านบาทที่รัฐกู้มานั้น จะต้องทำให้เกิดประสิทธิภาพ เพราะหากไม่มีประสิทธิภาพ การฟื้นตัวก็จะช้า และถ้าล่าช้าในการกระตุ้น บริษัทต่างๆ จะเจ๊ง คนก็จะลำบากมากขึ้น

“การกระตุ้นเศรษฐกิจเวลานี้ต้องรวดเร็ว ตรงประเด็น ตรงเป้า มีตัวคูณเยอะ สร้างมูลค่าเพิ่ม รวดเร็วและต้องมีธรรมาภิบาลคือโปร่งใส ถ้าขาดความโปร่งใสก็จะเสียหายมาก ตรงนี้รัฐบาลกำลังทำอยู่ พ.ร.ก. 1.9 ล้านล้านบาท และ พ.ร.บ.งบประมาณปกติ”


หากจะเปรียบขั้นตอนแรกคืออยู่ในไอซียู ส่วนขั้นที่ 2 ก็เหมือนกับคนป่วยที่กำลังออกจากโรงพยาบาล จะเดินขากะเผลกบ้าง เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 ที่จะต้องเดินให้ได้ตามปกติ แม้จะเป็นเรื่องที่ยากมากๆ ก็ตาม

ขั้นตอนที่ 3 เป็นขั้นตอนที่ยากมาก คือการปรับตัวเศรษฐกิจไปสู่ภาวะปกติ เนื่องจากปีนี้เศรษฐกิจทั่วโลกติดลบ และของไทยจากตัวเลขแบงก์ชาติ เศรษฐกิจติดลบ 8.1% ดังนั้น ในปี 2564 เศรษฐกิจควรจะฟื้นหลังดำเนินมาตรการต่างๆ

“แต่จริงๆ ปีหน้าเศรษฐกิจจะฟื้นหรือไม่นั้น อยู่ขั้นตอนที่ 2 ถ้าขั้นตอนที่ 2 ดี ตรงประเด็น ตัวคูณเยอะ สร้างมูลค่าเพิ่ม เศรษฐกิจก็จะฟื้นเร็วขึ้น ปีนี้เราติดลบ 8.1% ปี 64 เริ่มฟื้น บวกขึ้นมา 4% และปี 2565 เพิ่มขึ้นเท่ากัน ก็จะเท่ากับ 8% ก็มาชดเชยที่ติดลบ ก็หมายความว่า เราต้องใช้เวลาจากนี้ไปอีก 3 ปี คือปี 2566 กว่าเศรษฐกิจของไทยจะขยายตัวเท่ากับปี 2562 GDP อยู่ที่ 2.4 %”

ตรงนี้คือภาพสะท้อนที่จะแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของเราจะไม่ปกติ และที่ไม่ปกติเพราะคนจากช่วงที่มีการคลายล็อกดาวน์ เราคิดว่าบริษัทเหล่านี้จะฟื้น กลับพบว่ามันเจ๊งตอนที่กำลังจะฟื้น เพราะคนจนลง คนกินข้าวน้อยลง สาขาต่างๆ เริ่มปิด ร้านอาหารเริ่มปิด ก็แปลว่าจำนวนคนแย่ลงไปอีกกว่าที่คาดไว้

“ถ้ารัฐกระตุ้นให้แรง จำนวนคนเจ๊งก็น้อย ก็จะทำให้ปีหน้า ตัวเลขการขยายตัวก็จะดีขึ้น ซึ่งต่อให้ดีอย่างไร ตัวเลขการขยายตัวก็จะอยู่ที่ 4 กว่าจะเข้าถึงปี 2566 ก็เป็นเรื่องที่สาหัส รัฐจะมีเงินเพียงพอหรือไม่ งบประมาณปกติที่มีอยู่ในปี 2564 และ2565 จะเพียงพอหรือไม่”


รศ.ดร.สมชาย บอกว่า ส่วนตัวก็มองว่างบประมาณอาจจะไม่เพียงพอ เมื่อถึงจุดนั้นอาจจะตั้งคำถามว่าเราจำเป็นต้องมีการก่อหนี้เพิ่มหรือไม่ ควรปรับความยืดหยุ่น ควรมีการปรับปรุงหนี้สาธารณะ จากกรอบวินัยทางการเงินการคลังที่ระบุไม่ให้เกิน 60% ต่อ GDP ก็อาจจะไปเป็น 100% ในการขาดดุลได้หรือไม่

ในขั้นตอนที่ 3 คือการปรับตัวเศรษฐกิจไปสู่ภาวะปกติ จึงเป็นขั้นตอนที่ยากและรัฐจะมีเงินเพียงพอหรือมีความสามารถในการพัฒนายุทธศาสตร์ที่จะทำให้เกิดการกระตุ้นแรงๆ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายนัก

ส่วนขั้นตอนสุดท้ายหลังยุคโควิด-19 เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญในเรื่องการแข่งขัน เรื่องของเทคโนโลยีใหม่ๆ เรื่อง AI เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ เรื่องของประเทศจีนกับอเมริกา ยังมีปัญหาเรื่องสงคราม ซึ่งลักษณะอย่างนี้ ประเทศต้องมีความสามารถ มีเงินเพียงพอในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งประเทศไทยยังมีข้อจำกัดมาก

“เราต้องมีการเตรียมพร้อมสำหรับปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง GDP ขยายตัวอัตราต่ำ จึงต้องมีมาตรการรองรับกับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย”

ปัจจุบันประเทศไทยได้ผ่านขั้นตอนแรกไปแล้ว ในเรื่องของการดูแลสุขภาพ และเรากำลังอยู่ในขั้นตอนที่ 2 ซึ่งเกี่ยวข้องกับมาตรการ 4 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นให้เกิดตัวคูณสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ด้านการเกษตร มีการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เพื่อสร้างขีดความสามารถด้านการเกษตร ก็จะทำให้ภาคการเกษตรดีขึ้นเยอะ แต่ถ้าทำแบบเดิมๆ ทุกอย่างก็จะช้าลงทันที หากกระตุ้นช้า และขั้นตอนที่ 3 ยังไปไม่ถึง คือการพัฒนาไปสู่ภาวะปกติซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด และตัวสุดท้าย คือ ความสามารถในการแข่งขันยังไม่เกิดขึ้น ก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้เช่นกัน

“จะกระตุ้นได้เร็วและมีประสิทธิภาพก็อยู่ที่การใส่เงิน อย่างภาคการเกษตร ต้องปรับปรุงตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ไปสู่ด้านการตลาด และต่อยอดในการพัฒนาสินค้าจากการเกษตรมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้ ไม่ใช่ให้เงินเขาไปกินไปใช้ก็หมดไป”


รัฐบาลจึงต้องเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะหากล่าช้าโอกาสเศรษฐกิจจะฟื้นก็เป็นเรื่องยาก รวมไปถึงแนวโน้มจะมีคนตกงานมากขึ้นจากเทคโนโลยี AI ที่จะมาแทนแรงงานคน จะเป็นแรงกดดันที่ใหญ่มาก ซึ่งจะมีคนตกงานมากกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเพราะวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้จะนำไปสู่วิกฤตทางสังคม จะเกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้น จะเกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นตามมา

“ปัญหาเศรษฐกิจ ความรู้สึกมันออกมาเป็นรูปธรรมมากขึ้น คือไม่มีอะไรจะกิน ซึ่งแรงกดดันตัวนี้ จากเศรษฐกิจไปสู่สังคม และสร้างปัญหา แรงกดดันทางการเมืองตามมา”

โดยเฉพาะผลกระทบทางการเมือง จะมีความไม่พอใจของประชาชนสูงนอกจากจะมีการต่อสู้ในสภาแล้ว ก็จะมีการเล่นเกมกดดันนอกสภามากขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 จึงอยู่ที่รัฐบาลจะบริหารจัดการอย่างไรให้มีประสิทธิภาพที่สุด!





กำลังโหลดความคิดเห็น