เอเอฟพี - สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เผยเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2563 กลับมาขยายตัวถึง 3.2% ซึ่งถือว่าฟื้นตัวดีเกินคาด หลังเผชิญภาวะหดตัวหนักสุดเป็นประวัติการณ์จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีน ในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. ขยายตัวที่ 3.2% หลังจากที่หดตัวแรง 6.8% ในช่วงไตรมาสที่ 1 ซึ่งถือเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่จีนเริ่มจดบันทึกสถิติจีดีพีรายไตรมาสในปี 1992
อย่างไรก็ตาม ยอดค้าปลีก (retail sales) ซึ่งเป็นดัชนีสำคัญที่ชี้วัดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในจีนยังคงต่ำกว่าที่คาดการณ์ โดยหดตัวลง 1.8% ในเดือน มิ.ย. เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ซึ่งอุบัติขึ้นที่เมืองอู่ฮั่น เมื่อปลายปีที่แล้ว ส่งผลให้ภาคธุรกิจล้มระเนระนาด เกิดการสูญเสียงานหลายร้อยล้านตำแหน่งทั่วโลก และคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) ครั้งใหญ่
อัตราการเติบโต 3.2% ของจีดีพีจีนในไตรมาสที่แล้วถือว่าดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เอาไว้ว่าน่าจะอยู่ที่ 1.3% เมื่อเทียบปีต่อปี แต่ก็ยังจัดเป็นตัวเลขที่ต่ำเป็นประวัติการณ์
NBS ระบุว่า เศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งปีแรกหดตัว 1.6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่อัตราการว่างงานในเขตเมืองลดลงจาก 5.9% ในเดือน พ.ค. เหลือเพียง 5.7% ในเดือน มิ.ย.
ทั้งนี้ ตัวเลขการจ้างงานในจีนถูกจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากคาดว่าจะมีบัณฑิตจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานอีกเกือบ 9 ล้านคนในปีนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์เชื่อว่าสถิติคนว่างงานที่แท้จริงอาจสูงกว่าที่ NBS รายงาน
ทอมมี อู๋ นักเศรษฐศาสตร์จาก Oxford Economics ระบุในรายงานเมื่อเดือนที่แล้วว่า สถิติการว่างงานที่อ้างอิงจากการสำรวจนั้นมักสะท้อนแรงกดดันของตลาดแรงงานที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากยังไม่รวมผู้อพยพตกงานซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนเติบโต 4.8% ในเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้นจาก 4.4% ในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นไปตามความคาดหมาย
นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าจีนอาจเป็นชาติมหาอำนาจรายเดียวของโลกที่เศรษฐกิจยังคงเติบโตได้ในปี 2020 เนื่องจากถูกโควิด-19 เล่นงานเป็นชาติแรก จึงมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้เป็นชาติแรกเช่นกัน