xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจจีนไตรมาส 2 พลิกโต 3.2% เชื่อครึ่งหลังจะฟื้นต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แฟ้มภาพซินหัว
ซินหัว/MGR Online - เศรษฐกิจจีนในช่วงไตรมาส 2 พลิกกลับมาเติบโต 3.2% จากแรงผลักดันของผลผลิตทางอุตสาหกรรมหลักที่ปรับตัวสูงขึ้น หลังไตรมาสแรกหดกว่า 6.8% ส่วนตลาดแรงงานก็ปรับตัวดีขึ้น โฆษกสำนักสถิติแห่งชาติจีนชี้ครึ่งหลังของปีนี้ จีนจะยังโตได้ต่อเนื่องแม้มีแรงกดดันด้านอุปสงค์ในประเทศ และสถานการณ์โควิดในระดับโลก

วานนี้ (16 ก.ค.) ข้อมูลทางการจีนเปิดเผยว่าเศรษฐกิจของจีนกลับมามีอัตราเติบโตอีกครั้งในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ หรือช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนที่ผ่านมา จากการกลับมาดำเนินกิจการและการผลิต หลังจากที่สามารถควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติ (国家统计局) ระบุว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ของจีนขยายตัวร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบปีต่อปีในไตรมาสที่ 2

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณารายครึ่งปี ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ตัวเลขจีดีพีของจีนอยู่ที่ 45.66 ล้านล้านหยวน (ราว 206.84 ล้านล้านบาท) ลดลงร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบปีต่อปี อันเนื่องมาจากการหดตัวของจีดีพีของจีนในไตรมาสที่ 1 ที่หดตัวถึงร้อยละ 6.8

เมื่อจำแนกประเภทของข้อมูลข้างต้นพบว่า ผลผลิตของอุตสาหกรรมหลักของจีนปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบปีต่อปี ขณะที่ผลผลิตของภาคบริการและอุตสาหกรรมรองปรับตัวลดลงร้อยละ 1.6 และ 1.9 ตามลำดับ โดยสำนักสถิติระบุว่า เศรษฐกิจจีนค่อย ๆ ฟื้นตัวจากผลกระทบเชิงลบของโรคระบาดในช่วงครึ่งปีแรก และมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและพละกำลังทางเศรษฐกิจของจีน

ส่วนผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่าของจีนซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบปีต่อปีในไตรมาสที่ 2 เนื่องจากบรรดาโรงงานได้เร่งการผลิตท่ามกลางการควบคุมโรคโควิด-19 ขณะที่การลงทุนในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบปีต่อปีในช่วงครึ่งปีแรก สวนทางกับช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมที่ผ่านมาที่มีลดลงร้อยละ 7.7

ด้านดัชนีผลผลิตภาคบริการ ของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบปีต่อปีในเดือนมิถุนายน สืบเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่วนยอดค้าปลีกซึ่งเป็นมาตรวัดการบริโภค ลดลงร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบปีต่อปีในไตรมาสที่ 2 ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรลดลงร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบปีต่อปีในช่วงครึ่งปีแรก ลดน้อยลงจากอัตราการลดลงช่วง 5 เดือนแรกของปี ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 6.3

ข้อมูลเดียวกันนี้ยังเปิดเผยว่าตลาดแรงงานของจีนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในเดือนมิถุนายน โดยการสำรวจพบว่าอัตราการว่างงานในเขตเมืองอยู่ที่ร้อยละ 5.7 ลดลงร้อยละ 0.2 จากเดือนพฤษภาคม

แฟ้มภาพซินหัว
คาดเศรษฐกิจจีนครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวต่อเนื่อง

นางหลิว อ้ายหัว โฆษกสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน เปิดเผยว่าจีนได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2563

“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มั่นคงในช่วงครึ่งปีแรกเป็นรากฐานอันแข็งแกร่งในการผลักดันเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง” นางหลิวกล่าวแถลง พร้อมอ้างถึงการฟื้นตัวของดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญหลายรายการในช่วงครึ่งปีแรกและไตรมาสที่ 2

โฆษกสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน เผยด้วยว่าผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้นสามารถควบคุมได้แล้วในภาพรวม และเศรษฐกิจของประเทศได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวที่แข็งแกร่งของจีน พร้อมเสริมว่าข้อได้เปรียบในระบบอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และตลาดของประเทศจะยังคงช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อไป

ขณะเดียวกันหลายอุตสาหกรรมและรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ที่ได้รับการส่งเสริมระหว่างการแพร่ระบาด จะยังคงช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่ผลที่ได้รับจากนโยบายเศรษฐกิจมหภาคจะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

“เรามั่นใจว่าเศรษฐกิจจีนจะยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง” หลิวกล่าว พร้อมเสริมว่าจีนมีรากฐาน ศักยภาพ และปัจจัยแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว

อย่างไรก็ดี หลิวยอมรับว่าจีนยังเผชิญกับข้อจำกัดในการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ ตลอดจนแรงกดดันในการรักษาเสถียรภาพของธุรกิจและการจ้างงาน ท่ามกลางความยากลำบากในการกลับมาเริ่มต้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าโลก เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในระดับโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น