ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แม้ว่าบรรดา “สหายสายเสี้ยมแห่งพลังประชารัฐ” จะพยายามบิดเบือนประเด็นอย่างไร แต่ความจริงก็คือความจริงวันยังค่ำว่า “เฮียกวง-สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ชู “โมเดลยุบสภา” เพื่อแก้ปัญหาพายุโควิด-19 ที่ถล่มประเทศไทยอย่างหนักหนาสาหัส
การกล่าวในระหว่างการมอบนโยบายต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมาของนายสมคิดเป็นเพียงการกล่าวถึง “ประเทศสิงคโปร์” ที่ตัดสินใจ “ยุบสภา” ด้วยเห็นว่า สถานการณ์ของประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นสำคัญจะต้องเผชิญกับวิบากกรรมที่รุนแรงกว่าหลายประเทศ จึงตัดสินใจยุบสภาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
ในส่วนของสิงคโปร์นั้น ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้กัดเซาะความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสิงคโปร์ ซึ่งรัฐบาลของนายลีเซียนลุงยอมรับว่า เศรษฐกิจปีนี้อาจจะหดตัวถึง 7% ซึ่งนับว่าแรงที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งประเทศขึ้นในปี 1965 เลยทีเดียว
แม้เป็นคนละเรื่องเดียวกัน และถูกบิดเบือนให้เป็นประเด็นทางการเมือง แต่ก็ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ทาง “เศรษฐกิจ” ของประเทศไทยออกอาการไม่สู้ดี “มากถึงมากที่สุด” ด้วยพิษสงของ “โควิด-19” ซึ่งสร้างความพินาศอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ด้วยประเทศไทยก็ไม่ต่างจากสิงคโปร์คือพึ่งพอการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่า เวลานี้คนไทยคงรู้และสัมผัสได้ด้วยตัวเองถึงภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ด ประชาชนคนเดินดินกินข้าวแกงอยู่ในสภาพเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า อยู่กันไปแบบลำบากยากแค้นแสนเข็ญ
แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นและกำลังจะตามมาเป็นระลอกก็คือการปรับโครงสร้างองค์กรด้วยการลดพนักงาน รวมไปถึงปิดตัวของบริษัทห้างร้านต่างๆ และนำมาซึ่งภาวะ “ตกงาน” ครั้งใหญ่
ใน “ภาพใหญ่” ธนาคารโลกออกรายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าจีดีพีจะลดลงอย่างน้อย 5% คนไทยกว่า 8.3 ล้านคนเสี่ยงตกงานและมีรายได้ลดลง นั่นหมายความว่า จะมีการเลิกจ้างหรือลดค่าจ้างลง และงานที่เคยมีทำก็จะไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิม โดย new mormal นี้จะเป็นสภาพปกติใหม่
ขณะที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานกกร.ก็เพิ่งออกมาบอกว่า ในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. 2563 แม้รัฐบาลจะคลายล็อกแล้ว แต่เศรษฐกิจยังหดตัวจากกำลังซื้อที่อ่อนแอของครัวเรือน การส่งออกและท่องเที่ยวยังไม่ดีขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศ
“คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 จะหดตัวลงลึกสู่อัตราตัวเลขสองหลัก” ประธาน กกร. กล่าว
ทั้งนี้ ในการประชุมรอบนี้ที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา กกร. ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ลงมาเป็น -5% ถึง -8% จากเดิม -3% ถึง -5% ขณะที่ปรับลดกรอบประมาณการการส่งออกมาเป็น –7% ถึง -10% จากเดิม -5% ถึง -10% และปรับลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมาที่ -1.0% ถึง -1.5% จากเดิม 0% ถึง -1.5%
สอดรับกับธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ และแบงก์ชาติ ที่ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ลงมาที่ -7.7% และ -8.1% ตามลำดับ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ก็เรียกร้องต่อรัฐบาลว่า ขอให้ต่อลมหายใจของผู้ประกอบการผ่อนปรนการชำระหนี้จาก 6 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนกันยายนนี้ ไปเป็นเวลา 2 ปี เพราะน่าห่วงว่าเมื่อมาตรการด้านการเงินในกลุ่มต่างๆ สิ้นสุดลง แต่ผู้ประกอบการยังไม่ฟื้นกลับสู่ภาวะปกติจะทำให้เกิดปัญหาว่างงานเพิ่มสูงขึ้นอีก
หันมาดูตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมก็ย่ำแย่เช่นกัน โดยนายอิทธิชัย ยศศรี รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนพฤษภาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 80.31 หดตัว 23.19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ระดับ 104.57 นับเป็นการหดตัวต่ำสุดในรอบ 101 เดือน หรือ 8 ปี 4 เดือนนับจากเดือนม.ค.2555 ฃ
สาเหตุเนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ยังส่งผลให้กิจกรรมสำคัญทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักเพราะหลายประเทศยังใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเข้มข้น ผู้ประกอบการจึงลดวันทำงานลง ทำให้ภาพรวมอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 52.84% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้อัตรากำลังการผลิต 26.86%
ตัวเลขจีดีพีที่คาดการณ์กันนั้น ถือเป็นการเติบโตที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ เมื่อเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ที่จีดีพีหดตัวที่ -7.6%”
และย้อนหลังกลับไปก่อนหน้านี้ไม่นานนัก ธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่งประกาศให้ขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลและงดซื้อหุ้นคืน เพื่อรักษาระดับเงินกองทุนและเงินสำรองแบงก์พาณิชย์ รับมือผลกระทบเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 จนสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดหุ้นโดยเฉพาะหุ้นแบงก์ที่ร่วงหนัก
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อธิบายว่า สาเหตุที่ขอให้ธนาคารพาณิชย์ทำเช่นนั้น เพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจไทย โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่และจบอย่างไร การรักษาภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยกว่าการรักษาภูมิคุ้มกันให้กับสุขภาพของคนไทย ซึ่งภูมิคุ้มกันที่สำคัญมากอันดับหนึ่งของแบงก์พาณิชย์ คือ ระดับเงินกองทุน เพื่อเป็นกันชนรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ การดิ้นรนหาทางพยุงชีวิต พยุงธุรกิจ เพื่อฟันฝ่าวิกฤตรอบนี้จึงมีอะไรแปลกๆ ออกมาให้เห็น แม้จะไม่ใหม่ แต่ก็ต้องคำว่า “ผิดปกติ” อยู่ไม่น้อย เช่นกลุ่มแสนสิริที่อยู่แถวหน้าในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีการออก “หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน(Perpetual Bond)” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” ด้วยไม่มีระยะเวลาไถ่ถอน โดยจูงใจแบบให้ดอกเบี้ยสูงลิ่ว
หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ของแสนสิริให้อัตราดอกเบี้ยในช่วง 5 ปีแรก 8.50% ต่อปี และจ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ซึ่งก็ขายเกลี้ยง 3,000 ล้านบาทภายในเวลาอันรวดเร็ว
มีการคาดหมายกันว่า บริษัทจดทะเบียนจะหันมาระดมทุนโดยการออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์กันมากขึ้น แต่ปัญหาคือ นักลงทุนมีความรู้ความเข้าใจตราสารหนี้ประเภทนี้ดีพอหรือยัง ด้วยเงื่อนไขสำคัญของหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ที่แตกต่างจากหุ้นกู้ทั่วไป ประกอบด้วย ผู้ออกจะสามารถไถ่ถอนก่อนครบกำหนดได้ภายใน 5 ปี ผู้ออกสามารถเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยได้ แม้บริษัทจะมีกำไรจากการดำเนินงานก็ตาม และกำหนดการไถ่ถอนเมื่อบริษัทเลิกกิจการ โดย หากไม่เลิกกิจการ จะไม่มีการไถ่ถอนตลอดชาตินี้และชาติหน้า
คำถามมีอยู่ว่า แล้วทำไมถึงต้องออกหุ้นกู้ในลักษณะนี้?
คำตอบก็คือเพราะเป็นช่องทางเดียวที่จะระดมทุนมาพยุงกิจการได้อย่างคล่องตัว หลังจากการเพิ่มทุนทำได้ยาก เนื่องจากภาวะตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวย และการกู้เงินจากสถาบันการเงินประตูแทบปิดตาย เนื่องจากสถาบันการเงินกลัวหนี้เสียจนเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ
มีข้อมูลจาก สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ปัจจุบันมียอดคงค้างจากหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ในระบบรวมมูลค่าประมาณ1.01 แสนล้านบาทจาก 11 บริษัท
อีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ “ธุรกิจการบิน” ที่ได้รับผลกระทบกระเทือนจากสภาวการณ์ในขณะนี้อย่างสาหัส เช่น “สายการบินนกสกู๊ต” ที่เพิ่งประกาศปิดตัวไปเมื่อเร็วๆ นี้ หรือ “ธุรกิจโรงแรม” ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่ประกาศเร่ขายเป็นจำนวนมาก
ขณะที่ใน “ภาพเล็ก” ประชาชนผู้หาเช้ากินค่ำต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า เศรษฐกิจแย่ ขายของไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการขายปกติหรือการขายในโลกออนไลน์ ส่วนมนุษย์เงินเดือนจำนวนไม่น้อยก็ถูก “ลดเงินเดือน” หนักหน่อยก็ถึงขั้น “ตกงาน” และไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปในทิศทางไหน
ตัวอย่างที่สะท้อนความจริงอันโหดร้ายของเมืองไทยในยามนี้ก็คือ กรณี “นายเกียรติศักดิ์ รักดี” เจ้าของรถตู้ที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เผชิญกับพิษโควิด-19 จนรายได้ที่เคยมีเดือนละ 400,00 บาทต้องหายวับไปกับตา และประกาศยกรถตู้ 9 คันให้ไปผ่อนต่อโดยที่ไม่ต้องดาวน์เพื่อลดรายจ่ายและให้ครอบครัวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้
หรือเรื่องเศร้าเคล้าน้ำตาเมื่อ “แม่” คนหนึ่งที่จังหวัดชุมพร ตัดสินใจขโมยเสื้อนักเรียนกระโปรง รองเท้านักเรียนหญิง รองเท้าผ้าใบนักเรียนชาย ในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง โดยให้เหตุผลว่า ตนเองและสามีตกงานจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด19 ทำให้ไม่มีรายได้ที่จะซื้อชุดให้กับลูกชายและลูกสาวที่จะใส่ไปโรงเรียน
ส่วน “การค้าขายออนไลน์” ที่ดูทรงว่าจะดีในโลกยุค New Normal ก็ทำท่าจะแย่ เมื่อเจ้าของแพลตฟอร์มชื่อดังอย่าง “เฟซบุ๊ก” ที่ปิดกั้นการมองเห็นของผู้ที่ใช้เป็นช่องทางในการขายของเว้นแต่ต้องจ่ายค่าโฆษณา
คาดการณ์กันว่า โควิด-19 จะไม่ได้ส่งผลในระยะสั้น หากแต่ว่าจะยาวนานไม่น้อยกว่า 2-3 ปีกันเลยทีเดียว
เห็นอาการอย่างนี้แล้ว อดคิดไม่ได้เหมือนกันว่า ถ้าเป็นแบบนี้ “ยุบสภา” เหมือนที่นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ทำดีกว่าไหม เพราะอย่างน้อยก็จะมีเงินหมุนเวียนไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แถมรัฐบาลใหม่ที่ “ผู้นำ” น่าจะเป็นคนหน้าเดิมก็จะสามารถจัดทัพขุนพลมาใช้ในการกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศได้อย่างเต็มที่ แถมรัฐบาลอาจมีเสถียรภาพกว่าเก่าอีก.