รอยเตอร์ - เศรษฐกิจสิงคโปร์เข้าสู่ภาวะถดถอยในทางเทคนิค หลังจีดีพีหดตัวต่อเนื่อง 2 ไตรมาสติด โดยในไตรมาสล่าสุดหดตัวเป็นประวัติการณ์ถึง 41.2% จากช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 ท่ามกลางแรงบีบคั้นจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
นักเศรษฐศาสตร์ที่ให้ข้อมูลกับรอยเตอร์เคยประเมินว่า จีดีพีไตรมาสล่าสุดของสิงคโปร์จะหดตัวราว 37.4% แต่ปรากฏว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบหนักต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเกาะศูนย์กลางธุรกิจแห่งนี้ โดยเฉพาะภาคก่อสร้างซึ่งหดตัวแรงถึง 95.6%
กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ เผยข้อมูลเบื้องต้นวันนี้ (14 ก.ค.) ว่า จีดีพีไตรมาสปัจจุบันหดตัว 12.6% เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งนับว่าหนักหนาสาหัสกว่าตัวเลข 10.5% ที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้
จีดีพีที่หดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาสเช่นนี้ ถือว่าเข้านิยามของภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทางเทคนิค (technical recession)
รัฐบาลสิงคโปร์ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีในปีนี้ลงสู่ระดับ -7% ถึง -4% ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ชั้นเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ
“หลังจากรัฐบาลเริ่มเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง เราคาดว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 แต่ก็จะยังอยู่ภาวะหดตัว” เซเลนา หลิง หัวหน้าฝ่ายวิจัยและยุทธศาสตร์การคลังของธนาคาร OCBC ให้สัมภาษณ์
รัฐบาลสิงคโปร์ได้อัดฉีดงบประมาณฉุกเฉินไปแล้วเกือบ 100,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19
พรรคกิจประชาชน (PAP) ซึ่งชนะศึกเลือกตั้ง และยื้ออำนาจบริหารไว้ได้อีกสมัยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยืนยันว่า การปกป้องตำแหน่งงานในสิงคโปร์ ถือเป็นภารกิจสำคัญที่หนึ่ง
นักวิเคราะห์ออกมาเตือนล่วงหน้าแล้วว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์จะหดตัวแรงในไตรมาสที่ 2 สืบเนื่องจากคำสั่งล็อกดาวน์ในช่วงเดือน เม.ย.- มิ.ย. หรือที่เรียกว่า “เซอร์กิต เบรกเกอร์” ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ต้องปิดตัวลงชั่วคราว เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส