xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พิษโควิด-19 ธุรกิจเจ๊งยับ! วุฒิ-ศักดิ์ ล้มละลาย อสังหาริมทรัพย์หดตัว 27%

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “เพราะขาดทุน รอไม่ได้” ในที่สุด “วุฒิ-ศักดิ์” คลินิกเสริมความงาม แบรนด์ทำสวยเด้งสวยด่วนชื่อดังได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง ขอฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลายด้วยมีหนี้สินล้นพ้นและขาดทุนยับเยินนับพันล้าน โอกาสกลับมาฟู่ฟ่าเป็นไปได้ยาก ยิ่งเจอพิษการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แทบตอกฝาโลงสนิท

พิษโควิด-19 เท่ากับเป็นตัวเร่งให้วุฒิ-ศักดิ์ ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยื่นล้มละลาย แต่หากย้อนกลับไปดูเส้นทางการเติบโตและร่วงหล่นจากเบอร์หนึ่งในวงการ ถือเป็นบทเรียนธุรกิจอย่าทำอะไรเกินตัว และต้องจดจำให้ขึ้นใจการลงทุนมีความเสี่ยง หากฝันหวานถึงกำไรงดงาม มั่นใจยืนหนึ่งแถวหน้าตลอดกาล อาจจะจบเห่แบบดังเร็วเจ๊งเร็ว

จุดเริ่มของคลินิกความงามชื่อดัง เริ่มต้นขึ้นในปี 2545 เมื่อ นายแพทย์วุฒิศักดิ์ ลิ่มพานิช อดีตพนักงานของ “นิติพลคลินิก” ตัดสินใจออกมาเปิดคลินิกเสริมความงามร่วมกับ พลภัทร จันทร์วิเมลือง และ กรณ์ กรณ์หิรัญ ภายใต้ชื่อ “วุฒิ-ศักดิ์” จุดกระแสการแข่งขันในธุรกิจนี้อย่างร้อนแรง และแซงหน้าผู้มาเก่าก่อนด้วยกลยุทธ์ทุ่มโฆษณา ดึงดาราดังมาเป็นพรีเซนเตอร์ ทั้งดาราไทยและเกาหลี เกาะกระแส k-pop ที่ไม่เคยตกเทรนด์เป็นจุดดึงดูดลูกค้า บวกกับความกล้าทุ่มทั้งลงทุนสร้างแบรนด์ เร่งขยายสาขา อัดโปรโมชั่นเต็มที่ เป็นกระบวนการทำตลาดแบบ 360 องศา เขย่าตลาดธุรกิจเสริมความงามจนสะท้านสะเทือน

โดยเฉพาะคอนเซ็ปต์กระชาก Consumer Insight ที่ว่า “เพราะความสวย…รอไม่ได้” และตอกย้ำโปรโมชั่น “เห็นผลตั้งแต่ครั้งแรก” เพื่อตอบสนองความต้องการ “สวยด่วน” ทำให้แบรนด์อื่นต้องหนีตายเน้นจุดขายอื่นไม่มีใครกล้าท้าชนกับวุฒิ-ศักดิ์คลีนิก โดยเฉพาะในตลาดกลุ่มแมสที่วุฒิ-ศักดิ์ เปิดสาขาในย่านชุมชนรองรับ เช่น ย่านมหาวิทยาลัย ตลาดสด โมเดิร์นเทรดและศูนย์การค้า จากคลินิกห้องแถวกลายเป็นคลินิกความงามขึ้นห้าง การใช้ดาราเป็นธงนำ นวัตกรรมเป็นเรื่องรอง การโปรโมทต่างๆ จะผ่านดาราเป็นหลัก ทำให้มี Brand Visibility สูง และเกิด Brand Awareness มากขึ้น

การเลือกโปรโมทแบรนด์ผ่านดาราทั้งไทยและเทศโดยเฉพาะเกาหลี หนุนส่งให้วุฒิ-ศักดิ์ คลินิก ติดลมบน ไม่เพียงแต่คลินิกเสริมความงาม แต่ยังออกผลิตภัณฑ์ เช่น “กลูตา เฮลติ” จำหน่ายทั้งภายในคลินิก และ 7-Eleven แตกไลน์เข้าสู่ตลาด Functional Drink ซึ่งเติบโตสูงสุดใน 7-Eleven กว่า 200% โดยอาศัยชื่อเสียงที่โด่งดังในหมู่แมสกรุยทาง เป็นการแตกไลน์สู่ช่องทางจำหน่ายใหม่ที่เหนือกว่าคู่แข่ง

ไม่เพียงบุกหนักขยายสาขานับร้อยภายในประเทศ แต่ยังก้าวสู่อินเตอร์ด้วยการขยายสาขาไปยังลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่าอีกด้วย ถือเป็นผู้นำในธุรกิจคลินิกความงามฯด้วยส่วนแบ่งการตลาดเกือบ 60%

การเติบใหญ่อย่างรวดเร็วด้วยกลยุทธ์การตลาดที่เต็มไปด้วยความกล้า ดุเดือด และมีลูกล่อลูกชนเยอะที่สุด แม้ว่าจะเคยมีข่าวฉาวเจอองค์การอาหารและยา (อย.) บุกจับกรณีรักษาผิวพรรณด้วยการนำสารกลูตาไธโอน ซึ่งไม่ได้ขึ้นทะเบียนยาในไทยมาฉีดให้ลูกค้า พร้อมโฆษณาชวนเชื่อช่วยให้ผิวขาวเรืองแสงเหมือนดารา แต่ว่า วุฒิ-ศักดิ์ ก็ฝ่าความอื้อฉาวคราวนั้นเดินหน้าไปต่อได้

ภายใต้การทุ่มเม็ดเงินโฆษณาหนักหน่วงปีละไม่ต่ำกว่าร้อยล้าน ทำให้รายได้และกำไรของ วุฒิ-ศักดิ์ คลินิก เติบโตแบบก้าวกระโดด ก่อนที่จะถึงจุดเปลี่ยนเมื่อปี 2557 เมื่อนายแพทย์วุฒิศักดิ์ ขายกิจการให้กับ บริษัท อีฟอร์แอลเอม จำกัด (มหาชน) หรือ EFORL ที่ทำธุรกิจจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ โดย EFORL ซื้อกิจการวุฒิ-ศักดิ์ ด้วยเม็ดเงินสูงถึง 4,500 ล้านบาท และนับจากนั้น นายแพทย์วุฒิศักดิ์ ไม่ได้เป็นเจ้าของคลินิกวุฒิศักดิ์ที่ตนเองก่อตั้งขึ้นมา

ที่น่าสนใจก็คือในเวลาต่อมา EFORL มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบริษัทโดยมี “วิชัย ทองแตง” เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญ

บริษัท EFORL ถึงจะทำธุรกิจมีกำไรดีพอควรแต่ไม่ได้มีเงินมากขนาด 4,500 ล้านบาท ดังนั้น จึงใช้วิธีกู้เงินจากธนาคารมากว่า 3,000 ล้านบาท ผ่านทั้งบริษัทตัวเอง และบริษัทลูกชื่อ WCIH และเอา WCIH มาถือวุฒิ-ศักดิ์อีกที ซึ่งเวลานั้น EFORL ตั้งใจจะเอาวุฒิ-ศักดิ์ เข้าตลาดหุ้น และเอาเงินที่ได้จาก IPO มาใช้หนี้

แต่ฝันหวานของลงทุนคราวนี้ไม่เป็นไปตามแผน เพราะสาขาที่มากถึง 120 แห่ง ทำให้มีต้นทุนสูง บวกกับเศรษฐกิจที่ซบเซา กำลังซื้อหดหาย การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงทำให้รายได้ของวุฒิ-ศักดิ์ พลาดเป้า และมีผลประกอบการขาดทุน แม้ผู้บริหาร EFORL จะพยายามปรับโครงสร้างธุรกิจ ลดสัดส่วนการถือหุ้น หาพันธมิตรใหม่ๆ มาพยุง พร้อมกับขยาย ธุรกิจสินค้าความงามภายใต้แบรนด์ “วุฒิ-ศักดิ์ คอสเมติกส์” แต่ก็ไปไม่รอด รายได้หด กำไรหาย ผลประกอบการขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ดูตัวเลขผลประกอบการย้อนหลัง จากปี 2555 วุฒิ-ศักดิ์ คลินิก มีรายได้ 2,896 ล้านบาท กำไร 594 ล้านบาท, ปี 2556 รายได้ 3,499 ล้านบาท กำไร 414 ล้านบาท พอปี 2557 EFORL ซื้อกิจการวุฒิศักดิ์คลินิก ปีนั้นมีรายได้ 2,922 ล้านบาท กำไรร่วงเหลือ 71 ล้านบาท ปี 2558 มีรายได้ 2,584 ล้านบาท กำไร 150 ล้านบาท, ปี 2559 รายได้ 1,623 ล้านบาท ขาดทุน 528 ล้านบาท, ปี 2560 รายได้ 481 ล้านบาท ขาดทุน 665 ล้านบาท, ปี 2561 รายได้ 364 ล้านบาท และปี 2562 มีรายได้ลดลงเหลือ 161 ล้านบาท และทยอยปิดสาขาลงเหลือเพียง 49 สาขาเท่านั้น


นักวิเคราะห์การลงทุนมองว่า เส้นทางจากเฟื่องฟูสู่รุ่งริ่งของวุฒิ-ศักดิ์ อาจเป็นเพราะกลุ่มผู้บริหารใหม่ไม่มีความชำนาญในการทำธุรกิจเสริมความงามเหมือนกับกลุ่มนายแพทย์วุฒิศักดิ์ ผู้ก่อตั้ง และอีกสาเหตุซึ่งสำคัญคือการแข่งขันที่รุนแรงและพฤติกรรมของหนุ่มๆ สาวๆ ที่อยากสวยด่วนสั่งได้เปลี่ยนไป อาการหัวปักของวุฒิ-ศักดิ์ ยังลากเอาบริษัท EFORL พลอยมีปัญหาไปด้วย โดยราคาหุ้นของ EFORL ตกจากจุดสูงสุดที่ 1.98 บาท มาอยู่ที่ 0.03 บาท

การทำอะไรใหญ่เกินตัวโดยที่ตนเองไม่มีความชำนาญ เมื่อเจอการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เป็นคลื่นซัดทำลายธุรกิจเสียยิ่งกว่าคลื่นสึนามิ ทำให้วุฒิ-ศักดิ์คลินิก มีทางเดินที่แคบลงและเจอทางตัน ตัดใจยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายดีกว่ายอมฝืนทนขาดทุนไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ EFORL อย่าง “วิชัย ทองแตง” ตัดสินใจทิ้งธุรกิจที่ไม่ทำรายได้อย่าง “วุฒิ-ศักดิ์”

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก ทนายเกิดผล แก้วเกิด ได้โพสต์สเตตัส ระบุว่า วุฒิศักดิ์คลินิก ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลล้มละลายกลาง ขอฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย เนื่องจากมีหนี้สินล้นพ้นตัวเป็นมูลค่าหนี้กับเจ้าหนี้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท แต่กิจการของลูกหนี้ยังมีเหตุอันสมควรและช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ จึงขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ โดยศาลล้มละลายกลางได้รับคำร้องเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 และมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เวลา 9.00 น.

หลังจากนี้ คงต้องรอดูกันต่อไปว่า วุฒิ-ศักดิ์ คลินิกเสริมความงาม จะหวนคืนสู่วงการ รอดพ้นจากวิกฤตที่เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะสถานการณ์ในเวลานี้นับจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ลากยาวมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนบัดนี้ ยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุดและไม่รู้ว่าจะจบลงแบบไหน ธุรกิจน้อยใหญ่ต่างทยอยล้มหายตายจากไป

ไม่แต่วุฒิ-ศักดิ์ เท่านั้นที่ต้องหาทางประคองเอาตัวให้รอด ในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้นก็ย่ำแย่ไม่ต่างกัน โดยศูนย์วิจัยศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย คาดการณ์เอาไว้ว่า ตลาดที่อยู่อาศัยทั้งปี 2563 จะหดตัว 27% และคาดว่ากว่าจะฟื้นตัวก็น่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ ประเมินว่าตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปีนี้ มูลค่าลดลง 27% จาก 5.7 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมา เหลือ 4.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์บ้านจัดสรร 2.4 แสนล้านบาท ติดลบ 24% คอนโดมิเนียม 1.8 แสนล้านบาท ติดลบ 30% ส่งผลให้สต็อกเหลือขายในภาพรวม มีโอกาสขยายตัว 5% ขึ้นไปแตะ 185,000 ยูนิต แม้ผู้พัฒนาอสังหาฯ จะปรับลดการเปิดโครงการใหม่ลงเกือบ 40% จากปีที่ผ่านมาก็ตาม

นี่ไม่นับรวมถึงภาคการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม สายการบิน ที่ยังมองไม่เห็นแสงสว่างจากปลายอุโมงค์ การบินไทยไม่รู้ไปทางไหน นกสกู๊ตปิดตัว บางกอกแอร์เวย์สจำต้องลดคน และธุรกิจค้าปลีกที่แม้จะกลับมาเปิดให้บริการได้ แต่ยอดขายก็ลดน้อยถอยลงไปจากเดิมเป็นอย่างมาก

การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เป็นวิกฤตใหญ่ที่ทุกองค์กรธุรกิจต้องฟันฝ่าเพื่อความอยู่รอดจริงๆ



กำลังโหลดความคิดเห็น