xs
xsm
sm
md
lg

“วุฒิศักดิ์” สวยไม่ทนจึงละลาย ขึ้นเขียง “ศัลยกรรม” ตัวเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - “วุฒิศักดิ์” สูงสุดคืนสู่สามัญ เปิดแผนกู้วิกฤตที่ยังไปไม่ถึงไหน ถึงขั้นยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง วิเคราะห์กลยุทธ์ ปัญหา ชะตากรรมทำไมมาถึงวันนี้ชนิดขาดทุนบักโกรก

การประกาศของ บริษัท วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด ที่ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ว่า มีหนี้สิน และขอให้ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการ โดยศาลกำหนดนัดไต่สวนคำร้องวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ไม่เป็นเรื่องที่แปลกเกินไปนัก

เพราะในช่วงหลังธุรกิจของวุฒิศักดิ์ก็ลุ่มๆ ดอนๆ โดยตลอด มีการเปลี่ยนเจ้าของและโมเดลการทำธุรกิจมาตลอดเช่นกัน

ล่าสุดแม้แต่ทีมบริหารใหม่ที่เพิ่งเข้ามาบริหารวุฒิศักดิ์ได้เพียงปีเศษ ด้วยการนำของ “กวิน สัณฑกุล” ตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดับบลิวซีไอ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ก็มีกระแสข่าวว่าลาออกไปแล้วเช่นกัน ทั้งๆ ที่กวินคือผู้ที่เข้ามาจุดประกายความสวยให้กับวุฒิศักดิ์อีกครั้ง

ด้วยประสบการณ์ในธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ และบริการด้านการเงิน กว่า 25 ปี จากหลายองค์กรทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น ผู้จัดการสาขาเทสโก้ โลตัสซีคอนสแควร์ ซึ่งเป็นเทสโก้โลตัสสาขาแรกในปี 2537 และเติบโตขึ้นมาถึงประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด (CMO) ในปี 2549 ก่อนที่จะออกมาร่วมงานกับรีไลแอนซ์ อินดัสทรีส์ (RHL) ธุรกิจค้าปลีกอาหารที่ประเทศอินเดีย

จากนั้นในปี 2557 กวินร่วมก่อตั้งและดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีดีซุปเปอร์มาร์เก็ต ก่อนย้ายไปร่วมงานกับบริษัท สยาม แม็คโคร จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายต่างประเทศ แล้วมาลงที่ วุฒิศักดิ์ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา


*** รายได้หด กำไรหาย ขาดทุนแทน
เมื่อไม่นิ่ง สถานภาพจึงแกว่งตลอดเวลา จากสาขาแรก เมื่อเริ่มกิจการปี 2545 จากกลุ่มเพื่อน 3 คนซึ่งประกอบไปด้วย นายแพทย์ วุฒิศักดิ์ ลิ่มพานิช, ณกรณ์ กรณ์หิรัญ และ พลภัทร จันทรวิเมลือง เป็นผู้ก่อตั้ง “วุฒิศักดิ์คลินิก” สาขาแรกในย่านงามวงศ์วาน ขยายเป็นมากกว่า 100 สาขาได้ในเวลาประมาณ 10 ปี ขึ้นเป็นผู้นำตลาดอย่างไม่มีใครทาบ

แต่วันนี้ แค่เอาตัวให้รอดก่อนเป็นเรื่องเร่งด่วนสำคัญกว่าความสวย

นายกวินเคยกล่าวเมื่อช่วงเข้ามาบริหารงานใหม่ๆ ว่า “ในอดีตวุฒิศักดิ์เป็นผู้นำตลาดความงาม มีมากกว่า 120 สาขา แต่ตอนนี้กลายเป็นอันดับ 3 ในจำนวนสาขา ตอนที่ผมเข้ามาใหม่ๆ ปลายปี 2561 มีรายได้เหลือแค่ 9 ล้านบาทต่อเดือนเท่านั้นเอง ส่วนต่างประเทศเดิมมี 14 แห่งใน 4 ประเทศ ตอนนี้ก็เลิกสัญญากันหมดแล้ว เราจึงต้องมีการปรับทิศทางกันใหม่”

ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้รวมในปี 2562 ไว้ที่ 500 ล้านบาท แยกเป็น คลินิก 200 ล้านบาท และ คอสเมติกส์ 300 ล้านบาท ส่วนภายใน 3 ปีจากนี้เป้าหมายรวมเป็น 4,000 ล้านบาท

ทว่า ถึงวันนี้ วุฒิศักดิ์ก็ยัง “แต่งหน้าทาปาก” ไม่เสร็จ


หากมองถึงงบกำไรขาดทุนของ บริษัท วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด ในปีงบการเงิน 2555-2560 จะพบว่าไม่มีเสถียรภาพเท่าที่ควร

โดยปี 2555 มีรายได้รวม 2,896 ล้านบาท ยังทำกำไรได้สูงถึง 594 ล้านบาท

ปี 2556 รายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 3,498 ล้านบาท แต่กำไรลดลงเหลือ 414 ล้านบาท
ปี 2557 รายได้รวมกลับลดลงมาเป็น 2,922 ล้านบาท และมีกำไรเพียง 71 ล้านบาท
ปี 2558 รายได้รวมก็ยังตกลงอีกเป็น 2,584 ล้านบาท แต่กำไรเพิ่มเป็น 149 ล้านบาท

แต่อาการเริ่มไม่ดีปี 2559 รายได้รวม 1,623 ล้านบาท และขาดทุน 528 ล้านบาท
สถานการณ์หนักขึ้นปี 2560 รายได้รวม 481 ล้านบาท และขาดทุน 664 ล้านบาท
ปี 2561 ทำรายได้ประมาณ 365 ล้านบาท (ไม่ส่งงบขาดทุน)
ส่วนปี 2562 ทำรายได้เหลือประมาณ 160 ล้านบาท (ไม่ส่งงบขาดทุน)


ช่วงปี 2556 ถือเป็นช่วงยุคทองของ วุฒิศักดิ์ คลินิก ก็ว่าได้ ที่เติบโตอย่างแข็งแรงทั้งรายได้และสาขา เพราะมีสาขารวมแล้วมากถึง 120 สาขาในไทย และยังได้ขยายธุรกิจไปต่างประเทศในกลุ่ม CLMV (สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า) เปิดรวมแล้วมากถึง 11 สาขาในขณะนั้น

ช่วงปี 2557 เป็นช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นครั้งใหญ่ เมื่อบริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) หรือ EFORL ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ โดยใช้บริษัทลูกคือ ดับบลิวซีไอ โฮลดิ้ง ได้เข้าซื้อหุ้นของ วุฒิศักดิ์ คลินิก มูลค่ารวมกว่า 3,500 ล้านบาท หรือมีสัดส่วน 60%

เมื่อหลังจากที่เข้าซื้อกิจการ วุฒิศักดิ์ คลินิก แล้ว ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะไปได้ดี เพราะแม้แต่ราคาหุ้นของ EFORL ก็ยังพุ่งสูงไปถึง 1.97 บาท/หุ้น ในเดือนกันยายน ปี 2557 แต่ล่าสุด วันที่ 11 กรกฎาคม 2563 ราคาหุ้นเหลืออยู่ที่ 0.030 บาท/หุ้น ลดลงมากถึง 98%

กลายเป็นว่า จากความตั้งใจเดิมที่ EFORL ไปกู้เงินมาเพื่อซื้อวุฒิศักดิ์ แล้วตั้งใจจะนำเข้าตลาดหุ้นเพื่อระดมทุนภายหลังแล้วนำมาคืนหนี้เงินกู้ แต่ก็ล่มไม่เป็นท่า ขณะที่ผู้ถือหุ้นใหม่เองก็ไม่มีความชำนาญในตลาดธุรกิจคลินิกบริการความงาม

ขณะที่วุฒิศักดิ์ก็ออกอาการย่ำแย่ เพราะเมื่อดูงบการเงินแล้วจะเห็นได้ว่ารายได้รวมตั้งแต่ปี 2557 ที่ EFORL ซื้อก็ลดลงมาตลอด และซ้ำร้ายกว่านั้นก็เริ่มขาดทุนด้วย

ส่วนบริษัทแม่ของวุฒิศักดิ์ คือ EFORL พบว่าปี 2562 มีรายได้รวม 1,994 ล้านบาท กำไรติดลบ 272 ล้านบาท มีหนี้สิน 2,548 ล้านบาท เนื่องจากผลกระทบของธุรกิจการขายและให้บริการด้านความงาม ที่มีรายได้ลดลง 42% นั่นเอง

ว่ากันว่า หนี้สินที่วุฒิศักดิ์แบกรับอยู่ในส่วนของคลินิกไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยืนยัน


*** ปัญหา “ใน-นอก” รุมเร้า

สถานภาพของวุฒิศักดิ์เป็นเยี่ยงนี้ก็ด้วย 2 สาเหตุหลัก คือ ปัญหาภายใน และปัจจัยภายนอก

ปัญหาภายใน อันเกิดมาจากระบบการจัดการที่ไม่ทันต่อการเติบโตที่รวดเร็ว การขยายธุรกิจแบบเดินไปข้างหน้าอย่างเดียว การลงทุน โดยเฉพาะเรื่องแฟรนไชส์ ซึ่งก่อนหน้านั้น วุฒิศักดิ์ขายแฟรนไชส์ไปแล้ว และตัวเลขเมื่อช่วงต้นปี 2562 มีแฟรนไชส์รวมประมาณ 55 สาขา ซึ่งบางแห่งก็ยังเปิด บางแห่งก็ปิดไปแล้ว ด้วยสาเหตุทั้งทำเลที่ไม่ดี หรือหมดสัญญา และมีปัญหากัน ทำให้เหลือเปิดเพียง 44 แห่ง แต่ถึงปัจจุบันยังไม่แน่ชัดว่าเหลือแฟรนไชส์กี่แห่ง

ช่วงนั้นมีการฟ้องร้องกันระหว่างผู้ซื้อแฟรนไชส์ กับ เจ้าของแฟรนไชส์ เพราะเจ้าของใหม่มองว่าการขายแฟรนไชส์ไม่น่าจะมีความเหมาะสมกับธุรกิจนี้ ต่างจากมุมมองของผู้บริหารเดิมที่ขายแฟรนไชส์เพราะต้องการสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจสะดุดบ้าง จึงเกิดเป็นคดีความมีการฟ้องร้องทางกฎหมายกันอยู่ แต่ทางแก้ไขของเจ้าของใหม่คือ การพยายามเจรจากับทางผู้ซื้อแฟรนไชส์เพื่อหาทางออกที่ดีร่วมกันเพื่อให้ปัญหาจบลงโดยเร็วชนิดที่ไม่ต้องบอบช้ำมากไปทั้งสองฝ่าย

ลูกค้าเองก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ทั้งจากสาขาที่ปิด หรือเรื่องการบริการจากแฟรนไชส์ ความเสียหายของลูกค้าในขณะนั้น แบ่งเป็น ลูกค้าของสาขาของบริษัทเองประมาณ 576 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 8 ล้านบาท ส่วนลูกค้าของสาขาแฟรนไชส์มีประมาณ 1 พันกว่าราย มูลค่าความเสียหายประมาณ 9 ล้านกว่าบาท

แน่นอนว่าภาพลักษณ์ของวุฒิศักดิ์ตอนนั้นย่อมส่งผลต่อลูกค้าลดลงด้วย

ข้อมูลเดือนสิงหาคม 2562 ระบุว่า วุฒิศักดิ์เหลือคลินิกของบริษัทเอง 19 สาขา และมีของแฟรนไชส์อีก 34 สาขา รวมทั้งหมดเป็น 53 สาขา โดยยังคงมีเรื่องฟ้องร้องกับทางแฟรนไชส์อยู่

ขณะที่จำนวนสาขา วุฒิศักดิ์ คลินิก 3 ปีย้อนหลังลดลงต่อนเนื่อง กล่าวคือ ปี 2560 ลดลงเหลือ 116 สาขา, ปี 2561 ลดลงเหลือ 74 สาขา และปี 2562 เหลือ 49 สาขา


ขณะที่ปัจจัยภายนอก อันเกิดมาจากการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดคลินิกความงามที่มีหลายแบรนด์เกิดขึ้นมามากมายราวดอกเห็ด และมีการขยายสาขากันมาก ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะเรื่องสงครามราคาและโปรโมชันแทนที่จะแข่งกันเรื่องเทคโนโลยีหรือการบริการอื่นๆ จึงกลายเป็นเรื่องรองลงมา ขณะที่หลายแห่งหลายแบรนด์ในตลาดระดับล่างก็มีการบริการที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจและไม่กล้าใช้บริการคลินิกความงาม

สอดรับกับการที่โรงพยาบาลหลายแห่งทั้งของรัฐและเอกชน เริ่มที่จะขยับขยายมาให้บริการในส่วนของคลินิกความงาม การศัลยกรรมมากขึ้นด้วย ทำให้ภาพลักษณ์ที่เป็นโรงพยาบาลย่อมดูดีกว่า มีความมั่นใจในสายตาของผู้บริโภคมากกว่า ลูกค้าของคลินิกความงามในภาพรวมของตลาดก็ลดลงไปอีก

กลยุทธ์ที่วุฒิศักดิ์ใช้ ด้วยการนำศิลปิน ดาราที่มีชื่อเสียงมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ แบรนด์แอมบาสซาเดอร์ ก็เป็นอีกกลยุทธ์ที่ค่ายอื่นนำมาใช้เช่นกันแม้ว่าจะไม่โดดเด่นเท่า

ล่าสุดปีที่แล้ว 2562 ก็เพิ่งจะดึง “ชา อึนอู” แห่งวงแอสโทร วงดังจากเกาหลี มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับแบรนด์วุฒิศักดิ์

หรือศิลปินดังอย่าง “เจมส์-จิรายุ ตั้งศรีสุข” ก็เคยเป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์มาแล้วเมื่อปี 2555 และกลับมารับตำแหน่งแบรนด์แอมบาสซาเดอร์อีกครั้งในปี 2560

หรือในอดีต “วุฒิ-ศักดิ์” ก็จ้างพรีเซ็นเตอร์ระดับแมสมา เช่น “ไก่-วรายุฑ มิลินทจินดา” ดาราและผู้จัดละครช่อง 3 “ปุ้ย-พิมลวรรณ” พิธีกรรายการผู้หญิงถึงผู้หญิง

ตลอดจน “แหม่ม-สุริวิภา” “ลิเดีย” และ “ต่าย-เพ็ญพักตร์” ก็ยังเคยเป็นมาแล้ว ซึ่งก็ถือว่าได้รับความสำเร็จอย่างมาก เพราะสร้างภาพลักษณ์น่าเชื่อถือที่ดี สร้างแรงดึงดูดที่ดี ลูกค้าให้ความมั่นใจใช้บริการ


อย่างไรก็ตาม ปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบสำคัญอีก คือ ปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่ดี ย่อมส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคทั้งหลาย แม้ว่าจะมีการพูดกันเสมอว่า ธุรกิจความงามอย่างไรเสียก็ยังเติบโตได้แม้ว่าเศรษฐกิจจะไม่ดีอย่างไรก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่าลูกค้าก็คงต้องใช้บริการในโปรแกรมที่ไม่แพงและธรรมดาเท่านั้น และลูกค้าของคลินิกความงามทั่วไปหรือแม้แต่ของวุฒิศักดิ์ก็ไม่ใช่กลุ่มระดับบน เพราะส่วนใหญ่คือระดับกลาง

จากตัวเลขจํานวนคลินิกความงามในไทย มีประมาณ 3,000-4,000 แห่ง มีทั้งที่เป็นเชนรายใหญ่ ขนาดกลาง และพวกร้านเดี่ยว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์ไทยเป็นหลัก แบ่งออกเป็น 1. ระดับบน เป็นกลุ่มโรงพยาบาล มีประมาณ 30 ราย เช่น ยันฮี, บางมด เป็นต้น, 2. ระดับกลาง เป็นกลุ่มเชนคลินิก มีประมาณ 100 ราย เช่น วุฒิศักดิ์คลินิก นิติพนคลินิก ธนพรคลินิก เป็นต้น และ 3. ระดับล่าง เป็นคลินิกทั่วไป มีมากกว่า 500 ราย

ขณะที่มูลค่าตลาดคลินิกความงามของไทยมีประมาณ 30,000 ล้านบาท และตลาดศัลยกรรมความงามมีมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท เช่นกัน การเติบโตที่ผ่านมาไม่มากนัก ดังนั้น จึงต้องเกิดการแข่งขันที่รุนแรง และวุฒิศักดิ์ก็โดนท้าทายจากศึกรอบด้านด้วย

ประกอบกับมาเจอปัญหาสถานการณ์โดวิด-19 ระบาดอย่างหนัก ยิ่งทำให้วุฒิศักดิ์ต้องสะดุดไป เหมือนกับอีกหลายธุรกิจที่ประสบปัญหาอยู่ และกลายเป็นตัวเร่งที่ทำให้วุฒิศักดิ์ ที่เจอกับสภาพหนี้สูงท่วมหัวอยู่แล้ว ต้องตกอยู่ในสภาพรายได้หดหายเพราะเปิดธุรกิจไม่ได้ กระทบเข้ามาซ้ำให้หนักหน่วงขึ้นอีก

ถึงขั้นล่าสุดนี้ ทาง EFORL ก็นำเอาโควิด-19 มาเป็นข้ออ้าง แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในการขอเลื่อนส่งงบการเงินมาแล้วถึง 2 ครั้ง งวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 โดยให้เหตุผลว่า บริษัท วุฒิศักดิ์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เนื่องจากถูกปิดสาขาตามมาตรการของรัฐบาล ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม และเพิ่งเปิดให้บริการได้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ทำให้บริษัท วุฒิศักดิ์ มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการรวบรวมข้อมูลเอกสาร จนกระทั่งเดือนเมษายน 2563 บริษัท วุฒิศักดิ์ ได้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง รวมถึงขาดแคลนบุคลากรด้านบัญชีการเงินที่ลาออกโดยไม่มีการส่งมอบงาน ทำให้วุฒิศักดิ์ไม่สามารถนำส่งข้อมูลงบการเงินให้ EFORL เพื่อจัดทำงบการเงินรวมได้ทัน 30 มิถุนายน 2563 จึงมีความจำเป็นขอผ่อนผันนำส่งงบการเงินภายในวันที่ 14 สิงหาคม 2563


*** เปิดแผนกู้ชีพ แต่เดี้ยงเสียก่อน
อันที่จริงแล้ว วุฒิศักดิ์ ก็มีการปรับตัวปรับยุทธศาสตร์และวางแผนกันใหม่ เพื่อกู้ชีพตัวเองให้ได้ตั้งแต่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยได้มือบริหารที่ชื่อ กวิน สัณฑกุล ที่เข้ามาดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดับบลิวซีไอ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เมื่อไม่นานมานี้

ด้วย 5 กลยุทธ์หลักที่หวังจะพลิกฟื้นคืนฝัน “วุฒิศักดิ์” ให้กลับมาอีกครั้ง

ทั้ง 5 กลยุทธ์คือ การขยายไลน์ธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่บริการหลักที่ทำอยู่เดิม คือ ทำสวยทำงาม เท่านั้น แต่จะเป็นการกระโดดเข้าสู่ธุรกิจความงามอย่างครบวงจร ประกอบด้วย 1. การบริการศัลยกรรมความงาม, 2. การบริการเมดิคัลแฮร์ซาลอน, 3. การยกระดับวุฒิศักดิ์ให้ต่างจากเดิมทั้งภาพลักษณ์และการบริการ, 4. การจำหน่ายสินค้าสุขภาพและความงามหรือคอสเมติกส์ และ 5. ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากร

ตามแผนงานในขณะนั้น คือ 1. ธุรกิจศัลยกรรม ได้มีการเจรจากับผู้ประกอบการรายใหญ่จากเกาหลีหลายรายในธุรกิจความงาม ไม่ว่าจะเป็น ไอดีกรุ๊ป และที่เจรจารวมกันเป็นกลุ่มเดียวกันคือ บาโนปากิ ดรีมส์ และ วอนจิน กับอีกรายคือ ไมน์ รวมทั้งหมด 3 กลุ่ม เพื่อหวังจะดึงมาร่วมทุนกันเปิดบริการศัลยกรรมในไทย โดยแผนนี้คาดว่าต้องใช้งบลงทุนประมาณ 150 ล้านบาท

2. ธุรกิจเมดิคัลแฮร์ ซาลอน คือธุรกิจร้านบริการที่เกี่ยวกับผมหรือแฮร์ซาลอน ตลอดจนการจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวกับเส้นผม เบื้องต้นจะลงทุนเองก่อน จะเปิดปีละ 1 แห่ง เช่นที่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต ลงทุนสาขาละ 15 ล้านบาท หลังจากนั้นจะเปิดขายแฟรนไชส์

3. การยกระดับร้านคลินิกวุฒิศักดิ์ ซึ่งหมายรวมถึงการปิดสาขา การเปิดสาขา การรีโนเวต การย้ายทำเลใหม่ และการเปิดบริการใหม่ๆ ในคลินิก ซึ่งแผนเดิมจะเปิดร้านเอง 25 แห่งภายใน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2562

4. การจำหน่ายสินค้าสุขภาพและความงามหรือคอสเมติกส์ ที่จะใช้ชื่อว่า บิวตี้เซ็นเตอร์ โดยสินค้าจะมีทั้งแบรนด์วุฒิศักดิ์ และสินค้าจากซัปพลายเออร์ โดยเน้นที่สินค้าที่ไม่ต้องมีเภสัชกร และเปิดบริการใหม่ๆ เช่น ทรีตเมนต์ ขายผลิตภัณท์เสริมอาหาร วางเป้าหมายเปิดให้ได้ 5 สาขา และจะเปิดขายแฟรนไชส์ในอนาคต ซึ่งโครงการที่เริ่มคือ การเจรจาเพื่อซื้อหุ้นเพิ่มเติมอีก 49% ในบริษัท สยามสเนล จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์สเนลเอท ซึ่งเดิมทางกลุ่มถือหุ้นอยู่แล้ว 51%

ทั้งนี้ แบรนด์วุฒิศักดิ์เริ่มต้นด้วยสินค้าเมจิกคอลเลกชัน เป็นเจลอาบน้ำและบอดี้โลชั่น ส่วน โอนแบรนด์หรือวุฒิศักดิ์ ซีเล็ค เป็นสินค้าที่ดีมีศักยภาพและพัฒนาเป็นของเราเอง มีเครื่องสำอาง สกินแคร์ อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เริ่มด้วยแบรนด์สเนลเอท ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสกัดจากเมือกหอยทาก

5. การจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากร เพื่อให้เป็นศูนย์ผลิต ฝึกอบรม พนักงานให้มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานมากขึ้น และรองรับการขยายตัวในอนาคตด้วย

ตามแผนงานที่วางไว้ในปี 2562 ขณะนั้น ต้องใช้งบลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท คาดหวังรายได้รวมประมาณ 400-500 ล้านบาท

กวินมองไปไกลกว่านั้นว่า วุฒิศักดิ์จะต้องกลับมามีรายได้เฉียด 4,000 ล้านบาทให้ได้ เหมือนกับยุคที่รุ่งเรืองในปี 2556 ที่เคยสูงถึงเกือบ 3,500 ล้านบาทมาแล้ว

ทว่า ในวันนี้ สถานภาพของ วุฒิศักดิ์ ขอให้ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการแล้ว

คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า “วุฒิศักดิ์” จะสามารถ “ศัลยกรรม” ตัวเองให้กลับมา “สวยวันสวยคืน” เหมือนในอดีต ได้อีกหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น