ภาค ปชช.3 จว.ตะวันออก ฟ้องศาลปกครองเพิกถอนผังใช้ที่ดิน EEC ชี้กระทบพื้นที่เกษตรกรรม-ขาดการมีส่วนร่วม “สกพอ.” แจงถอนประกาศแผนผังอีอีซี ต้องท้วงก่อนเดดไลน์ 10 มี.ค. 63 ยันดำเนินงานตามขั้นตอนทางกฎหมาย รักษาพื้นที่สีเขียวถึง 78.76%
วานนี้ (16 ก.ค.) เครือข่ายชุมชนและประชาชนใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก คือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง เข้ายื่นคำฟ้อง คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และคณะรัฐมนตรี ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้มีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่องแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2562
โดย นายสุทธิเกียรติ คชโส ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้รับมอบอำนาจ ระบุว่า จากการประกาศใช้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ทำให้พื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าวที่เดิมเป็นพื้นที่เกษตรกรรม หรือพื้นที่ชนบท ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเหลืองอ่อน และสีม่วง คือเป็นพื้นที่ให้รองรับอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น สามารถประกอบกิจการโรงงานได้ เช่น โรงงานกำจัดขยะของเสียอันตราย โรงไฟฟ้า ซึ่งกระบวนการจัดทำร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และร่างแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคนั้นไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตามหลักวิชาการผังเมือง ไม่มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ จึงเห็นว่าประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลสั่งเพิกถอนและกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ และให้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยให้ประชาชน ชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการอย่างมีความหมายก่อนจะมีการจัดทำแผนผังใหม่
อีกด้าน น.ส.ทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการสายงานเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ สายงานพื้นที่และชุมชน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า การจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินฯ สกพอ.ได้ดำเนินการทุกขั้นตอนตามกฎหมายเป็นที่เรียบร้อย หากต้องการท้วงติงต้องดำเนินการภายใน 90 วัน หลังจากประกาศฯ ผังเมืองอีอีซีมีผลบังคับใช้ หรือภายใน 10 ธ.ค. 62-10 มี.ค. 63 แต่ก็ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด
น.ส.ทัศนีย์กล่าวต่อว่า การจัดทำแผนผังอีอีซี สกพอ.ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ยืนยันรับฟังความเห็นคนในพื้นที่ รวม 40 ครั้ง โดยร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง หน่วยงานรัฐและเอกชนในพื้นที่จัดทำรายละเอียดแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ไม่มีการปรับพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดีมาเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม แต่ได้มีการกำหนดพื้นที่ส่งเสริมเกษตรกรรม และพื้นที่โล่งเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น รักษาพื้นที่ป่าไม้เท่าเดิม รักษาพื้นที่เกษตรเท่าเดิม โดยส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่รักษาสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ธรรมชาติถึง 78.76% พื้นที่เมืองและชุมชน 13.23% และพื้นที่อุตสาหกรรมมีเพียง 5.12% และพื้นที่อื่นๆ (เขตทหาร แหล่งน้ำ) 2.89%
วานนี้ (16 ก.ค.) เครือข่ายชุมชนและประชาชนใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก คือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง เข้ายื่นคำฟ้อง คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และคณะรัฐมนตรี ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้มีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่องแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2562
โดย นายสุทธิเกียรติ คชโส ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้รับมอบอำนาจ ระบุว่า จากการประกาศใช้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ทำให้พื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าวที่เดิมเป็นพื้นที่เกษตรกรรม หรือพื้นที่ชนบท ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเหลืองอ่อน และสีม่วง คือเป็นพื้นที่ให้รองรับอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น สามารถประกอบกิจการโรงงานได้ เช่น โรงงานกำจัดขยะของเสียอันตราย โรงไฟฟ้า ซึ่งกระบวนการจัดทำร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และร่างแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคนั้นไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตามหลักวิชาการผังเมือง ไม่มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ จึงเห็นว่าประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลสั่งเพิกถอนและกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ และให้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยให้ประชาชน ชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการอย่างมีความหมายก่อนจะมีการจัดทำแผนผังใหม่
อีกด้าน น.ส.ทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการสายงานเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ สายงานพื้นที่และชุมชน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า การจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินฯ สกพอ.ได้ดำเนินการทุกขั้นตอนตามกฎหมายเป็นที่เรียบร้อย หากต้องการท้วงติงต้องดำเนินการภายใน 90 วัน หลังจากประกาศฯ ผังเมืองอีอีซีมีผลบังคับใช้ หรือภายใน 10 ธ.ค. 62-10 มี.ค. 63 แต่ก็ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด
น.ส.ทัศนีย์กล่าวต่อว่า การจัดทำแผนผังอีอีซี สกพอ.ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ยืนยันรับฟังความเห็นคนในพื้นที่ รวม 40 ครั้ง โดยร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง หน่วยงานรัฐและเอกชนในพื้นที่จัดทำรายละเอียดแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ไม่มีการปรับพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดีมาเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม แต่ได้มีการกำหนดพื้นที่ส่งเสริมเกษตรกรรม และพื้นที่โล่งเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น รักษาพื้นที่ป่าไม้เท่าเดิม รักษาพื้นที่เกษตรเท่าเดิม โดยส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่รักษาสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ธรรมชาติถึง 78.76% พื้นที่เมืองและชุมชน 13.23% และพื้นที่อุตสาหกรรมมีเพียง 5.12% และพื้นที่อื่นๆ (เขตทหาร แหล่งน้ำ) 2.89%