ศูนย์ข่าวศรีราชา - ใกล้แล้ว !โครงการรถไฟฟ้าพัทยา หลังผลศึกษาความเหมาะสมและการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียคืบหน้ากว่า 80% ระบุชัดรูปแบบ “โมโนเรล” ดีสุด พร้อมวางเส้นทางสายสีเขียว 13 สถานี ระยะ 9 กม. ภายใต้งบลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท
วันนี้ (17 ก.ค.) นายสุธรรม เพ็ชรเกตุ รองปลัดเมืองพัทยา รักษาราชการแทนปลัดเมืองพัทยา ได้นำคณะหัวหน้าส่วนราชการและตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง เข้าร่วมประชุมและพิจารณารายงานผลการศึกษาเพื่อให้ความเห็นและข้อเสนอแนะร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การพัฒาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะเมืองพัทยาในรูปแบบรถไฟฟ้า อ.บางละมุง โดยมี นายพงศ์ทวี เลิศปัญญาวิทย์ ผู้จัดโครงการฯ ร่วมชี้แจงและบรรยายสรุป ณ ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี
ทั้งนี้ ตัวแทนบริษัทที่ปรึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสม ระบุว่า จากนโยบายของคณะกรรมการ EEC ที่มีเป้าหมายการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก คือ ระยอง ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ด้วยการสนับสนุนให้มีทั้งโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และการพัฒนาระบบขนส่งทุกรูปแบบ รวมทั้งการผลักดันให้เมืองพัทยาเป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของโลกนั้น
ในส่วนของการศึกษาความเหมาะสมเพื่อจัดทำระบบขนส่งสาธารณะแบบรถไฟฟ้าในเมืองพัทยา ได้กำหนดรูปแบบไว้ 3 ประเภท คือ แบบบนพื้นถนน หรือ Tram แบบยกระดับ หรือ BTS และ Monorail รวมทั้งแบบใต้ดินหรืออุโมงค์ ซึ่งผลจากการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียจำนวน 2 ครั้ง
ไม่นับรวมการประชุมย่อยที่มีการวิเคราะห์ปัจจัยหลักทางด้านกายภาพ สภาพถนนเดิม เส้นทาง และการเวนคืนที่ดิน รวมทั้งผลกระทบสิ่งแวดล้อมและงบประมาณการลงทุน
พบว่า โครงสร้างรถไฟฟ้าแบบคร่อมรางยกระดับ หรือระบบ Monorial มีความเหมาะสมกับพื้นที่เมืองพัทยามากที่สุด จึงได้เร่งดำเนินการออกแบบและวางแผนเส้นทาง สถานีรับส่ง สถานีจอด และศูนย์ซ่อม โดยเน้นการพิจารณาในเรื่องผลกระทบด้านการเดินทาง และทัศนียภาพ รวมถึงการเวนคืนเป็นหลัก
"ซึ่งผลการเสนอแนะจาก 4 เส้นทางการเดินรถเสียงส่วนใหญ่สนับสนุนให้ใช้สีเขียว ระยะทางรวม 8.3 กม. และอีก 1.8 กม.เพื่อมุ่งสู่ท่าเรือแหลมบาลีฮาย จาก 13 สถานีจอด โดยจะวิ่งตามเส้นทางจากสถานีรถไฟพัทยาที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าความเร็วสูง มาตามถนนสายมอเตอร์เวย์ เข้าถนนพัทยาเหนือไปถึงวงเวียนปลาโลมา ก่อนจะเลี้ยวเข้าถนนพัทยาสายสอง ไปจนถึงแยกทัพพระยา และมุ่งตรงสู่ท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย"
โดยเส้นทางดังกล่าวมีการกำหนดอัตราค่าโดยสารแรกที่ 16 บาท และ กม.ต่อไปอีกคิด กม.ละ 2.80 บาท แต่ไม่เกิน 45 บาทตลอดเส้นทางในรูปแบบเดียวกับรถไฟฟ้า BTS เพียงแต่อาจมีอัตราที่สูงกว่าเล็กน้อย เนื่องจากอัตราค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานใน จ.ชลบุรี สูงกว่า กทม.หรืออยู่ที่ 336 บาทต่อวัน ขณะที่ กทม.อยู่ที่ 331 บาทต่อวัน
ตัวแทนบริษัทที่ปรึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมยังระบุอีกว่า ในส่วนของแผนการดำเนินงานจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ระหว่างปี 2563-2564 ซึ่งจะกำหนดเส้นทางเดินรถที่ครอบคลุม
ระยะกลางช่วงที่ 1 ระหว่างปี 2565-2569 จะพัฒนารถไฟฟ้าสายสีเขียวและเส้นทางสายสีเหลือง ซึ่งเป็นระบบรถไฟรางคู่สายชลบุรี-สัตหีบ
ส่วนช่วงที่ 2 ระหว่างปี 2570-2574 จะพัฒนารถไฟฟ้าสายสีม่วง วิ่งจากเทศบาลเมืองหนองปรือเข้าสู่ถนนพัทยาใต้ มุ่งหน้าสู่สถานีพักรถบริเวณโรงเรียนเมืองพัทยา 8 ที่จะจัดทำเป็น Station หรือจุดเชื่อมโยงระหว่างกัน
ขณะที่แผนระยะยาว ระหว่างปี 2575-2579 จะพัฒนารถไฟฟ้าสายสีแดง ที่วิ่งจากซอยชัยพฤกษ์ 2 เข้าสู่ถนนจอมเทียนสายสอง ถนนพัทยาสาย 2 และวงเวียนปลาโลมา
สำหรับรถไฟฟ้าระบบ “โนโนเรล” จะมีลักษณะเป็น 2 รางวิ่งสวนกันบนสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่ยกสูงกว่าระดับถนนเดิมประมาณ 18 เมตร การก่อสร้างจะเน้นใช้พื้นที่เกาะกลางถนนเป็นหลัก หรือแนวถนนที่มีผลกระทบน้อย เพราะจะมีเพียงพื้นที่ก่อสร้างตอม่อ หรือ Pier ที่กว้างเพียง 1.8 เมตรเท่านั้น
โดยโครงการดังกล่าวจะทำการเวนคืนที่ดินไม่มากนัก แต่จะใช้งบประมาณลงทุนประมาณ 20,805 ล้านบาท รวมถึงการจัดทำอาคารจอดและจร หรือ TOD ในพื้นที่กว่า 40 ไร่ ที่จะมีทั้งส่วนชอปปิ้งมอลล์ โรงแรม คอนโดมิเนียม และสกายพาร์ค ในเนื้อที่กว่า 3.8 แสน ตร.ม.ที่มีมูลค่าการลงทุนอีก 8.7 พันล้านบาท
ขณะที่แนวทางการลงทุนจะได้มีการนำเสนอทั้งในรูปแบบของ PSC หรือ PPP ในลักษณะการร่วมทุนกับภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ร่างรายงานการศึกษานี้จะมีการปัจฉิมนิเทศเพื่อเสนอผลการศึกษาอีกครั้งภายในเดือน ส.ค.นี้