เครือข่าย ปชช.3 จังหวัดภาคตะวันออก ยื่นฟ้องศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน EEC ชี้ขาดการมีส่วนร่วม ปชช.อย่างแท้จริง-กระทบชีวิตความเป็นอยู่ เหตุขยายพื้นที่อุตสาหกรรมทำพื้นที่เกษตรกรรม-ชนบทหาย
วันนี้ (16 ก.ค.) เครือข่ายชุมชนและประชาชนใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก คือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง เข้ายื่นคำคำฟ้องคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และคณะรัฐมนตรี ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้มีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่องแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2562
นายสุทธิเกียรติ คชโส ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้รับมอบอำนาจ กล่าวว่า จากการประกาศใช้พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 261 ทำให้พื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าวที่เดิมเป็นพื้นที่เกษตรกรรม หรือพื้นที่ชนบท ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเหลืองอ่อน และสีม่วง คือเป็นพื้นที่ให้รองรับอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น สามารถประกอบกิจการโรงงานได้ เช่น โรงงานกำจัดขยะของเสียอันตราย โรงไฟฟ้า ซึ่งกระบวนการจัดทำร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และร่างแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคนั้นไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตามหลักวิชาการผังเมือง ไม่มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ จึงเห็นว่าประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลสั่งเพิกถอนและกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ และให้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยให้ประชาชน ชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการอย่างมีความหมายก่อนจะมีการจัดทำแผนผังใหม่
ด้านนางนันทวัน หาญดี ตัวแทนสมาคมเกษตรกรรมทางเลือกฉะเชิงเทรา กล่าวว่า สมาคมได้ร่วมฟ้องในคดีนี้ด้วยเนื่องจากในแผนผังอีอีซีได้มีการขยายพื้นที่สีม่วงเพิ่มขึ้นในเขตพื้นที่ต้นน้ำ อ.เขาหินซ้อน อ.สนามชัยเขต และ อ. ท่าตะเกียบ ซึ่งอยู่ในโซนพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ต้นน้ำเดิมของจังหวัด เพราะจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อทั้งพื้นที่เกษตรกรรม และเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ คนที่อยู่กลางน้ำ และปลายน้ำ ต้องเผชิญกับการปนเปื้อนโดยเฉพาะเกษตรกรรมทางเลือกที่ปัจจุบันเราส่งผลผลิตประเภทข้าวอินทรีย์ พืช ผัก ผลไม้ไปต่างประเทศกว่า 200 รายการและกระจายอยู่ในค้าปลีกภายในประเทศด้วย เมื่อขยายพื้นที่สีม่วงก็ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ดำเนินการอยู่
ส่วนนายอมรทรัพย์ ปัญญาเจริญศรี ตัวแทนประมงพื้นบ้าน อ.ศรีราชา และ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เราได้รับผลกระทบจากโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 1, 2 รัฐยังไม่ได้มีการแก้ไขปัญหา ถ้าแผนผังอีอีซีขยายพื้นที่สีม่วงเพิ่มขึ้นอีกก็ทำให้อาชีพประมงพื้นบ้านสูญพันธุ์ไปเลย แหล่งอาหารทะเลที่ปัจจุบันส่งออกต่างประเทศ ก็จะได้รับผลกระทบ
นายกัญจน์ ทัตติยกุล ตัวแทนเครือข่ายเพื่อนตะวันออก กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางเครือข่ายเสนอสำนักงานอีอีซี ให้ทำการประเมินผลประทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์เพื่อจะได้รู้ว่าควรจะพัฒนาไปทางไหนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนกับพี่น้องประชาชน แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ เมื่อมีการทำแผนผัง เครือข่ายก็มีการจัดเวที เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารับรู้ข้อมูล ข้อคิดเห็นของชาวบ้าน ขณะที่เวทีรับฟังความคิดเห็นที่ทางสำนักงานอีอีซีมีการจัดขึ้นประชาชนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงมีโอกาสน้อยที่จะได้เข้าร่วม ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับรู้ แต่สุดท้ายผังอีอีซีที่ออกมาก็พบว่ามีพื้นที่สีม่วงหรืออุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นถึง 1.6 แสนไร่ จากของเดิมที่มีอยู่แล้ว 2 แสนกว่าไร่ คิดเป็นเพิ่มขึ้น 64% โดย 2 แสนกว่าไร่เดิมนั้นปัจจุบันปัญหามลพิษรัฐยังจัดการแก้ไขปัญหาไม่ได้
“แผนผังอีอีซีที่ประกาศใช้พื้นที่มันเพิ่มขึ้นมากที่น่ากลัว คือ พื้นที่ที่กำหนดเป็นสีเหลืองอ่อน เขาเรียกว่าสีชุมชนชนบทสีนี้ห้ามโรงงานอุตสาหกรรมไว้แค่ประมาณ 5% อีก 95% ที่มีประเภทโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยบัญญัติไว้สามารถตั้งได้ก็คือซื้อที่ได้ คุณตั้งโรงงานได้เลยถ้าโรงงานนั้นไม่เข้าข่ายอีไอเอ สีเหลืองอ่อนนี้กินพื้นที่ 1 ใน 4 ของ 3 จังหวัด คือ 2.08 ล้านไร่ อย่าง อ.เขาชะเมา จ.ระยอง จากเดิมที่เคยเป็นพื้นที่สีเขียวในผังเมืองรวม ก็กลายเป็นพื้นที่สีเหลืองอ่อนในผังอีอีซี ฉะนั้นความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินน้อยลงมาก เรื่องคุณภาพสิ่งแวดล้อมวันใดวันหนึ่งก็อาจจะมีโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อผลกระทบมาสู่พวกเขา”