“สกพอ.” แจงกรณีเครือข่ายประชาชน 3 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี ยื่นศาลฯ ขอให้เพิกถอนประกาศแผนผังอีอีซี ต้องยื่นทักท้วงก่อนมีผลบังคับใช้ 90 วัน หรือตั้งแต่ 10 ธ.ค.-10 มี.ค. 63 ลั่นทุกอย่างดำเนินงานตามขั้นตอนทางกฎหมาย คำนึงถึงประชาชน รักษาพื้นที่สีเขียวและพื้นที่รักษาสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ธรรมชาติถึง 78.76%
น.ส.ทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการสายงานเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ สายงานพื้นที่และชุมชน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่เครือข่ายภาคประชาชน 3 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี ได้ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้เพิกถอนประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2562 ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 นั้น สกพอ.ขอชี้แจงว่า การจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินฯ สกพอ.ได้ดำเนินการทุกขั้นตอนตามกฎหมายเป็นที่เรียบร้อย หากต้องการท้วงติงต้องดำเนินการภายใน 90 วัน หลังจากประกาศฯ ผังเมืองอีอีซีมีผลบังคับใช้
“ขั้นตอนการดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามข้อกฎหมายที่กำหนดไว้ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเรื่อง แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. … เป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งคดีปกครองจะต้องยื่นคำฟ้องภายใน 90 วันนับแต่วันที่ประกาศผังเมืองมีผลบังคับใช้ หรือภายใน 10 ธ.ค. 62-10 มี.ค. 63 แต่ก็ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด” น.ส.ทัศนีย์กล่าว
สำหรับการจัดทำแผนผังอีอีซี สกพอ.ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ยืนยันรับฟังความเห็นคนในพื้นที่ รวม 40 ครั้ง โดยร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง หน่วยงานรัฐและเอกชนในพื้นที่จัดทำรายละเอียดแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค คำนึงถึงความสัมพันธ์ โดยมีกำหนดไว้ชัดเจนใน พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 มาตรา 30 วรรคสาม ขณะที่การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมต่อการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินฯ ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 มีการจัดรวมไม่ต่ำกว่า 40 ครั้ง แบ่งเป็นเวทีที่เป็นทางการกว่า 25 ครั้ง และเวทีที่ไม่เป็นทางการกว่า 15 ครั้ง และไม่มีการปรับพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดีมาเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม แต่ได้มีการกำหนดพื้นที่ส่งเสริมเกษตรกรรมและพื้นที่โล่งเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น
“การจัดทำผังเมืองได้รักษาพื้นที่ป่าไม้เท่าเดิม รักษาพื้นที่เกษตรเท่าเดิม โดยส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่รักษาสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ธรรมชาติถึง 78.76% พื้นที่เมืองและชุมชน 13.23% และพื้นที่อุตสาหกรรมมีเพียง 5.12% และพื้นที่อื่นๆ (เขตทหาร แหล่งน้ำ) 2.89% โดยปรับลดพื้นที่ที่สภาพปัจจุบันไม่เหมาะสมต่อการทำการเกษตรแล้วเพียง 8.29% เพื่อเตรียมรองรับการใช้ประโยชน์สูงสุดในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยภาพรวมยังเป็นพื้นที่เดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง และยังจัดระบบให้มีประสิทธิภาพ” น.ส.ทัศนีย์กล่าว
นอกจากนี้ สกพอ.และกรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) ดำเนินการชี้แจงและทำความเข้าใจแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินฯ กับกลุ่มเครือข่ายเพื่อนตะวันออกเป็นการเฉพาะมาโดยตลอด ดังนี้ อาทิ ทำหนังสือชี้แจงระหว่างเดือน ก.ค. 62-10 มี.ค. 63 สกพอ.ร่วมกับ ยผ. ได้มีหนังสือตอบชี้แจงประเด็นข้อร้องเรียนทั้งหมดมากกว่า 10 ครั้ง ผลการร่วมประชุมหารือเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 62 ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม วันที่ 30 ส.ค. 62 ได้มีกลุ่มชาวบ้านตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา และ อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี มากกว่า 60 คน เดินทางมายื่นหนังสือนำเรียน นรม. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้เดินหน้าโครงการ EEC และขอให้เร่งรัดประกาศใช้แผนผัง EEC โดยเร็ว เนื่องจากเป็นความต้องการของคนในพื้นที่ที่แท้จริง โดยในการเรียกร้องให้เดินหน้าโครงการ EEC ครั้งนี้ ได้มีประชาชนในพื้นที่ร่วมลงชื่อจำนวนมากกว่า 500 คน