xs
xsm
sm
md
lg

วังวนแห่งอำนาจ : จุดที่รัฐนาวาเสี่ยงต่อการอับปาง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
คำวังวนหมายถึงการไหลเวียนเป็นวงกลม เช่น วังน้ำวนหมายถึงจุดที่กระแสน้ำวนจนกลายเป็นแอ่งลึก ซึ่งเกิดจากกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวมาปะทะกับสิ่งกีดขวาง ซึ่งอยู่ใต้น้ำกลายเป็นกระแสน้ำวน ซึ่งเป็นจุดที่คนขับเรือต้องเลี่ยง ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องระมัดระวังมิให้เรือเสียการทรงตัว และพลิกคว่ำแล้วถูกกระแสน้ำดูดเรือให้จมลงไปอยู่ใต้น้ำ เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ที่มากับเรือ

ในทำนองเดียวกัน วังวนแห่งอำนาจเกิดจากกระแสแห่งความอยากมี อยากเป็น ทำให้เกิดการช่วงชิงอำนาจ โดยเฉพาะอำนาจรัฐและเป็นเหตุให้เกิดการสลับสับเปลี่ยนกันระหว่างผู้ที่ครองอำนาจ และผู้ที่ต้องการช่วงชิงอำนาจจนกลายเป็นวังวนแห่งอำนาจ และเป็นจุดเสี่ยงสำหรับรัฐบาล ซึ่งเปรียบเสมือนเรือซึ่งมีผู้นำรัฐบาลเป็นกัปตัน และมีรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลเป็นลูกเรือ โดยมีประชาชนเป็นผู้โดยสาร

ในปัจจุบัน รัฐนาวาไทยซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือบิ๊กตู่ เป็นกัปตัน กำลังแล่นผ่านวังวนแห่งอำนาจ ซึ่งมีความเสี่ยงทางการเมืองสูงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

ถ้าย้อนไปดูอดีตที่ผ่านมา รัฐนาวาภายใต้การบังคับการของบิ๊กตู่ ได้ผ่านวังวนแห่งอำนาจมาแล้วหลายจุด และผ่านมาได้ทุกจุด โดยอาศัยกลยุทธ์ทางการเมืองของคนใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือบิ๊กป้อม ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงทางการเมืองคอยประคับประคองบิ๊กตู่มาตลอด

เริ่มตั้งแต่การวางแนวทางขึ้นสู่อำนาจในระบอบประชาธิปไตย โดยการร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการแต่งตั้ง ส.ว. 250 คน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หลังจากอยู่ในตำแหน่งผู้นำรัฐบาลในระบอบเผด็จการมาแล้ว 5 ปีกว่า ตามมาด้วยการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ ส่งผู้ลงสมัคร ส.ส.และได้รับเลือกเข้ามามากเป็นอันดับ 2 รองจากพรรคเพื่อไทย แต่สามารถชิงการนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยอ้างความชอบธรรมที่พรรคพลังประชารัฐได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้งมากเป็นอันดับหนึ่งมากกว่าพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้ ส.ส.มากกว่า และสามารถตั้งรัฐบาลผสม โดยมีพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคเล็กอีกหลายพรรคได้สำเร็จ แต่เป็นความสำเร็จบนรอยมลทินทางการเมืองในสายตาของนักการเมือง นักวิชาการ และประชาชนที่ยึดธรรมเนียม และวิธีปฏิบัติทางการเมืองที่ว่า พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่ง จะต้องได้รับสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลก่อน ถ้าจัดตั้งไม่ได้โอกาสจึงตกมาเป็นของพรรคที่รองลงมา

ครั้นได้เป็นรัฐบาลแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ได้เผชิญกับวิกฤตศรัทธาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้เท่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ และสังคม จะมาตีตื้นเล็กน้อยจากการแก้การระบาดของโรคโควิด-19 แต่ก็ไม่มากพอที่จะไปลบล้างความอ่อนด้อยในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาสังคมได้ และที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากคนส่วนใหญ่มองว่า การแก้ปัญหาโควิด-19 เป็นผลงานของบุคลากรทางการแพทย์ และความร่วมมือของประชาชน ส่วนที่เป็นผลงานอันเกิดจากนโยบายรัฐบาลเช่น การให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่เป็นที่ประทับใจ และถ้ามองไปถึงการกู้เงินด้วยแล้ว ยิ่งเป็นห่วงกังวลกับการใช้หนี้มากกว่า

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลภายใต้การบังคับการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงพบกับภาวะเสี่ยงต่อการอับปางเป็นอย่างมาก เมื่อเผชิญกับวังวนแห่งอำนาจ อันเกิดจากการที่พรรคพลังประชารัฐผลัดเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรค และกดดันให้มีการปรับ ครม.ซึ่งมุ่งตรงไปที่ทีมเศรษฐกิจเป็นหลัก ดังนั้น ภาระหนักในการตัดสินใจปรับหรือไม่ปรับ จึงทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำรัฐบาลถึงทางตันทางการเมือง ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ถ้าไม่ปรับก็จะถูกกดดันโดยแกนนำในพรรคพลังประชารัฐชุดใหม่ ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง โดยตนเองหรือกลุ่มของตนเองเข้าไปมีตำแหน่งในรัฐบาล

2. ถ้าปรับโดยที่กลุ่มผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐชุดใหม่ไม่ได้รับตำแหน่งตามที่ต้องการ การตีรวนทางการเมืองก็จะเกิดขึ้นทำให้รัฐบาลทำงานได้ยาก โดยเฉพาะในการเสนอร่างกฎหมายสำคัญ เช่น พ.ร.บ.งบประมาณ เป็นต้น

ด้วยเหตุปัจจัย 2 ประการข้างต้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี จึงมีทางออกสองทางคือ

1.ยุบสภาฯ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งกันใหม่

2. ลาออกเพื่อเปิดทางให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ โดยที่ตนเองมีโอกาสได้รับเลือกเข้ามาอีกก็ได้ หรือปล่อยให้สภาฯ หาคนใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถเข้ามาก็ได้

แต่ทางออกที่ดีที่สุดในสองทางข้างต้นก็คือ การลาออกเพราะไม่ต้องเสียเวลาในการเลือกตั้ง และเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณด้วย ทั้งการเลือกตั้งโดยไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ คงจะไม่ทำให้บ้านเมืองดีขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น