เมืองไทย 360 องศา
“การปรับคณะรัฐมนตรีเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป” คำพูดล่าสุดของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หลังจากรับทราบข่าวการแถลงลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ของ “กลุ่มสี่กุมาร” อันหมายถึง นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อดีตเลขาธิการพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม อดีตรองหัวหน้าพรรค และ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตกรรมการบริหารพรรค เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ก็ยังเกิดแรงกระเพื่อมขึ้นมาอย่างต่อเนื่องภายในพรรคพลังประชารัฐ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ที่มี “บิ๊กป้อม” หรือ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ขยับจากตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์ของพรรค มาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่แล้วก็ตาม
เพราะหลังจากสิ้นเสียงการแถลงลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ของ “กลุ่มสี่กุมาร” ดังกล่าว ก็มีการเคลื่อนไหว “ทวงโควตา” รัฐมนตรีออกมาจากกลุ่มก๊วนภายในพรรคพลังประชารัฐทันควันเหมือนกัน
โดยคำพูดของ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองเลขาธิการพรรค ที่ยืนยันเหมือนกับตอบโต้กลับไปว่า โควตารัฐมนตรีที่กลุ่มของนายอุตตม และ นายสนธิรัตน์ นั่งอยู่ เป็นโควตาของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่โควตากลาง หรือโควตาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่อย่างใด โดยอ้างว่า การที่บุคคลดังกล่าวไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในช่วงที่ผ่านมา ก็ไปในตำแหน่งหัวหน้าพรรค และ เลขาธิการพรรค ดังนั้น เมื่อพ้นจากตำแหน่งในพรรค และพ้นจากสมาชิกพรรคไปแล้ว ก็ต้องถือว่าต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีไปด้วย ความหมายก็คงประมาณนั้น
หากฟังแบบนี้ ก็ต้องถือว่าเป็นท่าทีที่แข็งกร้าว “สวนออกมาทันควัน” หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันถึง การมี “โควตากลาง” หรือโควตาของนายกรัฐมนตรี ที่เปิดทางให้กับการเชื้อเชิญคนนอกที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมไปถึงการสงวนเอาไว้บางตำแหน่ง อย่างที่รับรู้กันก่อนหน้านี้ ก็คือ ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รวมไปถึงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก่อนหน้าที่จะมาเป็นประธานยุทธศาสตร์ของพรรค จนมาถึงหัวหน้าพรรคในปัจจุบัน
นอกเหนือจากนี้ ก็ยังมีตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย ดำรงตำแหน่งนี้อยู่ หรือแม้แต่กรณีของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ มาตั้งแต่ต้นแล้ว รวมไปถึงอีกบางตำแหน่ง เช่น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย และ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม นี่ก็ใช่
แน่นอนว่า หากพิจารณาจากบุคคลและตำแหน่งดังกล่าว ก็ต้องบอกว่า “โควตากลาง” หรือโควตาของนายกรัฐมนตรี ย่อมต้องมี แม้ว่าในกรณีของ “กลุ่มสี่กุมาร” อาจจะมีการเหลื่อม หรือทับซ้อนกันบ้าง โดยเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่บังเอิญว่า คนที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน คือ นายอุตตม สาวนายน ที่เคยเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคมาก่อนเท่านั้นเอง แต่หากพิจารณาจากความเป็นจริงแล้ว ตำแหน่งดังกล่าวมั่นใจได้เลยว่า “ต้องเป็นโควตากลาง” เป็นโควตาที่นายกรัฐมนตรี ต้องสงวนเอาไว้ สำหรับการพิจารณาปรับเปลี่ยนหรือไม่ในภายหน้า
ขณะเดียวกัน ในกรณีของตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ปัจจุบัน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ยังนั่งอยู่ แม้ว่าในบางมุมอาจมีความทับซ้อนกันอยู่บ้างระหว่างโควตาพรรค กับโควตานายกรัฐมนตรี แต่เมื่อพิจารณาจากผลประโยชน์ในหน่วยงานดังกล่าว ก็มั่นใจเช่นเดียวกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องเลือกใช้คนที่ไว้ใจได้มาดำรงตำแหน่งแน่นอน เมื่อเทียบกับ “บางคน” ในพรรคพลังประชารัฐ ที่มีรายงานข่าวว่า พยายาม “เสนอตัว” โยกมานั่งกระทรวงนี้
เมื่อพิจารณาจากคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ย้ำให้เห็นถึง “โควตากลาง” ขณะที่กลุ่มก๊วนในพรรคพลังประชารัฐ ก็ยืนยันถึง “โควตาพรรค” ในตำแหน่งสำคัญ ก็ทำให้ต้องจับตามองกันว่า จะต้องมีการ “วัดพลัง” เกิดขึ้นหรือไม่ ในการปรับคณะรัฐมนตรีที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งก็ยังไม่อาจคาดคะเนได้เต็มร้อย ว่าเกิดขึ้นเมื่อใดกันแน่ เมื่อนายกฯบอกว่า เกิดขึ้นได้ทุกเวลาตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยก่อนหน้านี้ หลายคนเชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นหลังการการผ่านร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 64 ไปแล้วในราวเดือนกันยายน ก็ตาม
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องพิจารณาและจับตากันอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ “อำนาจการต่อรอง” ที่จะต้องเกิดขึ้นระหว่าง “สองพี่น้อง” ขั้วอำนาจหลักในรัฐบาลหรือไม่ นั่นคือ ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่นาทีนี้ถือว่า “ยึดพรรค” ได้เบ็ดเสร็จ และในทางการเมืองก็ต้องพึ่งพาเขาอยู่ไม่น้อย แม้ว่าภาพลักษณ์ภายนอกจะอีกเรื่องก็ตาม เพราะหลายคนจับตามองว่า หากมีการปรับคณะรัฐมนตรี ที่คาดว่า “ปรับใหญ่” แล้ว “พี่ใหญ่” จะได้นั่งควบอีกเก้าอี้สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น “มท.1” หรือ ควบกลาโหม หรือไม่ หรือได้คุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หากเป็นแบบนี้นั่นก็หมายความว่า พลังต่อรองยังสูง แต่ในทางการเมืองถือว่า วิน-วิน หรือเปล่า !!