xs
xsm
sm
md
lg

พันธมิตรทางทหารในโลกที่ไม่เหมือนเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทับทิม พญาไท



วันนี้...คงต้องขออนุญาตไปว่ากันเรื่องทหารๆ หรือประเภทที่เกี่ยวกับพลังอำนาจทางทหารกันเป็นหลัก เพราะการที่คุณพ่ออเมริกาท่านลงทุนส่ง “เรือบรรทุกเครื่องบิน” ถึง 2 ลำ มาแล่นป้วนๆ เปี้ยนๆ อยู่แถวๆ ทะเลจีนใต้ มายั่วยวนกวนส้นตีน คุณพี่จีนถึงหน้าบ้าน ปากประตูบ้าน อาจถือเป็นภาพสะท้อนความพยายามที่จะหันกลับไปอาศัย “จุดแข็ง” ที่สุดของตัวเอง ในการกดดัน ถ่วงรั้ง การช่วงชิงความได้เปรียบ-เสียเปรียบ กับ “มหาอำนาจคู่แข่ง” อย่างจีน อย่างเป็นระบบและเป็นกิจการพอสมควร...

คือถ้าว่ากันถึง “การทหาร” ล้วนๆ...คงต้องยอมรับอย่างมิอาจปฏิเสธได้นั่นแหละว่า ยากที่จะหาใคร “ตามทัน” คุณพ่ออเมริกาท่านได้ง่ายๆ ไม่เพียงแต่จะผ่านการ “ปฏิวัติทางทหาร” (Revolution in Military Affairs-RMA) มาตั้งแต่กองทัพประเทศอื่นๆ ทั่วทั้งโลกยังคงอยู่แถวๆ “หลังเขา” การเพิ่มงบประมาณ จัดสรรงบประมาณ เพื่อกิจการทหารของกองทัพอเมริกายังเป็นอะไรที่ “ระเบิดเถิดเทิง” มาโดยตลอด ชนิดถึงรวมเอา “งบประมาณทางทหาร” ของโลกทั้งโลก ยังอาจทิ้งห่างกว่างบประมาณทางทหารของอเมริกาไม่รู้กี่เท่าต่อกี่เท่า ดังนั้น...ใครก็ตามที่คิดไปเผชิญหน้า ไปปะทะขัดแย้งทางทหารกับคุณพ่ออเมริกาโดยตรง ย่อมมีแต่ “ตาย...กับ...ตาย” หรือมีแต่ “แพ้...กับ...แพ้” ลูกเดียวเท่านั้นเอง และนี่เอง...ที่อาจทำให้การเป็น “พันธมิตรทางทหาร” กับอเมริกา ยังเป็นอะไรที่มีเสน่ห์ เย้ายวนใจ ให้ประเทศใดๆ ก็ตามในโลกนี้ ยังพร้อมที่จะเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” หรือเป็นส่วนหนึ่งใน “ยุทธศาสตร์ทางทหาร” ของอเมริกา ไปตามสภาพ...

การก่อรูป ก่อร่างของพันธมิตรทางทหารแบบสี่เหลี่ยมด้านเท่า หรือ “QUAD Alliance” (The Quadrilateral Security Dialogue) ระหว่างอเมริกา-อินเดีย-ออสเตรเลียและญี่ปุ่น จึงย่อมถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา ตราบใดที่ “เป้าหมาย” หรือ “จุดมุ่งหมาย” ของกลุ่มพันธมิตรที่ว่า ยังเป็นไปในลักษณะกว้างๆ หรือหนักไปทาง “นามธรรม” เช่นเพื่อให้เกิดการ “เปิดกว้าง” เพื่อให้เกิด “เสรีภาพ” ในการเดินเรืออะไรทำนองนั้น ไม่ได้ถึงกับระบุไว้ชัดๆ ว่า เพื่อมุ่งไล่ทุบ ไล่กระทืบ คุณพี่จีนเป็นการเฉพาะ แต่ก็นั่นแหละ...เมื่อไหร่ก็ตาม ถ้าดันเกิดการเผชิญหน้าทางทหาร หรือการปะทะทางทหารขึ้นมาจริงๆ ความร่วมมือ หรือการถูกดึงเข้าไปเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ในลักษณะเช่นนี้ ก็อาจส่งผลให้เกิดความพ่ายแพ้และชัยชนะ หรือการตกเป็นฝ่ายแพ้-ฝ่ายชนะ ได้เช่นกัน ถ้าไม่ได้คำนึงถึงเรื่องอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากเรื่อง “การทหาร” ล้วนๆ...

เหมือนครั้งที่ประเทศไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮา เคยเจอกับ “โจทย์” ยากๆ ในช่วงครั้ง “สงครามโลกครั้ง 2” ที่ผ่านมานั่นเอง การตัดสินใจ “ชั่งน้ำหนัก” ว่าฝ่ายใดน่าจะเป็น “ฝ่ายชนะ” กันแน่!!! ระหว่างฝ่าย “สัมพันธมิตร” ที่มีอเมริกาและอังกฤษเป็นหัวหอก กับฝ่าย “อักษะ” ที่มีเยอรมนี และญี่ปุ่นเป็นคู่ต่อสู้ และด้วยเหตุที่ผู้นำ ผู้มีอำนาจในเมืองไทยขณะนั้น คือ “นักการทหาร” อย่างท่าน “จอมพลป. พิบูลสงคราม” การเถียงกันไป-เถียงกันมาในที่ประชุม ครม.ระหว่างพลเรือนอย่างท่าน “ปรีดี พนมยงค์” ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีคลังกับทหารแท้ๆ อย่าง “พลตรีแปลก พิบูลสงคราม” ที่มีฐานะเป็นถึงนายกรัฐมนตรีควบตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบกอีกต่างหาก ว่าใครชนะ-ใครแพ้ ระหว่างฝ่าย “สัมพันธมิตร” กับ “ฝ่ายอักษะ” จึงจบลงด้วยการที่ประเทศไทยหันไปยอมญี่ปุ่น เปิดทางผ่านให้กับกองทัพญี่ปุ่น หรือหันไปเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” กับฝ่ายอักษะ ในท้ายที่สุด...

และครั้งนั้นนั่นเอง...ที่ส่งผลให้ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮา หวิดฉิบหายวายวอด หรือหวิดกลายเป็นฝ่ายแพ้ เป็นประเทศอาชญากรสงครามตามญี่ปุ่นและเยอรมนีไปด้วย แต่ยังโชคดี...ที่พลเรือนอย่างท่าน “ปรีดี พนมยงค์” ที่ถูกเด้งไปเป็น “ผู้สำเร็จราชการส่วนพระองค์” และทูตไทยประจำอเมริกาอย่าง “ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช” ร่วมกันก่อตั้ง “ขบวนการเสรีไทย” เพื่อต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นมาได้ทันท่วงที ด้วยอานิสงส์ดังกล่าว “ลูกไก่” จึงยังไม่ต้องโดดลงหม้อต้มตามแม่ หรือยังไม่ต้องไปเกิดเป็นดวงดาว ยังคงดำรงความเป็นประเทศ ความเป็นเอกราชอยู่บนแผนที่โลกต่อไปจนตราบเท่าทุกวันนี้...

ส่วน ณ ช่วงเวลานี้ หรือในอนาคตเบื้องหน้า...การตัดสินใจ “ชั่งน้ำหนัก” ในลักษณะที่แทบไม่ต่างไปจากกันสักเท่าไหร่ กับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อาจย้อนกลับมาเป็น “โจทย์” ให้ใครต่อใครคงต้องเถียงกันไป-เถียงกันมา ไม่ต่างไปจากยุค “จอมพลป.” กับท่าน “ปรีดี” นั่นแหละ โดยเฉพาะถ้าเกิดการเผชิญหน้า หรือการปะทะทางทหาร ระหว่างคุณพ่ออเมริกากับคุณพี่จีนขึ้นมาจริงๆ ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เปลี่ยนไปจากยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 แบบคนละเรื่อง คนละม้วน ดังนั้น...การอาศัย “การทหาร” ล้วนๆ เป็นตัวชั่งน้ำหนัก ย่อมมีสิทธิส่งผลให้อาจต้องหวนกลับไปฉิบหาย วายวอดอีกครั้ง ได้ไม่ยากส์ส์ส์...

คือแม้ว่าในแง่พลังอำนาจทางทหารของคุณพ่ออเมริกา จะยังคงเป็นหนึ่ง หรือยังไม่มีประเทศใดทาบติด แต่ในแง่การเมือง เศรษฐกิจ หรือแม้แต่ในแง่ “สุขภาพ” ก็ตาม ความเป็น “จ้าวโรค” ของคุณพ่ออเมริกา หรือเป็นประเทศที่ทำสถิติผู้ติดเชื้อโรคระบาดสูงสุดมาโดยตลอด ฯลฯ ย่อมหนีไม่พ้นต้องอาศัยเหตุผลอื่นๆ เป็นองค์ประกอบในการชั่งน้ำหนักไว้ซะแต่เนิ่นๆ “ความโดดเดี่ยว” ทางการเมืองของอเมริกาในเวทีระดับโลก ที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากที่ได้อวดโชว์ “ความเห็นแก่ตัว” ในรูปแบบ “American First” ให้เป็นที่ประจักษ์ไม่ว่ากับ “มิตร” หรือ “ศัตรู” ของตัวเอง จนทำให้แม้แต่พันธมิตรที่เคยร่วมเป็น-ร่วมตาย เคยยืนหยัดเคียงบ่า-เคียงไหล่กันมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างบรรดาประเทศยุโรปทั้งหลาย ยังต้องเด้งหนีกันไปเป็นแถบๆ โดยเฉพาะเมื่อนำเอา “ภัยคุกคามจากจีน” มาเป็นแรงกระตุ้นเพื่อให้เกิด “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ซึ่งนอกจากไม่ได้สอดคล้องกับภูมิรัฐศาสตร์ของยุโรปแล้ว ยังไม่สอดคล้องกับปัญหาเฉพาะหน้าของบรรดาประเทศในยุโรปทั้งหลาย นั่นคือการดิ้นรนจากปัญหาเศรษฐกิจ ที่อาจสำคัญยิ่งกว่าความมั่นคงทางทหาร อันน่าจะเป็นปัญหาระยะยาวซะมากกว่า...

การคิดอาศัยยุโรปต่อต้านจีน เหมือนอย่างที่เคยต่อต้านโซเวียตรัสเซีย ไม่เพียงแต่ยากจะเป็นไปได้ เพราะโลกได้เปลี่ยนแปลงไปเยอะแล้ว การกระชับความร่วมมืออย่างชนิดแน่นเหนียวเอามากๆ ระหว่างมหาอำนาจคู่แข่งอย่างรัสเซียและจีน ไม่ว่าในแง่การเมือง การทหาร ไปจนถึงเศรษฐกิจ เช่นการออกมาประกาศว่าจะสนับสนุนและส่งเสริมกันและกันในทุกๆ เรื่อง ทุกกรณีของจีนและรัสเซีย หลังการพูดคุยทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” กับประธานาธิบดี “ปูติน” เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมายิ่งทำให้อเมริกาแทบไม่เหลือ “ไพ่” ให้เล่นอีกต่อไป ความพยายามแยกรัสเซียออกจากจีน เช่นการเชื้อเชิญให้เข้าร่วมประชุมกลุ่มประเทศ “G7” ที่อเมริกาในช่วงสิ้นปีนี้ ยังถูกรัสเซียตอบปฏิเสธเอาดื้อๆ หรือเป็นอะไรที่ช้าไป สายเกินไป ในอันที่จะเริ่มวาดภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ขึ้นมาใหม่ ดังนั้น...การก่อรูป ก่อร่าง “พันธมิตรทางทหาร” ตามแนวทาง “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก” ขึ้นมาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ไม่ว่าช่วงนี้ หรือในอนาคตเบื้องหน้า โอกาสที่อเมริกาจะพลิกมาเป็นฝ่ายได้เปรียบ หรือจะระดมเอาประเทศเล็ก ประเทศน้อย มาร่วมเป็นพันธมิตรในการต่อต้าน หรือปิดล้อมจีน จึงเป็นอะไรที่เลือนลางเอามากๆ...

เพราะแม้แต่คุณปู่อินตะระเดีย ที่พยายามหาทางออก ทางรอด อันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจ หรือปัญหาสุขภาพด้วยเหตุเพราะโรคระบาดก็แล้วแต่ จนต้องโดดมาเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางทหารกับอเมริกาในช่วงนี้ เอาเข้าจริงๆ แล้ว...เมื่อลองหันไปดูตัวเลขการค้าระหว่างอินเดีย-อเมริกา ในช่วงระยะเดียวกันเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หรือเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่าลดลงไปถึง 61 เปอร์เซ็นต์ถึงขั้นนั้น ด้วยเหตุนี้...สำหรับทหาร หรืออดีตทหารไทย ที่คงไม่ได้ถนัดในเรื่อง “เศรษฐกิจ” มากมายสักเท่าไหร่ แต่ออกจะถนัดในการ “ถือปืน-แบกปูน-ไปโบกตึก” ซะมากกว่า คงต้อง “ชั่งน้ำหนัก” ในการตัดสินใจไว้ให้ดี อย่าให้ถึงกับต้องหวิดฉิบหายวายวอด เหมือนในอดีตที่ผ่านมาก็แล้วกัน...


กำลังโหลดความคิดเห็น