อำเภอจะนะ เป็น 1 ใน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ที่ถูกจัดให้เป็นพื้นที่มีปัญหาความมั่นคง เช่นเดียวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้-ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 และอยู่ภายใต้อำนาจการบริหารของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.ที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
ศอ.บต.มีสถานะเป็นรัฐบาลท้องถิ่น ที่มีอำนาจสูงสุดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา บุคคลที่อยู่เบื้องหลังการผลักดันโครงการ “จะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ก็อาศัยเงื่อนไขตรงนี้ใช้ ศอ.บต.เป็น “ทางด่วน” หรือ “ฟาสต์แทร็ก” เข็นโครงการนี้ออกมา โดยลัดขั้นตอนกระบวนการที่ควรจะเป็น ในการทำโครงการขนาดใหญ่ เช่น การศึกษาความเป็นไปได้ ความเหมะสมในทางเศรษฐกิจที่จะต้องให้กระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้ดูแลโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของชาติ กระทรวงพลังงานในฐานะผู้ดูแลเรื่องโรงไฟฟ้า สภาพัฒน์ในฐานะผู้ดูภาพรวม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และการรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ ฯลฯ
โครงการ จะนะ เมืองต้นแบบ “เหาะมาเหนือเมฆ” รวบหัวรวบหางผลักดันโครงการให้ ครม.เห็นชอบเลย โดยไม่ถามความเห็นไม่หารือกับทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งราชการ และภาคประชาชน
องค์ประกอบหลักของโครงการนี้ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึก โรงไฟฟ้าขนาด 1,700 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และนิคมอุตสาหกรรมจะนะ บนพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่
ดูจากขนาดและองค์ประกอบแล้ว โครงการนี้เป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่จะต้องผ่านการศึกษาพิจารณาความเป็นไปได้ ความเหมาะสมในทุกๆ ด้าน และควรเป็นโครงการระดับชาติ ที่ต้องให้หน่วยงานระดับกระทรวง คณะกรรมการระดับชาติ สภาพัฒน์เป็นผู้พิจารณาด้วย แต่คนต้นคิดผลักดันโครงการ กลับใช้วิธีการทำโครงการแบบโครงการระดับท้องถิ่น เพื่อลัดขั้นตอนการพิจารณาการตรวจสอบ ผลักดันโครงการออกมาอย่างเร่งรีบ โดยใช้ “ศอ.บต.” เป็นตรายาง และเอาป้ายโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มาสวม
โครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมฯ เป็นโครงการที่มีอยู่แล้ว ของ ศอ.บต.ที่มุ่งใช้แนวทาง “พัฒนา” มาแก้ปัญหาความมั่นคง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัด ให้เป็นเมืองต้นแบบ ประกอบด้วยอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นเมืองต้นแบบด้านการท่องเที่ยว อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ต้นแบบด้านการค้า การส่งออก
โครงการนี้ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนตุลาคมปี 2559 และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับ ศอ.บต.จัดทำรายละเอียด ปัจจุบันมีโครงการนำร่องเกิดขึ้นแล้ว
โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ถูกยัดใส่เข้าไปให้เป็น “เมืองต้นแบบที่ 4” ตั้งชื่ออย่างสวยหรูว่า “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” เพิ่มมาจากโครงการเดิม ที่มีแค่ 3 เมือง และเป็นโครงการขนาดเล็ก และขนาดกลาง ที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจของพื้นที่ ส่งเสริมรายได้ของคนในพื้นที่ เช่น โรงงานแปรรูปมะพร้าว อาหารทะเลของปัตตานี โครงการด้านการท่องเที่ยวของยะลา เป็นต้น
แต่ เมืองต้นแบบที่ 4 คือ นิคมอุตสาหกรรมจะนะ เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้เงินลงทุนหลายหมื่นล้าน ขัดแย้งกับสภาพแวดล้อม และสังคมในพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตอาหารทะเลที่อุดมสมบูรณ์ เป็นการลงทุนของทุนระดับชาติที่ลักไก่ เอาป้ายโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มาสวม ทั้งๆ ที่เนื้อหา รูปแบบ ขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง
โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมนี้ ถูกยัดเข้ามาใส่ในโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมฯ โดยมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562
จากลุงป้อม โครงการนี้ถูกใส่พานให้บิ๊กตู่ โดยเสนอให้ ครม.อนุมัติในหลักการ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นการทิ้งทวนก่อน ครม., คสช.จะหมดวาระ และในยุค ลุงตู่ การประชุม ครม.วันที่ 21 มกราคม 2563 อนุมัติในรายละเอียด และอนุมัติให้พื้นที่ อำเภอจะนะ เป็น “เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ”
การเป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ หมายความว่า โครงการลงทุนใดๆ จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำตามกฎหมายหลายๆ ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนขนาดใหญ่ เหมือน เขตเศรษฐกิจอีอีซี ที่เป็นรัฐอิสระ มีกฎหมายของตัวเอง
ถามว่า ใครเป็นคนต้นคิดแปลงโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ให้เป็นเมืองต้นแบบที่ 4
ถึงตอนนี้ ไม่ใช่ความลับแล้วว่า กลุ่มทีพีไอของนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ คือผู้ผลักดันโครงการนี้ โดยยืมมือ ศอ.บต.เพราะบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นธุรกิจโรงไฟฟ้าจากขยะ ในเครือทีพีไอ โพลีน ที่หลานชายนายประชัย เป็นซีอีโออยู่ เปิดเผยเองว่า จะเสนอตัวเป็นผู้ลงทุนหลัก โดยมีเอกสารนำเสนอพาวเวอร์พอยท์ แสดงแผนการลงทุน ราวกับว่า ได้รับการอนุมัติแล้ว
ที่ดินประมาณ 10,000 ไร่ ที่จะเป็นที่ตั้งโครงการนั้น เป็นของนายประชัย 7,000 ไร่ อีกราวๆ 3,000 ไร่ เป็นที่ดินของไออาร์พีซี บริษัทโรงกลั่นน้ำมันในเครือ ปตท. ไออาร์พีซี เดิมคือ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีคัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ ธุรกิจปิโตรเคมีคัล ของนายประชัยที่ประสบปัญหาหนี้สินอย่างรุนแรงคราวที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้งอย่างรุนแรง ระหว่างเจ้าหนี้ สถาบันการเงิน กับลูกหนี้คือ นายประชัย จนในที่สุด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ต้องใช้อำนาจสั่งให้กระทรวงการคลังเข้ามาเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟู และเปิดทางให้ ปตท.เข้ามายึดทีพีไอ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น ไออาร์พีซี ส่วนทีพีไอ โพลีน ที่ยังเป็นของนายประชัยเป็นกิจการผลิตปูนซีเมนต์ตราทีพีไอ และเป็นบริษัทแม่ของทีพีไอ พาวเวอร์ ที่ทำโรงไฟฟ้า ป้อนให้กับโรงปูนทีพีไอที่แก่งคอย
สันนิษฐานได้ว่า ที่ดิน 3,000 ไร่ของไออาร์พีซี น่าจะติดมากับทีพีไอตั้งแต่แรก ไออาร์พีซีไม่ได้ซื้อเอง
การผลักดันโครงการจะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรม จึงเป็นความพยายามของ นายประชัย ที่ต้องการจะพัฒนาที่ดินในมือให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งไม่ผิดเป็นสิทธิของเจ้าของที่ดินโดยทั่วไป แต่ในกรณีการลงทุนพัฒนาที่ดินให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมนั้น โลกยุคใหม่ จะต้องให้ความสำคัญกับสิทธิของประชาชนในพื้นที่ในการมีส่วนร่วมด้วย เพราะการเกิดขึ้นของเมืองอุตสาหกรรมที่จะนะ ย่อมจะส่งผลต่อทะเล สิ่งแวดล้อมอื่นๆ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ประชาชนในพื้นที่ทุกคนเป็นเจ้าของ
การทำโครงการจะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรม จึงต้องมีขั้นตอน กระบวนการที่โปร่งใสเคร่งครัดในข้อกฎหมายทุกขั้นตอน ไม่ใช่ลักไก่ เชิด ศอ.บต.เป็นตรายาง เป็น ฟาสต์แทร็กอย่างที่ทำอยู่ในขณะนี้ และเป็นผลให้เกิดการต่อต้านอย่างกว้างขวางจากประชาชน ไม่เฉพาะในพื้นที่ แต่กำลังขยายวงออกไปในหมู่ชนชั้นกลางในเมืองหลวงแล้ว
จะให้จะนะ เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมยุคใหม่แห่งอนาคต ก็ต้องใช้กระบวนการทำโครงการของโลกยุคใหม่เสียก่อน