ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หากไม่นับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง “การ์ดตก” หรือสารพัด “ดรามา” เกี่ยวกับการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของ “พล.อ.เจมส์ แมคคอนวิลล์ (Gen. James C. McConville) ผู้บัญชาการทหารบกสหรัฐอเมริกาและคณะ” กับกรณีมาตรการคุมเข้มการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” แล้วก็ต้องบอกว่า การมาเยือนไทยครั้งนี้ย่อม “ไม่ใช่เรื่องปกติ” อย่างแน่นอน
ดังนั้น เหตุผลการมาเยือนไทยจึงไม่ย่อมไม่ใช่เป็นไปตามที่ “บิ๊กแดง-พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” ผู้บัญชาการทหารบกไทย อธิบายว่า มาเพื่อลงนามในการแถลงวิสัยทัศน์ร่วมระหว่างกองทัพบกไทยกับกองทัพบกสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผูกพันกันมาตั้งแต่ พ.ย.62 ที่รมว.กลาโหมสหรัฐฯ มาเยือนประเทศไทย และพบกับนายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.กลาโหม ได้มีการลงนามว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศ หรือ Join Vision statement 2020 ระหว่างกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯและของไทย ซึ่งในข้อข้อตกลงดังกล่าว เป็นเรื่องการแลกเปลี่ยนกำลังพลที่ไปฝึก หากแต่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความวุ่นวายใน “ทะเลจีนใต้” ที่กำลังตรึงเครียด
ที่สำคัญคือ เป็นเรื่องที่บังเอิญอย่างร้ายกาจเพราะในห้วงที่ผู้บัญชาการทหารบกสหรัฐฯ มาเยือนไทย เป็นห้วงเวลาเดียวกับที่จีนปฏิบัติการซ้อมรบบริเวณหมู่เกาะพาราเซล ทะเลจีนใต้ เมื่อวันที่ 1-5 ก.ค.ที่ผ่านมา จนสหรัฐฯ ต้องเคลื่อนเรือบรรทุกเครื่องบินเข้าคุมเชิง
การซ้อมรบดังกล่าวถูกหลายชาติตำหนิติเตียน รวมไปถึงกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งวันที่ 2 ก.ค. ได้ออกแถลงการณ์ด่วน ประณามว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะกองทัพจีนดำเนินการซ้อมรบในพื้นที่ซึ่งเป็นข้อพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน
ขณะที่ทางจีนเอง โดย นายจ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ออกมากล่าวหาว่า สหรัฐฯ พยายามโชว์แสนยานุภาพทางทหารในทะเลจีนใต้ โดยการส่งเรือบรรทุกเครื่องบินสองลำคือ ยูเอสเอส นีมิตซ์ และ ยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน เข้ามาร่วมฝึกซ้อมรบทางทะเล
“การฝึกซ้อมทางทะเลของกองทัพสหรัฐฯ นั้นมีแรงจูงใจที่ลี้ลับอย่างมาก และกระทบต่อเสถียรภาพของภูมิภาค” นายจ้าวระบุ และว่า “ฉากหลังคือ สหรัฐฯ มีเจตนาโจ่งแจ้งในการส่งกองกำลังจำนวนมหาศาล เพื่อดำเนินการซ้อมรบขนาดใหญ่ ในน่านน้ำของทะเลจีนใต้ เพื่อแสดงแสนยานุภาพทางการทหารของตัวเอง”
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลที่อ้างอิงจาก news.usni.org และ CNN พบว่าในการซ้อมรบในทะเลจีนใต้ของสหรัฐฯ มีกลุ่มเรือโจมตีที่ 11 ที่มีเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส นีมิตซ์ นำ และเรือบรรทุกโจมตีกลุ่มที่ 5 ที่นำโดยเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน ทำการฝึกซ้อมร่วมกันในวันประกาศอิสรภาพสหรัฐฯที่ตรงกับวันเสาร์ที่ 4 ก.ค.พบว่า เรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส นีมิตซ์ และ ยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน รวมถึงเรือ และอากาศยานอื่นๆ ได้ดำเนินการฝึกซ้อมในแผนการเพิ่มการป้องกันทางอากาศ และขยายขอบเขตการโจมตีระยะไกลจากเรือบรรทุกเครื่องบิน โดยเป็นการโจมตีแบบฉับพลันไปยังพื้นที่ของปฏิบัติการ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2014 และมีทหารเข้าร่วมกว่า 12,000 นาย
ดังนั้น ทั้งสองสถานการณ์จึงถูกนำมาเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเหตุผลเพียงแต่เรื่องการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารของทั้งสองประเทศไทย ไม่น่าจะเป็นปัจจัยหลักในการที่ พล.อ.เจมส์ แมคคอลวิลล์จะต้องมาเยือนไทยในห้วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังหนักหนาสาหัสในทั่วทุกภูมิภาคของโลก และสิ่งที่โลกกำลังจับตาก็คือ ความเป็นไปได้ในการเข้ามาตั้ง “ฐานทัพ” ในภูมิภาคนี้
“ยืนยันไม่ได้มีการมาตั้งฐานทัพ แต่มีการฝากอุปกรณ์ในช่วงที่มีการฝึกเท่านั้น อย่าสร้างอะไรที่เป็นประเด็นความขัดแย้งในภูมิภาค”
แม้ พล.อ.อภิรัชต์ตอบปฏิเสธเมื่อถูกถามว่า เป็นการมาเยือนเพื่อหารือเรื่องการตั้งฐานทัพในประเทศไทยหรือไม่ แต่ก็พอจะมองเห็นร่องรอยว่าเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นที่ไม่อาจมองข้าม เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีมูล มิใช่เป็นการตั้งข้อสงสัยที่ “โคมลอย” แต่อย่างใด
ยิ่งเมื่อย้อนกลับไปดูคำให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ของ พล.อ.เจมส์ แมคคอลวิลล์ ก็ยิ่งน่าสนใจ เพราะเขาเคยบอกว่า เป้าหมายอันดับต้นๆ คือการส่งทหารสหรัฐไปปฏิบัติหน้าที่ยังจุดต่างๆ และ “สร้างฐานทัพมาตรฐาน” รวมทั้งเปิดเผยอีกต่างหากว่าพื้นที่แปซิฟิกและเอเชียถือเป็นความสำคัญอันดับต้นๆ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ “ไรอัน ดี. แมคคาร์ธี (Ryan D. McCarthy) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกองทัพบกสหรัฐฯ” กล่าวไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563 นี้ว่าสหรัฐฯ กำลังสำรวจความเป็นไปได้ในการจัดตั้งฐานทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นเดียวกับที่มีอยู่ในทวีปยุโรป
คำถามมีอยู่ว่า แล้วทำไมสหรัฐฯ ถึงปรารถนาที่จะตั้งฐานทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้?
ทั้งนี้ หากวิเคราะห์สถานการณ์ความมั่นคงในภาพรวมก็จะพบว่า ปัจจุบันฐานทัพของสหรัฐฯ ในเอเชียแปซิฟิกตั้งอยู่ใน 3 ประเทศคือ “ญี่ปุ่น เกาหลีและออสเตรเลีย” ซึ่งเอาแค่การการรับมือกับ “จีน เกาหลีเหนือและรัสเซีย” ก็น่าจะตึงมือพอสมควร ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจอะไรถ้าพวกเขาคิดที่จะเสริมความแข็งแกร่งในภูมิภาคนี้เพิ่มเติม
ขณะที่ทางจีนเอง ก่อนหน้านี้ก็ได้ดำเนินการสร้างฐานทัพเรือในเกาะแก่งบางส่วนของทะเลจีนใต้ ส่งผลให้หลายชาติออกมาดำเนินการประท้วงอย่างรุนแรง และล่าสุดกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ได้ดำเนินการซ้อมรบในบริเวณหมู่เกาะพาราเซล แถบทะเลจีนใต้ในช่วงวันที่ 1-5 กรกฎาคม 2563 จนก่อให้เกิดสถานการณ์ตึงเครียดขึ้น
คำถามมีอยู่ว่า การลงนามว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศ หรือ Join Vision statement 2020 ของทั้งสองประเทศนั้น เป็นแค่เรื่องการแลกเปลี่ยนกำลังพลที่ไปฝึกตามที่ พล.อ.อภิรัชต์อธิบายเช่นนั้นจริงๆ หรือจะมีอะไรมากไปกว่านั้น เพราะแม้อาจจะไม่ได้ไปไกลถึงขั้นการตั้งฐานทัพซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย หากแต่ถ้าจะเป็น “ฐานสำหรับการซ้อมรบในเอเชียแปซิฟิก” ก็มีความเป็นไปได้สูงเช่นกัน
“มีการฝากอุปกรณ์ในช่วงที่มีการฝึกเท่านั้น”
คำตอบของ พล.อ.อภิรัชต์ก็ชวนให้คิดไปได้ว่า แล้ว “อุปกรณ์” ที่สหรัฐฯ มาฝากไว้นั้น มีอะไรบ้างและมีจำนวนมากมายแค่ไหน
“ในก.ย.ปีนี้ เราจะต้องส่งนักบิน 2 นาย ไปทำงานกับกองทัพบกสหรัฐฯ เป็นเวลา 2 ปี ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ส่งนักบินแบล็คฮ็อค มาปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์การบินทหารบก ในฝูงบินแบล็คฮ็อค เช่นเดียวกันเป็นเวลา 2 ปี และเราส่งนายทหารจากกรมทหารราบที่ 112 หรือ กรมไสตเกอร์ ไปปฏิบัติงานที่สหรัฐฯ 2 ปีเช่นกัน และสหรัฐฯ ก็ส่งคนของเขามาปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกัน นี่คือความสัมพันธ์ที่เรามีต่อกัน”
คำตอบของ พล.อ.อภิรัชต์สะท้อนความเด่นชัดในเรื่อง “ฐานสำหรับการซ้อมรบในเอเชียแปซิฟิก” อย่างไม่อาจปฏิเสธความจริงได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นเพียงแค่การวิเคราะห์และสมมติฐานของความเป็นไปได้ด้วยยังไม่มีความชัดเจน แต่ก็ต้องพึงระลึกเสมอว่า ทั้งหลายทั้งปวงเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ เพราะนี่เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับมิตรภาพอันยาวนานของทั้ง 3 ประเทศคือไทย สหรัฐฯ และจีน ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จำต้องเดินเกมด้วยความระมัดระวังและคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ เพราะถ้าเดินเกมพลาดอาจเกิดความหายนะที่ไม่อาจประเมินความสูญเสียที่จะตามมาได้กันเลยทีเดียว