ผบ.ทบ.แจงคณะผบ.ทบ.มะกันเตรียมเยือนไทย พร้อมใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-คำสั่ง ศบค.คุมโควิด ระบุเป็นโมเดลใช้ปฏิบัติคณะอื่น ปัดเข้ามาตั้งฐานทัพ วอนสื่อจั่วหัวข่าวสร้างสรรค์
วันนี้ (8 ก.ค.) พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ผบ.ทบ.สหรัฐอเมริกาและคณะ จะเดินทางเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 9-10 ก.ค.นี้ว่า ตลอดเวลาที่มีข่าวในเรื่องนี้ทางกองทัพบกพยายามจะให้สำนักงานเลขาฯ เขาออกข่าวชี้แจง คือเราต้องพูดกันด้วยข้อเท็จจริง ต้องพูดกันด้วย fact และมีเหตุผลว่าคืออะไร และมีเหตุผลอะไรที่ผู้บัญชาการทหารบกสหรัฐฯ และคณะมาประเทศไทย
ประการแรก ผู้บัญชาการทหารบกสหรัฐฯ มาเพียงแค่วันเดียว คือวันที่ 9 และเดินทางกลับในวันที่ 10 เพื่อมาลงนามในการแถลงวิสัยทัศน์ร่วมระหว่างกองทัพบกไทยกับกองทัพบกสหรัฐฯ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผูกพันกันมาตั้งแต่ พ.ย. 2562 ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มาเยือนประเทศไทยและพบกับนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีการลงนามว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศ หรือ Join Vision statement 2020 ระหว่างกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และของไทยซึ่งเป็นเรื่องที่สืบเนื่องมา
โดยในข้อข้อตกลงดังกล่าวเป็นเรื่องการแลกเปลี่ยนกำลังพลที่ไปฝึก เช่น ขณะนี้มีกองร้อยทหารราบของกองทัพบกไทย โดยจัดกำลังหลักจากกองทัพภาคที่ 2 เดินทางไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม อยู่รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ไปฝึกร่วมกับกองพลทหารราบที่ 25 จำนวน 152 นาย โดยกระบวนการในการเดินทางเป็นข้อตกลงระหว่างการ ซึ่งกำลังพลของกองทัพบกไทยทั้งหมดต้องกักตัว 14 วัน ตามที่ ศบค.กำหนด และดำเนินการเช่าเครื่องเหมาลำเพื่อเดินทางไปสหรัฐฯ และเมื่อเดินทางกลับมาต้องกักตัวอีก 14 วัน
เช่นเดียวกัน คณะของผู้บัญชาการทหารบกสหรัฐอเมริกาไม่เคยปฏิเสธที่จะไม่ปฏิบัติตามระเบียบหรือกฎใดๆ ทั้งสิ้น ที่จะเป็นการยกเว้นหรือขอยกเว้น ไม่เคยมี โดยระหว่างการติดต่อสื่อสารกันและทำกำหนดการร่วมกัน ถามแต่ว่าจะให้ทำอะไร ขอให้บอกมา เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีและทาง ศบค.ได้มีการประชุมกับกองทัพบก เพราะเป็นแขกของกองทัพบก และเราก็ปฏิบัติตามทุกอย่าง ซึ่ง ผบ.ทบ.สหรัฐฯ ไม่ได้ปฏิเสธ รวมถึงคณะทั้ง 10 คนก่อนจะเดินทางมา swop (ตรวจสอบ) 3-4 ครั้ง และปฏิบัติตามระเบียบที่มีการหารือกันโดยตลอด ไม่มีการฝ่าฝืนแม้แต่ข้อเดียว แต่ทุกอย่างต้องมีความจริง ต้องพูดกันด้วย fact ซึ่งมีระเบียบ 2 ข้อที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา 9 ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปี 2548 ฉบับที่ 12 ว่าด้วยผู้มีเหตุยกเว้นหรือกรณีที่นายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้ารับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินกำหนดหรืออนุญาต หรือเชิญผู้ใดเข้ามาในราชอาณาจักรตามความจำเป็น โดยอาจกำหนดเงื่อนไขและข้อตกลงและเวลาได้
และ 2. ตามคำสั่ง ศบค.ที่ 7/2563 คือมีเหตุยกเว้นหรือเป็นกรณีที่นายกรัฐมนตรี หรือหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้เข้ามาในราชอาณาจักรไทยได้เท่าความจำเป็นโดยกำหนดเงื่อนไข ผบ.ทบ.สหรัฐฯ และคณะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวทุกประการ 1. มีหนังสือรับรองเดินทางว่าเป็นบุคคลเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร 2. มีใบรับรองแพทย์สำหรับการเดินทางก่อน 72 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบัน ผบ.ทบ.สหรัฐฯ และคณะอยู่ระหว่างการเดินทาง และคาดว่าจะแวะเติมน้ำมันที่เกาะกวม และประเทศญี่ปุ่น ก็จะต้องมีการตรวจเชื้อโควิดทุกครั้ง โดยปัจจุบันผลการทดสอบจะรู้ผลไม่เกิน 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ ผบ.ทบ.สหรัฐฯ เดินจากวอชิงตัน ดี.ซี.และแวะที่รัฐฮาวาย ตรวจเยี่ยมกองร้อยทหารราบของไทยที่ฝึกอยู่ เนื่องจากเป็นปีที่ 2 ที่กองทัพไทยได้ส่งกองร้อยทหารราบไปฝึก
3. มีใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าไม่มีเชื้อโควิด-19 โดยวิธีการตรวจ rt-pcr และ 4.มีแผนกำหนดการเดินทางชัดเจน และมีเจ้าหน้าที่จากสาธารณสุข และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าติดตามตลอดเวลา และคณะต้องไม่เกิน 10 นาย
นอกจากนี้ จากการประชุมหารือในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่น่าจะแสดงความยินดีและเราน่าจะมีความภูมิใจที่รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีได้ตัดสินใจ แม้จะมีบางคนที่รู้สึกต่อ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าเราสามารถควบคุมโรคได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่ตะเข้ามาในช่วงนี้ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการ
นอกเหนือจากนี้ คณะ ผบ.ทบ.สหรัฐฯ ถือเป็นคณะแรกที่เดินทางมาเยือน และเราไม่สามารถปิดประเทศได้ เราต้องมีการค้าและคณะทูตานุทูตที่จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบเช่นเดียวกัน เราต้องรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ แม้ว่าทั่วโลกกำลังประสบภัยเช่นเดียวกัน แต่คณะ ผบ.ทบ.สหรัฐฯ นี้จะเป็นคณะตัวอย่างที่จะปฏิบัติตามกฎ ระเบียบอย่างเคร่งครัด
นอกจากนั้น ยังมีข้อกำหนดว่าคณะผู้ที่เดินทางมาจากสหรัฐฯ เมื่อมาถึงท่าอากาศยานจะต้องมีการตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยคณะแพทย์กระทรวงสาธารณสุข และมีการติดตามคณะโดยตลอดร่วมกับคณะแพทย์จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รวมถึงเจ้าหน้าที่การบินไทยเพื่อดูเป็นโมเดลตัวอย่างว่าในอนาคตต่อไปในระยะเวลาอันใกล้นี้หากมีคณะอื่นมาเยือนจะได้ปฏิบัติถูกว่าเรามีระเบียบอย่างไร และตรวจเสร็จแล้วก็จะขึ้นรถแยก โดยรถจะมีฉากกระจกกั้นระหว่างคนละขับของไทยและคณะของผู้ที่มาเยือน เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะสัมผัสกันไม่มีแน่นอน ส่วนกระเป๋าสัมภาระจะถูกพ่นยาฆ่าเชื้อเดินทางไม่มีการออกนอกเส้นทาง รวมถึงการรับประทานอาหารในโรงแรมทุกมื้อ ยกเว้นในวันที่ 10 ก.ค.จะต้องไปเยี่ยมคำนับนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
“ผมดูแล้วถ้าเราจั่วหัวข่าวให้ในเชิงสร้างสรรค์ ผมว่าประเทศก็คงน่าอยู่ไม่เกินข้อขัดแย้งถกเถียงกันมาก ถ้ามีการปฏิเสธไม่ทำเป็นอีกเรื่อง แต่ผมได้ยินมาเป็นอาทิตย์เป็นสัปดาห์ และผมเองก็ไม่สบายใจ” ผบ.ทบ.กล่าว
เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้มีข่าวว่านายกรัฐมนตรีขอให้เลื่อนกำหนดการนี้ออกไป แต่ทางสหรัฐฯ ไม่เลื่อน พล.อ.อภิรัชต์กล่าวว่า นายกฯ ไม่เคยบอกให้เลื่อน บอกแต่ว่าหากมาต้องปฏิบัติตามกฎ เพราะนายกฯ รับทราบว่าการฝึกเป็นการฝึกต่อเนื่อง รวมถึงการแลกเปลี่ยน เช่นใน ก.ย.ปีนี้เราจะต้องส่งนักบิน 2 นายไปทำงานที่สหรัฐฯ กับกองทัพบกสหรัฐฯ เป็นเวลา 2 ปี
ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ส่งนักบินแบล็กฮอว์กมาปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์การบินทหารบกในฝูงบินแบล็กฮอว์กในเวลา 2 ปีเช่นกัน และเราส่งนายทหารจากกรมทหารราบที่ 112 หรือกรมสไตรเกอร์ ไปปฏิบัติงานที่สหรัฐฯ 2 ปีเช่นกัน และสหรัฐฯ ก็ส่งคนของเขามาปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกัน นี่คือความสัมพันธ์ที่ประเทศไทยจะต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ การลงนามต่างๆ เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความเข้าใจอันดีและไม่มีอะไรที่จะทำให้ต้องวิตกกังวล
เมื่อถามว่า สหรัฐฯ ต้องการที่จะมาใช้พื้นที่ของไทยเพื่อตั้งเป็นฐานทัพ พล.อ.อภิรัชต์กล่าวว่า ไม่ใช่ เช่น เรากับสิงคโปร์มีพื้นที่ฝึกที่ จ.กาญจนบุรีมานานแล้ว และลงนามเซ็นสัญญากันทุก 3 ปี และ 5 ปี โดยใน 1 ปี ต้องมองว่า กองทัพสหรัฐฯ เข้ามาฝึกร่วมกับมิตรประเทศในรหัสของคอบร้าโกลด์ และมีกี่ประเทศที่เข้าร่วม และแต่ละครั้งนอกเหนือจากการพัฒนาหลักนิยม หรือการฝึกฝนของกำลังพลของกองทัพบก ยังได้ในเรื่องการท่องเที่ยว ชื่อเสียงของประเทศ ยืนยันไม่ได้มีการมาตั้งฐานทัพ แต่มีการฝากอุปกรณ์ในช่วงที่มีการฝึกเท่านั้น อย่าสร้างอะไรที่เป็นประเด็นความขัดแย้งในภูมิภาค