ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กัดฟันเดินหน้าเพื่อความอยู่รอด แม้ว่าเครื่องยนต์เศรษฐกิจจะดับสนิทไม่มีสัญญาณชีพทั้งท่องเที่ยว ส่งออก การลงทุน และการบริโภคภาคครัวเรือนที่ไม่ดีแถมหนี้พุ่ง แต่การทุ่มเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลยังต้องทำต่อไปด้วยความหวังว่าจะดีขึ้น โดยงบฟื้นฟูก้อนแรกวงเงินแสนล้าน คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติผ่านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เป็นหน่วยงานดูแลโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้วงเงินทั้งสิ้น 4 แสนล้านบาท แจกแจงให้เห็นกระบวนการเสนอโครงการและกลั่นกรองว่า ตั้งแต่วันที่ 5-24 มิถุนายน 2563 หน่วยงานต่างๆ มีการเสนอโครงการเข้าสู่การพิจารณา 46,429 โครงการ วงเงินรวม รวม 1.45 ล้านล้านบาท ทางคณะอนุกรรมการกลั่นกรองคัดเลือกมาลอตแรก รวม 213 โครงการ วงเงิน 101,482 ล้านบาท จากนั้น เสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองและปรับลดวงเงินของสำนักงบประมาณ ตามยอดค่าใช้จ่ายที่แท้จริงเพื่อนำเสนอต่อ ครม.
สำหรับโครงการที่ผ่านการกลั่นกรองในรอบแรก 213 โครงการ ตอบโจทย์เป้าหมายที่วางไว้สามประการ ได้แก่ เป้าหมายแรกสุด โครงการเพื่อสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากและโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย โครงการที่สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบโคกหนองนาโมเดล 4,953ล้านบาท, โครงการใช้เก็บข้อมูล Big data โดยจ้างนักศึกษาจบใหม่ระยะเวลา 1 ปีลงเก็บข้อมูลในพื้นที่ชุมชนระดับตำบลทั่วประเทศ 2 คนต่อตำบล สร้างงานได้ 14,000 คน และโครงการอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง
โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งส่วนที่เป็นปัจจัยการผลิตและการดำรงชีพของประชาชนความก้าวหน้าระบบดิจิทัลเพื่อเชื่อมโยงการผลิตทางการเกษตร การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มรวมทั้งประสานหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์
เป้าหมายที่สอง เป็นการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต เช่น โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด มูลค่า 13,904 ล้านบาท คาดว่าสร้างรายได้ให้เกษตรกรประมาณ 8,293 ล้านบาท, โครงการสร้างความเข้มแข็งศูนย์ข้าวชุมชน มูลค่า 900 ล้านบาท, ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมการเกษตร อาหารและการแพทย์ มูลค่า 1,264 ล้านบาท คาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานประมาณ 2,500 คน และโครงการยกระดับนวัตกรรมแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์สู่ตลาดท่องเที่ยวคุณภาพตามวิถีนิวนอมอล มูลค่า 460 ล้านบาท
เป้าหมายที่สาม โครงการกระตุ้นการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยวในประเทศ ประกอบด้วย โครงการ “เราไปเที่ยวกัน” โครงการ “เที่ยวปันสุข” และโครงการ “กำลังใจ” รวมมูลค่า 22,400 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ประมาณ 52,400 ล้านบาท
ส่วนโครงการของกองทุนหมู่บ้าน ที่ขออนุมัติเข้ามาคณะกรรมการกลั่นกรองฯ จะพิจารณาจากกองทุนหมู่บ้านที่เสนอโครงการที่ชัดเจน เช่น การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในหมู่บ้านชุมชน ร้านค้าชุมชน การพัฒนาจุดขายด้านสมุนไพรเพื่อทำให้คนในหมู่บ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น เบื้องต้นได้กันวงเงินไว้ให้หมู่บ้านละ 200,000 บาท จัดสรรให้ในส่วนโครงการตามความต้องการของหมู่บ้าน 15,920 ล้านบาท
สภาพัฒน์ ประเมินว่า ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากงบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากการวงเงินกู้ 4 แสนล้าน ในส่วนการจ้างงาน ช่วยให้เกิดการจ้างงานใหม่กว่า 410,415 ราย, สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน 79,604 หมู่บ้าน 3,000 ตำบล
ในด้านการท่องเที่ยว จะพัฒนาต้นแบบสำหรับการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ 6 พื้นที่, ผู้ประกอบการและแรงงานได้รับการพัฒนากว่า 11,000 ราย บริษัทนำเที่ยวได้ประโยชน์ 13,000 รายการ การเข้าพัก 5,000,000 ห้อง/คืน, การเดินทาง 2,000,000 คน/ครั้ง รวมทั้งกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ 3.2 ล้านคน/ครั้ง
สำหรับด้านการเกษตร จะทำให้เกษตรกรเลี้ยงตนเองได้ 95,000 ราย จากการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและน้ำ รวมทั้งยกระดับเกษตรแปลงใหญ่ 5,450 แปลง เกษตรกรเข้ามีส่วนร่วม 262,500 ราย และสร้างมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่า 11,000 ล้านบาทต่อปี เกิดพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 2.4 แสนไร่ เกษตรสมัยใหม่เพิ่มขึ้น 5 ล้านไร่ มีพื้นที่ป่าไม้ แหล่งน้ำชุมชน พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น 1.7 แสนไร่ พื้นที่กักเก็บน้ำ 7,900 ล้านลูกบาศก์เมตร
นอกจากนั้น ยังมุ่งหวังการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มและระบบโลจิสติกส์ โดยเฉพาะดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวและแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านสินค้า
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้รัฐบาลจะใช้เงินกู้ทั้งเยียวยาและอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจก็ตาม แต่เป็นเพราะวิกฤตรอบนี้ใหญ่หลวงในรอบ 150 ปี และส่งผลกระทบไปทั่วทั้งโลก ธุรกิจใหญ่น้อยพังพินาศสิ้น เกิดปัญหาว่างงานตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น โดย นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า นักศึกษาจบใหม่ในปีการศึกษา 2563 จำนวน 5 แสนคน อาจกลายเป็นผู้ว่างงานถาวร เพราะนายจ้างไม่รับคนทำงานเพิ่ม ซึ่งคนที่จบมาในสาขาที่ตลาดต้องการอาจถูกดึงตัวไปทำงานได้อย่างเก่งก็ราว 20% ไม่นับรวมผู้ว่างงานเดิมที่มีอยู่ประมาณ 3.5-3.6 ล้านคน
ที่สำคัญคือแม้กำลังซื้อในประเทศจะเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงล็อกดาวน์แต่ยังคงไม่เหมือนเดิม ธุรกิจท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังพึ่งพิงการส่งออก ขณะที่ภาคเกษตรประสบภัยแล้ง สะท้อนไปยังหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นบ่งชี้ว่าคนไทยจนลง ส่วนที่มีกำลังซื้อก็ประหยัดใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นเพราะอนาคตไม่แน่นอน ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เป็นกระตุ้นให้ธุรกิจเริ่มเจรจายืดหนี้จำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบสถาบันการเงินสูงขึ้นในช่วงสิ้นปีนี้
ในประเด็นเรื่องตัวเลขคนว่างงานนี้ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความเป็นห่วงเช่นกันว่า คนว่างงานอาจไม่มีทักษะสำหรับงานในโลกใหม่หลังโควิด-19 เนื่องจากจะใช้ดิจิทัลมากขึ้น วิถีการทำธุรกิจจะเปลี่ยนไป โจทย์สำคัญคือจะจ้างงานอย่างไรกับแรงงานเหล่านี้เป็นลำดับความสำคัญแรกสุดในช่วง 6 เดือนต่อจากนี้
แม้แต่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี (Organisation for Economic Co-operation and Development - OECD) เป็นองค์กรระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ยังแนะนำรัฐบาลประเทศต่างๆ ว่า ควรเน้นส่งเสริมให้แรงงานปรับตัวเข้ากับสภาพเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปแทน
ทางโออีซีดี ชี้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสทำให้ตัวเลขการว่างงาน ปรับเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มประเทศสมาชิกโออีซีดี มาที่ร้อยละ 8.4 หรือคิดเป็นการว่างงาน 54.5 ล้านคน ณ เดือนพฤษภาคม 2563 และคาดว่าตัวเลขการว่างงานจะแตะระดับร้อยละ 9.4 ในไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งสูงกว่าตัวเลขในยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี ค.ศ. 1929 หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
เศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ การว่างงานที่พุ่งสูงขึ้น สะท้อนกลับมายังการส่งออกของประเทศไทยที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศที่ยังติดลบต่อเนื่อง โดย นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ให้ข้อมูลผ่านสื่อถึงตัวเลขส่งออกล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า มูลค่าส่งออกของไทยติดลบที่ 22.50% ซึ่งเป็นการติดลบมากสุดในรอบ 4 ปี
ขณะที่รายงานภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 22 มิ.ย.-26 มิ.ย. 2563 ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทย ทำให้รายได้หายไปหมดร้อยเปอร์เซ็นต์เช่นกัน โดยเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัว 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือหดตัว 5.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงติดลบ 1.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สถานการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่หนัก ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีของไทยอาจขยับสูงขึ้นไปอยู่ในกรอบประมาณ 88-90% ต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งนับเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 18 ปี (ข้อมูลธปท. ย้อนหลังถึงปี 2546) เนื่องจากเศรษฐกิจที่หดตัวลงแรง
ขณะที่สัญญาณช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของสถาบันการเงิน ทั้งการลดภาระผ่อนต่อเดือนและการพักชำระหนี้ เพื่อลดภาระทางการเงินให้กับลูกหนี้ น่าจะมีผลทำให้ยอดหนี้คงค้างของครัวเรือนและลูกค้ารายย่อยไม่ปรับลดลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจ โดย ข้อมูลของธปท. ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2563 พบว่า มีลูกหนี้รายย่อยได้รับความช่วยเหลือแล้วเป็นจำนวน 11.48 ล้านราย มูลหนี้รวม 3.8 ล้านล้านบาท
เมื่อยังไม่มีสัญญาณดีขึ้น ประชาชนคนไทยจึงได้แต่หวังว่างบฟื้นฟูโควิด-19 ที่รัฐบาลทุ่มลงไป 4 แสนล้าน จะช่วยพยุงชีวิตให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้