xs
xsm
sm
md
lg

สภานายจ้างหวั่นนักศึกษาจบใหม่ปีนี้ส่อเป็นผู้ตกงานถาวร 4 แสนคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภานายจ้างฯ หวั่นเด็กจบใหม่ปีนี้ 5 แสนคนที่ยังคงเคว้งคว้าง หากปล่อยว่างงาน 1-2 ปีส่อเป็นคนตกงานถาวรราว 4 แสนคน ชี้ตลาดแรงงานไม่เปิดรับเพิ่มเหตุพิษโควิด-19 ทำธุรกิจรัดเข็มขัด คาดดูดซับมากสุดแค่ 1 แสนคน ขณะที่เด็กจบใหม่ปีนี้จ่อคิวมาอีก วอนรัฐหามาตรการดูแล

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย)
เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความกังวลถึงตัวเลขนักศึกษาจบใหม่ปีการศึกษา 2563 จำนวน 500,000 คนที่อาจกลายเป็นผู้ว่างงานถาวรเนื่องจากผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทำให้นายจ้างไม่มีนโยบายรับคนเพิ่มแม้ว่ารัฐจะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์สู่เฟส 5 ทำให้ธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินกิจการปกติแต่ภาพรวมธุรกิจก็ไม่ได้กลับมาดำเนินธุรกิจได้เหมือนเช่นก่อนโควิด-19 ส่งผลให้แรงงานไม่รวมเด็กจบใหม่ที่เหลือของปีนี้ยังคงมีอัตราว่างงานประมาณ 3.5-3.6 ล้านคน

“ผมห่วงเด็กจบใหม่ปีนี้ 5 แสนคน ที่หากปล่อยว่างงาน 1-2 ปีจะตกงานถาวร โดยมองว่าดีสุดที่จบมาในสาขาที่ดีๆ อาจถูกดึงตัวไปทำงานได้อย่างเก่งก็ราว 20% ที่เหลือราว 400,000 คนจะตกงานถาวรเพราะส่วนหนึ่งจบอุดมศึกษาที่ไม่ตรงต่อความต้องการของนายจ้าง และผลของโควิด-19 นายจ้างเองมีน้อยมากที่จะรับคนเพิ่ม เพื่อลดขนาดธุรกิจลงให้สอดคล้องกับกำลังซื้อและเศรษฐกิจทั้งไทยและโลกที่คาดว่าจะถดถอยและยังไม่รู้ว่าโควิด-19 จะจบเมื่อใด” นายธนิตกล่าว

ทั้งนี้ เด็กที่จบใหม่หากว่างงานไปนานๆ เท่ากับขาดประสบการณ์ เมื่อมีเด็กจบใหม่ในปี 2564 เข้ามาเพิ่มอีกราว 4-5 แสนคนก็จะส่งผลให้นายจ้างจะไปเลือกรับเด็กที่จบใหม่ล่าสุดมากกว่า ดังนั้นจึงเห็นว่าภาครัฐบาลควรจะมีมาตรการที่จะมาดูแลเด็กจบใหม่ของปี 63 เพื่อให้เกิดการฝึกทักษะแรงงานระหว่างรองานใหม่ เช่น อาจมีงบประมาณจ้างเด็กไปทำงานสำรวจและวิจัย จ้างฝึกงานโดยรัฐอาจอุดหนุนครึ่งหนึ่ง เอกชนครึ่งหนึ่ง หรืออุดหนุนทั้งหมดเช่นวันละ 200-300 บาท เป็นต้น

นายธนิตกล่าวว่า กำลังซื้อในประเทศและต่างประเทศยังมีผลต่อการอยู่รอดของธุรกิจที่หลังจากคลายล็อกดาวน์มากขึ้น ในส่วนของไทยแรงซื้อเริ่มกลับเพิ่มขึ้นกว่าช่วงล็อกดาวน์แต่ยังคงไม่เหมือนเดิมเนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังคงต้องพึ่งพิงต่างชาติ รวมถึงอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังคงต้องพึ่งการส่งออกทำให้ธุรกิจบางส่วนเดินเครื่องผลิตเพียง 50-60% ต้องลดแรงงานลง ประกอบกับภาคเกษตรประสบภัยแล้งสะท้อนไปยังหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงขึ้นบ่งชี้ถึงภาวะที่คนไทยจนลง ขณะที่คนพอมีแรงซื้อยังคงมีการประหยัดบริโภคแต่ของจำเป็นเพราะยังไม่แน่ใจในอนาคต เหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้ธุรกิจเริ่มมีการเจรจายืดหนี้จำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบสถาบันการเงินสูงขึ้นในช่วงสิ้นปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น