สภาองค์การนายจ้างฯ เผยคลายล็อกดาวน์เฟส 4 หนุนแรงงานทยอยกลับทำงานเพิ่มขึ้น แต่ครึ่งปีหลังคาดแรงงานยังคงตกค้างในระบบอีกกว่า 3 ล้านคนเหตุท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่มา ขณะที่ภาคการผลิตยังต้องลุ้นรอดไม่รอดหลังเจอทั้งส่งออกระส่ำ แรงซื้อในประเทศถดถอย จี้รัฐอัดเงินฟื้นฟูฯ 4 แสนล้านให้ถึงฐานราก ผวาโควิด-19 ระบาดรอบ 2
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มอัตราการว่างงานของคนไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นจากมาตรการคลายล็อกดาวน์ของภาครัฐที่ดำเนินมาถึงระยะที่ 4 แต่จากระดับแรงซื้อในประเทศและการส่งออกที่ชะลอตัวทำให้แรงงานจะกลับเข้าสู่ระบบได้ไม่เต็มที่ จึงคาดว่าจะยังมีแรงานตกค้างว่างงานอยู่ประมาณ 3 ล้านกว่าคน โดยรวมแรงานในระบบประกันสังคมมาตรา 39 แต่ยังไม่รวมแรงงานที่จะจบใหม่อีกราว 5 แสนกว่าคน หรือคิดเป็นราว 7.85% ของแรงงานทั้งระบบ 38 ล้านคน
“ช่วงครึ่งปีแรกอัตราว่างงานของไทยเฉลี่ยจะอยู่ราว 7.5 ล้านคน หรือราว 20% ของแรงงานทั้งระบบ โดยไม่รวมเด็กที่กำลังจะจบใหม่ แต่เมื่อรัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์มาสู่ระยะที่ 4 ก็ทำให้กิจกรรมต่างๆ เปิดดำเนินการเกือบทั้งหมด แต่ต้องเข้าใจว่าธุรกิจท่องเที่ยวและบริการนั้นอาศัยนักท่องเที่ยวจากต่างชาติสูงกว่าการท่องเที่ยวภายในประเทศราว 90% ดังนั้น แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการเที่ยวปันสุขมากระตุ้นก็ยังไม่อาจชดเชยกับรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปแรงงานในส่วนนี้กว่า 50% ก็จะยังคงต้องว่างงาน” นายธนิตกล่าว
นอกจากนี้ แม้ว่าธุรกิจต่างๆ เริ่มกลับมาดำเนินกิจการทั้งค้าปลีก ค้าส่ง ภาคการผลิต แต่ก็มีสัญญาณที่จะต้องติดตามใกล้ชิดในครึ่งปีหลังเนื่องจากแรงซื้อของประชาชนถดถอยซึ่งเกิดจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ 1. ประชาชนรายได้ลดขาดเงินใช้จ่ายจริง 2. ประชาชนมีเงินแต่ไม่กล้าใช้จ่ายเพราะกังวลอนาคตรายได้อาจไม่แน่นอนจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั้งไทยและต่างชาติ ขณะที่เม็ดเงินที่รัฐบาลออกมากระตุ้นการบริโภคโดยเป็นเงินเยียวยาประชาชน 5.5 แสนล้านบาท และที่เหลือ 4.5 หมื่นล้านบาทใช้ในด้านสาธารณสุขรวมเป็นเงิน 6 แสนล้านบาทได้เริ่มหมดลงแล้ว จึงต้องรอเม็ดเงินภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาทที่จะออกมาในเดือน ก.ค.นี้ว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนได้มากน้อยเพียงใด
“รัฐบาลจะต้องให้เม็ดเงินดังกล่าวลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากจริงๆ ต้องไม่ให้เกิดรั่วไหลเงินทอนระหว่างทาง ไม่เช่นนั้นเม็ดเงินนี้จะไม่ช่วยขับเคลื่อนได้ โครงการที่จะทำต้องให้กระจายไปยังต่างจังหวัด เช่น การจัดสัมมนา ไม่ควรจะเน้นการจัดซื้อคุรุภัณฑ์” นายธนิตกล่าว
ขณะเดียวกัน ภาคการส่งออกของไทยหากมองประเทศคู่ค้าหลักทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน ล้วนแล้วแต่เผชิญกับโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยเช่นกันประกอบกับยังมีสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ อาทิ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนรอบใหม่ การปะทะกันระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เป็นต้น เหล่านี้ย่อมบั่นทอนเสถียรภาพเศรษฐกิจโลกลงไปอีกจึงทำให้แนวโน้มการส่งออกของไทยปีนี้ยังคงติดลบสูง 5-8% ทำให้ภาคการผลิตของไทยที่เน้นพึ่งพาตลาดส่งออกประกอบด้วยเริ่มอยู่ในภาวะยากลำบาก อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ดังนั้น ครึ่งปีหลังจึงต้องติดตามภาคการผลิตใกล้ชิดว่าจะสามารถแบกรับภาระต้นทุนกับสภาพตลาดที่ซบเซาได้หรือไม่ และจะมีผลต่อแรงงานตามมาอีกระลอก
แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวยอมรับว่า ที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวและบริการจะได้รับผลกระทบทันทีที่เห็นชัดเจน แต่ภาคการผลิตนั้นจะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นว่าจะรอดหรือไม่ในครึ่งปีหลังเนื่องจากภาคอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่เน้นพึ่งตลาดส่งออก ขณะที่เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบโควิด-19 และความไม่แน่นอนทางการเมืองระหว่างประเทศซึ่งจะบั่นทอนให้การส่งออกยิ่งยากลำบากมากขึ้น ขณะที่การผลิตอีกส่วนที่พึ่งตลาดในประเทศด้วยก็เผชิญกับแรงซื้อที่ถดถอย สิ่งที่น่าห่วงคือ อุตสาหกรรมที่มีสายป่านธุรกิจสั้นจะอยู่รอดได้ยาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ดังนั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งมาตรการเร่งด่วนในการอัดเม็ดเงินลงสู่ระบบ และทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อมั่นที่จะบริโภค
“ลำพังโควิด-19 ที่ต้องลุ้นว่าจะมีการกลับมาระบาดรอบที่ 2 มากน้อยเพียงใดทั้งในและต่างประเทศแล้วหลังคลายล็อกดาวน์ การเมืองในประเทศเองก็ทะเลาะกัน ยิ่งทำให้คนไทยรัดเข็มขัดไม่กล้าใช้จ่าย ซึ่งเห็นด้วยที่รัฐจะต้องเร่งอัดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หากเม็ดเงินกระตุ้นลงไปแล้วหยุดชะงักไม่หมุนเวียนในระบบหลายๆ รอบให้คุ้มค่ากับเงินที่ใส่ลงไปก็คิดว่าน่าจะทบทวนแนวทางใหม่ ดังนั้น รัฐควรประเมินเงินที่ใช้ไปด้วย” แหล่งข่าวกล่าว