xs
xsm
sm
md
lg

วิถีใหม่ต้องปรับตัว! นายจ้างส่งสัญญาณปริญญาตรีล้าสมัยเสี่ยงตกงานเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาองค์กรนายจ้างเตือนตลาดแรงงานเตรียมเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่รับวิถีใหม่ หรือ New Normal จากผลกระทบโควิด-19 จับตาตลาดแรงงานใหม่ 6.34 แสนคนที่ 63.2% จบปริญญาตรีในสาขาที่ล้าสมัยไม่ตรงความต้องการของตลาด เสี่ยงตกงานมากขึ้น เช่นเดียวกับแรงงานสูงวัยเป็นเป้าให้ยื่นสมัครใจออกพุ่ง หลังธุรกิจต้องลดขนาดองค์กรลง แรงงาน Gen Z จะเป็นที่ต้องการมากขึ้น

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย
เปิดเผยว่า จากผลกระทบไวรัสโควิด-19 จะทำให้เกิดความปกติใหม่ หรือวิถีใหม่ (New Normal ) รูปแบบการดำเนินชีวิต, การทำธุรกิจ, การจ้างงานจะแตกต่างไปจากเดิมโดยเฉพาะตลาดแรงงานจะเปลี่ยนไปซึ่งเกี่ยวข้องกับสถานประกอบการ ผู้ใช้แรงงาน ภาครัฐ ที่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ โดยเฉพาะความท้าทายของแรงงานใหม่ที่พึ่งจบการศึกษาในแต่ละปีที่มีประมาณ 6.342 แสนคน ส่วนใหญ่จบปริญญาตรีในสาขาที่ตลาดไม่ต้องการจะหางานยากขึ้นมากกว่าเดิม แม้แต่แรงงานที่กลับเข้าไปทำงานใหม่หรือทำงานอยู่แล้ว ล้วนมีความเสี่ยงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับพฤติกรรม ตลอดจนพัฒนาทักษะให้สามารถตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้ได้

“ถือเป็นความเสี่ยงของแรงงานที่จะมีมากขึ้น ดังนั้น ในเรื่องของการศึกษาต้องเร่งปรับให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด ขณะที่แรงงานทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นแรงงานใหม่ แรงงานวัยตอนต้น แรงงานสูงวัยและแรงงานทุกกลุ่มสาขาอาชีพจะต้องมีขีดความสามารถให้สามารถก้าวผ่านช่วงรอยต่อของการฟื้นตัวจากการบอบช้ำทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ไปสู่เศรษฐกิจใหม่ซึ่งแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงให้ได้” นายธนิตกล่าว

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานบนบริบทของ New Normal ที่สำคัญได้แก่ 1. Business Downsize หรือการลดขนาดองค์กรให้เล็กลง (โดยใช้เทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้นและลดจำนวนแรงงานในสถานประกอบการเป็นทางเดินของธุรกิจที่เป็นวิถีใหม่ ประกอบกับภัยคุกคามการจ้างงานจากการเร่งตัวของ เทคโนโลยีก้าวหน้าในรูปแบบต่างๆ อย่างรวดเร็ว หรือ Disruptive Technology จะเข้ามาแทนที่การใช้แรงงานมนุษย์ เช่น หุ่นยนต์ ระบบเอไอ ฯลฯ

2. Labour Demand Changing หรือตลาดแรงงานจะเปลี่ยนไป นายจ้างจะคัดกรองคนที่กลับเข้าทำงาน แม้แต่คนที่ทำงานอยู่แล้วอาจถูกลดขนาดภายใต้โครงการสมัครใจลาออกในรูปแบบต่างๆ โดยแรงงานสูงวัยจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมากขึ้น

3. New Job Challenge ตลาดแรงงานใหม่ภายใต้แพลตฟอร์มดิจิทัล ทำให้มีอาชีพใหม่ที่ธุรกิจต่างๆ จะเริ่มลดขนาดองค์กรด้วยการกระจายตำแหน่งงานไปให้ฟรีแลนซ์ และเอาต์ซอร์สซึ่งไม่ต้องมีสำนักงานในลักษณะ “non-office worker” เช่น งานการตลาด, งานบัญชี, งานบริการลูกค้า, งานปฏิบัติการ, งานที่เกี่ยวกับคลังสินค้าและโลจิสติกส์ ฯลฯ

4. Worth Returned Conceptual หรือแนวคิดความคุ้มค่าและมีค่าต่อองค์กร ผู้ที่จะอยู่ในตำแหน่งงานได้อย่าง
มั่นคงจนถึงวัยเกษียณจะต้องมีการปรับทัศนคติใหม่นอกจากการเพิ่มผลิตภาพของตนเองที่ต้องยกระดับให้มี
ความคุ้มค่าและคุณค่าต่อองค์กร ในอนาคตขนาดขององค์กรจะเล็กลงหลายตำแหน่งงานจะหายไป ทำอย่างไรไม่ให้กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะต้องถูกออกจากงานซึ่งจากนี้ไปจะเห็นการเร่งตัวของ “New Normal
Early Retire”

5. First Labour Aged Demand หรือโอกาสของแรงงานวัยตอนต้นเพราะพลวัตตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลง
อย่างสิ้นเชิง แรงงานใหม่ต้องสามารถตอบโจทย์สภาวะแวดล้อมธุรกิจการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมือนเดิมวัย
แรงงานตอนต้นยังมีความต้องการสูง แม้ที่ผ่านมาแรงงานอายุ 18-29 ปี ความต้องการจ้างงานติดลบประมาณ-14.6% ก็ตาม

6. Digital Platform Direction จะเป็นทิศทางเดินของธุรกิจทั้งภาคผลิต, ภาคบริการ, ค้าส่ง-ค้าปลีก,
โลจิสติกส์ ฯลฯ เป็นจุดแข็งของแรงงานตอนต้นที่มาจากกลุ่มเจเนอเรชันซี หรือ Gen Z มีความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีทำให้สามารถปรับตัวได้เร็วกว่ากลุ่มวัยอื่น

7. Skill Change หรือการเปลี่ยนแปลงของทักษะใหม่ ซึ่งตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานที่ไม่เหมือนเดิมแม้แต่แรงงานวัยตอนต้นล้วนมีความเสี่ยงสะท้อนจากแรงงานจบใหม่ระดับอุดมศึกษามีการว่างงานสูง สัดส่วนถึง 29.5% ของผู้ว่างงานทั้งหมด ขณะเดียวกัน แรงงานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานส่วนใหญ่ 63.2% จบปริญญาตรีในสาขาที่ล้าสมัยไม่ตรงต่อความต้องการของตลาด โดยเฉพาะการด้อยคุณภาพของแรงงานใหม่

“เราจะมาหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็วๆ คงเป็นไปไม่ได้เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเป็นแบบ “U-Shaped Discovery” ซึ่งเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัว หลังคลายล็อกดาวน์ด้านนายจ้างจะคัดกรองคนที่จะกลับเข้ามาทำงานตำแหน่งที่ไม่จำเป็นจะไม่เก็บไว้ ธุรกิจส่วนใหญ่จะลดขนาดเพราะดีมานด์ของตลาดยังไม่กลับมา ตลาดแรงงานจะเป็นของนายจ้างเนื่องจากตำแหน่งงานที่จะจ้างน้อยกว่าคนที่ต้องการทำงาน มนุษย์เงินเดือนหลังยุค POST COVID-19 จึงต้องปรับตัวครั้งใหญ่” นายธนิตกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น