xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ค่าแรง “เด็กจบใหม่” เพิ่ม ตกงานพุ่ง โรงงานปิด ธุรกิจหืดจับ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ยันไม่อยู่! เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย ร่วงสู่หุบเหวกันถ้วนหน้า ส่งผลสะท้อนกลับมายังตัวเลขคนตกงานพุ่งกระฉูด ขณะที่ภาพอีกด้าน “เด็กจบใหม่” โดยเฉพาะสายไอที มีทักษะภาษาอังกฤษดีรองรับธุรกิจยุคดิจิทัล ค่าจ้างแพงลิ่ว

อยู่ในโหมดเผาจริงกันเห็นๆ จากตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุด ที่เปิดเผยผลสำรวจสภาวการณ์มีงานทำของประชากรในเดือนธันวาคม 2562 พบว่า ในจำนวนกำลังแรงงานที่พร้อมจะทำงาน 38.21 ล้านคน นั้น มีผู้มีงานทำ 37.66 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.7 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 1.8 แสนคน

ตัวเลขคนว่างงานล่าสุดนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2561 พบว่า ผู้มีงานทำลดลง 2.1 แสนคน คือ ลดลงจาก 37.87 ล้านคน เป็น 37.66 ล้านคน โดยผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรกรรม มีจำนวนลดลง 4.7 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นการลดลงในสาขาการผลิตมากถึง 4 แสนคน

สำหรับการว่างงานในเดือนธันวาคม 2562 ทั้งสิ้น 3.67 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 1.8 หมื่นคน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2562 จำนวนผู้ว่างงานลดลง 6.2 หมื่นคน

ส่วนสาเหตุการว่างงานในเดือนธันวาคม 2562 พบว่า มีเหตุจากนายจ้างเลิก/หยุด/ปิดกิจการ มีจำนวน 24,500 คน เพิ่มขึ้น 965.22% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2561 ที่มี 2,300 คน แต่ลดลง 48.42% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่มี 47,500 คน

สำหรับแรงงานที่ว่างงานเพราะหมดสัญญาจ้างงาน มีจำนวน 39,500 คน เพิ่มขึ้น 234.74% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2561 ที่มี 11,800 คน และเพิ่มขึ้น 2.59% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่มี 38,500 คน

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาระดับการศึกษาของผู้ว่างงานพบว่า อันดับ 1 ยังคงเป็นผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา หรือปริญญาตรี 1.48 แสนคน คิดเป็นอัตราว่างงาน 1.8% รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 7.6 หมื่นคน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 1.2% ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 5.5 หมื่นคน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 0.8% และไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 2.1 หมื่นคน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 0.3%

สรุปง่ายๆ ก็คือ ตกงานกันเพิ่มขึ้น และคนจบปริญญาตรี เตะฝุ่นกันมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

ถ้าหากว่าตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าช้า คือเป็นตัวเลขเดือนสุดท้ายของปีที่แล้ว ก็ตามมาอัพเดทสถานการณ์ล่าสุดในเดือนแรกของปี 2563 นี้ ก็ยังย้ำอยู่ในโหมดเผาจริงไม่ใช่เผาหลอกหรือเผาจบไปแล้ว

ตามข้อมูลสถิติจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) พบว่า ยอดขอปิดกิจการเดือนมกราคม 2563 มีจำนวน 222 โรงงาน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 53.10% คิดเป็นมูลค่าลงทุน 2.29 พันล้านบาท ลดลง 8.4% คิดเป็นจำนวนแรงงานที่เลิกจ้าง 2.51 พันคน ลดลง 31.04% จากปีก่อนอยู่ที่ 3.64 พันคน

แต่อย่างไรก็ตาม กรอ. โปรยยาหอมว่า รัฐบาลมีมาตรการดูแลแรงงาน อีกทั้งโรงงานยังมีความต้องการแรงงานอีกจำนวนมาก สังเกตได้จากยอดขยายโรงงานในเดือนเดียวกันที่เพิ่มขึ้น 41.17%

มาดูกันต่อว่าสำนักวิจัยของแบงก์ใหญ่ ซึ่งใกล้ชิดกับลูกค้าว่าอย่างไรในเรื่องนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่ต่างจังหวัด เดือนมกราคม 2563 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 40.6 จากระดับ 42.4 ในเดือนธันวาคม 2562 ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 72 เดือน จากความกังวลของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในทุกมิติการครองชีพ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำ

ในประเด็นเรื่องสถานการณ์การจ้างงานในองค์กรที่ครัวเรือนสังกัดหรือเป็นเจ้าของ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจเพิ่มเติม พบว่า 43.6% ของครัวเรือนไทยที่ทำการสำรวจในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ชี้ว่า องค์กรที่ตนเองสังกัดหรือเป็นเจ้าของมีการปรับตัวในด้านการจ้างงานท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะเป็นการชะลอรับพนักงานใหม่ การลดเวลาทำงานล่วงเวลาของพนักงาน รวมถึงการเลิกจ้าง ที่ยังมีสัดส่วนสูงถึง 7.4% ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจ สอดคล้องไปกับจำนวนโรงงานที่ขอปิดกิจการในเดือนมกราคม 2563 ซึ่งอยู่ที่ 222 โรงงาน เพิ่มสูงขึ้นถึง 63.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า จะเห็นว่าในเดือนมกราคม 2563 องค์กรที่ครัวเรือนสังกัดหรือเป็นเจ้าของมีการปรับตัวทางธุรกิจเพิ่มขึ้นอีก 5.2% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2562 ซึ่งอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงจำนวนการจ้างงานในประเทศที่น่าจะลดลงต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563

มองเห็นชัดเจนว่า ภาพรวมเศรษฐกิจ การจ้างงาน การตกงาน ยังอยู่ในภวังค์ฝันร้าย

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าวิ่งตามโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง หรือที่เรียกว่า disruption ได้ทัน โอกาสมีงานทำก็ยังเปิดกว้าง แถมได้ค่าแรงแพงลิ่วอีกด้วย

จากข้อมูลของ บริษัทอเด็คโก้ ประเทศไทย จำกัด ในกลุ่มบริษัทอเด็คโก้ ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลที่มีเครือข่ายในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ซึ่งออก Salary Guide 2020 คู่มือฐานเงินเดือนประจำปี เผยถึงอัตราเงินเดือนในสายอาชีพต่างๆ กว่า 800 ตำแหน่ง กว่า 3,000 บริษัท โดยในปีนี้พบว่าอาชีพที่มีเงินเดือนเริ่มต้นสูงสุด ได้แก่ อาชีพในสาย IT ขณะที่เงินเดือนผู้บริหารเพิ่มสูงทุกสาขา สะท้อนความต้องการบุคลากรเพื่อปรับตัวธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation)

Adecco Thailand ให้ข้อมูลที่น่าตื่นตาตื่นใจว่า เด็กจบใหม่ในสายไอที สตาร์ทเงินเดือนสูงสุดแตะ 40,000 บาทเลยทีเดียว

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับอัตราเงินเดือนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว พบว่า ฐานเงินเดือนพนักงานออฟฟิศของเด็กจบใหม่มีการปรับตัวสูงขึ้น จากเดิมอยู่ที่ต่ำสุด 9,000 บาท มาเป็นเริ่มต้น 12,000 บาท และสูงสุดที่ 40,000 บาท โดยในปีนี้พบว่า เด็กจบใหม่ส่วนใหญ่จะได้เงินเดือนราว 18,000 - 25,000 บาท

ส่วนอาชีพทำเงินสูงสุดสำหรับเด็กจบใหม่ในปีนี้ ได้แก่ อาชีพ “Programmer/Software Developer” ที่มีเงินเดือนสูงสุดอยู่ที่ 40,000 บาท เนื่องจากเป็นสายงานที่มีความต้องการจากตลาดสูง หลายองค์กรต่างต้องการพัฒนาเว็บไซต์และแอปพลิเคชันเป็นของตัวเอง

ดังนั้น หากเด็กจบใหม่ มีทักษะและความสามารถในการเขียนโปรแกรมได้ตรงตามที่องค์กรกำหนด สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี ก็มีโอกาสที่จะได้เงินเดือนเริ่มต้นสูงถึง 40,000 บาท หรืออาจมากกว่านั้น โดยขึ้นอยู่กับโครงสร้างเงินเดือนของแต่ละองค์กรด้วย

รองลงมาในอัตราเงินเดือนสูงสุด 35,000 บาท ได้แก่ อาชีพ Sales Engineer, Project Coordinator, Personal Assistant, เลขานุการ, ล่ามภาษาญี่ปุ่น และตำแหน่งงานด้านการขายที่ใช้ภาษาญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ยังพบว่าเงินเดือนของผู้บริหารระดับสูง สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทุกตำแหน่ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากสภาพการตลาดที่มีการแข่งขันสูง แต่ละองค์กรต่างต้องการคนเก่งในหลากสาขา เพื่อเข้ามากำหนดทิศทางการบริหารงาน และเปลี่ยนแปลงธุรกิจด้วย Digital Transformation แต่จำนวนผู้บริหารระดับสูงอยู่ในภาวะขาดแคลนจึงต้องเพิ่มค่าตอบแทนเพื่อดึงดูดหรือเก็บรักษามือดีเอาไว้

นี่เป็นเทรนด์ของโลกที่พบว่าช่องว่างเงินเดือนระหว่างพนักงานผู้ปฏิบัติการกับผู้บริหาร มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการ disruption และการเปลี่ยนโลกสู่ดิจิทัล ทำให้พนักงานระดับปฏิบัติการถูกทดแทนด้วยระบบอัติโนมัติ ทำให้ส่วนนี้แรงงานล้นตลาด ขณะที่ผู้บริหารมืออาชีพ ประสบการณ์สูง ที่มีทักษะด้านดิจิทัล กลับขาดแคลน ค่าตอบแทนจึงพุ่งสูงขึ้นและรวดเร็วกว่างานในตำแหน่งอื่นๆ

“จากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เราจะเห็นหลายองค์กรพยายามรัดเข็มขัด ลดต้นทุนในด้านต่างๆ มากขึ้น ซึ่งรวมถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านทรัพยากรบุคคลด้วย องค์กรจะปรับตัวสู่การเป็น Lean Organization ที่บริหารโดยมุ่งเน้นการลดต้นทุนและเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า” ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ ประเทศไทย กล่าว

แนวโน้มการจ้างงานในปัจจุบันจึงมีการจ้างงานในรูปแบบฟรีแลนซ์เข้ามาผสมผสานกันมากขึ้นเพื่อลดรายจ่ายประจำของบริษัท

ส่วนการจ้างงานในรูปแบบพนักงานประจำ องค์กรต้องการพนักงานที่มีทักษะที่หลากหลายมากขึ้น นอกจากเหตุผลเรื่องความคุ้มค่าแล้ว ยังเป็นเพราะธุรกิจในปัจจุบันมีการ Disruption อยู่ตลอดเวลา องค์กรจึงต้องการพนักงานที่มีความรู้และทักษะรอบด้านเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ

เธอยังบอกว่า ในอนาคตแนวโน้มการกำหนดอัตราเงินเดือนจะขึ้นอยู่กับทักษะของผู้สมัครมากกว่าใบปริญญา เพราะความรู้ที่เรียนมาจะล้าหลังกว่าความรู้ในโลกการทำงานจริง ใบปริญญาจึงวัดอะไรไม่ได้ไม่มากนัก สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณมีความรู้และทักษะที่เป็นที่ต้องการแค่ไหน

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง สังคมไทยก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” เต็มขั้น แล้วจะวิ่งตามเทคโนโลยีดิจิทัลให้ทัน ไม่ถูก Disruption ได้อย่างไร เป็นโจทย์ไม่ง่ายในโลกการจ้างงานที่ซับซ้อนจริงๆ!


กำลังโหลดความคิดเห็น